อุ๊ต๊ะ! 3 ส.ส.ก้าวไกล ถอดบทเรียนรัฐบาลแก้วิกฤติโควิด-19


เพิ่มเพื่อน    

8 ม.ค.64 - นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.เขตบางขุนเทียน กทม. พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายวรภพ วิริยะโรจน์ และ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ร่วมกันกล่าวถอดบทเรียนรัฐบาลที่เคยเผชิญในภาวะวิกฤติการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ในระลอกเเรก เมื่อต้นปี 2563 โดยระบุถึง 3 ประเด็นหลักควรเร่งแก้ไขอย่างตรงจุด ตรงประเด็น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง เเละได้ประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง ได้แก่ การช่วยเหลือ SMEs ที่ต้องทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงกลุ่มทุนโดยตรง การศึกษาหรือปัญหาการเรียนออนไลน์ที่ต้องลดความเหลื่อมล้ำให้ได้ เเละมาตรการเราไม่ทิ้งกันรอบ 2 ของกระทรวงการคลัง ที่ต้องเตรียมเงินเยียวยาให้แก่ประชาชนให้ทั่วถึงและทันเวลา

นายวรภพ ระบุว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับ SMEs รัฐบาลต้องเร่งช่วยให้ตรงจุด ด้วยการเร่งแก้ไข พ.ร.ก. Soft Loan (พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา รวมถึงการพักชำระหนี้  เนื่องจากมาตรการ ‘ล็อกดาวน์ที่ไม่เรียกว่าล็อคดาวน์’ กำลังดับความหวังสุดท้ายของ SMEs โดยเฉพาะตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ หลายธุรกิจต้องหยุดดำเนินกิจการโดยที่ไม่ได้ทำผิดพลาดอะไรเลย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนมาจากความหละหลวมของรัฐบาล ที่ปล่อยให้มีขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าว บ่อนพนันกลางเมือง ในวันนี้ SMEs ยังอยู่ในสภาวะโคม่า จากยอดรวม SMEs 1.8 ล้านล้านบาทที่มาขอพักชำระหนี้ในรอบที่แล้วยังมีที่ยังอยู่ในสภาวะปรับโครงสร้างหนี้อีกประมาณ 678,000 ล้านบาท ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการช่วยเหลือ SMEs รอบใหม่โดยด่วนที่สุด

“รัฐบาลต้องเสนอให้สภาผู้เเทนราษฎรเร่งแก้ไขพระราชกำหนดซอฟต์โลน 5 แสนล้าน เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงได้จริง ในเรื่องนี้พรรคก้าวไกลได้พยายามผลักดันในคณะกรรมาธิการแก้ไขงบประมาณโควิดมาตลอด เพราะที่ผ่านมามีการเบิกจ่ายไปเพียง 20 % เท่านั้น เนื่องจากติดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม เข้าถึงยาก เรื่องนี้จำเป็นต้องแก้ไขเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถฟื้นตัวได้เองหลังจากภาวะวิกฤติ” นายวรภพ กล่าว

ด้าน นายวิโรจน์ ระบุประเด็นการศึกษาว่า มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการ และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณานำไปปรับใช้ ดังต่อไปนี้  1. กระทรวงศึกษาธิการต้องเร่งทบทวน และจัดทำสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพให้ครบถ้วนตั้งแต่ประถมศึกษา จนถึงมัธยมศึกษา เนื้อหาส่วนใดที่ผิดพลาด ให้เร่งแก้ไข พร้อมกับจัดทำใบงาน แบบฝึกหัด และเอกสารประกอบการเรียนการสอน ให้ถูกต้องครบถ้วน มีงบประมาณในการจัดพิมพ์ให้กับนักเรียน ไม่ต้องให้นักเรียนไปพิมพ์กันเอาเอง มีการวางตารางเวลา จัดสรรเวลาในการเรียนรู้ด้วยตนเองให้กับนักเรียนอย่างชัดเจน มีการซักซ้อมกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ให้มีความเข้าใจในบทบาทของตนเอง ในการให้คำปรึกษากับบุตรหลาน ในการเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้าน ไม่ใช่ปล่อยให้พ่อแม่ไปจัดการกันเอง ตามมีตามเกิดแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

