ปรับงาน 'สื่อสาร' เชิงรุก  เน้นฉับไว-สกัดบิดเบือน


เพิ่มเพื่อน    

การขับเคลื่อนการทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในปัจจุบัน ซึ่งยกระดับเป็น “รัฐบาลดิจิทัล” ให้เท่าทันกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีการสื่อสารที่ฉับไว โดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องไปสู่ประชาชนถือเป็นสิ่งสำคัญ 

โดย “นายอนุชา บูรพชัยศรี” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ถึงการทำงานของ “ทีมโฆษกรัฐบาล” ที่มีการพัฒนาการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 จะมีการทำงานเชิงรุกมากยิ่งขึ้น มีการเพิ่มช่องทางการสื่อสารใหม่ๆ เพื่อให้เข้าถึงประชาชน รวมถึงการปรับรูปแบบการทำงาน โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้

สำหรับการทำงานของทีมโฆษกรัฐบาลที่ประกอบด้วยรองโฆษกฯ อีก 2 คนนั้น นายอนุชาระบุว่า เราไม่ต้องถึงขนาดแบ่งว่ากระทรวงใดใครรับผิดชอบ แต่จะมองภาพรวม เพราะนายกรัฐมนตรีดูแลกำกับในส่วนของรัฐบาลอยู่แล้ว ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ นโยบายทั้งหมดที่ได้มามีนายกฯ เป็นผู้สั่งการ กำชับ และติดตามตรวจสอบการดำเนินงาน ว่ามีความคืบหน้าในลักษณะไหน เราก็จะดูทุกขั้นตอนในส่วนของทุกกระทรวง และอีกวิธีการหนึ่ง เราพยายามที่จะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เข้าใจง่ายๆ ในสิ่งที่นายกฯ คิด สิ่งที่นายกฯ สั่งการออกมาเป็นรูปธรรมไปถึงหน่วยงานต่างๆ ก็พยายามอธิบายให้ฟังถึงที่มาที่ไป ประชาชนจะได้รับประโยชน์อย่างไรจากมาตรการต่างๆ จะมีผลกระทบอะไรบ้าง โดยเอาประชาชนเป็นหลักในการนำเสนอ 

แต่แน่นอนในการนำเสนอจะต้องผ่านผู้สื่อข่าว และมีหลายช่องทาง โดยช่องทางตามปกติ เช่น การแถลงข่าว เพื่อให้ผู้สื่อข่าวได้เก็บประเด็นให้มากที่สุด ขณะเดียวกันหลังจากนั้นจะมีช่องทางอื่นๆ เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ เว็บไซต์ที่เป็นทางการ อินสตาแกรม และพอดแคสต์ ซึ่งเหล่านี้เป็นการสื่อสารกับประชาชนโดยตรง ดังนั้นเนื้อหาจึงไม่ใช่จะละเอียดยิบ เช่น ตัวเลขอาจจะพูดถึงคราวๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจง่าย ให้นึกภาพออก ไม่ต้องเน้นเรื่องคำศัพท์ฟังแล้วไม่เข้าใจ ไม่ต้องฟังแล้วไปแปล ต้องอธิบายให้เหมือนกับเราพูดคุยกับประชาชนทั่วๆ ไป นอกเหนือจากนั้นแล้วเราจะดูกลุ่มที่เราสื่อสารด้วย ไม่ใช่คำพูดคำเดียวหรือเนื้อหาอันเดียวใช้ได้ทั้งหมด เราจะดูด้วยว่ากลุ่มที่เราจะอธิบายหรือนำเสนอเป็นกลุ่มไหน หากเป็นกลุ่มวัยรุ่น ก็จะใช้คำศัพท์ที่จะอิงกับปัจจุบันที่เขาใช้กันอยู่ หรือถ้าเป็นรุ่นสูงอายุขึ้นมาหน่อย ก็จะใช้คำที่เขาเข้าใจง่าย 

นายอนุชายังระบุถึงการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียว่า ยังมีเรื่องของโซเชียลมีเดีย เราพยายามให้มีความถี่มากขึ้น เพื่อเขาจะได้รับข้อมูลข่าวสารได้อย่างต่อเนื่อง บางทีเรื่องการแถลงข่าว โซเชียลมีเดียทำได้ตลอด 24 ชั่วโมง จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งในเรื่องความรวดเร็วที่สามารถสื่อสารได้ตลอดถึงประชาชนโดยตรง หรือเช่น พอดแคสต์ที่เราทำออกมา ทั้งนี้ เราจะมองภาพเนื้อข่าวแต่ละเรื่องที่เราอยากจะสื่อสาร เช่น หากพูดถึงการสื่อสารในเชิงรุก เราคาดการณ์ไว้แล้วว่าจะเกิดประเด็นปัญหาอะไร อย่างสถานการณ์โควิด-19 เรารู้ว่าประชาชนคาดหวังที่จะฟังว่าจะล็อกดาวน์หรือไม่ ทุกคนรอความชัดเจน เราก็จะสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจตั้งแต่แรกเลยว่า สรุปแล้วไม่มีการล็อกดาวน์ แต่มีการแบ่งโซน สิ่งเหล่านี้เป็นแนวทางที่เราคาดการณ์ไว้ก่อนว่าประชาชนอยากได้รับข้อมูลข่าวสารอะไร 

และนอกจากเชิงรุกแล้ว เรายังต้องชี้แจงข่าวสารที่มีการบิดเบือนด้วย อาจจะไม่ถึงกับเป็น Fake News ทั้งหมด แต่อาจเป็นข้อมูลที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ นี่เป็นอีกส่วนสำคัญที่ทีมโฆษกต้องเข้ามาอธิบายเพื่อให้เกิดความชัดเจน ไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดขึ้น และจะต้องดำเนินการให้ได้ตามเวลาที่เหมาะสมด้วย เพราะหากปล่อยไว้นานไป การนิ่งเฉยอาจเป็นการยอมรับในสิ่งที่มีการบิดเบือนได้ ดังนั้น ทีมโฆษกฯ จึงต้องดำเนินการให้เขาทราบทันทีทันใด ในประเด็นที่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง 

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวต่อไปด้วยว่า ส่วนการทำในเชิงรุกอีกอย่างหนึ่ง ขณะนี้เรามีการทำงานร่วมกับโฆษกกระทรวงค่อนข้างเยอะพอสมควร มีการประชุมไปแล้ว 2 รอบ ซึ่งเราจะต้องทำงานเสริมซึ่งกันและกัน เช่น เมื่อทีมโฆษกรัฐบาลให้ข้อมูลใดหรือแถลงข่าวข้อมูลใด ที่อาจมีความเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับกระทรวงใด ก็ให้กระทรวงนั้นไปขยายความ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในรายละเอียดมากขึ้น เรียกว่าเป็นการเติมเต็ม ขณะเดียวกันในส่วนของทีมโฆษกรัฐบาลก็จะเสริมกับทีมโฆษกกระทรวงด้วยเช่นกัน เช่น ถ้าโฆษกกระทรวงมีแถลงอะไร เราจะหยิบเนื้อหานั้นมาขยายความต่อ ในฐานะโฆษกรัฐบาลด้วย 

ดังนั้นการทำงานเป็นการสื่อสารทั้งสองทาง เพื่อให้ประชาชนเข้าใจมากยิ่งขึ้น การทำงานจึงมีความรอบด้านมากขึ้น มีความชัดเจนในเนื้อหาและภาพรวมมากยิ่งขึ้น ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่โฆษกรัฐบาลและโฆษกกระทรวงทำหน้าที่ร่วมกัน ให้เกิดการขยายผลไปถึงประชาชนได้ ทั้งในเรื่องของความถูกต้องและการรับรู้ข่าวสารของประชาชน ไม่ใช่ครั้งเดียวแล้วจบ เปรียบเสมือนเรามีทีมวงออร์เคสตรา ซึ่งมีทีมโฆษกกระทรวงมาร่วมในวงเดียวกัน 

นายอนุชายังกล่าวถึงผลตอบรับจากประชาชน ในการรับฟังการสื่อสารจากรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาว่า เรื่องผลตอบรับของประชาชนที่เช็กได้ง่ายก็คงจากโซเชียลมีเดีย ซึ่งเราอาจจะไม่ได้ดูเรื่องการกดไลค์หรือกดแชร์อะไร เพราะที่สำคัญที่สุด คนที่เขาได้รับข่าวสารแล้วเขาเผยแพร่ต่อ เขาเข้าใจประเด็นตรงกันมากน้อยแค่ไหน อย่างคนที่ดูในโซเชียลมีเดียบางทีเขาไม่ได้คอมเมนต์หรือกดไลค์ แต่อย่างน้อยได้ผ่านหูผ่านตาเขา เขาได้รับรู้ว่ารัฐบาลทำอะไร รัฐบาลชี้แจงประเด็นไหน และเป็นช่องทางที่เขาได้รับอย่างเป็นทางการจากรัฐบาล ก็จะมีความชัดเจนว่าเป็นช่องทางที่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ นอกจากนี้ยังต้องทำให้เกิดความรวดเร็วและความชัดเจนไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่รวดเร็วแต่ขาดความละเอียดรอบคอบของเนื้อข่าว ขณะเดียวกันก็ไม่ช้าจนเกินไป จนเกินเวลาที่ประชาชนอยากรับทราบ 
ส่วนการปรับการทำงานในช่วงที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางการเมืองและการชุมนุม นายอนุชาระบุว่า 

