จากแพร่ถึงเชียงราย ไม่ยอมพ่ายแก่โควิด


เพิ่มเพื่อน    

    เรื่องราวในตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบของทริปเที่ยวเหนือเมื่อช่วงวันพ่อแห่งชาติที่ผ่านมา เริ่มต้นด้วยการออกเดินทางจากโรงแรมในตัวเมืองแพร่ไปแวะคุ้มเจ้าหลวง หรือ “คุ้มหลวงนครแพร่” ที่ประทับของเจ้าพิริยเทพวงษ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์สุดท้าย หัวหน้าคณะของเราซึ่งเป็นอดีตนักข่าวผู้อาวุโสสูงยิ่ง มีเชื้อสายมาจากท่านเจ้าหลวงเมื่อสืบย้อนไป 5 รุ่น
    คราวเกิดเหตุ “เงี้ยวปล้นเมืองแพร่” เมื่อ พ.ศ.2445 เจ้าหลวงพิริยเทพวงษ์ไม่สามารถจัดการกับความวุ่นวายที่เกิดขึ้นได้ ก่อนที่ทางกรุงเทพฯ จะส่งกองทหารม้ามาปราบกบฏเงี้ยวและรักษาความสงบ เจ้าหลวงตัดสินใจหนีออกจากเมืองแพร่ไปจนถึงเมืองหลวงพระบาง ราชอาณาจักรลาว ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากเจ้ามหาชีวิตลาวและเจ้าอุปราช อีกทั้งยังได้หลานสาวของเจ้าอุปราชเป็นภริยา วาระท้ายๆ ของชีวิตย้ายไปพำนักที่แขวงซำเหนือจนกระทั่งถึงพิราลัยในปี พ.ศ.2452
    อดีตนักข่าวอาวุโสเล่าให้ฟังว่า ก่อนหนีออกจากเมืองแพร่ไปคนละทิศละทาง เจ้าหลวงได้บอกแก่เทียดหรือปู่ทวดของผู้อาวุโส ซึ่งเป็นหนึ่งในบุตรจำนวนหลายคนของท่านให้หนีไปทางภาคอีสาน โดยเอาย่ามใส่ข้าวของให้ 1 ใบ สะพายเดินทางไกลแต่เพียงผู้เดียว จนสุดท้ายไปเป็นนายฮ้อยอยู่ทางนั้นและได้แต่งงานกับสตรีที่ราบสูง ตั้งรกรากและสร้างครอบครัว ให้กำเนิดบุตรหลานจนมาถึงรุ่นอดีตนักข่าวอาวุโส
    คุ้มเจ้าหลวงแห่งนี้เป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคต้น มีลักษณะสถาปัตยกรรมไทยผสมยุโรป เรียกว่า “ทรงขนมปังขิง” สร้างด้วยอิฐถือปูน 2 ชั้น หลังเหตุการณ์กบฏเงี้ยวก็ได้กลายเป็นจวนข้าหลวงหรือบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่
    ในหลวงรัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี รวมถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เคยประทับแรมเมื่อคราวเสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎรจังหวัดแพร่
    ปี พ.ศ.2540 กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทอาคารสถาบันและสาธารณะ ปัจจุบันคุ้มเจ้าหลวงมีชื่อว่า พิพิธภัณฑ์เมืองแพร่ “คุ้มเจ้าหลวง” มีอนุสาวรีย์เจ้าหลวงพิริยเทพวงษ์อยู่ด้านหน้า เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงนิทรรศการประวัติเจ้าหลวงเมืองแพร่และชายา ข้าวของเครื่องใช้ทั้งที่เคยเป็นของเจ้าหลวงและของโบราณที่พบในจังหวัดแพร่ ไม่เก็บค่าเข้าชม
    ผมเคยเดินทางมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อนและได้ถ่ายภาพอาคารไว้ เมื่อกลับมาค้นในคอมพิวเตอร์ไม่พบภาพเก่านั้นเสียแล้ว จึงน่าเสียดายที่ไม่มีภาพอาคารให้ชม เพราะครั้งนี้ไม่มีจังหวะกดชัตเตอร์
    มีความขัดแย้งกันในข้อมูลเรื่องคุกภายในอาคารซึ่งอยู่ชั้นล่างสุด สูงจากพื้นไม่มาก ทางหนึ่งบอกว่าเป็นคุกคุมขังนักโทษที่กระทำความผิดในสมัยโน้น ข้อมูลอีกทางคือตึกนี้แรกเริ่มได้สร้างขึ้น 3 ชั้น แต่ชั้นล่างเตี้ยประมาณ 2 เมตร นัยว่าจะเป็นชั้นใต้ถุนมากกว่า และว่าในเวลานั้นมีคุกคุมขังนักโทษอยู่แล้วในบริเวณคุ้ม แต่แยกจากตัวอาคาร และตามหนังสือแจ้งกระทรวงมหาดไทยเพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูล เมื่อปี 2444 มีใจความว่าคุกเดิมเป็นที่คับแคบ เจ้าหลวงพิริยเทพวงษ์จึงได้ออกเงินส่วนตัว 637 บาทสร้างคุกใหม่ อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่าห้องชั้นล่างสุดนี้ใช้เป็นที่คุมขังเฉพาะข้าทาสบริวารของเจ้าหลวงเอง ส่วนคุกสำหรับคนทั่วไปก็ขังแยกออกไปอีกแห่ง และก็เป็นไปได้เช่นกันว่ามีการใช้ห้องชั้นล่างนี้สำหรับเก็บเงินและอัฐทองแดงตามการตั้งข้อสังเกตในหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทยบางฉบับในเวลาต่อมา

