รอยคดี ม.112 ในวันที่'ใช้-ไม่ใช้' กับสถานการณ์ใหม่ในทางการเมือง


เพิ่มเพื่อน    

         การใช้ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีการนำกลับมาใช้อีกครั้ง ภายหลัง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2563 ภายหลังการชุมนุมหลายครั้งของกลุ่มราษฎรที่มีข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยแถลงการณ์นายกฯ มีใจความตอนหนึ่งถึงการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมว่า “รัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคงจึงจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติ โดยจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทำความผิด ฝ่าฝืนกฎหมาย เพิกเฉยต่อการเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น โดยจะดำเนินคดีต่างๆ ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ที่สอดคล้องกับหลักการสากล”

            คำว่าบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตรา ได้สื่อนัยอันเป็นที่เข้าใจตรงกันในการบังคับใช้กฎหมายที่รวมถึง ป.อาญา มาตรา 112 ซึ่งก่อนหน้านี้มีการผ่อนผันไม่ได้บังคับใช้ ด้วยเหตุผลตามที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2563 ตอนหนึ่งว่า “สิ่งที่อยากจะบอกคนไทยทุกคน วันนี้จะเห็นได้ว่ามาตรา 112 ไม่ได้ใช้เลย เพราะอะไรรู้มั้ย เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านทรงมีพระเมตตาไม่ให้ใช้ นี่คือสิ่งที่พระองค์ทรงทำให้แล้ว แล้วคุณก็ละเมิดไปกันเรื่อยเปื่อยอย่างนี้ หมายความว่าอย่างไร คุณต้องการอะไรกัน” จนกระทั่งการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎรยกระดับไปกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์อย่างต่อเนื่อง จึงมีแถลงการณ์นายกฯ ออกมา ทำให้การบังคับใช้มาตรา 112 เดินหน้าดังอดีตอีกครั้ง

            ประมาณ 2 เดือนกว่าที่ผ่านมา นอกจากการที่ตำรวจแจ้งข้อหาความผิดตามมาตรา 112 ต่อแกนนำและผู้ชุมนุมหลายสิบคน หลายสิบคดีแล้ว ในส่วนของศาลยุติธรรมก็ประจวบเหมาะพอดี ตรงที่มีการนัดอ่านคำพิพากษาคดีความผิดตามมาตรา 112 ที่ค้างอยู่ในศาลหลายคดี โดยเฉพาะในเดือน ม.ค.2564 คดีเหล่านี้มักเป็นคดีที่จำเลยถูกฟ้องต่อศาลทหารภายหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ให้พลเรือนซึ่งถูกฟ้องคดีความมั่นคงต้องถูกพิจารณาในศาลทหารด้วย คดีตามมาตรา 112 อยู่ในหมวดความมั่นคงจึงเข้าข่าย ก่อนที่จะมีการยกเลิกคำสั่งดังกล่าวในภายหลัง แล้วโอนย้ายคดีมาพิจารณายังศาลยุติธรรมที่เป็นศาลพลเรือนตามปกติ

            ผลคำพิพากษาคดี 112 ในศาลยุติธรรมที่ทยอยออกมา มีทั้งคดีที่พิพากษาลงโทษและคดีที่ยกฟ้อง โดยคดีที่ยกฟ้องมีอาทิ กรณี “พัฒน์นรี ชาญกิจ” มารดาของ “สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์” นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ถูกฟ้องจากการตอบแช้ตเพื่อนในเฟซบุ๊กที่มีข้อความหมิ่นฯ ว่า “จ้า” ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2563 กับกรณี “ฐนกร” (สงวนนามสกุล) ถูกฟ้องหมิ่นสุนัขทรงเลี้ยง ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 13 ม.ค.2564 และกรณี “จือเซง แซ่โค้ว” หรือนามปากกา “สมอล์ล บัณฑิต อานียา” นักเขียนนิยาย แนวร่วมคนเสื้อแดง ถูกฟ้องจากการกล่าวเปรียบเทียบฝุ่นใต้เท้า ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2564 ล่าสุดกรณี “แหวน-ณัฏฐธิดา มีวังปลา” พยาบาลอาสา ถูกฟ้องจากการแชร์ข้อความผ่านไลน์ ศาลจังหวัดนนทบุรีก็พิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 28 ม.ค.2564

