จ่อหั่นภาษีเยียวยา ลดจ่ายประกันตน!


เพิ่มเพื่อน    

 

"บิ๊กตู่" ขยับต่อเยียวยาโควิด จ่อเคาะ ครม.ปลดล็อกมาตรการภาษีลดภาระรายจ่าย "ปชช.-ผู้ประกอบการ" ด้านประกันสังคมต่อลมหายใจผู้ประกันตนมาตรา 33 อีกขยัก ไฟเขียวลดเงินสมทบเหลือ 0.5% เริ่ม ก.พ. ขณะที่ "เราชนะ" ตีกรอบหลักการเดิมต้องผ่านแอปเท่านั้น

    เมื่อวันศุกร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut-Chan-o-cha" ระบุว่า เช้านี้ ได้มีการหารือมาตรการด้านภาษี เพื่อลดภาระรายจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนกลุ่มต่างๆ และผู้ประกอบการ เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง, ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย, ขยายเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้ เป็นต้น สำหรับเสนอที่ประชุม ครม.อนุมัติในวันอังคารหน้า ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามหามาตรการช่วยเหลือในรูปแบบลดรายจ่ายควบคู่กับการ เพิ่มรายได้ เช่น โครงการเราชนะ หรือคนละครึ่ง ที่มีความก้าวหน้า เป็นไปได้ด้วยดี ขอให้ทุกคนรักษาสุขภาพนะครับ
    ด้านนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตน กองทุนประกันสังคม มาตรา 33 ว่า กระทรวงแรงงานมีแนวคิดที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า ปรับลดการจ่ายเงินประกันสังคมในส่วนของลูกจ้าง จากเดิมที่ลดลงจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 3 อยู่แล้ว เป็นเหลือร้อยละ 0.5 แต่การส่งเงินสมทบในส่วนของนายจ้างยังเป็นร้อยละ 3 เหมือนเดิม ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563
“โดยแนวทางลดเงินสมทบในส่วนของลูกจ้างเหลือร้อยละ 0.5 คาดว่าจะดำเนินการได้ในเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไปถึงเดือนมีนาคม เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกจ้างในระบบประกันสังคมที่มีอยู่ราว 12 ล้านคน ซึ่งแนวทางนี้ แม้จะทำให้การเก็บเงินสมทบของกองทุนประกันสังคมหายไปประมาณ 20,000 ล้านบาท แต่ลูกจ้างจะได้ประโยชน์จากการที่นำเงินที่ต้องจ่ายสมทบไปใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19” นายสุชาติระบุ
    วันเดียวกัน มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการหารือระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม, นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และผู้บริหารกระทรวงการคลัง ที่ทำเนียบรัฐบาล ในช่วงเช้า ได้มีการสอบถามเรื่องความชัดเจนการเข้าร่วมโครงการเราชนะ ในกรณีที่ไม่มีบัตรคนจนหรือสมาร์ทโฟน โดย นายสุพัฒนพงษ์ระบุว่า แนวคิดนี้เป็นการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเข้ามาช่วยลงทะเบียนให้ สำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจวิธีการเท่านั้น ไม่ใช่การจ่ายเงินเยียวยาผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ
    อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรียังไม่มีแนวคิดที่จะแจกเงินเยียวยา จากมาตรการเราชนะ จำนวน 3,500 บาท จำนวน 2 เดือน ในรูปแบบของเงินสด ซึ่งจะยึดตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2564 คือเป็นการให้วงเงินใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันและ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้น โดยจะให้เงินช่วยเหลือเป็นรายสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.เป็นต้นไป
    “ในหลักการโครงการยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คือต้องมีแอปพลิเคชันหรือสมาร์ทโฟนเท่านั้นจึงจะร่วมโครงการเราชนะได้ เพราะเป็นการโอนวงเงินเพื่อการใช้จ่าย ลดค่าครองชีพให้กับประชาชนในการไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง บริการ ไม่มีการแจกเป็นเงินสด” รายงานข่าวระบุ
    ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้า ธนาคารกรุงไทยจะสรุปวิธีการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ w ww.เราชนะ.com รวมทั้งรูปแบบการใช้จ่ายเงิน โดยยืนยันว่าการใช้สิทธิ์ไม่ยุ่งยาก ใช้จ่ายเหมือนโครงการคนละครึ่ง แต่ไม่จำกัดวงเงิน และใช้จ่ายได้ถึง 31 พ.ค.2564 โดยกลุ่มผู้มีแอปพลิเคชันเป๋าตัง ก็ใช้กับร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ที่มีแอปพลิเคชันถุงเงินกว่า 1.2 ร้านค้าได้ ส่วนผู้ที่ถือบัตรคนจน ก็ต้องนำบัตรไปสแกนกับร้านค้าปกติและร้านธงฟ้า ซึ่งร้านค้าจะมีแอปพลิเคชันตัวใหม่ไว้สแกนตัดวงเงินที่มีอยู่ในบัตรคนจนได้เช่นกัน
วันเดียวกัน ที่กระทรวงการคลัง นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ นำกลุ่มราษฎร รวมตัวกันยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผ่านผู้อำนวยการสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อทวงคืนงบประมาณจากกองทัพ สำหรับนำมาเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจช่วงโรคโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างถ้วนหน้า โดยนายภาณุพงศ์ระบุว่า ขอเสนอมาตรการดังนี้คือ 1.ให้รัฐเยียวยาประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ด้วยเงินรายได้ถ้วนหน้า เป็นเวลา 3 เดือน เดือนละ 3,500 บาท รวมเป็นเงิน 525,000 ล้านบาท จากการตัดลดงบที่ไม่จำเป็น 2.นำเข้าและกระจายวัคซีนโควิดให้เท่าเทียม 3.ลดค่าครองชีพ ค่าสาธารณูปโภค ค่าเรียนให้นักเรียน นักศึกษา เป็นเวลา 3 เดือน พร้อมอุดหนุนค่าเรียนออนไลน์ด้วย โดยจะให้เวลาทางกระทรวงการคลังตอบรับหรือเคลื่อนไหวเกี่ยวกับข้อเรียกร้องในจดหมาย ภายใน 1 สัปดาห์ หรือภายในวันที่ 29 มกราคม 2564 ไม่เช่นนั้นจะนัดชุมนุมในวันดังกล่าวอีกครั้ง พร้อมกับจำนวนผู้ชุมนุมที่มากขึ้น
ขณะที่นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า หากไม่มีมือถือสมาร์ทโฟนจะให้ทำอย่างไร ซึ่งที่จริงเรื่องแบบนี้ไม่ควรต้องชี้แจงกันหลายครั้ง หรือให้ประชาชนต้องเสียเวลามาคอยตามการชี้แจงกันรายวัน มาตรการเยียวยาที่ผ่านมาของรัฐบาล ยังต้องให้ยืนยันตนผ่านแอปพลิเคชันมาตลอด ทั้งที่รัฐบาลก็มีข้อมูลของประชาชนที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้วจากการเยียวยารอบก่อน เหตุใดไม่ทำการโยกข้อมูลส่วนนี้มาใช้ ทำไมต้องให้ประชาชนยุ่งยากทำซ้ำทำซาก หากมีความจริงใจจะเยียวยาจริงๆ ควรทำกระบวนการให้ง่ายและรวดเร็ว ไม่ใช่สร้างความสับสนเหมือนต้องลุ้นเสี่ยงโชคกันตลอดเวลา
ด้านนายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า  มาตรการช่วยเหลือประชาชนอย่างถาวร คือการสร้างงานขึ้นมาใหม่หรือทำให้รายได้ของแรงงานสูงขึ้นมาใหม่ การปลุกเศรษฐกิจทั้งระบบคือประเด็นสำคัญ นอกจากนี้ มาตรการเยียวยาซึ่งเป็นมาตรการเฉพาะหน้าเพื่อช่วยเหลือเจือจานหรือต่ออายุให้แก่แรงงานที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ โครงการเยียวยาที่รัฐใช้เงินงบประมาณอีกประมาณ 3 แสนล้านบาทเศษๆ นั้น จะต้องถึงมือแรงงานทั้ง 7 ล้านคนที่ว่านี้ด้วยเป็นส่วนใหญ่ กลับไม่ได้รับความช่วยเหลือ แต่คนที่ไม่สมควรเลยกลับได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นการเยียวยาที่ไม่ครอบคลุมผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง
ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์รัฐบาล สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ฝั่ง ก.พ.) นายสมบูรณ์ จุลมุสิก นายกสมาคมนักร้องลูกทุ่งแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์? เพื่อขอความช่วยเหลือจากวิกฤติสถานการณ์โควิด-19  โดยขอให้ภาครัฐและเอกชนพิจารณาการพักชำระหนี้ค่าสาธารณูปโภค การชำระหนี้ ผ่อนผันบ้านและรถยนต์เป็นเวลา 6 เดือน ระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย.64 ทั้งนี้ ขอให้รัฐบาลพิจารณาจ่ายเงินให้กับผู้มีอาชีพศิลปินนักร้อง จำนวน 3 เดือน เพื่อเป็นมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนต่อไป.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"