“ตั้งแต่เริ่มเข้ามารับหน้าที่ตรงนี้ ตั้งใจว่าจะทำหน้าที่ของทีมโฆษกฯ เพื่อชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบ แต่ไม่ใช่เป็นผู้ที่มาทำให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มเติม เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าในส่วนของทีมโฆษกฯ จะพยายามชี้แจงข้อมูลความถูกต้องและความตั้งใจของนายกรัฐมนตรี และนโยบายหรือสิ่งที่รัฐบาลคิด มากกว่าจะไปตอบโต้เพื่อทำให้เกิดการขยายผล โดยประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะไม่ถูกใจทุกคน เพราะบางคนอาจจะอยากให้มีการตอบโต้ ซึ่งบางครั้งการตอบโต้ต้องให้เป็นประโยชน์กับประชาชน ถ้าเป็นการตอบโต้เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง ตรงนี้โอเค แต่ถ้าเป็นการตอบโต้เพื่อดิสเครดิต ผมคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลที่จะไปทำแบบนั้น” 

ฉะนั้นเรามีหน้าที่ในการชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องและข้อเท็จจริงให้กับประชาชนได้รับทราบมากกว่า และเราเป็นส่วนหนึ่งได้ด้วยที่จะไปรับฟังประเด็นปัญหาคนที่อาจคิดเห็นไม่ตรงกับรัฐบาล ซึ่งเราก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะรับฟังมา เพื่อช่วยถ่ายทอดให้ฝ่ายบริหาร ดังนั้นหากเรารับฟังด้วยความคิดเห็นที่เป็นกลาง โดยไม่คิดว่าเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง เราก็จะได้รับข้อมูลอีกแบบหนึ่ง ซึ่งนายกฯ พูดเสมอว่านายกฯ ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร เพราะฉะนั้นทีมโฆษกฯ เองก็ไม่ได้สร้างประเด็นปัญหาที่ทำให้ท่านนายกฯ รู้สึกว่าเป็นคู่ขัดแย้งกับใครเช่นกัน 
อย่างไรก็ตาม ในบางเรื่องหรือในบางสถานการณ์ ท่านนายกฯได้มีการสั่งการอย่างต่อเนื่องให้ชี้แจงประเด็นอะไรบ้าง และบางเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงหรือหน่วยงานไหน เราก็อาจจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยด้วย อย่างเช่นเชิญมาร่วมรายการของรัฐบาลเพื่อช่วยชี้แจงประชาชน เป็นต้น 

โฆษกประจำสำนักนายกฯ ยังกล่าวถึงอุปสรรคที่ต้องเจอในการทำงานว่า อุปสรรคและปัญหาที่หนักใจ ณ วันนี้ คงจะเป็นเรื่องโซเชียลมีเดีย เพราะอยากให้ประชาชนเข้าใจถึงลักษณะของโซเชียลฯ ในปัจจุบัน ที่ไม่ได้เป็นในลักษณะธรรมชาติ แต่มีการปรุงแต่ง คนที่อยู่หน้าจอ 1 คน อาจมีหลายบัญชีผู้ใช้ จึงอยากให้คนที่ใช้โซเชียลฯ พยายามตรวจสอบ อย่าเชื่อทุกสิ่งอย่างที่อยู่ในโซเชียลฯ ว่าเป็นข้อเท็จจริงทั้งหมด เพราะสิ่งที่เราเห็นในโซเชียลฯ ใครๆ ก็สามารถโพสต์ได้ ทำให้เราสับสนและได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องได้ นี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นกังวล 
ซึ่งช่องทางที่เป็นทางการก็มี แต่บางครั้งไม่สามารถกระจายไปได้ทั่ว แต่ช่องทางที่เป็นการบิดเบือน เมื่อได้อ่านสร้างความตระหนกตกใจให้ประชาชน คนก็อยากแชร์เพื่อบอกให้คนอื่นรู้ว่ามีเคสแบบนี้อยู่ ซึ่งเคสนี้อาจจะมีต้นตอที่มาไม่ถูกต้องก็ได้ จึงเป็นสิ่งที่กังวลจะทำอย่างไรให้คนตระหนักรู้ในการเสพสื่อโซเชียลฯ นี้   

