สาง ‘บ่อนพนัน-ลักลอบเข้าเมือง’ จับตารัฐ ช่วยเคลียร์ ‘ตอ’ หรือไม่


เพิ่มเพื่อน    

 

            กลายเป็นหนึ่งในวิธีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ใช้เพื่อลดแรงเสียดทานจากสังคม สำหรับการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องที่สังคมกำลังคลางแคลงสงสัย 

            โดยครั้งก่อน รัฐบาลเคยถูกหางเลขจากกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ในคดีขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 ที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน โดยมีเจ้าของฉายา “ไม้บรรทัด” นายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นประธาน

            ชื่อของนายวิชาค่อนข้างได้รับความเชื่อมั่นไม่น้อย สามารถช่วยลดแรงเสียดทานได้ค่อนข้างเยอะ ขณะเดียวกัน คณะกรรมการชุดดังกล่าวยังได้รับอิสระในการทำงาน และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ อย่างเต็มที่

            มาครั้งนี้รัฐบาลต้องเผชิญแรงกดดันที่หนักหน่วงกว่า จากกรณีหละหลวมปล่อยให้มีขบวนการนำแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมือง จนเป็นสาเหตุให้เกิดการระบาดของโควิด-19 ในรอบที่สอง เช่นเดียวกับการปล่อยปละละเลยจนมีบ่อนพนันเกลื่อนประเทศ และเป็นอีกสาเหตุหลักทำให้การระบาดของโควิด-19 แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว

            ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ยังถูกตั้งคำถามว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการ “สีเทา” เหล่านี้ แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะประกาศกร้าวว่าจะดำเนินการขั้นเด็ดขาดไม่ว่าเป็นใครหน้าไหน แต่กลับไม่ได้ทำให้สังคมเกิดความเชื่อมั่น กระทั่งต้องใช้วิธีการเดิมอีกครั้งคือ แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องการลักลอบเข้าเมืองและบ่อนการพนัน 

            พล.อ.ประยุทธ์ ร่วมกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกแบบโครงสร้างและสรรหาตัวบุคคลมาทำหน้าที่ดังกล่าว

            โดยชุดแรกคือ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำความผิดกรณีสถานที่เล่นการพนัน เป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มี นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน และอีกชุดคือ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำความผิดกรณีการเข้าเมืองผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 มี นายภักดี โพธิศิริ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน 

            แม้จะไม่ได้รับการจับตาเท่ากับคณะกรรมการชุดของนายวิชา แต่ตัวประธานคณะกรรมการซึ่งมาจากคนนอกรัฐบาลอย่างนายชาญเชาวน์ ที่เป็นอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม และนายภักดี ที่เป็นอดีตกรรมการ ป.ป.ช. ก็ไม่ได้ทำให้ถูกยี้ โดยคณะกรรมการสองชุดนี้จะมีกรอบทำงานเบื้องต้น 30 วัน และทำรายงานสรุปเหมือนกับชุดนายวิชา

            คณะกรรมการตรวจสอบเรื่องบ่อนการพนัน และคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องลักลอบเข้าเมืองไม่ได้มีอำนาจสั่งลงโทษใคร แต่มี หน้าที่ “ให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่ เพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดไม่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาลงโทษ และเสนอมาตรการป้องกันหรือดำเนินการอื่นที่เหมาะสม” ซึ่งคือ หน้าที่เดียวกับคณะกรรมการของนายวิชาเช่นเดียวกัน

            ชุดความจริงที่คณะกรรมการจะไปตรวจสอบถือเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายจับตามาก เพราะทุกคนจับจ้องว่าจะสามารถเปิดโปงขบวนการนี้ได้หรือไม่ หรือจะสามารถเชื่อมโยงไปยัง “คนมีสี” อย่างที่มีการตั้งข้อสังเกตกันได้หรือไม่ 

            ต้องยอมรับว่า เมื่อครั้งการทำงานของนายวิชาสามารถลุยได้เต็มพิกัด แต่กรณีนี้อาจเกี่ยวข้องกับคนมีสี-ผู้มีอิทธิพล ที่คณะกรรมการอาจควานไปเจอ “ตอ” ได้

            ขณะเดียวกันยังต้องจับตาว่า นายชาญเชาวน์และนายภักดีจะได้รับความร่วมมืออย่างดีด้านข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ มากน้อยแค่ไหน อย่างที่รู้กันว่า สองขบวนการนี้เกี่ยวพันกับ “ส่วย-ผลประโยชน์” มหาศาล 

            แน่นอนว่า หากคณะกรรมการไม่ได้รับความร่วมมือ การที่ พล.อ.ประยุทธ์แต่งตั้งขึ้นมาก็อาจจะไร้ผลลัพธ์ และกลับกันยังจะไม่สามารถลดกระแสสังคมได้เช่นกัน

            ที่สำคัญ มันจะทำให้สูตรนี้ไม่ขลังอีกต่อไป.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"