2) นักเรียนระดับอนุบาล และประถมศึกษา ป.1-6 การมาพบปะคุณครู เพื่อให้ครูได้แนะนำ ยังคงมีความจำเป็นอยู่มาก แต่เพื่อลดความหนาแน่นลง โรงเรียนแต่ละแห่งสามารถแบ่งนักเรียนหนึ่งห้อง ออกเป็น 4 รอบ เพื่อทยอยมาพบกับคุณครู เช่น จันทร์พุธศุกร์เช้า จันทร์พุธศุกร์บ่าย อังคารพฤหัสเสาร์เช้า อังคารพฤหัสเสาร์บ่าย นักเรียนที่มีอยู่ห้องละ 40 คน ก็จะเหลือรอบละแค่ 10 คน ซึ่งอยู่ในวิสัยที่จะจัดการให้นักเรียนมี Social Distancing ได้ และหากมีปัญหาการระบาดเกิดขึ้น นักเรียนก็จะไม่ระบาดข้ามกลุ่มกันด้วย โดยให้คุณครูคอยทบทวนเนื้อหาสำคัญ ในเฉพาะวิชาที่สำคัญ ต่อการเรียนรู้ต่อยอดด้วยตนเองในบทเรียนถัดๆ ไป เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เป็นต้น และสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งพอจะมีทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเองในระดับหนึ่งแล้ว อาจจะมาพบคุณครูที่โรงเรียนน้อยกว่าระดับประถมศึกษา โดยอาจจะมาพบเพียงสัปดาห์ละ 1-2 วัน เท่านั้น เพื่อให้ครูทบทวนเนื้อหาเฉพาะวิชาที่สำคัญ เช่นเดียวกัน

3) มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ให้แก่ครู ในการโทรศัพท์ติดตามนักเรียน เพื่อสอบถามถึงความเข้าใจในการเรียน และอาจะให้คำแนะนำเพิ่มเติมแก่นักเรียนที่มีข้อสงสัย มีระบบ Call Center ในวิชาต่างๆ เพื่อให้นักเรียนที่เรียนรู้ด้วยตนเองแล้วไม่เข้าใจ สามารถโทรศัพท์มาสอบถามคุณครูได้ ไม่ต้องเก็บความไม่เข้าใจเอาไว้

4) สำหรับนักเรียนที่มีความขาดแคลนจริงๆ ไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้าน อันเนื่องมาจากไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีแท็บเล็ต หรือไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้จริงๆ อันเนื่องจากที่บ้านไม่มีผู้ดูแล เพราะทั้งพ่อแม่ต่างต้องไปทำงาน กระทรวงศึกษาธิการ ควรอนุญาตให้นักเรียนเหล่านี้ มาเรียนโดยใช้คอมพิวเตอร์ที่โรงเรียน ภายใต้การกำกับของครู ซึ่งคาดว่านักเรียนที่มีข้อจำกัดเหล่านี้ ไม่น่าจะมีจำนวนมากนัก ซึ่งก็ย่อมอยู่ในวิสัยของโรงเรียนที่จะป้องกันการระบาดได้

“กระทรวงศึกษาธิการ ควรจะเร่งจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอให้กับโรงเรียนแต่ละแห่ง ในการจัดสร้าง จัดหา จัดเตรียม อุปกรณ์ต่างๆ ในการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาให้เพียงพอได้แล้ว เช่น การจัดสร้างอ่างล้างมือหน้าห้องเรียน การจัดหาอุปกรณ์ในการวัดอุณหภูมิ เจลแอลกอฮอล์ สบู่เหลวล้างมือ หน้ากากอนามัย สำหรับนักเรียนที่ขาดแคลน หรือไม่ได้นำมาจากที่บ้าน เพื่อให้เมื่อโรงเรียนสามารถเปิดการเรียนการสอนได้อีกครั้ง โรงเรียนแต่ละแห่งจะได้มีศักยภาพในการควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้” นายวิโรจน์ กล่าว

