ทุกเม็ด! ส.ส.ก้าวไกล ชี้เปรี้ยงหลายท้องถิ่นประกาศจัดซื้อวัคซีนเอง สะท้อนประชาชนหมดหวังกับรัฐบาล


เพิ่มเพื่อน    

15 ม.ค.64 - นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.เขต 1 พิษณุโลก พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ถึงตอนนี้รัฐบาลควรจะถอดบทเรียนสำคัญได้แล้วว่า การกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นของตนเองได้ ต้องถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง ซึ่งเรื่องนี้ถูกเขียนไว้ในแผนปฏิรูปประเทศเร่งด่วน แต่ในภาคปฏิบัติ ยิ่งนานวัน ประเทศยิ่งกลายเป็นรัฐราชการล้าหลัง เนื่องจากยังมองไม่เห็นแนวนโยบายที่ชัดเจนต่อเรื่องเหล่านี้และกลับยิ่งสร้างความสับสนคือ ยามเมื่อเกิดปัญหากลายเป็นรัฐบาลรีบโยนปัญหาไปให้ท้องถิ่นเสมือนเป็นการบอกว่าสนับสนุนการกระจายอำนาจ

“หลายคนเกิดคำถามว่า ทำไมบางสถานการณ์บอกว่าควรให้อำนาจท้องถิ่น แต่ทำไมในอีกสถานการณ์ควรเป็นบทบาทของภาครัฐ สถานการณ์โควิด 19 เป็นตัวอย่างที่ดีในการทำความเข้าใจเรื่องนี้ ซึ่งเรายืนยันว่า การจัดหาและจัดสรรวัคซีนที่มีคุณภาพให้กับคนไทยทุกคนต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ซึ่งมีงบประมาณของประเทศเพียงพอ หรือยังสามารถจัดสรรโอนงบประมาณได้โดยไม่ต้องกระทบกับท้องถิ่นที่มีเงินในการบริหารจัดการตนเองน้อยอยู่แล้ว ปัจจุบัน สัดส่วนของงบประมาณที่ท้องถิ่นได้รับไม่ได้สะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับกระจายอำนาจอย่างแท้จริง โดยท้องถิ่นจะได้รับการจัดสรรงบกลับไปเพียงราว 1 ใน 4 ของภาษีท้องถิ่นที่เก็บได้เท่านั้น ไม่ใช่คนละครึ่งอย่างที่ควรเป็น แม้ว่าเราจะมีการปรับโครงสร้างให้มีองค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่นมาแล้วประมาณ 20 ปี ดังนั้น หากท้องถิ่นต้องนำเงินมาใช้สำหรับจัดซื้อวัคซีนเองจะทำให้โอกาสในการพัฒนาตามแผนท้องถิ่นที่วางเอาไว้ไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้ ท้องถิ่นแต่ละแห่งก็มีขนาดต่างกัน หากเป็นท้องถิ่นที่มีฐานะก็สามารถจัดซื้อวัคซีนได้แม้ต้องจ่ายราคาแพง แต่ท้องถิ่นขนาดเล็กก็จะทำเรื่องนี้ไม่ได้ เกิดเป็นสภาพของมือใครยาวสาวได้สาวเอา หรือมีลักษณะที่หลายคนสังเกตว่าอาจเป็นการใช้งบประมาณในการหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นล่วงหน้า เป็นต้น”

นายปดิพัทธ์ กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ดังกล่าวเกิดจากการที่ประชาชนกำลังรู้สึกหมดหวังต่อการทำงานของรัฐบาล แรงกดดันจึงไปตกที่ท้องถิ่นที่ต้องวางสถานะเป็นที่พึ่งของประชาชนที่เลือกตนเข้ามา ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีน่าชื่นชม และต้องบอกว่าควรเป็นบทบาทที่ทำได้เพียงแต่ไม่ใช่หน้าที่ในสถานการณ์ลักษณะนี้ เพราะสาเหตุที่การจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 จะต้องเป็นหน้าที่ของภาครัฐ คือ เรื่องนี้ถือเป็นสถานการณ์พิเศษ มีขนาดของปัญหาเป็นระดับประเทศ จึงมีความจำเป็นที่ต้องบริหารจัดการแผนวัคซีนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ถ้วนหน้า ซึ่งแผนวัคซีนของประเทศมีความสำคัญมาก เนื่องจากจะต้องคำนึงถึงทั้งการควบคุมคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย เพราะวัคซีนเหล่านี้เป็นวัคซีนที่เพิ่งวิจัยขึ้นใหม่ ทั้งกระบวนการใช้ ขนส่งหรือกระทั่งจัดเก็บต้องใช้ความเข้าใจทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ผิดพลาดไม่ได้ หรือกระทั่งราคาที่จะแตกต่างกันมากระหว่างการจัดซื้อล็อตใหญ่กับการแยกซื้อ