(ที่พักและคาเฟ่ในอาคารเดียวกัน ภาพน่ามองบนถนนไตรรัตน์อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย)

    คณะของเราใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็ออกจากคุ้มเจ้าหลวงในเวลาเกือบๆ 10 โมงเช้า เดินทางต่อด้วยรถยนต์แบบ SUV จำนวน 2 คัน ผ่านจังหวัดพะเยาโดยไม่ได้พักจอด แวะกินมื้อเที่ยงที่ร้านอาหารริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน อ้อมตัวจังหวัดเชียงราย ตรงขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ หากไม่เลี้ยวที่ไหนก็จะเข้าอำเภอแม่สาย และจังหวัดท่าขี้เหล็กของสาธารณรัฐแห่งสภาพเมียนมา แต่ใครคิดทำเช่นนั้นก็บ้าเต็มที เมื่อถึงอำเภอแม่จัน คณะของเราเลี้ยวซ้ายและขึ้นสู่ดอยแม่สลอง ถึงที่พักเวลาบ่าย 3 นิดๆ เช็กอินแล้วก็ออกไปพบปะสังสรรค์กับอดีตคนข่าวผู้ผันตัวมารับใช้สังคมคนชายขอบ ท่านพี่ผู้นี้ทิ้งเมืองหลวงมาอยู่จังหวัดเชียงรายเสียนานหลายปีแล้ว

