เตรียมพร้อมก่อนศึกชิงเก้าอี้ 'นายกฯ เทศบาล'


เพิ่มเพื่อน    

 

      หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการเลือกตั้งเทศบาลก่อนการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ภายหลังการเลือกตั้ง สมาชิก และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2563

            โดยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล ขณะนี้ กกต.ได้ทยอยประกาศเผยแพร่การแบ่งเขตเลือกตั้ง สมาชิกสภาเทศบาลผ่านเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเกือบครบทุกจังหวัดแล้ว โดยเมื่อวันที่ 14 ม.ค.63 ที่ผ่านมา กกต.ได้เคาะวันเลือกตั้งเทศบาลแล้วคือวันที่ 28 มี.ค.2564 เนื่องจากหากพิจารณาถึงเพดานจัดเลือกตั้งเทศบาลจากไทม์ไลน์ระบบราชการซึ่ง กกต.ต้องจัดเลือกตั้งก่อนที่สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จะประกาศจำนวนประชากรประจำปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2563 ลงในราชกิจจานุเบกษา

            เนื่องจากหาก กกต.ประกาศจัดเลือกตั้งเทศบาล 3 ระดับ 2,472 แห่ง ที่แบ่งเป็นเทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 195 แห่ง เทศบาลตำบล 2,247 แห่ง หลังกรมการปกครองประกาศจำนวนประชากรในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะช้าสุดไม่เกินวันที่ 30 มี.ค.ของทุกปี จะทำให้เทศบาลทั้งหมดต้องแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ทั้งนี้การแบ่งเขตเลือกตั้งจะยึดข้อมูลจำนวนประชากรจากกระทรวงมหาดไทยปี 2562 ที่ประกาศเมื่อเดือน มี.ค.2563

            ซึ่งถือว่าโผก่อนหน้านี้ที่มีการคาดการณ์จากนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์  ที่ได้ย้ำผ่านเฟซบุ๊คของตัวเองว่า การเลือกตั้งเทศบาลจะมีขึ้นในวันที่ 21 มี.ค. ผิดจากที่กกต.กำหนดไว้

            เมื่อ กกต.ประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้ง กกต.จะออกประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล และนายกเทศมนตรี ในวันจันทร์ที่ 1 ก.พ.64 จะทำให้นายกเทศมนตรีตำบล นายกเทศมนตรีเมือง และนายกเทศมนตรีนคร พ้นจากตำแหน่งทันที สำหรับตำแหน่งนายกเทศมนตรีมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ แต่กรณีอยู่ในตำแหน่งไม่ครบ 4 ปี ก็ให้ถือเป็น 1 วาระ หากได้ดำรงตำแหน่งในวาระที่ 2 ติดต่อกัน จะสามารถกลับมาดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลาไปแล้ว 4 ปี นับตั้งแต่พ้นตำแหน่ง โดยกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งระหว่างวันจันทร์ที่ 8-12 ก.พ.2564 เพื่อให้เป็นไปตามแผนการจัดการเลือกตั้ง

            สำหรับ การเลือกตั้งระดับเทศบาลจะแบ่งตามระดับคือ พื้นที่เทศบาลตำบล จะเลือกนายก 1 คน และมีการแบ่งเขตเลือกตั้ง 2 เขต มีสมาชิกสภาฯ เป็นทีม สมัครทีมละ 6 คน หรือหมายถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเลือกสมาชิกสภาฯ ได้ 6 คน พื้นที่เทศบาลเมือง จะเลือกนายก 1 คนในบัตร 1 ใบเช่นกัน แต่เขตเลือกตั้งสมาชิกสภาจะแบ่งเป็น 3 เขต เขตละ 6 คน ส่วนพื้นที่เทศบาลนคร เลือกนายก 1 คนในบัตร 1 ใบ แต่การเลือกสมาชิกสภาฯ จะแบ่งเขตเลือกตั้งเป็น 4 เขต เลือกได้เขตละ 6 คน

            ส่วนอัตราค่าธรรมเนียมการสมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ตามแนบท้ายระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 กำหนดให้นายกเทศมนตรีนคร มีค่าสมัคร 10,000 บาท นายกเทศมนตรีเมืองมีค่าสมัคร 8,000 บาท นายกเทศมนตรีตำบล มีค่าสมัคร 5,000 บาท