            ส่วนคดีที่พิพากษาลงโทษ มีอาทิ กรณี “สิรภพ กรณ์อรุษ” หรือนามปากกา “รุ่งศิลา” นักเขียน แนวร่วมคนเสื้อแดง ถูกฟ้องจากการแชร์ภาพการ์ตูนล้อเลียน ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 4 ปี 6 เดือน เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2564 กับกรณี “อัญชัญ ปรีเลิศ” อดีตข้าราชการกรมสรรพากร ถูกฟ้องจากการแชร์คลิป “บรรพต” หมิ่นสถาบันฯ 29 กระทง ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 29 ปี 174 เดือน (หรือประมาณ 43 ปี 6 เดือน) เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2564 คดีนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์และบันทึกสถิติไว้ว่าเป็นคดีมาตรา 112 ที่จำเลยมีโทษจำคุกสูงที่สุด

            อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนอดีตในช่วงหนึ่งที่ไม่ใช้มาตรา 112 ก็มีทั้งคดีที่ลงโทษและยกฟ้องเช่นกัน คำพิพากษายกฟ้องมีกรณี “ธานัท ธนวัชรนนท์” หรือ “ทอม ดันดี” ศิลปินเพื่อชีวิต แนวร่วมคนเสื้อแดง ถูกฟ้องหมิ่นฯ ตามมาตรา 112 จากการขึ้นปราศรัยที่ จ.ลำพูน แม้เจ้าตัวให้การรับสารภาพ ศาลอาญาก็พิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 29 มี.ค.2561 เพราะบรรยายฟ้องไม่ชัดเจนเพียงพอว่าจำเลยหมิ่นฯ ส่วนที่ลงโทษมีกรณี “ประเวศ ประภานุกูล” ทนายความ ถูกฟ้องจากการโพสต์เฟซบุ๊ก ซึ่งมีการแจ้งข้อหาทั้งมาตรา 112, ยุยงปลุกปั่นฯ มาตรา 116 และข้อหาอื่น ศาลอาญาพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 16 เดือน ตามมาตรา 116 กับฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน โดยให้ยกฟ้องมาตรา 112 และข้อหาอื่นที่เหลือ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2561

            สิ่งที่แตกต่างกันในการบังคับใช้มาตรา 112 หรือไม่นั้น ช่วงที่บังคับใช้หากมีการลงโทษตามมาตรานี้ จะมีอัตราโทษที่สูงกว่า คือจำคุก 3-15 ปี ซึ่งมีโทษขั้นต่ำเริ่มที่ 3 ปี ต่างกับการใช้มาตรา 116 ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ไม่กำหนดขั้นต่ำไว้ เห็นได้ชัดหากเปรียบเทียบโทษคดีของ “อัญชัญ” กับโทษคดีของ “ประเวศ” ที่ถูกฟ้องเกี่ยวกับการใช้สื่อออนไลน์เช่นกัน พบว่ามีอัตราโทษต่างกันมาก อีกทั้งในการฟ้องร้องคดีตามมาตรา 112 ที่ผ่านมาในอดีต จนกระทั่งถึงการกลับมาบังคับใช้ใหม่ ประชาชนยังคงสามารถไปแจ้งความได้ทั่วประเทศ ก็จะกลายเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คดีมาตรา 112 เกิดขึ้นได้ง่าย ขยายตัวรวดเร็ว 

                ในสถานการณ์ปัจจุบัน การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ เกิดมีมากขึ้นกว่าในอดีต การบังคับใช้มาตรา 112 ในยุคที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบไม่เพียงต่อตัวผู้ถูกดำเนินคดีเท่านั้น แต่ผู้ทำคดีทั้งกระบวนการยุติธรรมก็อาจต้องมีภาระมากขึ้นตามไปด้วย หากเกิดการขยายตัวของคดีมาตรา 112 จนล้น ดังนั้นการแก้ไขมาตรา 112 ให้สอดคล้องกับยุคสมัยจึงกลายเป็นประเด็นที่ถูกนำมากล่าวถึงอีกครั้ง ส่วนข้อเสนอเพิ่มเติม ควรพิจารณาถึงการบังคับใช้ที่ต้องคำนึงถึงคำพิพากษายกฟ้องในอดีตที่ผ่านมาด้วย เพราะบางคดีถ้อยคำเล็กน้อยที่ไม่ใช่การหมิ่นฯ แต่ถูกฟ้องขึ้นศาลแล้วศาลยกฟ้อง จะกลายเป็นกรณีสื่อให้เห็นถึงการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ ที่สุดท้ายศาลต้องคืนความเป็นธรรมให้กับจำเลย.

นายชาติสังคม

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"