เปิดชีวิต ‘รองโทรโข่งลุง’ และการทำงานกับคนชื่อ ‘ประยุทธ์’


เพิ่มเพื่อน    

 

  แม้จะร่ำเรียนรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศจากรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และแม้จะเติบโตในตระกูลนักการเมืองดัง จ.ศรีสะเกษ ที่คนในครอบครัวทำงานการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับชาติจนเหมือนเป็นอาชีพ แต่ครั้งหนึ่ง ‘ไตรศุลี ไตรสรณกุล’ หรือ ‘น้องกวาง’ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กลับคิดที่อยากจะไปประกอบธุรกิจมากกว่าเข้าสู่วัฏจักรการเมือง เพียงเพราะเบื่อหน่าย

            การรัฐประหารในประเทศไทยที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า การแก่งแย่งชิงดีทางการเมือง คือเหตุผลลำดับต้นๆ ที่ทำให้ตอนนั้นตอบตัวเองได้ว่า วงการนี้ไม่เหมาะกับคนอย่างเธอที่ไม่นิยมชมชอบเรื่องเครียดๆ

            หลังจบการศึกษา ‘ไตรศุลี’ มีแพลนที่จะไปประกอบธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่พยายามหลีกหนีมาตลอดกลับวิ่งเข้าใส่ เมื่อ ‘วิชิต ไตรสรณกุล’ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ผู้เป็นพ่อ ต้องการให้รับไม้ต่อ หลังพี่ชายคนโตออกอาการไม่สนใจการเมืองเช่นเดียวกัน

            ในมุมผู้เป็นพ่อมองว่า ลูกสาวคนเล็กมีแววทางการเมือง และในวัยแตะ 30 ปี ถึงเวลาที่น่าจะออกไปเริ่มต้นหาประสบการณ์ ซึ่งมันประจวบเหมาะพอดีเมื่อมีผู้ใหญ่จากพรรคภูมิใจไทยทาบทามให้ลงสมัคร ส.ส.เขต ในการเลือกตั้งปี 2562

            คำตอบที่แทบไม่ต้องใช้เวลาตัดสินใจอะไรเลยของ ‘ไตรศุลี’ คือ ‘ไม่’ เช่นเดิม ในขณะที่คนรอบข้างพยายาม built อารมณ์ โน้มน้าวให้เธอเปลี่ยนใจ

            “ตอนนั้นทุกคนมาโน้มน้าวกวางมาก ทำนองว่าพ่อทำงานมานานมาก อย่างนั้นอย่างนี้ ไม่เสียดายเหรอถ้าไม่ต่อยอด ส่วนพ่อเองก็พูดหลายครั้งว่าเบื่อแล้ว เหนื่อยแล้ว แต่ยังวางมือไม่ได้ เพราะลูกยังลงสมัครนายก อบจ.ไม่ได้ เนื่องจากอายุยังไม่ถึง 35 ปีตามกฎหมาย สุดท้ายเลยแบบเออไปลองก็ได้ และไปเป็นผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาให้อยู่ลำดับไหน เพิ่งมารู้ทีหลังว่าอยู่ลำดับที่ 30 ของพรรคภูมิใจไทย”

            อย่างไรก็ดี แม้จะตัดสินใจสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย แต่สำหรับ ‘ไตรศุลี’ ไม่คิดว่าตัวเองจะได้เป็น ส.ส.หรืออะไรทั้งสิ้น เพราะลำดับผู้สมัคร ส.ส.ของเธอ มันห่างจากพื้นที่มีลุ้น และที่ทำไปเพียงเพราะทำความประสงค์ของพ่อที่อยากให้หาประสบการณ์เท่านั้น

            ณ ตอนนั้น ‘ไตรศุลี’ ไม่สนด้วยซ้ำว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ก่อนจะข้ามไปประเทศกัมพูชาเพื่อหาช่องทางลงทุนทำธุรกิจ โดยไม่รู้ว่าขณะที่ตัวเองไม่อยู่ มีผู้ใหญ่ประสานมาที่บ้านอีกครั้ง เพื่อติดต่อพ่อให้ส่งลูกสาวไปทำหน้าที่รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสัดส่วนโควตาพรรคภูมิใจไทย

            “วันที่โทรมากวางอยู่เขมร ตั้งใจจะไปทำธุรกิจที่นั่น ไม่รู้เลยว่ามีความพยายามโทรหากวางหลายครั้งมาก แต่ติดต่อไม่ได้ เพราะไม่มีสัญญาณ พอข้ามฝั่งมาปุ๊บเปิดโทรศัพท์ ปรากฏว่า อ้าวมีเป็นร้อยสายที่โทรมา หลังจากนั้นเลยรู้ว่ามีผู้ใหญ่ติดต่อพ่อเพื่อให้กวางไปเป็นรองโฆษกรัฐบาล”

            สำหรับ ‘ไตรศุลี’ ผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ด้านการเมืองเลย และสร้างกำแพงให้ตัวเองก่อนหน้านี้ว่าจะไม่ลงเล่นการเมืองระดับชาติยังงงงวยกับสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมกับตั้งคำถามในหัวมากมาย โดยเฉพาะเก้าอี้ ‘รองโฆษกรัฐบาล’ มันคืออะไร?