    อากาศช่วงเชื่อมต่อระหว่างก่อนและหลังพระอาทิตย์ตกดินต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แจ็กเกตธรรมดาถึงกับเอาไม่อยู่ หากว่าไม่มีซิงเกิลมอลต์และกองไฟเล็กๆ แล้วคงยากจะรับมือกับความหนาวบนดอย และสถานที่ซึ่งท่านพี่อดีตคนข่าวและภรรยาจัดเตรียมไว้ต้อนรับพวกเรา
    เช้าวันต่อมา คนที่ตื่นตั้งแต่ช่วงพระอาทิตย์ขึ้นรายงานให้ทราบว่า หมอกที่แลเห็นดูจะเป็นหมอกผสมควันไฟอยู่ในปริมาณมากพอสมควร เพราะจมูกรู้สึกได้ การเผาเพื่อเตรียมการเพาะปลูกฤดูใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
    ผมแยกตัวจากคณะผู้อาวุโสไปกับท่านพี่อดีตคนข่าวลงไปยังตัวเมืองเชียงราย เพราะได้จองตั๋วบินกลับกรุงเทพฯ จากท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงในวันถัดไป ฝ่ายคณะหลักเดินทางต่อไปดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
    ท่านพี่อดีตคนข่าวแนะนำโรงแรมให้และขับรถไปส่งถึงที่ โรงแรมอยู่ไม่ไกลจากวัดมิ่งเมืองและหอนาฬิกา มีห้องว่างอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเวลานี้คือช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานของโควิดนำเข้าจากท่าขี้เหล็ก เช่นเดียวกับเป็นช่วงไฮซีซั่นเที่ยวเหนือ ทำให้มีผู้จองห้องพักแจ้งยกเลิกเฉลี่ยแต่ละแห่งประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์
    ตอนแวะดื่มชาเลือดมังกรและหอมหมื่นลี้ระหว่างทางลงดอย หนุ่มเจ้าของคาเฟ่ผู้ช่างเจรจาบอกว่าหญิงงามเมืองผู้เสี่ยงเข้าไปรับเชื้อโควิดในโรงแรมฝั่งท่าขี้เหล็ก รับเงินกันคนละประมาณ 250,000 ต่อเดือน ขณะที่การท่องเที่ยวเสียหายทันทีคงจะหลายร้อยล้านบาทหลังมีข่าวว่าพวกหล่อนนำเชื้อกลับเข้าประเทศ
    ผมเช็กอินแล้วออกไปกินมื้อเที่ยง กลับโรงแรมไปงีบหลับตามสูตรสุขภาพดีของชาวลาติน (ทั้งยุโรปและอเมริกา) เมื่อเรี่ยวแรงกลับมาเต็มร้อยก็พร้อมเดินชมวัดในระยะทางที่พอเดินได้ โดยเริ่มต้นที่วัดมิ่งเมือง
    วัดนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ขนาดไม่ใหญ่ เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ แต่โบราณสถานทั้งวิหารและเจดีย์มีความงดงามยิ่ง เป็นศิลปะผสมล้านนาและพม่า ประวัติการสร้างวัดตามเว็บไซต์ต่างๆ ดูจะขัดแย้งกันอยู่ ข้อมูลที่ตรงกันคือเคยถูกเรียกว่าวัดช้างมูบ (ช้างหมอบ) และวัดเงี้ยว (ไทใหญ่) คราวหนึ่งในการบูรณะเจดีย์ของวัดได้พบจารึกบนแผ่นเงินเป็นภาษาพม่า หากเป็นความจริงอย่างจารึกว่า วัดนี้ก็มีอายุเท่ากับเมืองเชียงราย (ราว 750 ปี) นอกจากนี้องค์พระประธานปูนปั้นศิลปะเชียงแสนสิงห์ 1 ยุคต้น มีอายุมากกว่า 400 ปี ผ่านการซ่อมแซมมาแล้วหลายครั้ง นามว่า “หลวงพ่อพระศรีมิ่งเมือง”

(มุมหนึ่งในวัดมิ่งเมือง จังหวัดเชียงราย)

    จากวัดมิ่งเมืองผมเดินขึ้นเหนือไปกิโลกว่าๆ ผ่านทางขึ้นวัดดอยงำเมืองไปไม่ไกลก็ถึงทางขึ้นวัดพระธาตุดอยจอมทอง หนึ่งใน “พระธาตุ 9 จอม” ของจังหวัดเชียงรายซึ่งกระจายอยู่ในหลายอำเภอ สันนิษฐานว่าวัดสร้างขึ้นก่อนพญามังรายเสด็จมาและบัญชาให้สร้างเมืองเชียงรายในปี พ.ศ.1805 องค์พระเจดีย์ประธานของวัดสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่พระมหาเถระชาวลังกานำมาถวายแด่กษัตริย์ของแคว้นโยนกราว 300 ปีก่อนการสร้างเมืองเชียงราย ผมกราบพระธาตุแล้วเข้าไปกราบพระพุทธรูปในวิหาร พระสงฆ์รูปหนึ่งนำไม้เรียวหวดเข้าที่ก้นของสามเณรประมาณ 5 ครั้ง ซึ่งคงทำผิดวินัยอะไรบางอย่าง เห็นภาพนี้เข้าผมก็รีบเดินลงจากวิหาร

