เศรษฐกิจไทยปีฉลู ฟื้นตัวแบบK shape ดูไม่หรูทั้งเปราะบาง


เพิ่มเพื่อน    

      "ผยง ศรีวนิช" กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ดำรงตำแหน่งกับบทบาทของการเป็น "ประธานสมาคมธนาคารไทย" ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถูกจับตาจากภาคธุรกิจการเงินการธนาคารในการเป็นหนึ่งใน "กุนซือ" เศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ..เรียกว่าขยับตัวหรือเปิดปากแสดงความคิดเห็นอะไร จะมีคนหันมามองทันที ทั้งด้วยความคาดหวังและสนใจอยากรู้อยากเห็นว่า จะมีทางเลือกทางรอดเป็นข้อแนะนำสำหรับอนาคตที่ทุกคนต้องก้าวเดินต่อไป  และร่วมกันฝ่าฟันไปให้ได้ อย่างที่บอกว่า..ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง!! 

        ก่อนส่งท้ายปีหนู เพื่อเตรียมความพร้อมกับชีวิตในปีฉลู  "ไทยโพสต์" มีโอกาสจับเข่า "ถาม-ตอบ" จากประธานสมาคมธนาคารไทยคนที่ 24 ถึงหนทางข้างหน้าว่าจะมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้คนไทยได้หายใจคล่องคอ และสามารถฟื้นตัวจากวิกฤติที่ต่อเนื่องมาตลอดปีนี้มากน้อยเพียงใด  

        "เศรษฐกิจปีหน้ายังคงเปราะบางอยู่ แม้ดูเหมือนจะฟื้นตัว แต่เป็นสัญญาณที่ฟื้นตัวช้าๆ และเปราะบาง เนื่องจากเราเป็นเมืองที่ยึดกับนักท่องเที่ยวสูง" คำตอบอย่างตรงไปตรงมาของนายผยง ซึ่งได้อธิบายให้เห็นภาพว่า..

        "ถ้าไปดูตัวเลขของสภาพัฒน์และแบงค์ชาติ ไดร์ฟเวอร์หลัก 2 อัน คือ นักท่องเที่ยวที่บอกว่าจะกลับมา 9 ล้านคน ผมว่าไม่น่าเร็วขนาดนั้น เพราะวัคซีนกว่าจะได้ทั่วถึง ต้องใช้เวลาปรับตัว ตัวที่สองประสิทธิภาพการเบิกจ่ายของงบภาครัฐเป็นตัวสำคัญสู่การจ้างงาน และให้มีรายได้ไปยังชุมชนต่างๆ ต้องไปดูประสิทธิภาพของการเบิกจ่ายตรงนี้ สามารถที่จะตอบโจทย์หรือไม่"

        เมื่อมองภาพรวมปัญหาเศรษฐกิจไทยแล้ว ประธานสมาคมธนาคารไทย ชี้ให้เห็นอย่างเฉพาะเจาะจงและใกล้ตัวที่สุดว่า...

      "วันนี้ธุรกิจท่องเที่ยวร้องขอความช่วยเหลือมาเยอะ แต่เป็นโรงแรมที่ไม่ถูกกฎหมายมาเยอะ แต่ต้องแฟร์กับผู้ประกอบการส่วนหนึ่ง การขอใบอนุญาตก็อาจจะได้ช้า เป็นเรื่องของระบบราชการที่ต้องโปร่งใส ขณะเดียวกันก็มีคนตั้งใจเลี่ยงเพื่อลดต้นทุน ตรงนั้นรัฐต้องเข้มแข็งไม่ไปช่วย ใครอยู่ในระบบรัฐดูแล การดูแลควรเป็นอะไรที่เชื่อมโยง ในการสร้างดิจิตอลซัพพลายเชนที่มีความเชื่อมโยงต่อยอด"

        "บ้านเราการจัดการทรัพยากรอย่างเป็นธรรมมีเรื่อง โลจิสติกส์ และมาร์เก็ตเพลส ถ้าสองตัวนี้ใช้ระบบดิจิตอลเพลเมนต์ในการเข้าถึงและจัดสรรอย่างเป็นธรรมเรียลไทม์ ตรวจสอบได้ ขณะเดียวกันการโยงระบบไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการค้าขาย ซัพพลายเชนที่จะต่อยอดตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ ผมว่าต้องใช้โอกาสตอนนี้บูรณาการ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐบาล"

