คนกรุงเทพอ่วม!!กทม.เคาะค่าโดยสารบีทีเอสตลอดสาย104บาท ดีเดย์16ก.พ.64


เพิ่มเพื่อน    

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2564 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ได้ออกประกาศลงนามคำสั่งกรุงเทพมหานคร เรื่อง การกำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสีเขียว โดยตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.64 เป็นต้นไป จะมีการจัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ดังนี้ ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต จากสถานีห้าแยกลาดพร้าว ถึงสถานีคูคต จำนวน 16 สถานี เก็บในอัตรา 15-45 บาท (ปรับเพิ่มขึ้น 3 บาทต่อสถานี)

ขณะที่สายสุขุมวิท จากสถานีอ่อนนุช ถึงสถานีหมอชิต รวม 17 สถานี และสายสีลม จากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ถึงสถานีสะพานตากสิน รวม 6 สถานี และส่วนต่อขยายสายสีลม ช่วงที่ 1 จากสถานีกรุงธนบุรี ถึงสถานีวงเวียนใหญ่ จำนวน 2 สถานี เก็บค่าโดยสารตามที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) กำหนด

ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท จากสถานีบางจาก ถึงสถานีแบริ่ง จำนวน 5 สถานี และจากสถานีสำโรง ถึงสถานีเคหะสมุทรปราการ จำนวน 9 สถานี เก็บในอัตรา 15-45 บาท(ปรับเพิ่มขึ้น 3 บาทต่อสถานี) และส่วนต่อขยายสายสีลม ช่วงที่ 2 จากสถานีโพธิ์นิมิตร ถึงสถานีบางหว้า จำนวน 4 สถานี เก็บในอัตรา 14-24 บาท (ปรับเพิ่มขึ้น 3 บาทต่อสถานี) ทั้งนี้ตลอดแนวเส้นทางให้จัดเก็บค่าโดยสารแรกเข้าเพียงครั้งเดียว โดยให้เก็บค่าโดยสารตลอดเส้นทางไม่เกิน 104 บาท

ทั้งนี้ กทม. ได้ทยอยเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มาตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.61 และเปิดให้บริการเดินรถเต็มทั้งระบบในวันที่ 16 ธ.ค.63 โดยในช่วงทดลองให้บริการไม่ได้เก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการเป็นระยะเวลาเกือบสามปีมาแล้ว เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ประชาชน ดังนั้นเมื่อขณะนี้เปิดให้บริการเดินรถเต็มทั้งระบบแล้ว ประกอบกับ กทม. มีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเริ่มเรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการในส่วนต่อขยายสายสีเขียว

สำหรับผู้ใช้บริการในช่วงหมอชิต-อ่อนนุช จะไม่ได้รับผลกระทบ ยังคงเสียค่าโดยสารในอัตราเดิม และจะไม่มีการเรียกเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนกันระหว่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก (หมอชิต-อ่อนนุช และสะพานตากสิน-สนามกีฬาแห่งชาติ) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า และอ่อนนุช-แบริ่ง และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต)

ทั้งนี้ตามปกติอัตราค่าโดยสารของโครงการสายสีเขียวสูงสุดตลอดสายจะอยู่ที่ 158 บาท แต่เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 กทม. จึงปรับอัตราค่าโดยสารสูงสุดตลอดสายอยู่ที่ 104 บาท ซึ่ง กทม. จะมีผลขาดทุนจากการดำเนินการส่วนต่อขยายประมาณปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท เมื่อนับรวมตั้งแต่ปี 64-72 จะมีผลขาดทุนถึงประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท

ปัจจุบัน กทม. อยู่ระหว่างนำเสนอแก้ไขสัญญาสัมปทานการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน(PPP)ต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งหากมีการเห็นชอบแล้ว การแก้ไขสัญญาสัมปทานนี้จะช่วยลดอัตราค่าโดยสารสูงสุดจาก 104 บาท เป็น 65 บาท ลดลง 39 บาท และแก้ไขภาระหนี้สินกว่า 120,000 ล้านบาทของ กทม. ได้ ซึ่งประกอบด้วย ภาระหนี้สินเดิมที่เกิดขึ้นจากการรับโอนโครงการส่วนต่อขยายที่ 2 ทั้งในส่วนเงินต้นค่างานโยธาที่ประมาณ 55,000 ล้านบาท

และภาระดอกเบี้ยในอนาคตอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท ค่าลงทุนในงานระบบ (E&M) ในส่วนต่อขยายที่ 2 ประมาณ 20,000 ล้านบาท ภาระหนี้ค่าจ้างงานเดินรถค้างจ่ายอีกประมาณ 9,000 ล้านบาท และภาระผลขาดทุนจากการดำเนินการส่วนต่อขยายตั้งแต่ปี 64-72 รวมอีกประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท นอกจากนี้ เอกชนยังต้องแบ่งส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสารหลังปี 2572 ให้ กทม. อีกกว่า 200,000 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งเพิ่มเติมในกรณีที่ผลประกอบการจริงดีกว่าที่คาดการณ์ตอนเจรจา

กทม.ยืนยันว่า ภายใต้อำนาจของ กทม.จะพยายามแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอย่างดีที่สุดเพื่อให้ลดผลกระทบและความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด โดย กทม.จะอธิบายถึงเหตุผลความจำเป็นและประโยชน์ที่จะได้รับจากการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนต่อรัฐบาล เพื่อที่จะให้สามารถปรับอัตราค่าโดยสารให้ค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายลดลงมาเหลือ 65 บาทโดยเร็วที่สุด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"