เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ฯ  สานต่อสมเด็จพระพันปีหลวง ทรงสร้าง" เทรนด์บุ๊กผ้าไทย "


เพิ่มเพื่อน    

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ รับสั่งสืบสาน รักษา ต่อยอด ผ้าไทยสู่แฟชั่นทันสมัย

 

                “ ข้าพเจ้านั้นภูมิใจเสมอว่า  คนไทยมีสายเลือดของช่างฝีมืออยู่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ ชาวนา หรืออาชีพใด อยู่สารทิศใด  คนไทยมีความละเอียดอ่อนและฉับไวต่อการรับศิลปะทุกชนิด ขอเพียงแต่ให้เขามีโอกาสได้เรียนรู้และฝึกฝน  เขาก็จะแสดงความสามารถออกมาให้เห็นได้ “ พระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานแก่บุคคลคณะต่างๆ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2532  อีกทั้งพระราชกรณียกิจช่วยเหลือราษฎรสร้างอาชีพจากความสามารถด้านศิลปหัตถกรรม โดยเฉพาะการทอผ้า  นับเป็นแรงบันดาลพระทัยให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชนัดดาในสมเด็จพระพันปีหลวง ทรงสานต่องานโครงการผ้าไทย แต่ปรับให้มีความทันสมัย เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ยิ่งขึ้น  


            ที่สำคัญทรงมีพระราชดำริให้จัดทำหนังสือ” Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2022 “ และทรงรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหาร (Editor in chief) ด้วยพระองค์เองร่วมมือกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และทีมที่ปรึกษา ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับงานผ้าไทยและเทรนด์แฟชั่นระดับโลกขึ้น เพื่อเสนอแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทยในอีก 2 ปีข้างหน้า เทรนด์บุ๊กเล่มนี้เป็นประโยชน์ต่อนักออกแบบ ช่างทอผ้า ชุมชน และผู้ประกอบอาชีพทุกสาขา

หนังสือ” Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2022 “ ผลงานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ

            สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ฯ  เสด็จเป็นองค์ประธานงานเปิดตัวหนังสือ และเป็นองค์ประธานการเสวนาหัวข้อ”การส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล”   พร้อมทอดพระเนตรนิทรรศการแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย โดยเหล่าดีไซเนอร์ชั้นนำของไทย   จำนวน 12  แบรนด์อาทิ SIRIVANNAVARI, Wisharawish, Asava, Vatanika, Kai, Kloset, Milin, ARCHIVEO26, TandT,Theatre, Tirapan และ Tube Gallery แต่ละแบรนด์รังสรรค์ผลงานได้อย่างวิจิตรงดงาม 

            ในการนี้ ทรงแสดงผลงานแฟชั่นผ้าไทยทรงออกแบบตัดเย็บจากผ้าไหมมัดหมี่จากโครงการศิลปาชีพฯ จำนวน 2 ชุด เป็นชุดราตรียาวสีแดง และชุดคอกเทลเดรส ที่แสดงถึงความคลาสสิคและสง่างาม นิทรรศการเนรมิตรขึ้นที่ไอคอนสยาม อาร์ต สเปซ ชั้น 8 ไอคอนสยาม กิจกรรมนี้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม  จัดขึ้นเพื่อต่อยอดโครงการส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2563 เพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ  ทรงเป็นดีไซเนอร์เสื้อผ้าภายใต้แบรนด์ “SIRIVANNAVARI BANGKOK” ที่จัดแสดงโชว์คอลเล็กชั่นอยู่หลายครั้งทั้งในไทย จนถึงการจัดแสดงผลงานที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส อีกทั้งยังทรงได้รับรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการออกแบบ (แฟชั่นและเครื่องประดับ)                   

 

             สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ  รับสั่งว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นต้นแบบให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ผ้าไทย ทรงริเริ่มและดึงจิตวิญญาณ รวมถึงเอกลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านศิลปหัตถกรรม  ในส่วนพระองค์เอง ทรงคิดถึงการดูแล รักษา สืบสาน ต่อยอด ให้ผ้าไทยไปสู่ความเป็นสากล และมีการทอผ้าอย่างยั่งยืน  โดยแบ่งปันประสบการณ์ด้านแฟชั่นทั้งจากที่เรียนต่อและศึกษาดูงานในต่างประเทศ การลงมือปฏิบัติจริง  การได้มีโอกาสเป็นอาจารย์พิเศษตามมหาวิทยาลัย  และลงพื้นที่ต่างจังหวัด ได้ถ่ายทอดความรู้ไว้กับหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์กับคนที่จะสานต่องานผ้าไทยต่อไป สิ่งสุดท้ายเราเห็นเทรนด์บุ๊กหนึ่งเล่ม มูลค่ามหาศาลมาก และเป็นสากล  คิดว่าถึงเวลาแล้ว ต้องมีเทรนด์บุ๊กเป็นของตัวเอง และเป็นหนังสือที่ไม่ฉาบฉวย แต่เป็นหนังสือที่อยู่ในห้องเรียน และอยู่ในสายเลือดของคนไทย รู้เฉดสีของไทย วัตถุดิบ ลวดลายผ้าไทย   การเป็นบรรณาธิการบริหารเล่มนี้เครียด ต้องตรวจทุกหน้า และคิดว่า ทำอย่างไรให้หนังสือเล่มนี้ย่อยง่าย อ่านง่ายและคำศัพท์ไม่ยากเกินไป มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมถึงศัพท์กลุ่มสีมีทั้งสีทางวิทยาศาสตร์ สีธรรมชาติ และชื่อเรียกสีตามท้องถิ่นต่างๆ โดยมีการเขียนเชิงอรรถด้วย คนที่ไม่ได้อยู่ในวงการแฟชั่นหรือศิลปะเข้าใจด้วย