                “กวางถามญาติว่าตำแหน่งนี้มีหน้าที่อะไรบ้าง มีญาติคนหนึ่งบอกว่าตำแหน่งนี้ดีนะเจ๊กวาง ลองดูมั้ย เราก็ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร ตอนนั้นเครียด และไม่อยากย้ายมาอยู่ กทม.ด้วย อยากอยู่บ้าน บางคนก็บอกว่า มันจะดีเหรอ จะโดนด่ามั้ย แล้วต้องทำงานกับนักข่าว ซึ่งจะต้องโดนไล่จี้ถาม ส่วนพ่อไม่ค่อยพูดอะไร ให้กวางตัดสินใจเอง ไม่ได้บังคับ แต่เรารู้ว่าการที่พ่อพูดแบบนี้คืออยากให้เราเป็นน่ะแหละ แล้วมารู้ทีหลังว่าเขาภูมิใจมากที่เราเป็นรองโฆษกรัฐบาล เขาไม่ได้พูดกับเรา แต่ไปพูดกับคนอื่น ไปชมเรากับคนอื่น”

            หลังได้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับตำแหน่งที่เปรียบกันว่าเป็น ‘โทรโข่งรัฐบาล’ แล้ว ‘ไตรศุลี’ ตัดสินใจในนาทีสุดท้ายแบบงงๆ ว่าจะลองสักตั้ง เธอรีบไปถ่ายรูป กรอกประวัติอย่างฉุกละหุก แล้วมุ่งเข้าสู่ กทม.เพื่อเข้าร่วมประชุมพรรคภูมิใจไทยเป็นครั้งแรก โดยที่ไม่ได้รู้จักใครเลย

            ขณะที่ในการประชุมพรรคภูมิใจไทย ‘น้องกวาง’ ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งรองโฆษกรัฐบาลมากขึ้นจากเดิม หากแต่เป็นข้อมูลที่ยิ่งฟังยิ่งดูน่ากลัว คือ เป็นตำแหน่งที่คนเกี่ยงกันเป็น

            “ที่ประชุมหารือกันเรื่องการส่งคนเข้าไปเป็นข้าราชการการเมืองในตำแหน่งต่างๆ เท่าที่ฟังๆ ไม่มีใครอยากเป็นรองโฆษกรัฐบาลเลย เพราะเหมือนงานหนัก เราฟังแล้วรู้สึกว่ามันขนาดนั้นเลยเหรอ ส่วนใหญ่เขาอยากไปทำหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีกัน”

            นอกจากการบ้านเรื่องงานในหน้าที่ใหม่ อีกสิ่งที่ ‘ไตรศุลี’ สืบค้นคือ ข้อมูลของชายที่ชื่อ ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ คนที่ตัวเองจะต้องไปเป็นโทรโข่งให้ ว่าเป็นคนกระโชกโฮกฮาก พูดจากระแทกกระทั้น เหมือนที่มีการแชร์กันในโซเชียลมีเดียจริงหรือไม่ โดยการนั่งดูคลิปสัมภาษณ์เก่าๆ

                “กวางเป็นคนไม่อ่านข่าวการเมือง เลยไปไล่ดูคลิปนายกฯ ที่มีการตะคอก ตะโกนใส่นักข่าว ยอมรับว่าแรกๆ รู้สึกว่าทำไมผู้นำต้องวางตัวแบบนี้ แต่ขณะเดียวกันก็ไปเปิดดูคลิปอีกมุมหนึ่งของนายกฯ ที่แกล้งๆ พี่นักข่าวด้วย”

            จากคนที่ต่อต้านการเข้าสู่การเมือง จากคนที่ไม่มีข้อมูลเรื่องตำแหน่งรองโฆษกรัฐบาล และจากคนที่รู้จัก ‘บิ๊กตู่’ ผ่านโซเชียลมีเดีย แต่หลังจากเริ่มทำงานได้สักระยะ ‘รองกวาง’ กลับปรับตัวได้เป็นอย่างดี และมีมุมมองที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะกับผู้บังคับบัญชาของตัวเอง