พรรคก้าวไกลได้มีข้อเสนอเรื่องนี้ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2563 ซึ่ง นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายเรื่องนี้ไว้ในญัตติเพื่อผ่าน พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทของรัฐบาล โดยเสนอให้รัฐบาลต้องจัดงบประมาณ 67,000 ล้านบาท เอาไว้เพื่อจัดหาวัคซีน บนพื้นฐานของหลักการว่าจะต้องฟรีสำหรับประชาชนทุกคน หรือ Vaccine For All ต้องถือเป็นความจำเป็นในสถานการณ์วิกฤติ เหมือนกับวัคซีนจำเป็นที่กระทรวงสาธารณสุข มองว่าสำคัญและต้องฉีดให้ประชาชนฟรี เช่น วัคซีนวัณโรค คอตีบ บาดทะยัก โปลิโอ เป็นต้น  

“ความจำเป็นในสถานการณ์วิกฤติ จึงเป็นเรื่องที่ต้องมองแตกต่างไปจากแผนงานสาธารณสุขหรือแผนงานอื่นที่ควรให้ท้องถิ่นมีงบประมาณไปดำเนินการเองได้ เช่น การจัดหาวัคซีนพิษสุนัขบ้า แบบนี้เป็นเรื่องที่ระบบสาธารณสุขท้องถิ่นสามารถวางแผนบริการจัดการกันเองได้ แต่เรื่องนี้กลับกลายเป็นด้านตรงข้ามที่สะท้อนปัญหารัฐราชการรวมศูนย์ ซึ่งคอยขัดขวางการทำงานของท้องถิ่น โดยเฉพาะเมื่อมีการทักท้วงของ สตง.ว่า ท้องถิ่นไม่ได้มีหน้าที่จัดหาวัคซีนพิษสุนัขบ้า ทำให้เกิดการชะงัก สับสน ไร้การดำเนินการในหลายพื้นที่ จนทำให้เกิดปัญหากระจายไปในหลายพื้นที่เมื่อไม่กี่ปีก่อน อย่างไรก็ตาม เหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาในสถานการณ์วิกฤติหรือความจำเป็นพื้นฐาน เป็นเรื่องของปัญหาที่ต้องจัดการแตกต่างไปตามบริบทและตามการจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่เอง บทบาทของรัฐกับท้องถิ่นจึงมีความแตกต่างกันในลักษณะนี้”

นายปดิพัทธ์ กล่าวอีกว่า จากนี้ไปนอกจากภาครัฐควรจะต้องทำความเข้าใจ เพื่อแยกแยะบทบาทหน้าที่ของตนเองกับท้องถิ่นให้ดี ไม่ฉวยโอกาสผลักภาระไปให้พวกเขาแล้ว สิ่งที่ควรเร่งทำคือการจัดสรรงบประมาณตามแผนการกระจายอำนาจ ซึ่งเวลานี้ยังไปไม่ถึงไหน มีแต่งบฝากโอนที่มาฝากอยู่ในงบท้องถิ่น ท้องถิ่นจึงกลายเป็นแค่เครื่องมือของรัฐส่วนกลางในการทำงาน รับภาระ แต่ไร้อำนาจ และรอหนังสือสั่งการจากมหาดไทยให้ทำสิ่งต่างๆ ด้วยงบของท้องถิ่นเอง

สำหรับในเรื่องการของเลือกตั้งเทศบาลตามกรอบเวลาที่กฏหมายกำหนดออกมา นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับกำหนดเวลา ทางรัฐมนตรีมหาดไทยยืนยันว่าไม่มีการเลื่อน เพราะชีวิตทางเศรษฐกิจและการเมืองในวิถีใหม่จะต้องดำเนินต่อไปให้ได้ภายใต้ป้องกันการแพร่ระบาดจากโควิด หากเหตุฉุกเฉินจากการระบาด รัฐบาลก็ต้องทำทุกวิถีทางให้ประชาชนไปใช้สิทธิให้ได้มากที่สุด เช่น การเลื่อนเลือกตั้งบางพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง การให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้า และการเลือกตั้งนอกเขตเพื่อลดการเดินทาง แต่ถ้ารัฐบาลไม่มีนโยบายเหล่านี้ ทำเหมือนกับการเลือกตั้ง อบจ.ที่คนมาใช้สิทธิเพียง 62.25 เปอร์เซนต์ จากเป้าหมาย 80 เปอเซนต์ ก็สรุปได้เลยว่า รัฐบาลและกกต.ไม่มีความจริงใจกับการส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิของประชาชนชาวไทยแม้แต่นิดเดียว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"