6จว.ใต้เสี่ยงฝนถล่ม เขื่อนบางลางวิกฤติ


เพิ่มเพื่อน    

 

กรมอุตุฯ เตือนมรสุมเข้า 6 จังหวัดใต้เสี่ยงฝนถล่ม "กอนช." เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขังในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมเตรียมปรับแผนการระบายน้ำเขื่อนบางลาง หลังคาดการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องไหลลงอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น นราธิวาสอ่วม! น้ำท่วมขัง 6 อำเภอ

    เมื่อวันที่ 6 มกราคม นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง "ฝนตกหนักบริเวณภาคใต้ (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 7 มกราคม 2564)" ฉบับที่ 9 ลงวันที่ 06 มกราคม 2564 ระบุว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมชายฝั่งประเทศมาเลเซีย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้
    สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
    ทางด้านกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ออกประกาศเฝ้าระวังพื้นที่น้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขังฉบับที่ 1 หลังติดตามสภาพอากาศบริเวณภาคใต้ พบช่วงวันที่ 4-5 มกราคมมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ขณะนี้ปริมาณฝนตกสะสมในพื้นที่มากกว่า 90 มิลลิเมตร และการติตตามสถานการณ์น้ำพบเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 1,383 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 95 ของความจุ
    จากการประเมินสถานการณ์จากฝนคาดการณ์ (OneMap) ในช่วงวันที่ 5-7 มกราคม ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ จะมีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น คาดการณ์เขื่อนบางลางจะมีปริมาณน้ำมากกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ของความจุ และจะระบายน้ำลงแม่น้ำปัตตานีในอัตรา 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำปัตตานีบริเวณด้านท้ายเขื่อนเพิ่มขึ้นเอ่อล้นตลิ่งสูงประมาณ 1.5-2 เมตร และท่วมขังบริเวณอำเภอเมือง อำเภอยะหา จังหวัดยะลา (6 ม.ค.64) และท่วมขังบริเวณอำเภอเมือง อำเภอหนองจิก และอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี วันที่ 7 ม.ค. เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเขื่อนบางลางและน้ำในแม่น้ำปัตตานีเป็นไปตามแผน กอนช. จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามเฝ้าระวังสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในพื้นที่เสี่ยงต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง แจ้งตือนให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมอพยพและเคลื่อนย้ายสิ่งของได้ทันหากเกิดน้ำหลาก
    กอนช.ยังให้ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาความเหมาะสมการระบายน้ำในลำน้ำแม่น้ำ ส่วนเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำให้พิจารณาพร่องน้ำเพื่อรองรับน้ำหลาก และเตรียมพื้นลุ่มต่ำเพื่อเป็นแก้มลิงในการหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก พร้อมทั้งพิจารณาบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ อาจต้องระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดน้ำหลากเอ่อล้นตลิ่งบริเวณที่ลุ่มต่ำและด้านท้ายน้ำ และกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำให้สามารถรองรับน้ำฝนและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
    ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงาน ว่า อิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งสหพันธรัฐมาเลเซีย ทำให้บริเวณภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และคลื่นลมแรง ปัจจุบัน (6 มกราคม 2564 เวลา 06.00 น.) มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลาก 1 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอศรีสาคร อำเภอบาเจาะ อำเภอระแงะ อำเภอสุไงปาดี และอำเภอรือเสาะ รวม 15 ตำบล 67 หมู่บ้าน ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
    ปัจจุบันยังคงมีฝนตกในพื้นที่ ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยระดมเครื่องจักรกลและเครื่องสูบน้ำเข้าพื้นที่เพื่อเร่งระบายน้ำ และให้การดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจพื้นที่และประเมินความเสียหาย เพื่อให้ความช่วยเหลือตามระเบียบต่อไป
    มีรายงานความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและพื้นที่ จ.นราธิวาส ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลทำให้มีสภาวะฝนตกลงมาอย่างหนักในพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอของ จ.นราธิวาส เป็นเวลา 4 วันติดต่อกัน และยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดตก ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก 2 สาย คือ แม่น้ำสายบุรีและแม่น้ำสุไหงโก-ลก เอ่อล้นตลิ่ง จากมวลน้ำป่าที่สะสมอยู่บนเทือกเขาสันกาลาคีรี ในพื้นที่ อ.สุคิริน ไหลลงมาสมทบ
    ส่งผลทำให้มีสภาวะน้ำท่วมขังในพื้นที่ 6 อำเภอ คือ 1.อ.ระแงะ 2.อ.รือเสาะ 3.อ.สุคิริน 4.อ.สุไหงปาดี 5.อ.สุไหงโก-ลก ส่วนที่ถือว่าหนักที่สุดอยู่ในพื้นที่ อ.แว้ง ซึ่งรองรับมวลน้ำป่าจากเทือกเขาสันกาลาคีรี
    อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา และจากมวลน้ำป่าบนเทือกเขาสันกาลาคีรี ที่กำลังไหลระบายลงมาสมทบในแม่น้ำสุไหงโก-ลกในครั้งนี้
    ส่วนที่อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ในพื้นที่ได้มีฝนตกลงมาต่อเนื่องกันหลายวัน โดยเฉพาะเมื่อคืนที่ผ่านมามีฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้ในพื้นที่ตำบลสะท้อน ตำบลนาประดู่ และตำบลทับช้าง อ.นาทวี เกิดน้ำป่าไหลเข้าท่วมในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้หลายหมู่บ้านใน 3 ตำบล ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน  
    ทางด้านพระครูสุวัฒนาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดนาทวี และรองเจ้าคณะจังหวัดสงขลา ได้ออกเยี่ยม ดูแลวัดและสำนักสงฆ์ที่ถูกน้ำท่วม เพื่อเตรียมให้การช่วยเหลือต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"