วัคซีนเซ่นการเมือง-ฝ่ายตรวจสอบไร้พลัง ประยุทธ์กินบุญเก่า-ไม่ปฏิรูปตำรวจ


เพิ่มเพื่อน    

         กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง กรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ไลฟ์สดในหัวข้อ "วัคซีนพระราชทาน : ใครได้-ใครเสีย?" ว่าด้วยการจัดหาและผลิตวัคซีนโควิดในประเทศไทย ที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเอื้อประโยชน์ให้แก่ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด  ที่มี ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงถือหุ้นอยู่ 100%

            การนำเรื่องวัคซีนไปเชื่อมโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้แกนนำรัฐบาลออกมาตอบโต้อย่างดุเดือด  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม สั่งดำเนินคดีขั้นเด็ดขาดกับการบิดเบือนข้อเท็จจริงและเฟกนิวส์ต่างๆ

            ขณะที่ตัวแทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักนายกรัฐมนตรี ไปแจ้งความกับตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ให้ดำเนินคดีอาญาแก่นายธนาธร ในความผิดมาตรา 112 และความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

            กระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมกันแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ตอนหนึ่งว่า การจองซื้อวัคซีนกับ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ใช่การจองซื้อทั่วไป แต่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้ไทย  ซึ่งแอสตราฯ ได้เลือกบริษัทที่มีความพร้อม มีคุณสมบัติตามที่ต้องการ คือ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์  จำกัด ซึ่งพร้อมที่จะรองรับการถ่ายทอดจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แม้แต่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ของไทยก็ยังไม่มีศักยภาพเพียงพอ โดยต้องผลิตให้ได้ 200 ล้านโดสต่อปี

                “เราซื้อวัคซีนจากแอสตราเซเนกาฯ เป็นการจ้างผลิตและถ่ายทอดเทคโนโลยีแบบให้เปล่า ขายให้แบบไม่มีกำไรแต่ไม่ขาดทุน คิดราคาทุนเท่านั้น ค่าจ้างหรือค่าผลิตเป็นราคาทุน เสมือนสยามไบโอไซเอนซ์ต้องผลิตตามคำสั่งแอสตราเซเนกา ผลิตในราคาทุน ขายให้ไทยและประเทศอาเซียนในราคาทุน …เงินทุนที่สถาบันวัคซีนสนับสนุนให้ บ.สยามไบโอไซเอนซ์ 600 ล้านบาท เขียนไว้ในสัญญาชัดเจนว่าเมื่อผลิตวัคซีนได้แล้ว จะคืนวัคซีนให้เท่ากับจำนวนทุนที่ได้รับให้กับรัฐบาล การให้ทุนจึงไม่ใช่การให้เปล่า เป็นการสนับสนุนให้มีศักยภาพเพื่อผลิตให้ได้ ข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอยและคลาดเคลื่อนควรหมดไป และไม่ควรนำโยงกับสถาบันที่เราเคารพรัก ประเด็นของวัคซีนการรีบร้อนอาจทำให้เกิดผลเสีย ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะผลข้างเคียงที่รุนแรง…”  นพ.นครกล่าวตอนหนึ่ง

     ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า “การตัดสินใจสายกลางเป็นวิธีที่ดีที่สุด ปีหน้าตลาดวัคซีนจะเป็นของผู้ซื้อ มีการผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก เราก็สามารถที่จะเลือกซื้อได้ ในตัวที่ดีที่สุดและราคาถูกที่สุด เชื่อว่าการประเมินที่ ๒๖ ล้านโดสแรก น่าจะมีความเหมาะสม รอเวลาที่จะเลือกวัคซีนตัวดีที่สุด ราคาเหมาะสมเข้ามาเสริมในระยะสุดท้าย ดีกว่าที่จะทุ่มเงินมัดจำไปทั้งหมด แล้วในที่สุดก็ไม่สามารถจะเลือกชนิดวัคซีนได้”

            ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีว่า วัคซีนโควิด-19 จัดเป็นยาชีววัตถุคล้ายคลึง (Biosimilars) มีต้นทุนทางเทคโนโลยีในการผลิตสูงมากกว่ายาทั่วไป และอาศัยเทคโนโลยีในการผลิตที่ซับซ้อนมากกว่า จึงไม่แปลกที่สยามไบโอไซเอนซ์ ผู้สามารถผลิต Biosimilars แห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล จะได้รับการคัดเลือกจากแอสตราเซเนกา