        ทั้งนี้ การบูรณาการต่อเนื่องของกระทรวงการคลัง อย่างเรื่องของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เริ่มด้วยประชากรฐานรากที่ควรได้รับความช่วยเหลือ สิทธิ์ขั้นพื้นฐาน การช่วยเหลือจากรัฐให้เขามีชีวิตพออยู่ได้ มีคุณภาพ ตรงนี้ยึดกับโชห่วย ร้านค้าชุมชน การทำโครงการคนละครึ่งก็ยกระดับขึ้นมา ทั้งเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่งทำให้พ่อค้าแม่ขาย ร้านค้าตามตลาด สามารถเข้าถึง Digital literacy รัฐจะเห็นว่าประชากรกลุ่มนี้รัฐต้องให้การช่วยเหลือ ขณะที่ประชากรบางส่วนยืนได้ด้วยตัวเอง รัฐก็สบายใจได้ ทั้งหมดเป็นการต่อยอดที่อยู่ในแผนของกระทรวงการคลัง

        ส่วนเรื่องข้อกังขาของประชากรกลุ่มผู้เสียภาษีมักจะรู้สึกว่า ได้รับสิทธิ์จากรัฐน้อยกว่าผู้ไม่เสียภาษีนั้น นายผยงซึ่งถือเป็นเจ้าของแบงค์ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการดาต้าเพื่อให้บริการด้านสวัสดิการรัฐตั้งแต่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กระเป๋าตังค์ เราเที่ยวด้วยกัน จนถึงโครงการคนละครึ่งนั้น อธิบายว่า ...

        "เราต้องถอยมาก้าวหนึ่ง โดยหลักการการที่ผู้มีรายได้น้อยได้รับการช่วยเหลือมันคือกลไก หากตั้งคำถามว่าเขาจนจริงหรือเปล่า ต่อให้ไม่มีโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการประกันราคาพืช โครงการข้าว มันมีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์  โครงการสมัยก่อนเงินผัน มันต่างกันตรงไหน ถ้ารัฐบาลไม่ดูแลประชากรส่วนนี้ก็ไม่คิดว่ารัฐมีเสถียรภาพ เพราะเป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งของรัฐ ที่จะดูแลอย่างทั่วถึง"

        "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐอยากจะเรียนว่าเป็นเครื่องมือมากกว่า ถ้าเราไม่มีจุดเริ่มต้น ถ้าล้อไม่เริ่มหมุนก็จะวิ่งไม่ได้ ซึ่งอาจจะไม่ได้ถูก มีคนบ่น ผมถามว่า 14.6 ล้านคน ผิดไปสัก 50 คน กับสมัยก่อนไม่รู้สักคนเราต้องเข้าใจและเปิดรับเสียงวิพากษ์ เสียงวิพากษ์บางอันเป็นองค์ความรู้ที่เราจะนำมาต่อยอดนี่เป็นเรื่องของภาครัฐที่ต้องนำไปหาวิธีต่อ"

      สิ่งที่ผู้บริหารคนสำคัญท่านนี้มักจะตอกย้ำ และวันนี้ก็ยืนยันอีกหนว่า..

      ดิจิตอลเข้ามา คืออนาคตต้องเดิน อย่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทุกคนคิดไม่ถึง ร้านโชห่วย ธงฟ้า ต้องมีทุกตำบลทั่วประเทศ ตู้เอทีเอ็มไม่มีทุกตำบลทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นเป็นการเอาเครื่องอีดีซี หรือแอปพลิเคชันถุงเงินที่ใช้กับสวัสดิการแห่งรัฐไปให้ถึง เพราะต้นทุนบนเทคโนโลยีกับประสิทธิภาพ และพลานุภาพของเทคโนโลยีมันไม่แพงจนเกินไป ขอให้ใส่ใจให้ทั่วถึงเท่านั้น คือสิ่งที่กระทรวงการคลังมุ่งหวังไว้ ทุกวันนี้ก็มีว่าทำไมไม่แจกเงิน โปรยเงิน มีผลในทันที ก็ต้องถามว่าเป็นแนวคิดที่สามารถสร้างความยั่งยืนได้ไหม ซึ่งเรามองแค่วันนี้พรุ่งนี้ สัดส่วนในการเข้าไม่ถึงมีกี่เซ็กเมนต์ วันนี้เป็นสิ่งที่รัฐเองต้องบูรณาการว่าจะมีกับการที่รัฐจัดสรรให้กับบุคลากรบางพื้นที่ต่อคน ต้องไปดูว่าคนหนึ่งได้รับสวัสดิการจากรัฐเท่าไหร่

