ยื่นซักฟอกเหมาเข่งรมต.


เพิ่มเพื่อน    


    ยื่นซักฟอกบิ๊กตู่-รมต.รายบุคคลวันจันทร์นี้  "ยุทธพงศ์" ยันมี 11 ชื่อ โวข้อมูลแน่นปึ้ก มีหลักฐานทุจริต เอื้อประโยชน์ มั่นใจสั่นคลอนรัฐบาลได้ จ่อถล่ม "บิ๊กป๊อก" ปมค่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวแพงหูฉี่ จับคนกรุงเทพฯ เป็นตัวประกัน แต่คน "เพื่อไทย" โวยกันเองเหวี่ยงแหเยอะเกิน  "จตุพร" ดักอย่าให้มีล้มมวย เตือนประชาชนอาจกลับมาม็อบเต็มถนนอีกครั้ง
    วันจันทร์ที่ 25 ม.ค.64 เวลา 09.30 น. พรรคร่วมฝ่ายค้านทุกพรรคนำโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร  จะเข้ายื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่รัฐสภา โดยก่อนหน้านี้วิปรัฐบาลกำหนดปฏิทินให้ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ 4 วัน 4 คืน คือวันที่ 16-19 ก.พ.และลงมติ 20 ก.พ.64
    ด้านความเคลื่อนไหวของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เมื่อวันที่  24 ม.ค. ที่พรรคเพื่อไทย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การอภิปรายครั้งนี้ จะต่างจากการอภิปรายครั้งที่แล้ว เพราะปีที่ผ่านมาไม่ให้เอาเรื่องเก่ามาอภิปราย แต่การอภิปรายครั้งนี้รัฐบาลบริหารงบประมาณมาแล้ว 2 ปี มีการใช้งบประมาณที่บกพร่อง ทุจริต เอื้อประโยชน์ ดังนั้นการอภิปรายครั้งนี้พรรคฝ่ายค้านมีทีเด็ด หลักฐานค่อนข้างชัดเจน และสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลที่สุด
    เมื่อถามว่า การอภิปรายครั้งนี้จะมีรัฐมนตรีถูกอภิปรายกี่คน นายยุทธพงศ์กล่าวว่า รายชื่อที่สื่อมีอยู่ที่ประมาณ 11 คน ต้องบอกว่ายังไม่ถูกต้องทั้งหมด แต่ถูกประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์
    เมื่อถามย้ำว่ามี 11 คนใช่หรือไม่ นายยุทธพงศ์กล่าวว่า มีประมาณ 11 คนแน่นอน
    ก่อนหน้านี้ตามข่าวที่ปรากฏออกมา มีรัฐมนตรีที่จะถูกยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ในประเด็นการบริหารงานภาพรวมเกี่ยวกับการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ที่ล้มเหลว, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย,  นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม, นายสุชาติ ชมกลิ่น  รมว.แรงงาน, นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์
    ต่อมานายยุทธพงศ์แถลงข่าวกรณีการขึ้นค่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็น 104 บาทว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ประชาชนเดือดร้อน การที่มาขึ้นค่าโดยสารสูงสุด 104  บาทต่อเที่ยว เดินทางไปกลับจะเป็นเงิน 208 บาท แต่ค่าแรงขั้นต่ำของคนกรุงเทพฯ คือ 331 บาท ประชาชนจะอยู่ได้อย่างไร ขอถามผู้ว่าฯ กทม.คิดได้อย่างไร ทำไมนายกรัฐมนตรี รมว.มหาดไทยยังอยู่เฉย ไม่มีการเรียก พล.ต.อ. อัศวินไปพูดคุยเพื่อหาทางยับยั้งไม่ให้ขึ้นค่าโดยสาร