            แต่นายธนาธรพยายามโยงว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน   ทั้งที่ช่วงวิกฤติโควิดในหลวง ร.10 ทรงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด ทรงห่วงใยบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนโดยตลอด ทรงบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์จำนวนมาก โดยเฉพาะรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย  20 คัน และชุดพีพีอีเป็นล้านๆ ชุด จัดสร้างรถตรวจโรคติดเชื้อเพิ่มเติมอีก 7 คัน และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อใช้ต่อสู้ไวรัสโควิดในครั้งนี้ ทำให้ประชาชนปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่ง

            ส่วนการเรียกร้องให้เปิดเผยสัญญาข้อตกลงนั้น ก็สามารถหาดูได้ตามเว็บไซต์ทั่วไป ยกเว้นความลับเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยของบริษัท แต่น่าสังเกตว่าเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลมูลค่าหมื่นล้านแสนล้านมากมาย ทำไมนายธนาธรไม่ไปตรวจสอบว่ามีการทุจริตคอร์รัปชัน จ่ายใต้โต๊ะหรือไม่ ซึ่งก็เป็นการใช้ภาษีประชาชนเช่นกัน น่าจะสามารถรักษาผลประโชน์ของประชาชนได้มากกว่า

            ทำให้ แอสตราเซเนกา ที่เป็นบริษัทมหาชนในประเทศอังกฤษมีความกังวล หลังนายธนาธรกดดันให้มีการเปิดสัญญาการจัดซื้อวัคซีนกับรัฐบาลไทย เกิดความไม่สบายใจเพราะไม่อยากพัวพันกับการเมือง อาจพิจารณาทบทวนท่าทีต่อการผลิตและการส่งมอบวัคซีนให้แก่ประเทศไทยตามแผนเดิม

            และแม้จะมีการทบทวนจริง นายธนาธรก็จะยังคงหาเรื่องโจมตีรัฐบาลและสถาบันได้อีกเช่นเคย

            ที่สำคัญการเปิดประเด็นนี้ มีเจตนาให้เชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมกลุ่ม 3 นิ้ว-คณะราษฎร ซึ่งไม่ทันไรก็มีการขึ้นป้ายเชื่อมโยงวัคซีนพระราชทานกันพรึ่บ!

            กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมก็นัดชุมนุมที่กระทรวงการคลังทันที เพื่อร่วมกันยื่นหนังสือทวงคืนงบสถาบันพระมหากษัตริย์และกองทัพ นำมาเยียวยาประชาชนอย่างทั่วหน้าเสมอกัน

            นายธนาธรและเครือข่ายที่อ้างว่าต้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่สามารถหาเรื่องโจมตีได้ทุกหน้าในยามบ้านเมืองประสบภาวะวิกฤติโรคระบาดเช่นนี้ หากพระมหากษัตริย์ไม่ทรงช่วยเหลือประชาชน ก็หาว่ามีพระมหากษัตริย์ไว้ทำไม แต่พอพระมหากษัตริย์ทรงช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ก็หาว่าเป็นการแทรกแซงการบริหารราชการแผ่นดิน

            หันไปดูข้อเสนอของกลุ่มคนเหล่านี้ก็ยังไร้ทางเลือกที่เด่นชัดเป็นรูปธรรม ที่นายธนาธรเคยบอกว่าได้เตรียมผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อมอบให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ ก็ยังหายเงียบ

            ส่วนการเคลื่อนไหวของกลุ่มคณะราษฎร 63 แนวร่วมหดหาย จะปรับกลยุทธ์ใหม่ก็เกิดกรณี นายมงคล สันติเมธากุล หรือ เยล การ์ดม็อบราษฎร อ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)  อุ้มไปจากที่พักย่านสมุทรปราการ ทำให้แกนนำผู้ชุมนุมรวมทั้ง ส.ส.พรรคก้าวไกลออกมาโจมตีกันยกใหญ่ อ้างเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ป่าเถื่อน