ส่วนการเพิ่มช่องทางการสื่อสารใหม่ๆ ในปี 2564 นั้น นายอนุชากล่าวว่า เราพยายามที่จะรับฟังและออกไปพูดคุยกับประชาชนให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาทีมโฆษกรัฐบาลจะเน้นเรื่องการสื่อสารให้ประชาชนรับฟัง ดังนั้นจะเพิ่มช่องทางการรับฟังข้อมูลจากประชาชน ว่าอยากจะสื่อสารและมีข้อเสนอแนะอะไรกับรัฐบาลบ้าง ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้บริหาร หากเราได้ข้อมูลโดยตรงมา และนำมาวิเคราะห์ประเด็นใดที่ควรจะต้องนำเสนอไปที่กระทรวงที่เกี่ยวข้อง หรือประเด็นใดต้องนำเสนอโดยตรงต่อนายกรัฐมนตรี เราก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการตรงนี้ได้  

“ผมมีไอเดียทำโครงการรับฟังข้อเสนอแนะจากหลายๆกลุ่ม เช่น กลุ่มนักเรียน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนทำงาน หรือในอนาคตหากเราดำเนินการในส่วนของตรงนี้ได้ ก็อาจจะเพิ่มในกลุ่มธุรกิจ กลุ่มผู้ประกอบการ หรือกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มคนพิการ โดยไปรับฟังปัญหาและสิ่งที่เขาอยากเสนอต่อรัฐบาล เพื่อนำมากลั่นกรองและนำมาเสนอในรัฐบาลเพิ่มเติม เพราะทีมโฆษกรัฐบาลนั่งอยู่ในการประชุม ครม.ทุกครั้ง เพราะฉะนั้นเราจะทราบว่าแต่ละส่วนมีการนำเสนออะไรอย่างไรบ้าง และยังสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการส่งข้อมูลเหล่านี้กลับไปกระทรวงที่เป็นต้นสังกัดเรื่องนั้นๆ เพื่อพิจารณาเพิ่มเติมให้เกิดความชัดเจน หรือบางส่วนที่ตรงกับรัฐมนตรี ตรงกับนายกรัฐมนตรี ก็จะนำเสนอได้โดยตรง”  

สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นการจัดทีมสำนักโฆษกฯ โดยผมจะนำทีมพร้อมด้วยรองโฆษกรัฐบาลอีก 2 คน โดยกลุ่มแรกที่เราวางไว้จะไปเจอคือกลุ่มนักเรียน ว่าเขาอยากจะนำเสนอประเด็นอะไร ซึ่งกลุ่มแรกนี้ผมคิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับสถานการณ์ในปัจจุบันด้วยซ้ำ ซึ่งสิ่งที่เขาเสนอก็แล้วแต่เขา เราจะไม่มีการชี้นำว่าเขาจะต้องพูดเรื่องอะไร หากเขามีเรื่องอะไรอยู่ในใจก็ให้เขานำเสนอเราได้เต็มที่ รูปแบบการพูดคุยอาจนำเสนอในวงใหญ่หรือในวงเล็กก็ได้ แล้วแต่สถานการณ์ หรือในบางกลุ่มหากเขาสามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เป็นสมาคม และมานั่งพูดคุยกันได้ก็จะดี หรืออาจจะไปบางชุมชน ที่อยากพูดถึงว่ารัฐบาลจะมีส่วนร่วมในการดูแลปัญหาของชุมชนเขาอย่างไร เป็นต้น ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวผมได้ทำเสนอนายกรัฐมนตรีแล้ว และท่านนายกฯ โอเค เดิมทีเรามีกำหนดการลงพื้นที่ในปลายเดือน ธ.ค.นี้ แต่ด้วยมีสถานการณ์โควิด-19 เข้ามาจึงได้ชะลอไว้ก่อน   

โฆษกประจำสำนักนายกฯ ยังกล่าวอีกว่า และอีกสิ่งหนึ่งที่ทีมโฆษกรัฐบาลต้องทำ คือการทำความเข้าใจกับต่างชาติ ซึ่งทีมโฆษกฯ ได้มีการพูดคุยกับสื่อมวลชนต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเปิดโอกาสให้มีการสัมภาษณ์โดยตรง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันกับสถานการณ์ของประเทศไทย ซึ่งก็ถือเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการทำงานในปัจจุบัน เพราะโลกไร้พรมแดน ในปัจจุบันนี้สื่อต่างประเทศเขาสามารถยิงสัญญาณตรงมาถึงประเทศไทยได้ ตรงนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการที่เราจะเปิดโอกาสให้เขาได้พูดคุยกับเราโดยตรง นี่ก็เป็นสิ่งที่ทีมโฆษกรัฐบาลดำเนินการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และขณะนี้ก็มีสื่อต่างชาติประสานมาต่อเนื่อง เพื่อขอสัมภาษณ์ ทั้งเรื่องการเมือง สถานการณ์โควิด-19 เรื่องเศรษฐกิจ และหลายๆ เรื่องด้วย  