    "เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวนี้จะเป็นประเด็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคเพื่อไทย ที่มีปัญหาคือ กทม.รับโอนส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว คือเขียวเหนือและเขียวใต้มาจากกระทรวงคมนาคม โดยเป็นหนี้ รฟม.  51,785 ล้านบาท พล.ต.อ.อัศวินจึงได้มีการออกข้อบัญญัติ กทม.เรื่องการกู้เงิน เพื่อใช้ในการโอนทรัพย์สินและหนี้สินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต  และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ พ.ศ.2561 เพื่อกู้เงินไปจ่าย  แต่จนถึงวันนี้ผ่านมาแล้ว 3 ปี ยังไม่ทำอะไรเลย ไม่มีการกู้เงินสักบาท มาใช้วิธีการขึ้นค่าโดยสาร นอกจากนี้มติ ครม. ยังกำหนดให้ กทม.บริหารจัดการรายได้ ตั้งงบประมาณให้เพียงพอต่อการชำระหนี้ดังกล่าวอย่างเคร่งครัด และพิจารณาค่าโดยสารให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ ซึ่งเป็นมติตั้งแต่ปี 2561 ถามว่าเหตุใดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าฯ กทม.จึงไม่ปฏิบัติตามนายกรัฐมนตรี รมว.มหาดไทย และผู้ว่าฯ กทม.เข้าข่ายการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157  และจับเอาคน กทม.เป็นตัวประกันหรือไม่" นายยุทธพงศ์กล่าว
    นายยุทธพงศ์กล่าวอีกว่า มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาล 1. ขอให้ กทม.ชะลอการขึ้นค่าโดยสาร 104 บาทในวันที่ 16  ก.พ.นี้ออกไปก่อน 2.ควรคิดค่าโดยสารที่เหมาะสม 3. โครงการรถไฟฟ้าเป็นบริการสาธารณะ ไม่ใช่ลงทุนไปแล้วมาคิดเอากำไรกับประชาชนเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด โดยวันที่  26 ม.ค.จะไปยื่นหนังสือต่อนายกฯ รมว. มหาดไทย และผู้ว่าฯ กทม.เพื่อให้ยับยั้งไม่ให้ขึ้นค่าโดยสาร
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายยุทธพงศ์แถลงข่าวอยู่นั้น บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอส) ได้ส่งทีมงานนำโดย พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในฐานะที่ปรึกษาบริษัทบีทีเอสเข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าวด้วย
ขรม! โผซักฟอกเหวี่ยงแห
    อย่างไรก็ตาม มีรายงานจากพรรค พท.ว่าได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหู โดยเฉพาะในพรรคที่ ส.ส.ส่วนหนึ่งมองว่า การยื่นอภิปรายรัฐมนตรีมากถึง 11 คนมากเกินไป สมัยที่แล้วยื่นอภิปรายรัฐมนตรีแค่ 7 คนยังจัดสรรเวลา เนื้อหา ประเด็นอภิปราย ผู้อภิปรายกันไม่ค่อยลงตัว  คราวนี้ยังดันทุรังยื่นถึง 11 คน แทนที่จะลดจำนวนรัฐมนตรีให้น้อยลง กระชับประเด็น พุ่งเป้าไปยังรัฐมนตรีที่มีปัญหาในการบริหารประเทศล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ  และรัฐมนตรีที่มีกระแสข่าวความไม่ชอบมาพากลในการบริหารงานเป็นหลัก แต่แกนนำพรรคเพื่อไทยกลับไปเกรงใจพรรคร่วมฝ่ายค้านมากเกินไป จึงไม่กล้าตัดรายชื่อ รัฐมนตรีที่ถูกเสนอเข้ามา โดยเฉพาะ พล.อ.ประวิตร แม้พรรคก้าวไกลอยากขอแก้มือ เนื่องจากการอภิปรายเมื่อปี 2563 ไม่ได้อภิปราย คราวนี้จึงต้องเพิ่มชื่อเข้ามา ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่กล้าตัดรายชื่อออก เกรงว่าจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างพรรคร่วมฝ่ายค้าน แม้ พล.อ.ประวิตรเป็นรองนายกฯ กำกับดูแลกระทรวงแรงงานด้วย  แต่เป็นเพียงในภาพรวม หากต้องการพุ่งเป้าไปยังความไม่ชอบมาพากลเรื่องแรงงานเถื่อน ควรพุ่งเป้าไปยังรัฐมนตรีแรงงานโดยตรงมากกว่า 