            กระทั่งตำรวจได้ตรวจกล้องวงจรปิด แล้วพบว่าในช่วงเวลาที่อ้างหายไปนั้น แท้จริงแล้วนายมงคลไม่ได้ถูกอุ้ม แต่เก็บตัวอยู่ในที่พักบริเวณถนนแพรกษา ต.ท้ายบ้านใหม่ อ.เมืองสมุทรปราการ และเข้าแจ้งความกับ สภ.ปากน้ำ ต่อมา พนักงานสอบสวนได้ขออนุมัติหมายจับต่อศาลทหารกรุงเทพ  และศาลได้อนุมัติหมายจับในข้อหาแจ้งความเท็จแล้ว

            หันไปดูฝ่ายค้านที่ได้ฤกษ์ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลอีกครั้งในวันที่ 25 ม.ค.นี้ โดยมีรายงานว่าคนที่ ส.ส.ต้องการจะอภิปรายมีหลายคน หลักๆ  คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ขณะที่ชื่อของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ประเด็นที่จะอภิปรายพุ่งเป้าไปที่นายกฯ เป็นหลัก และโยงไปถึงรัฐมนตรีคนอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องจากความล้มเหลวไร้ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะการจัดการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ล้มเหลว ที่ต้นเหตุของการแพร่ระบาดเชื่อมโยงกัน

            แต่ก็ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าจะซ้ำรอยการอภิปรายไม่ไว้วางใจเหมือนคราวก่อนหรือไม่ ที่สุดท้ายกลับไม่กล้าแตะ  พล.อ.ประวิตร ท่ามกล่างกระแสข่าวว่ามีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับแกนนำฝ่ายค้านบางคน

            การตรวจสอบของฝ่ายค้านและกลุ่มนอกสภา จึงยังไม่มีพลังอำนาจเพียงพอที่จะสามารถขย่มรัฐบาลให้สั่นคลอนได้

            ทั้งที่รัฐบาลก็มีจุดอ่อนและความล้มเหลวในการบริหารหลายเรื่อง โดยเฉพาะการปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐในการรับส่วยแรงงานต่างด้าวและบ่อนการพนัน จนเป็นต้นตอการระบาดไวรัสโควิดรอบใหม่ ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างมากมาย

            เมื่อมีการเรียกร้องให้แก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเด็ดขาด  พล.อ.ประยุทธ์ก็ใช้วิธีตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ 2 ชุด  ที่มี นายภักดี โพธิศิริ เป็นประธานตรวจสอบเรื่องการเข้าเมืองผิดกฎหมาย กับ นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ประธานสอบเรื่องบ่อนการพนัน ซึ่งไม่ได้มีอำนาจอะไร แค่ทำรายงานเสนอนายกฯ

            เช่นเดียวกับการตั้ง นายวิชา มหาคุณ เป็นประธานตรวจสอบกรณีนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต เมื่อนายวิชาเสนอรายงาน นายกฯ ก็เก็บไว้ในลิ้นชัก

            ข้อเสนอของนายวิชา รวมทั้งร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ  ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ก็ไม่ได้นำไปใช้ กลับไปแปลงสารลักไก่นำร่าง พ.ร.บ.ตำรวจที่แก้ไขโดยตำรวจ เข้าครม.อย่างไม่แยแสอะไรทั้งสิ้น

            ต้องยอมรับว่า ตำรวจ คือต้นทางกระบวนการยุติธรรม  มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการจับกุม สอบสวน สั่งฟ้อง หากใครสั่งตำรวจได้ก็ย่อมมีอำนาจทางกฎหมายอยู่ในมือ

            เมื่อตำรวจยังไม่มีการปฏิรูป จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานฝ่ายตรงข้ามได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            ทั้งฝ่ายการเมือง แกนนำผู้ชุมนุม ที่หมิ่นเหม่กระทำผิดกฎหมาย ก็โดน หมายเรียก หมายจับ กันอย่างงายดาย 

            เมื่อธนาธรและพวก ต้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เปิดหน้าชนตรงๆ แบบนี้ คดีความก็ตามมากันเพียบ

            ในขณะที่สังคมไทยเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้เหนือหัว ใครจาบจ้วงให้ร้ายก็ยอมรับไม่ได้

            เมื่อฝ่ายตรวจสอบสุดโต่ง ไร้ประสิทธิภาพเช่นนี้ รัฐบาลประยุทธ์ก็ยังยืนระยะได้อีกยาว.

--------------

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"