        จากการแก้ปัญหาระยะสั้นเพื่อการเสริมสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจ โจทย์ใหญ่ที่ถือเป็น "กับดัก" ความมั่นคงของการเมืองเศรษฐกิจสังคมแล้ว คงไม่พ้นปัญหา "หนี้ครัวเรือน" ที่สะสมหมักหมมทับถมไม่น้อยกว่าหนี้สาธารณะ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่า มันคือการนำเอาเงินอนาคตมาใช้จ่ายแบบผิดประเภทหรือไม่อย่างไรนั้น ...ประธานสมาคมธนาคารไทยกล่าวว่า

        เรื่องหนี้ครัวเรือน มันมีมุมมองหลายมิติ มิติหนึ่งคือเรื่องของการใช้จ่ายเกินตัวคนส่วนใหญ่เข้าใจกัน มีรายได้เท่านี้ แต่อยากใช้จ่ายมากกว่า 2-3 เท่าตัว มันก็คือความอยากได้อยากมี ซึ่งตรงนี้ต้องสร้างด้วย Finance Education หรือ Financial literacy ซึ่งเขาจำเป็นต้องมองอนาคตยาวๆ

        ขณะเดียวกันมีอีกมิติหนึ่งว่าการที่ติดกับดักหนี้แปลว่า  เขาไม่สามารถยกระดับตัวหรือแรงงานของเขา หรือคุณภาพของเขาให้มีมูลค่าเพิ่มได้ คือถ้าพูดในภาคมหภาค คือ สังคมแรงงาน ของประเทศไทยที่ผ่านมา เน้นหนักในเรื่องของการใช้แรงงานต่างๆ ไม่ได้เน้นเรื่องของนวัตกรรม วิจัยค้นคว้า สร้างองค์ความรู้ให้ตัวเองสักเท่าไหร่ การเติบโตหลังจากที่มีการลงทุนในเชิง Evaluate creation ในเรื่องของปิโตรเคมีเมื่อหลายสิบปีก่อน เราไม่ได้ลงทุนอะไรเรื่องโครงสร้างที่สามารถต่อยอด กิจการรถยนต์ในประเทศเราเป็นบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนหมด ไม่ได้เป็นการสร้างอุตสาหกรรมภายในประเทศของเราเอง สิ่งที่เราได้บ้างคือซัพพลายเชน ในการทำประตู ทำยาง ทำผ้าเบรก ต้องหาอะไรไปเสริม แต่ตัวรถยนต์จริงๆ เราไม่ได้ไปอยู่ตรงนั้น

        "เรื่องการแก้ปัญหากับดักด้านติดหนี้คือเรื่องสร้างความรู้ และสร้างภาคอุตสาหกรรมที่จะนำไปสู่การจ้างงานที่มีมิติที่มีการสร้างเพิ่มมูลค่าสูงขึ้น ด้วยตัวบริบทของประเทศไทยเอง อย่างเช่นเรื่องของเกษตรแปรรูป เราทำได้ซึ่งมีความคิดริเริ่มอยู่หลายส่วน ตรงนี้ผมคิดว่าประเทศไทยไปพึ่งส่งออกภาครถยนต์ก็เยอะ เพราะฉะนั้น real economy เป็นสิ่งที่ต้องการ เร่งสร้างพร้อมๆ กับการสร้างคน เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น และที่สุดเขาจะได้รายได้สูงขึ้น พอรายได้สูงขึ้น ด้านหนึ่งเราลดคอร์ส ด้านหนึ่งคอร์สเพิ่มรายได้ อันนี้เป็นมิติของการเพิ่มรายได้ เพราะการลดคอร์สจะเป็นเรื่องยาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินเฟ้อ ไม่ว่าตอนนี้จะอยู่ในระดับต่ำ แต่เงินเฟ้อทุกปี และเป็นในเรื่องของสามารถใช้เทรนด์ที่เกิดโควิด มันมีแนวคิดที่ทำให้ทุกประเทศกลับมารักษาทรัพยากรประเทศตัวเองสูง เลยให้น้ำหนักเยอะเรื่องของโลคัลอีโคโนมี ก็เป็นโจทย์ที่ท้าทาย"