    มีรายงานอีกว่า นอกจากนี้ยังมีข้อสงสัยจนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกระทรวงพลังงาน เหตุใดรอบนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) ไม่ถูกเสนอชื่อ ทั้งที่เป็นกระทรวงใหญ่มีเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาล ทั้งในส่วนของเสี่ย ก.ที่เป็นนายทุนใหญ่  และรัฐมนตรีบางคนในรัฐบาลปัจจุบันมีประเด็นน่าสงสัย  แต่กลับหลุดโผการซักฟอก นายทุนคนดังกล่าวไม่ได้มีสายสัมพันธ์อันดีแค่แกนนำในพรรคร่วมรัฐบาล แต่ยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านและ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านบางคนด้วย ในการอภิปรายครั้งที่แล้ว ส.ส.ฝ่ายค้านคนหนึ่งพยายามเชื่อมโยงนายทุนคนดังกล่าวกับ เมกะโปรเจกต์หลายโครงการในรัฐบาล ทำให้นายทุนคนนี้ ถึงกับบินตรงไปต่างประเทศเพื่อขอเจรจากับเจ้าของพรรคตัวจริงพรรคเพื่อไทย และคราวนี้ที่หลุดโผการอภิปรายจึงไม่แน่ใจว่ามาจากสาเหตุใด
    มีรายงานอีกว่า ในการประชุมเตรียมความพร้อมอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยจำกัดวงในการรับรู้ข้อมูลที่จะอภิปรายรัฐมนตรีให้อยู่ในวงแคบๆ ไม่มีการนำข้อมูลมากางเหมือนคราวที่แล้ว เพราะมีบทเรียนจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบที่แล้ว ที่ข้อมูลสำคัญหลุดรอดออกไปก่อน ทำให้รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายเตรียมข้อมูลชี้แจงกลับได้อย่างตรงประเด็น เป็นที่น่าสังเกตว่า ส.ส.นักอภิปรายและแกนนำพรรคเพื่อไทยบางคนพยายามโหมประเด็นอภิปราย ทั้งแถลงข่าวหรือเปิดเอกสารเป็นรายวัน  ที่อาจทำให้ฝ่ายตรงข้ามจับทางได้หมด อาจทำให้เนื้อหาการอภิปรายวันจริงไม่มีข้อมูลใหม่มาเล่นงาน จึงสร้างความงุนงงให้สมาชิกพรรคเพื่อไทยไม่น้อย
เสี่ยหนูแอ่นอกพร้อมชน
    ด้านความเห็นจากฝ่ายรัฐบาลและรัฐมนตรีที่มีข่าวจะถูกยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายอนุทิน ชาญวีรกูล  รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าไม่รู้สึกกังวลใจ เพราะเป็นเรื่องปกติที่สถานการณ์โควิดจะต้องมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้าไปอยู่ในโผรายชื่อที่จะถูกอภิปราย แต่เห็นว่าเป็นเรื่องดีที่จะได้มีโอกาสชี้แจง และบางประเด็นอาจช่วยเสริมคำชี้แจงของรัฐบาลได้ด้วย
    เมื่อถามถึงแนวทางการโหวตของพรรคภูมิใจไทย  หากฝ่ายค้านหยิบยกประเด็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ขึ้นมาอภิปราย พล.อ.อนุพงษ์ ซึ่งแนวทางของพรรคภูมิใจไทยก็ไม่เห็นด้วยกับการต่อสัญญาสัมปทาน 30 ปี ซึ่งตรงกันกับฝ่ายค้าน หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยระบุว่า โครงการนี้ ยังไม่ได้ถูกผลักดันเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จึงยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เกิดขึ้น จึงมองว่าไม่ใช่ประเด็นที่จะนำมาสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจได้