(พระเจดีย์ประธานของวัดพระธาตุดอยจอมทอง จังหวัดเชียงราย ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ)

    ติดกับวัดพระธาตุดอยจอมทองมีเสาสะดือเมืองเชียงราย (เสาหลักเมือง) สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2530 ป้ายข้อมูลเขียนไว้ว่า “...เสาสะดือเมืองเชียงราย สร้างในรูปแบบศิลปะขอมแบบพนมบาแกง โดยยึดตามรูปแบบสมมติของจักรวาล หันหน้าไปสู่ทิศตะวันออก ...ตัวเสาสะดือเมืองตั้งโดดเด่นดั่งเขาพระสุเมรุ อยู่บนฐานสามเหลี่ยมยกพื้นสูง ซึ่งเปรียบเสมือนตรีกูฏบรรพต หรือผา 3 เส้า มีเสาบริวารล้อมรอบจำนวน 108 ต้น โดยตัวเสาสะดือเมืองมีขนาดใหญ่เท่ากับ 5 กำพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ซึ่งเป็นไปตามคติความเชื่อของล้านนาโบราณที่จะต้องสร้างเสาสะดือเมืองให้มีขนาดใหญ่เท่ากับ 5 กำพระหัตถ์ และมีความสูงเท่ากับส่วนสูงของพระวรกายของพระมหากษัตริย์”
    เสร็จจากสักการะเสาสะดือเมืองแล้ว ผมเดินย้อนกลับทิศทางเดิมไปสัก 300 เมตร ก็เลี้ยวไปทางใหม่เพื่อเข้า “วัดพระแก้ว” บนถนนไตรรัตน์ ป้ายบริเวณทางเข้าวัดเขียนไว้ว่า “ชื่อเดิม “ญรุกขวนาราม” ซึ่งแปลว่าวัดป่าญะหรือป่าเยียะ (ป่าไผ่ชนิดหนึ่ง) เป็นวัดสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยได้พบพระแก้วมรกตหลังจากที่ฟ้าได้ผ่าองค์พระเจดีย์พังทลายลงในปี พ.ศ.1977 วัดนี้จึงได้ชื่อใหม่ว่าวัดพระแก้ว”
    อีกป้ายใกล้ๆ กันเขียนประวัติพระแก้วมรกต “ตำนานรัตนพิมพ์วงศ์ กล่าวไว้ว่า เมื่อประมาณ พ.ศ.300 เทวดาได้สร้างพระแก้วมรกตถวายพระนาคเสนเถระที่เมืองปาฏลีบุตร (ปัจจุบันเรียก ปัตนะ) ประเทศอินเดีย ต่อมาได้อัญเชิญไปไว้ที่เมืองลังกา
    “ในสมัยพระเจ้าอโนรธามังช่อ (พระเจ้าอนุรุทธะ) แห่งเมืองพุกามได้ส่งสมณทูตไปขอจากเจ้าเมืองลังกาซึ่งถูกพวกทมิฬรุกราน จึงมอบพระแก้วมรกตพร้อมพระไตรปิฎกให้ แต่สำเภาที่บรรทุกได้พลัดหลงไปเกยอยู่ที่อ่าวเมืองกัมพูชา พระแก้วมรกตจึงตกเป็นของกัมพูชา และต่อมาได้ถูกนำไปไว้ที่เมืองอินทาปัฐ (นครวัด) กรุงศรีอยุธยา และกำแพงเพชร ตามลำดับ
    “เมื่อประมาณ พ.ศ.1933 พระเจ้ามหาพรหม เจ้าเมืองเชียงรายได้ไปอัญเชิญพระแก้วมรกตมาจากเมืองกำแพงเพชร และนำมาซ่อนไว้ที่เจดีย์วัดป่าเยียะ เมืองเชียงราย กระทั่ง พ.ศ.1977 อสนีบาต (ฟ้าผ่า) เจดีย์ จึงได้ค้นพบพระแก้วมรกต ต่อมาได้ถูกอัญเชิญไปไว้เมืองต่างๆ ดังนี้
    “เมืองเชียงราย พ.ศ.1934-1979, เมืองลำปาง พ.ศ.1979-2011, เมืองเชียงใหม่ พ.ศ.2011-2096, เมืองลาว (หลวงพระบางและเวียงจันทน์) พ.ศ.2096-2321, กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2321-ปัจจุบัน”

