เจาะลึกพัฒนาวัคซีนโควิดเพื่อคนไทย


เพิ่มเพื่อน    

 

            การผลิตวัคซีนโควิด-19 ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องภายใต้ความกดดันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลกทุกวัน หนึ่งในนั้นคือ การพัฒนาวัคซีนจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และแอสตร้าเซนเนก้า ร่วมกันผลิตวัคซีน วัคซีนวิจัยป้องกันโควิด-19 AZD1222 ซึ่งประเทศไทย โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ของไทย จะเป็นผู้ผลิตวัคซีนดังกล่าวและกระจายไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยความคืบหน้าล่าสุด วัคซีนจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และแอสตร้าเซนเนก้า ได้ผล 70% และไทยจะสามารถซื้อวัคซีนโควิด-19 ในฐานะผู้ร่วมผลิต ราคาหลอดละประมาณ 5 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 151 บาท) โดยคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบ 6,049,723,117 บาท สำหรับสั่งจองซื้อวัคซีนโควิด-19 จำนวน 26 ล้านโดส

            โดยการร่วมมือกันดังกล่าว เพื่อเสริมศักยภาพด้านกำลังการผลิตของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ให้พร้อมรองรับการผลิตวัคซีนจำนวนมาก เพื่อให้ประเทศไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมและทันเวลา ขณะที่แอสตร้าเซนเนก้าจะจัดสรรวัคซีนวิจัยดังกล่าวโดยไม่มุ่งหวังผลกำไรในช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมกันนี้จะถ่ายทอดเทคโนโลยีและร่วมมือกับสยามไบโอไซเอนซ์ในการติดตั้งกระบวนการผลิตนั้น หมายความว่า หากในอนาคตอันใกล้วัคซีนโควิด-19 ได้ผลดี กระทรวงสาธารณสุขจะได้รับวัคซีนวิจัย AZD1222 หลังจากผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด โดยมีเป้าหมายเริ่มจัดสรรวัคซีนสำหรับประชาชนชาวไทยได้ภายในช่วงปี 2564 ซึ่งหลังจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากแอสตร้าเซนเนก้า รวมทั้งขั้นตอนของ อย. คาดว่าวัคซีนชุดแรกจะพร้อมใช้ในกลางปีหน้า ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนดังกล่าวได้สำเร็จเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

            นอกจากนี้ ประเทศไทยต้องการที่จะฉีดวัคซีนให้ได้ครอบคลุม 50% ของประชากรทั้งประเทศภายในปี 2564 โดย ณ เวลานี้รัฐบาลไทยได้มีแผนการที่จะจัดหาวัคซีนเพิ่มจำนวน 26 ล้านโดส จากโครงการโคแวกซ์ ซึ่งเป็นโครงการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้การสนับสนุนของ WHO อีกทั้งประเทศไทยจะจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมจำนวน 13 ล้านโดสจากแหล่งที่มาอื่นๆ เพื่อจะให้ครอบคลุมกับประชากรจำนวน 30 ล้านคน

            ในส่วนของแผนการฉีดวัคซีน ประเทศไทยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเริ่มกระบวนการทดลองทางคลินิกหรือการทดลองการรักษาในระยะที่ 1 ได้ในช่วงเดือน เม.ย.2564 ในระยะ 2 ได้ในช่วง มิ.ย.2564 โดยคาดการณ์กันว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของประเทศไทยนั้นอาจจะใช้งานได้จริงในช่วงสิ้นปี 2564 โดยจะเป็นการอนุญาตใช้งานวัคซีนแบบฉุกเฉินกลางปี 2564 วัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า อย่างไรก็ตามประเทศไทยจะเป็นผู้จัดส่งวัคซีนด้วยราคาที่สมเหตุสมผลไปให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยจะเริ่มจัดส่งได้เมื่อมีการเริ่มกระบวนการผลิตแล้ว นอกจากนี้แอสตร้าเซนเนก้าได้วางให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีนโควิด-19 ในภูมิภาคอาเซียน ส่วนภูมิภาคอื่น เช่น อเมริกาใต้ วางไว้ที่ประเทศบราซิล เอเชียใต้ ที่ประเทศอินเดีย รวมถึงอังกฤษ เกาหลีใต้

            สำหรับการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ปัจจุบันมีวัคซีนต้นแบบที่พัฒนาโดยนักวิจัยจำนวน 7 แพลตฟอร์ม รวมกว่า 20 ชนิดที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา ประกอบด้วย 1.แบบ mRNA พัฒนาโดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางวิจัยและพัฒนาวัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเตรียมการทดลองในมนุษย์ระยะที่หนึ่ง คาดว่าจะเริ่มในราวช่วงสงกรานต์ปี 2564 2.แบบ DNA พัฒนาโดยบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด อยู่ระหว่างการเตรียมการทดลองในมนุษย์เช่นเดียวกัน โดยจะไปทดลองระยะที่ 1 ในประเทศออสเตรเลีย ก่อนจะกลับมาทดสอบในคนระยะที่ 2 ที่ประเทศไทย

            3.แบบโปรตีนซับยูนิต (Protein Subunit) พัฒนาโดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ผ่านขั้นตอนทดสอบประสิทธิภาพ/ความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ อยู่ในขั้นทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง 4.วัคซีนเชื้อตาย (Inactivated) พัฒนาโดยองค์การเภสัชกรรม อยู่ในขั้นทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง, ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่ในขั้นพัฒนาวัคซีนตัวเลือกระดับห้องปฏิบัติการ

            5.คล้ายอนุภาคไวรัส (Viral Like Particle: VLP) พัฒนาโดย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ สวทช. อยู่ในขั้นทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง 6.แบบใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral vector) พัฒนาโดย สวทช. อยู่ในขั้นทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง และ 7.แบบเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (Live-attenuated) พัฒนาโดย สวทช. อยู่ในขั้นทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง

            อย่างไรก็ตาม แม้จะมีด้านดีแต่ด้านเสียก็มีเช่นกันเมื่อสามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 แต่ละรูปแบบได้เสร็จสิ้น คือ อาการข้างเคียงที่ตามหลังจากได้รับวัคซีนของผู้ป่วยแต่ละคน เพราะไม่นานมานี้สำนักข่าวต่างประเทศยืนยันว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนบางรายมีอาการแพ้อย่างรุนแรงจนต้องนำส่งโรงพยาบาล จึงทำให้หลายบริษัทที่ผลิตวัคซีนจะต้องพัฒนาประสิทธิภาพยาให้ดีขึ้น

            แต่ถึงอย่างไร แม้วัคซีนโควิด-19 คนไทยจะได้ใช้กันในปีหน้า แต่สิ่งสำคัญตอนนี้ที่พิสูจน์แล้วว่าการสวมหน้ากากอนามัยช่วยป้องกันโรคได้จริง ถ้าทุกคนช่วยกัน โดยเฉพาะเวลาอยู่ในที่สาธารณะ ถ้าฉีดวัคซีนแล้ว บางครั้งตัวผู้รับวัคซีนปลอดภัย ดังนั้นถึงแม้จะฉีดวัคซีนแล้วในระยะ 1 ปีหลังจากนี้ การสวมหน้ากากอนามัยยังเป็นมาตรการที่จะมาเสริม ควบคุมป้องกันโรค ซึ่งไม่เฉพาะการป้องโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังป้องกันไข้หวัดและโรคอื่นๆ ด้วย เพราะในช่วงโควิด-19 ระบาด จะเห็นภาพชัดว่า พอคนไทยสวมหน้ากากจำนวนมาก ทำให้คนไข้ปอดบวม เป็นไข้หวัด ลดลงอย่างมหาศาล ดังนั้นการสวมหน้ากากอนามัยเป็นมาตรการสำคัญที่ต้องทำอย่างเข้มข้นในปี 2564.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"