ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก ลำน้ำสาขาแห้ง แม่น้ำโขงลดฮวบเหตุเขื่อนจีนลดระบายน้ำ


เพิ่มเพื่อน    

9 ม.ค.64 - ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจแม่น้ำโขงในช่วงที่ไหลผ่านอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ภายหลังจากที่จีนลดการะบายน้ำของเขื่อนจิ่งหงโดยได้แจ้งเตือนมายังสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.)ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง(MRC)ฝ่ายไทย ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้ลงเรือที่บริเวณแม่น้ำกกซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง โดยเห็นร่อยรอยระดับน้ำที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เครื่องมือหาปลาที่เรียกว่าไซลั่นหรือกะต้ำของชาวบ้านซึ่งดักปลาไว้ริมน้ำค้างอยู่บนตลิ่งเพราะชาวบ้านย้ายเครื่องมือหาปลาลงน้ำไม่ทัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปริมาณน้ำโขงที่ลดลงส่งผลให้ปริมาณในแม่น้ำกกและแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงสายต่างๆ เช่น แม่น้ำคำ แม่น้ำรวก แม่น้ำบง แห้งลงอย่างรวดเร็ว เพราะปริมาณน้ำถูกดึงลงแม่น้ำโขง ทำให้ชาวบ้านในแม่น้ำสาขาต่างได้รับความเดือดร้อน

นายสวัสดิ์ มั่งมูล และนายสุขใจ ยานะ ชาวบ้านเชียงแสนที่ประกอบอาชีพหาปลา ร่วมกันให้ข้อมูลว่า ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาปริมาณน้ำโขงได้ลดลงอย่างฮวบฮาบมากกว่า 1 เมตร ทำให้พวกตนรู้สึกงงมากเพราะไม่เคยมีปริมาณน้ำลดลงรวดเร็วเช่นปีนี้ ทำให้ปลาหายไปหมดจนแทบหาปลาไม่ได้เลยจนต้องหันไปหาปลาตามห้วยหนองแทน

“เมื่อก่อนเรายังพอหาปลากินได้ แต่เดี๋ยวนี้หาทั้งคืนแทบไม่ได้ปลาเลย มันเป็นแบบนี้มา 2 ปีแล้ว แต่ปีนี่หนักกว่าปีก่อน น้ำแห้งกว่าเยอะ เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่รู้จะไปร้องเรียนกับใคร รู้แต่ว่าเขื่อนจีนกักน้ำไว้ เราอยากให้เขาปล่อยน้ำมามากกว่านี้ น้ำเยอะ ปลาก็เยอะ”ชาวประมง กล่าว

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋”ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องซ้ำซาก เกิดขึ้นมานาน ครั้งนี้เปิดศักราช 2021 จีนก็เริ่มอีก ปิดเขื่อนเพื่อจัดการของเขา การลดการปล่อยน้ำมีผลต่อท้ายน้ำโดยตรง ส่งผลต่อน้ำอุปโภคบริโภค การเกษตรริมแม่น้ำโขงที่ต้องสูบน้ำขึ้นไป การหาปลา ฯลฯ เพราะการที่เขื่อนบังคับแม่น้ำโขง ทำให้ระดับน้ำไม่เป็นไปตามฤดูกาล จริงๆ น้ำลดระดับลงขนาดนี้ ต้องเป็นช่วงเดือนเมษายน ซึ่งแม่น้ำโขงจะแห้งที่สุด ที่แย่คือเดี๋ยวน้ำก็จะเพิ่มระดับขึ้นมาอีก เป็นระดับน้ำที่ผันผวน แม่น้ำไม่เป็นไปตามฤดูกาล เป็นเรื่องใหญ่มาก ถึงเวลาแล้วที่เราต้องหาทางช่วยกันแก้ไข 

“จีนบอกว่าเราดื่มน้ำสายเดียวกัน หมายความว่าเป็นพี่เป็นน้องกัน แต่การกระทำกับแม่น้ำโขงแบบนี้มา 20 ปีแล้วมาบอกว่าเราดื่มน้ำสายเดียวกันมันใช้ไม่ได้แล้ว นี่มันเป็นเรื่องของผลประโยชน์มากกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทุกภาคส่วน ทุกประเทศที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขงต้องหันมามองความจริงที่เกิดขึ้น เราต้องยอมรับว่าแม่น้ำโขงไม่ใช่สนามรบเพื่อทะเลาะกัน เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ต้องร่วมมือกัน จีน อเมริกา ออสเตรเลีย และประเทศต่างๆ ต้องร่วมกันมองว่าสิ่งสำคัญของแม่น้ำโขงคืออะไร แล้วใครคือหุ้นส่วนใหญ่ของแม่น้ำโขง ประชาชนใช่หรือไม่ เรื่องเหล่านี้ต้องมาคุยกัน เราไม่ใช้ศัตรูของจีน เราไม่ใช่ยืนข้างใคร เราคือประชาชนลุ่มน้ำโขงที่ต้องการความเป็นธรรม”นายนิวัฒน์ กล่าว

นายนิวัฒน์กล่าวว่า ทรัพยากรแม่น้ำโขงเป็นฐานของชีวิตและเศรษฐกิจ เป็นความมั่นคงทางอาหาร ไม่ว่าใคร ผิวสีไหน ดังนั้นทุกประเทศลุ่มน้ำโขงต้องหันมาคุยกัน ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้แม่น้ำโขงเจ็บปวด ไม่มีผลกระทบรุนแรงมากไปกว่านี้ หากปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราตายแน่ แม่น้ำโขงตาย คนน้ำโขงตาย คำว่าตายคือสูญสิ้นฐานทรัพยากรและนิเวศในการดำรงชีวิต ถึงเวลาแล้วต้องหันหน้ามาคุยกัน

นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่าโดยปกติในฤดูน้ำหลากแม่น้ำโขงจะดันเข้าสู่แม่น้ำสาขา ราว 50 กิโลเมตร เช่น แม่น้ำอิง แม่น้ำกก ซึ่งแม่น้ำโขงหลากเข้าไปหนุนระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ wetland ปลาก็ว่ายเข้าไปขยายพันธุ์ สร้างความอุดมสมบูรณ์แม่น้ำโขงโดยรวม มีบึง หลง หนอง ป่าชุ่มน้ำ การที่แม่น้ำโขงลดระดับลงอย่างมากก็ส่งผลกระทบต่อลำน้ำสาขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งแผนการจัดการน้ำ ที่คนในรัฐบาลเสนอให้ปิด หรือสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำสาขาต่างๆ ของแม่น้ำโขง ที่ไหลออกจากประเทศไทย เป็นการมองแบบแยกส่วนเพราะมองว่าน้ำไหลออกไปเปล่าๆ นี่คือไม่มองระบบนิเวศที่รุนแรง มองแม่น้ำเห็นแค่น้ำ แค่ H2O ไม่เห็นความสำคัญและเชื่อมโยงกับแม่น้ำสาขาต่างๆ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"