            “ถ้าในแง่ทำงาน นายกฯ เป็นคนเก่งนะ เป็นคนที่มีไอเดียดี คิดเร็ว กวางรู้สึกว่าเขาเหมาะที่จะเป็นผู้นำในช่วงนี้ นายกฯ เป็นคนตั้งใจทำงาน ไม่ว่าจะประชุมครั้งไหน ลงพื้นที่ที่ไหน นายกฯ จะจดตลอดเวลา จดทุกรายละเอียด หลายเรื่องที่กระทบชีวิตเรา แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ นายกฯ รับรู้และสั่งการด้วย แต่เมื่อสั่งไปแล้วฝ่ายปฏิบัติทำหรือเปล่านั่นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะบอกว่านายกฯ ไม่สั่งหรือไม่สนใจคงไม่ใช่”

            ‘ไตรศุลี’ ยังเล่าอีกมุมหนึ่งของ ‘บิ๊กตู่’ ที่หลายคนอาจไม่ทราบและไม่เคยเห็นให้ฟัง โดยเฉพาะคำว่า ‘ลุงตู่’ ที่ไม่ได้หมายถึงขวบวัยเพียงอย่างเดียว หากแต่หมายถึงบุคลิกส่วนตัวด้วย

                “การมาอยู่ตรงนี้ทำให้เข้าใจบุคลิกนายกฯ มากขึ้น นายกฯ เป็นเหมือนลุงจริงๆ เป็นลุงที่อบอุ่นคนหนึ่ง เป็นเหมือนญาติผู้ใหญ่ที่เราอยู่ด้วยแล้วรู้สึกว่าเป็นผู้ใหญ่ที่พึ่งพิงได้ ให้คำปรึกษาได้ แก้ปัญหาได้ กวางคุยกับนายกฯ มากเหมือนกัน เขาไม่ได้เป็นคนโวยวายหรือฉุนเฉียวตลอดเวลา แต่มันเป็นบุคลิกของเขา และนายกฯ เป็นคนที่ห่วงความรู้สึกคนรอบข้างทุกคน เวลาประชุมอะไรมักจะเดินขอบคุณทั่วไปหมด ทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการที่ทำงานให้ บางทีเรียกมาถ่ายรูปกัน หรือไม่ก็ถามว่ากินข้าวยัง”

            ขณะเดียวกัน หลังทำงานมาได้ปีกว่าๆ จากที่ตั้งท่าปฏิเสธไม่อยากเล่นการเมือง ‘รองกวาง’ กลับเริ่มรู้สึกว่า การมาอยู่ตรงนี้เป็นสิ่งโชคดี เพราะประสบการณ์การเมืองครั้งแรกของเธอครั้งนี้ ‘ไม่มีขาย-หาซื้อไม่ได้’

            “ต่อให้ไปเป็นตำแหน่งอื่น มันก็คนละฟีลกัน อยู่ตรงนี้ทำงานสนุกบ้าง ไม่สนุกบ้าง แต่ได้พบปะผู้คนเยอะ รู้จักคนเยอะขึ้น เพราะเราไม่เคยแม้แต่เป็น ส.ส.มาก่อนด้วยซ้ำ”

            แต่เมื่อถามว่า ติดการเมืองระดับชาติแล้วหรือยัง? คำตอบของ ‘ไตรศุลี’ คนที่มีอายุน้อยที่สุดในห้องประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยุค ‘บิ๊กตู่’ กลับทำให้แปลกใจ เพราะถึงตรงนี้ เธอยังชอบ ‘การเมืองท้องถิ่น’ มากกว่า

            “ก่อนหน้านี้กวางบอกตัวเองตลอดว่าจะไม่ลง ส.ส. ใครจะเอาเงินกี่บาทมาจ้างให้ลงก็ไม่เอา ไม่อยากเป็น กวางผูกพันกับท้องถิ่นมากกว่า รู้สึกว่าทำอะไรแล้วมันเป็นรูปธรรมได้ชัดเจน พัฒนาบ้านเกิดได้จริง แบบทำแล้วเห็นผลเลย บริหารจัดการง่ายกว่า อีกอย่างกวางเกิดมาก็เห็นพ่อทำงานท้องถิ่นแล้ว ผูกพันกับคน แต่กวางก็ไม่ได้อยากเป็นนายก อบจ.เหมือนพ่อนะ (หัวเราะ) ตอนนี้กวางขอเป็นนายกเทศบาลก็พอ”

            แต่ความมักน้อยของ ‘ไตรศุลี ไตรสรณกุล’ ที่หวังกลับไปเป็นแค่นักการท้องถิ่นเล็กๆ ในบ้านเกิด ซึ่งสวนทางธรรมชาตินักการเมืองอื่นๆ ที่มีแต่หวังจะเติบโตขึ้น เป็น ส.ส. ไต่ระดับเป็นรัฐมนตรี จะเป็นจริงหรือไม่ ต้องรอดู

            เพราะครั้งหนึ่งเธอก็เคยวิ่งหนีการเมืองระดับชาติมาแล้ว แต่สุดท้ายก็กลายมาเป็น ‘รองโฆษกรัฐบาลลุงตู่’ ถึงทุกวันนี้

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"