(พระหยกเชียงราย หรือพระแก้วมรกตจำลอง วัดพระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย)

     ผมเข้ากราบ “พระหยกเชียงราย” หรือพระแก้วมรกตจำลองที่ประดิษฐานในหอพระหยก เดินชมภายในบริเวณวัดอยู่ครู่หนึ่ง ขณะนี้เวลาเย็นมากแล้วจึงไม่ได้เดินไปยังวัดพระสิงห์ อีกวัดสำคัญของชาวเชียงรายที่อยู่ไม่ไกลกัน แต่เลือกเดินลงใต้ไปตามถนนไตรรัตน์แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนอุตรกิจ เลี้ยวขวาที่หอนาฬิกาเก่าผ่านตลาดสด ผัก ผลไม้ และอาหารพร้อมรับประทาน ลงใต้ไปอีก 350 เมตรถึงหอนาฬิกาใหม่ ท้องก็หิวพอดี

    หลังจากพินิจร้านอาหารบนถนนบรรพปราการอยู่ครู่หนึ่งก็ปล่อยผ่านไป เพราะดูๆ แล้วออกไปทางร้านเหล้ามากกว่า อีกทั้งช่วงย่ำสนธยายังแทบไม่มีลูกค้า จึงเดินต่อไปอีกราวครึ่งกิโลเมตรถึงเชียงรายไนท์บาซาร์ เข้าโซนร้านอาหารลักษณะคล้ายฟู้ดคอร์ตขนาดใหญ่ หลังคาเปิดโล่งบริเวณตรงกลางที่เต็มไปด้วยโต๊ะนั่ง แต่แทบไม่มีคน อาจเป็นเพราะว่ายังหัววันเกินไป ผมซื้อสตรอว์เบอร์รีตัดแต่งในแก้วพลาสติกมานั่งกิน 1 แก้วแล้วก็เดินออกมา สำรวจโซนดื่มกินใกล้ๆ โรงแรมวังคำที่ขึ้นป้ายลดราคาเหลือคืนละ 600 บาท โซนนี้เต็มไปด้วยร้านนวด บรรดาคุณหมอส่งเสียงเรียกผมเป็นภาษาอังกฤษให้ระงม คงคิดว่าใบหน้าที่ซ่อนไว้หลังหน้ากากอนามัยเป็นฝรั่งตัวเล็ก ไม่ก็ชาวญี่ปุ่นหรือเกาหลี มีกล้องถ่ายรูปห้อยคอและหมวกแก๊ปบนศีรษะเป็นอุปกรณ์เสริมที่ทำให้เหล่าคุณหมอคิดเช่นนั้น พอผมเปิดหน้ากากเฉลย พวกเธอก็เปลี่ยนเสียงร้องเรียกเป็นภาษาไทยและระดับเสียงยิ่งดังขึ้นกว่าเดิม

(หอนาฬิกา (ใหม่) บนถนนบรรพปราการ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย)