ส่วนรายการนายกฯ พบประชาชน จะมีโอกาสฟื้นกลับมาหรือไม่นั้น นายอนุชาระบุว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดถึง แต่ที่ผ่านมานายกฯ ได้มีการให้สัมภาษณ์ในประเด็นต่างๆ ผ่านสื่อมวลชนเป็นประจำอยู่แล้ว และก็มีแถลงการณ์เฉพาะกิจในแต่ละเรื่องที่มีความสำคัญ ก็เป็นอีกช่องทางการสื่อสารจากนายกฯ ถึงประชาชนได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของทีมโฆษกรัฐบาลก็จะเพิ่มความถี่การพูดคุยกับประชาชน จากเดิมที่มีรายการรัฐบาลเล่าเรื่อง โดยนารีสโมสร ทุกเช้าวันเสาร์ ก็อาจจะเพิ่มให้ถี่มากขึ้น  

สำหรับข้อสั่งการของนายกฯ ผ่านทีมโฆษกรัฐบาลในการสื่อสารกับประชาชน ในช่วงที่รัฐบาลต้องเผชิญกับหลายสถานการณ์เวลานี้นั้น นายอนุชาระบุจะเป็นเรื่องการชี้แจงเสียเป็นหลัก บางเรื่องมีข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนและไม่เป็นความจริงก็คงต้องชี้แจงตามความเหมาะสมให้ทันท่วงที เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในสังคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่นายกฯ กำชับมา อีกสิ่งหนึ่งคือเรื่องของผลงานรัฐบาลที่อาจจะต้องพูดถึงจากในอดีตมากขึ้น ว่าที่ผ่านมาเป็นแบบไหนอย่างไร 

กระทั่งเดินหน้าต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันมีความสำเร็จอย่างไร เริ่มตั้งแต่สมัยนั้นและมาเห็นผลในตอนนี้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ เพิ่งจะมาทำตอนนี้ และเห็นผล มันไม่ใช่ ซึ่งนายกฯ เคยปรารภอยู่เหมือนกัน อย่างตอนขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปในพื้นที่ต่างๆ เห็นการสร้างถนน ซึ่งท่านบอกว่าอยากให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบ ว่าสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการเรื่องโครงสร้างพื้นฐานมีเยอะมาก 

“บอกเลยว่าท่านนายกฯ มีความตั้งใจในการทำหน้าที่ของท่านให้ดีที่สุด ทุกเรื่องที่ท่านทำ ท่านทุ่มเทมากๆ ทุ่มเทมาตลอด ซึ่งตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราอยากสื่อสารให้ประชาชนรับรู้ ดังนั้นไม่ต้องกังวลว่าท่านนายกฯ จะไม่รับรู้ความเป็นอยู่และข้อเสนอของประชาชน เพียงแต่ว่าเมื่อรับรู้รับทราบแล้ว ท่านต้องตัดสินใจ เพราะฉะนั้นการตัดสินใจของนายกฯ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกๆ ส่วน ที่ท่านพิจารณาแล้วว่ามีความเหมาะสม ถ้าเราจะไปทำเฉพาะกลุ่มเฉพาะเรื่องเดี๋ยวก็จะมีประเด็นในคนที่ไม่เห็นด้วยหรือเห็นต่างๆ อีก 

ท่านนายกฯ จะมองรอบด้านให้มาก เมื่อท่านตัดสินใจทำอะไรลงไปแล้ว จะต้องเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้นสิ่งที่ท่านทำจะนึกถึงประชาชนทุกเรื่อง ในสิ่งที่สั่งการ มีมาตรการออกมาทั้งหมด ก็เป็นหน้าที่ของทีมโฆษกฯ ที่จะขยายความให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งผมก็พร้อมทำงานในทุกเวลา ก็ต้องมุ่งมั่นตั้งใจ เหมือนกับสิ่งที่ท่านนายกฯ มุ่งหวังไว้เพื่อประโยชน์ของประชาชน” .  
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"