 

              “ อยากค้นหาคาแรคเตอร์การทอผ้าแต่ละภาค แต่ละชุมชน สภาพแวดล้อม และวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อการผลิตผ้าทอ ภาคเหนือคนทอผ้าไหมจำนวนมาก มีความต้องการเยอะ ทอสีอะไรก็ขายได้ ได้ยินคำว่า ไหมประดิษฐ์ เพราะทำได้เร็ว ซื้อราคาไม่สูง ทำให้เข้าใจทำไมชุดผ้าไทยในปัจจุบัน เวลานั่ง ดูหักๆ แข็งๆ แล้วก็ไม่ใช้สีธรรมชาติ   รวมถึงการตัดแบบ short cut  ลวดลายที่ใหญ่ขึ้น จากการลงพื้นที่ลายพระราชทาน ลายท้องถิ่น ช่างทอบางคนเหนื่อยอยากเลิกทอ เราก็ให้กำลังใจบอกว่า แล้วใครจะสานต่อ  “

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานออกแบบจากผ้าไทย


              สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ  รับสั่งอีกว่า  ทรงให้ความสำคัญกับการย้อมสีธรรมชาติ ต่อมาการทอ ทอให้จบ ทอแน่น ทอดี ปัญหาของผ้าไทยยังมีเรื่องหน้าแคบและความยาว  ลวดลายอยากให้คงความดั้งเดิม เมื่อทอดั้งเดิมแล้ว  ไม่ขัดที่จะมีลายใหม่ๆ ลายสร้างสรรค์ หรือขยายลายบางจุดให้ใหญ่ขึ้นหรือเล็กลง แต่อยากให้เก็บของเดิมไว้เสมอ  แม้บางลายโอดโอยเหลือเกิน ยาก ไม่ทอแล้ว นาน  เก็บเป็นตัวอย่าง ไม่ได้ ต้องสอน ต้องบอก เพราะเป็นของมีค่า ตลอดการทำเรนด์บุ๊กเล่มนี้เรานึกถึงสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นไอดอลด้านศิลปวัฒนธรรมไทยแท้จริง


            เทรนด์บุ๊กเล่มนี้เปรียบเสมือนคู่มือสำหรับนักออกแบบทุกสาขาที่สามารถหยิบเอาไปใช้ต่อยอดในงานสาขาที่เกี่ยวข้องได้ โดยภายในเล่มบอกเล่าตั้งแต่ประเภทของเนื้อผ้า การเลือกสี การออกแบบลวดลาย รวมไปถึงเทรนด์และแนวโน้มความเป็นไปในอนาคตของอุตสาหกรรมแฟชั่น เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำเอาข้อมูลทั้งหมดไปประยุกต์ใช้กับงานผ้าไทยได้อย่างมีทิศทาง 


           ใน  THAI TEXTILES TREND BOOK SPRING/SUMMER 2022 นำเสนอ 6 เทรนด์ ที่ได้จาก 6 กลุ่มสีที่ผ่านการเลือกสรรและเป็นตัวแทนของ “สีโทนไทย” ที่จะสามารถโดดเด่นอยู่ในแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ในอนาคต โดยแต่ละโทนสีจะให้ภาพลักษณ์และอารมณ์ที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงวัสดุที่เลือกใช้ ลวดลาย และเทคนิคการทอผ้าแบบต่างๆ

สีแดง สีที่ถูกใช้มากในผ้าทอไทย สื่อคลาสสิคร่วมสมัย


           แถบสีเหลือง (The Value of Dusit Lagacy)  นำเสนอถึงความรุ่งเรืองหรูหราในยุค 1920 เหมาะกับกลุ่มผู้นำแฟชั่น The Influencer ที่ชอบเข้าสังคมและมีเสน่ห์ดึงดู
           แถบสีแดง (Holistic Elegance) เป็นสีที่ถูกใช้มากที่สุดสำหรับผ้าทอพื้นเมืองไทย เนื่องจากสื่อถึงความหมายที่คลาสสิกร่วมสมัย เหมาะกับกลุ่ม The Admirer ผู้ให้คุณค่ากับความงามแบบองค์รวม
           แถบสีย้อมธรรมชาติ (Social Creation) เพื่อตอบโจทย์ความเป็นธรรมชาติสะท้อนภูมิปัญญาท้องถิ่น และการเป็นผู้ให้ของ The Caregiver
           แถบสีเขียวโศก (Nostalgic Dream) เล่าถึงความฝันและความไร้เดียงสา รวมไปถึงความแฟนตาซีของกลุ่ม The Dreamer
           เฉดสีดำ (New Wave Ego) สำหรับ The Ruler ที่เปรียบเสมือนศูนย์กลางของจักรวาล การบริหารอำนาจ และกฎระเบียบ
           เฉดสีเทา (Change for Redemption)  สัญลักษณ์ของการนำเสนอทางเลือกใหม่ให้กับสังคม เพื่อบ่งบอกถึงความต้องการเปลี่ยนแปลงและแก้ไข The Revolutionist มีความเป็นเทคโนโลยี


           สนใจนิทรรศการ “แนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย” พลิกอ่านหนังสือเทรนด์บุ๊กผ้าไทย พร้อมสัมผัสผลงานสร้างสรรค์จากผ้าไทยของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ  และผลงานเหล่าดีไซเนอร์ชั้นนำ เข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 17 ธ.ค.นี้ ณ ไอคอนสยาม อาร์ต สเปซ ชั้น 8 ไอคอน

สีเขียวโศก 1 ในกลุ่ม 6 สีโทนไทยที่อยู่ในเทรนด์อนาคต



 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"