ส่วนนายณัฐชา ระบุถึงประเด็นมาตรการเราไม่ทิ้งกัน รอบ 2 ที่มีกระเเสข่าวออกมาว่ารัฐเตรียมออกมาตรการเพื่อชดเชยเเละเยียวยา ว่า สุดท้ายมาตรการเยียวยาจะออกมาเป็นอย่างไร สิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอคือ รัฐบาลต้องถอดบทเรียนและเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตเพื่อปรับปรุงให้การเยียวยารอบใหม่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ตรงจุด และมีกระสุนที่มากพอที่จะรองรับความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยมีเรื่องที่ต้องนำไปพิจารณา คือ

1) ต้องไม่มีกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ที่ซับซ้อน ขั้นตอนต้องเข้าถึงคนออฟไลน์ บทเรียนจากในคราวที่แล้วคือในการขอรับสิทธิ์ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ที่ยุ่งยาก หลักเกณฑ์ ‘อาชีพอิสระ’ ไม่มีความชัดเจน ทำให้คนที่เดือดร้อนจำนวนหนึ่งไม่ได้รับสิทธิ์ หรือได้รับสิทธิ์ล่าช้าเพราะต้องลงทะเบียนใหม่ ในขณะที่ผู้ที่เดือดร้อนบางส่วนก็เข้าไม่ถึงโครงการ เพราะไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตได้ ทำให้คนที่เดือดร้อนจากพิษเศรษฐกิจจำนวนมากไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐบาล

2) การเยียวยาต้องรวดเร็ว ต้องไม่ให้เหมือนรอบที่แล้ว ที่กว่าที่ประชาชนจะได้เงินไปต่อชีวิตต้องรอเวลาเป็นเดือนๆ ทั้งที่ค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นทุกวัน (เปิดลงทะเบียนครั้งแรกวันที่ 29 เม.ย. จ่ายเงินงวดสุดท้าย 26 มิ.ย.) รัฐบาลล่าช้ามามากพอแล้วในการออกมาตรการเยียวยา เราหวังว่ามาตรการที่ออกมาจะไม่มีการจ่ายเงินเยียวยาที่ล่าช้ายิ่งขึ้นไปอีก

3) นโยบายต้องมีความชัดเจน ออกแบบให้รัดกุม คิดให้จบ ไม่ให้เหมือนครั้งที่แล้ว ที่ไม่มีความชัดเจนเรื่องผู้มีสิทธิ์ลงทะเบียน เดี๋ยวก็บอก 3 ล้านคน เดี๋ยวก็ 24 ล้านคน เดี๋ยวก็ 15 ล้านคน เงื่อนเวลาก็ขยายแล้วขยายอีก ตอนแรกบอก 5 วันหลังลงทะเบียนได้รับเงิน ตอนหลังขยายไป 7 วัน แล้วก็ขยายไปเรื่อยๆ ทำให้การจ่ายเงินล่าช้า

“รัฐบาลโดยเฉพาะรัฐมนตรีคลังคนใหม่มีบทเรียนจากมาตรการที่ผ่านมาแล้ว มาตรการในรอบนี้จึงควรต้องรู้ว่าจะจัดกระบวนการเยียวยาให้รวดเร็วและทั่วถึงได้อย่างไร และรัฐบาลมีงบประมาณเหลือพอที่จะใช้เยียวยาประชาชนรอบใหม่ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้าน ที่อนุมัติไปได้ครึ่งเดียวเท่านั้น และงบประมาณปี 2564 ที่ยังไม่เคยนำมาเกลี่ย เรามักคิดว่าเรื่องปากท้องกับการควบคุมโรคเป็นเรื่องที่ต้องแลกกัน แต่สำหรับพรรคก้าวไกล เราเชื่อว่ารัฐบาลที่ดี สามารถประคับประคองให้ทั้งสองเป้าหมายเดินไปด้วยกันได้”  นายณัฐชา กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"