        อีโคโนมีคือการให้ความรู้กับประชากรฐานราก แรงงานส่วนใหญ่กลับภูมิลำเนา ทำยังไงให้เขามีอาชีพในท้องถิ่น ประเทศไทยดีตรงที่เรามีอาหารการกินสมบูรณ์ เป็นการลดความกดดัน ขณะเดียวกันโอกาสในการทำมูลค่าเพิ่มของเราจำกัดความรู้ยังไม่กระจายไปทั่วถึง การผลิตของออกมาแต่ไม่สาารถแปรรูปให้มีมูลค่าเพิ่มได้อย่างเหมาะสมก็เป็นเรื่องความรู้ทั้งสิ้น คงต้องเร่งสร้างกัน

      มิติลดหนี้ ประเทศไทยกิจกรรมเศรษฐกิจส่วนมากในระดับที่สูงเป็นธุรกิจนอกระบบที่ไม่ได้อยู่ในระบเศรษฐกิจที่เราเรียกว่าปกติกัน นั่นแปลว่ามีการใช้ทรัพยากรของประเทศในรูปแบบที่ไม่มีโอกาสกลับมาแบ่งปัน พอเขามีรายได้แล้ว ยกตัวอย่างหลายส่วนไม่ต้องเสียภาษี มีหลายแนวคิดไม่อยากเสียภาษี ก็เลยต้องเปลี่ยน แต่พอมีปัญหาก็ร้องขอให้รัฐช่วย

        "ผมคิดว่าจังหวะโควิดรัฐจะต้องเข้มแข็งและมุ่งมั่นที่จะสร้างอินเซนทีฟไม่ใช่สร้างภาคบังคับให้คนเข้าสู่ระบบ เช่นการช่วยเหลือ ต้องผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ สามารถเข้าถึงได้ทุกคน ตรวจสอบได้ทุกมิติ การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและบูรณาการธุรกิจไม่เพียงแต่ดิจิตอลแพลตฟอร์มมีต้นทุนที่ต่ำขึ้น แต่มันสร้างความโปร่งใส และให้ทุกคนมีส่วนร่วมเป็นจุดที่ต้องใช้ตรงนี้ให้เป็นโอกาสให้ได้"

        สุดท้ายแต่เป็นการเริ่มต้นเตรียมพร้อมนับหนึ่งต้อนรับวิถีชีวิตใหม่ นั่นคือคำแนะนำสำหรับการวางแผนในปี 2564..

        "ผมคิดว่ายังคงต้องใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังมองยาวๆ และการให้ความช่วยเหลือทั้งภาครัฐ และธนาคารพาณิชย์ก็ขอให้ทำความเข้าใจและมาตรการต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ในการจะฟื้นและบูรณาการธุรกิจของตัวเอง เราต้องยอมรับว่าจะกลับมาไม่เหมือนเดิม ธุรกิจหลายอย่างที่ดำรงในอดีตอาจจะเปลี่ยนบทบาทไปโดยสิ้นเชิง โดยจากประชาชนคนไทยหรือผู้ประกอบการ"

        การฟื้นจะเป็น K shape แน่นอน คือจะมีคนรอดและได้โอกาสจากบริบทของนิวนอร์มอล และคนปรับตัวไม่ทันจะเป็นเค..ขาลง

      สามเรื่องหลัก ซัพพลายเชนท่องเที่ยว ซัพพลายเชนรถยนต์จะมีภาษี 0% เอสเอ็มอีใช้เทคโนโลยีน้อย ต้นทุนแพงยังไม่เข้าถึงมาร์เก็ตเพลสได้ ก็เป็นจุดเปราะบาง หรือใช้แรงงานเยอะก็น่ากลัว เร่งปรับตัวปฏิรูปและใช้การบริหารทุกภาคส่วน ใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อที่จะทำให้ตัวเองสอดคล้องกับนิวนอร์มอล ธนาคารพาณิชย์เองไม่เป็นแต่เพียงร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการผลักดัน ยังมุ่งเน้นไปในเรื่องของไฟแนนซ์เชียลอีกด้วย ซึ่งอยู่ในโครงการที่เราบูรณาการมากว่าห้าปี และตรงนั้นน่าจะเป็นส่วนช่วยของระบบ

        คงต้องสรุปว่า ความไม่ประมาท ประเมินศักยภาพตนเอง และรู้จักปรับตัวไปกับโลกยุคดิจิตอล คือคำตอบที่จะช่วย...อยู่ให้เป็น ปลอดโปร่ง ปลอดภัย สามารถเกาะกระแสเป็น K ขาขึ้นได้ไม่มากก็น้อยนั่นเอง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"