    ด้านนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้ความเห็นเช่นกันว่า ช่วงสถานการณ์โควิดจิตใจทุกคนก็จดจ่ออยู่ว่าเมื่อไหร่มันจะจบ เมื่อจบแล้วชีวิตความเป็นอยู่จะเป็นอย่างไร การทำมาหากินจะอยู่รอดหรือไม่ ความเป็นความตาย การดำรงอยู่ของชีวิตที่จะมีต่อไปในอนาคตของแต่ละคนที่ทุกข์ยากลำบากจากสถานการณ์นี้ ไม่ได้คิดเรื่องอะไรมากไปกว่านี้เลย นึกถึงกันแต่เรื่องปากท้อง จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีคนใดหรือไม่ จะมีหมัดเด็ดหมัดน็อกของฝ่ายค้านอย่างไร ชาวบ้านเขาไม่สนใจ หรือคณะราษฎรจะชุมนุมไล่ใคร หรือเรียกร้องอะไร ชาวบ้านเขาก็ไม่สนใจเช่นกัน บางทีรู้สึกต่อต้านเอาเสียด้วย ทำนองว่าจะอดตายกันอยู่แล้วจะมาทำเรื่องเหล่านี้ไปทำไมกัน
    "ฝ่ายค้านจะโหมโรงเล่นงานรัฐมนตรีคนนั้นคนนี้ บอกว่ามีใบเสร็จอย่างนั้นอย่างนี้ จะต้องตายคาเวทีแน่นอน  ดูเหมือนชาวบ้านเขาก็ไม่ตื่นเต้นสนใจอะไร ยิ่งเห็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งที่ผ่านๆ มาก็อย่างงั้นๆ แหละ  โฆษณาเสียตูมตามใหญ่โต ถึงคราวอภิปรายจริงทั้งเนื้อหาและคนอภิปรายก็แทบจะไม่มีอะไร จืดชืด ไม่มีพลัง จำเป็นจะต้องอภิปรายไม่ไว้วางใจตามฤดูกาลหรือเปล่า บางครั้งการไม่อภิปรายไม่ไว้วางใจอาจจะได้คะแนนมากกว่าการอภิปรายเสียอีก เผลอๆ ไม่มีทีเด็ดอะไร เป็นไปแบบเดิม ก็อาจจะถูกคนดูโห่ฮาปาเวที เสียผู้เสียคนไปเปล่าๆ" นายวันชัยให้ความเห็น
จตุพรดักอย่ามีมวยล้ม!
    ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นการพูดความจริงกับประชาชน ทั้งฝ่ายค้านที่มีหน้าที่ตั้งข้อกล่าวหา และฝ่ายรัฐบาลมีหน้าที่ชี้แจง หากพูดถึงเสียงในสภาอย่างไรก็แพ้วันยังค่ำ ดังนั้นการอภิปรายในครั้งนี้ขึ้นอยู่กับเนื้อหาสาระในการอภิปราย แต่ที่ผ่านมานั้นต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ไม่สามารถล้มรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญนี้ได้ ในสภาคำว่าล้มมวยนั้น คนที่อยู่ในแวดวงนักการเมืองย่อมรู้ บางกรณีอธิบายแบบ ค.คนขึงขัง แต่ฝ่ายรัฐบาลเตรียมทุกอย่างมาตอบได้ทุกข้อนั้น ในทางการเมืองคือข้อสอบรั่ว เล่นละครกัน การอภิปรายคราวนี้ไม่ควรมีลักษณะเหมือนครั้งที่ผ่านมา เมื่อได้ข้อมูลมาต้องซื่อสัตย์กับข้อมูลนั้นๆ โดยไม่มีลักษณะการล้มมวย โดยมองว่าการอภิปรายครั้งนี้เท่ากับ เป็นการปลุกประชาชนที่อยู่ท่ามกลางความยากลำบาก  หากสามารถอภิปรายชี้ให้เห็นว่าในขณะที่ประชาชนคนไทยมีความยากลำบาก รัฐบาลยังทุจริตคอร์รัปชัน ยังลุแก่อำนาจ ก็ทำให้เกิดเเรงกระเพื่อมในหมู่ประชาชนได้
    "ฝ่ายค้านต้องอภิปรายจนกระทั่งประชาชนไม่สามารถรับรัฐบาลได้ แต่หากล้มมวยกันอีกรอบเชื่อว่าจะถูกไล่ลงจากเวทีทั้งคู่ หากรัฐบาลยังอยู่แบบนี้ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง  เชื่อว่าอีกไม่กี่วันข้างหน้าประชาชนทุกฝ่ายจะออกมาเปลี่ยนแปลง หากฝากความหวังไว้กับระบบรัฐสภาไม่ได้  ท้ายที่สุดก็ต้องถึงมือประชาชนอีกครั้ง และเชื่อว่าประชาชนจะเต็มถนนกันอีกครั้งเพื่อส่งเสียงขับไล่รัฐบาล" ประธาน นปช.กล่าวย้ำ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"