            ในส่วนของเงินเดือนและค่าตอบแทนของผู้บริหารเทศบาล สำหรับอัตราเงินเดือน เทศบาล เป็นดังนี้ นายกเทศบาล จากเดิม 66,280 บาท ปรับขึ้นเป็น 75,540 บาท รองนายกเทศบาล จากเดิม 40,450 บาท ปรับขึ้นเป็น 45,540 บาท ประธานสภาเทศบาล 25,450 บาท ปรับขึ้นเป็น 30,540 บาท

            ทั้งนี้มีรายงานด้วยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย กกต.พิจารณาที่จะขยายวันลงคะแนนเลือกตั้งตามอำนาจ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น มาตรา 11 วรรค 3 กำหนดว่า กกต.อาจมีคำสั่งให้ย่นหรือขยายเวลาให้มีการจัดการเลือกตั้งได้ตามความจำเป็นเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ โดยไม่กระทบต่อการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่หากจำนวนประชากรมีการเปลี่ยนแปลง

            โดยเรื่องดังกล่าวทางนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีได้มีข้อกังวล โดยระบุว่า กกต.ในแต่ละจังหวัดประเมินสถานการณ์ได้ว่าจะดำเนินการจัดการเลือกตั้งได้หรือไม่ โดยกฎหมายได้ให้อำนาจในการเลื่อนการจัดการเลือกตั้งออกไปก่อนได้ หากสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่เกิดการระบาด

            หรือแม้ว่าจะไม่เลื่อนการเลือกตั้งเหมือนกับการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งที่ผ่านมา แต่ก็ต้องมีมาตรฐานทางด้านสาธารณสุข ซึ่ง กกต.ได้ดำเนินการจัดการมาอยู่แล้ว เช่น เพิ่มหน่วยเลือกตั้งไม่ให้แออัด เว้นระยะห่าง และทำความสะอาด แต่ทั้งนี้การเลื่อนวันจะต้องระบุวันที่ชัดเจน ซึ่งจะต้องประเมินสถานการณ์กันอย่างต่อเนื่อง

            ดังนั้นจากปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยร่วมสำคัญที่รัฐบาลต้องบริหารให้ทุกองคาพยพเคลื่อนไปตามวาระที่กำหนดไว้ โดยเวลานี้แกนนำพรรคต่างๆ เตรียมระดมกำลังตะลุมบอนในสนามท้องถิ่นอีกครั้ง

            โดยเฉพาะการเลือกตั้งเทศบาลครั้งนี้เป็นหนึ่งในการเลือกตั้งที่สำคัญ การเมืองท้องถิ่นจะเป็นฐานรากสำคัญสำหรับการเมืองระดับชาติ กำหนดฐานทางการเมือง เพื่อชิงความได้เปรียบรองรับการเลือกตั้งใหญ่ในวันข้างหน้า ยิ่งถ้าพรรครัฐบาลส่งตัวแทนหรือเครือญาติลงเลือกตั้งแล้วดันชนะ ยังก่อให้เกิดผลประโยชน์อย่างอื่นแก่รัฐบาลได้อีกส่วนหนึ่ง นั้นก็คือแรงสนับสนุนทางการเมืองที่รัฐบาลในขณะนั้นจะได้รับมากขึ้น เนื่องจากเมื่อรัฐบาลได้แบ่งภาระหน้าที่บางอย่างไปให้แก่เทศบาลแล้ว เทศบาลจะทำหน้าที่ในการให้บริการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนในเขตเทศบาล เมื่อประชาชนได้รับการบริการอย่างรวดเร็วจากเทศบาลโดยตรง ก็ไม่จำเป็นต้องรองบประมาณหรือความช่วยเหลือจากรัฐบาล และได้รับการบริการที่รวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้ประชาชนมีทัศนคติในแง่บวกต่อรัฐบาล เนื่องจากสามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนได้ เมื่อเปรียบเทียบกับการปกครองในระบบเก่าที่ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาปกครองตนเอง

                อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่พรรครัฐบาลเท่านั้นที่อยากได้เก้าอี้ท้องถิ่นดังกล่าว เพื่อไทยที่มีพื้นที่ประจำในส่วนของภาคเหนือต่างต้องการกุมความเป็นใหญ่ในพื้นที่ของตัวเองอีกครั้ง รวมถึงฝั่งคณะก้าวหน้า ที่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาในส่วนของนายก อบจ.เรียกว่าแพ้ราบคาบ จึงต้องการกู้หน้าตัวเองในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับใดก็ตามย่อมดุเดือด จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าใครจะได้ ใครจะเหลว.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"