    ผมเดินออกไปยังถนนเจ็ดยอดซึ่งพุ่งตรงลงทิศใต้มาจากหอนาฬิกา เพื่อสำรวจบาร์ที่ตั้งเรียงกันอยู่เป็นแถวริมถนน ปกติบริเวณนี้เป็นย่านของนักดื่มต่างชาติ มันจึงดูเงียบเหงาวังเวง ไร้พลังงานและสีสัน ผมตัดสินใจแวะกินมื้อเย็นในร้านอาหารข้าวแกงขนาดใหญ่ร้านหนึ่งบนถนนบรรพปราการ แล้วเดินกลับโรงแรม อาบน้ำ ดูข่าวสารในทีวี แล้วคิดจะนอน
    มาทบทวนดู เราจะยอมจำนนให้กับโควิด-19 ด้วยการเก็บตัวในห้องพักเมื่อยามเดินทางมาต่างเมืองเช่นนี้ได้ลงคอเชียวหรือ? ถ้าเราเกรงกลัว มันก็จะชนะเราโดยที่ไม่ต้องทำให้เราติดเชื้อด้วยซ้ำ คิดได้ดังนี้ก็สวมเสื้อตัวหนาแขนยาว ใส่หน้ากากออกจากโรงแรม แล้วพบตัวเองในซอยพิสิทธิ์สงวน ใกล้ๆ หอนาฬิกา เลือกร้านดื่มกินที่ลูกค้าไม่หนาแน่น ความจริงแทบไม่มีร้านไหนเลยที่คนหนาแน่น
    หญิงสาวเสิร์ฟเบียร์แล้วหยุดยืนคุยเมื่อทราบว่าผมเป็นนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ เธอบอกว่าช่วงนี้มีลูกค้าเฉพาะคนในพื้นที่และขอให้ผมไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องโควิด ร้านแถวนี้มีแต่ลูกค้าวัยทำงาน เป็นคนที่ระมัดระวังตัว หากดื่มในละแวกนี้ถือว่าไม่มีความเสี่ยง ไม่เหมือนกับโซนที่เรียกว่าซอยโลกีย์ ใกล้ห้างใหญ่ แถวนั้นเด็กวัยรุ่นเที่ยวกันเยอะ
    ร้านของเธอมีหุ้นส่วนหลายคน ล้วนเป็นเพื่อนที่เรียนหนังสือมาด้วยกัน ทุกคนอายุเท่ากัน จึงนำปีเกิดคริสต์ศักราชมาตั้งเป็นชื่อร้าน เธอยืนคุยอยู่หลายนาทีจนผมเผลอพูดออกไปว่า “เชิญน้องดูแลโต๊ะอื่นตามสบายเลยนะ” หลังจากนั้นเธอก็ไม่แวะมาที่โต๊ะผมอีกเลย
    หมดขวดที่ 2 ผมเรียกเก็บเงินแล้วเดินไปอีกร้านที่อยู่ใกล้ๆ กัน หนุ่มนักดนตรีเล่นกีตาร์อะคูสติกและมีเสียงร้องที่ไพเราะมาก น่าเสียดายที่เขาประกาศออกมาว่าเพลงที่เล่นอยู่เป็นเพลงสุดท้าย ผมให้กำลังใจไป 100 บาท นึกว่าเขาจะแถมให้สักเพลง แต่พอจบเพลงเขาก็เก็บเครื่องดนตรีเดินมาขอบคุณแล้วออกจากร้านไปตอนที่วิสกี้ไฮบอลจากญี่ปุ่นของผมพร่องลงไปยังไม่ถึงครึ่งแก้ว ลังเลว่าหมดแก้วนี้ก็จะกลับ แต่พอได้ฟังเพลงที่เปิดต่อเนื่องกันสองสามเพลงก็ตัดสินใจนั่งต่อพร้อมกับเบอร์เบินออนเดอะร็อกอีก 1 แก้ว
    เช้าวันต่อมาหลังมื้อเช้าและกาแฟ ผมก็เช็กเอาต์จากโรงแรม เรียก Grab ไปยังสนามบิน โดยเที่ยวบินกลับกรุงเทพฯ ช่วงสายๆ วันที่ 8 ธันวาคม มีผู้โดยสารประมาณ 30 คนเท่านั้น หลายคนคงยกเลิกทั้งเที่ยวบินมายังเชียงรายและเชียงรายกลับกรุงเทพฯ
    เหตุเพราะมีแก๊งหญิงไทยใจกล้าข้ามช่องทางธรรมชาติไปหาโควิด-19.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"