ความหมายใดในวันชาติออสเตรเลีย


เพิ่มเพื่อน    

  วันที่ 26 มกราคมของทุกปี มีอยู่ 2 ประเทศกำหนดให้เป็น “วันชาติ” ได้แก่ อินเดียและออสเตรเลีย

            อินเดียฉลองวันแห่งการเปลี่ยนแปลงประเทศเป็น “สาธารณรัฐ” อันมีผลสืบเนื่องมาจากการต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ด้านออสเตรเลียฉลองวันที่เรือนักโทษอังกฤษเข้าเทียบท่าบนแผ่นดินชนพื้นเมืองอะบอริจิน


ใบปิดประกาศการลงประชามติรับรองชาวอะบอริจินเป็นพลเมืองออสเตรเลียเมื่อพฤษภาคม ค.ศ.1967 (เครดิต : หอสมุดรัฐนิวเซาท์เวลส์)

 

            สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีนี้ทำให้การเฉลิมฉลองวันชาติออสเตรเลียเมื่อ 26 มกราคมที่ผ่านมา ถูกจำกัดด้วยมาตรการรักษาระยะห่าง ทว่ายังมีการรวมตัวกันในหลายจุดทั่วประเทศ เฉพาะในนครซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ มีผู้คนออกมาถึงประมาณ 2,000 คน จากจำนวนที่ทางการกำหนดไว้ 500 คน ในรัฐควีนส์แลนด์ออกมาประมาณ 5,000 คน และมีผู้ถูกจับกุมหลายสิบคนเนื่องจากฝ่าฝืนกฎ นั่นก็เพราะพวกเขาออกมาประท้วงให้เปลี่ยนแปลงวันชาติ

            ประวัติศาสตร์ออสเตรเลียของชาวอังกฤษมีย้อนหลังไปถึงปี ค.ศ.1770 เมื่อ “กัปตันเจมส์ คุก” อ้างสิทธิ์ในดินแดนนี้ให้กับอังกฤษ จากนั้นในปี ค.ศ.1788 หรืออีก 18 ปีต่อมาเรือนักโทษจากอังกฤษ 11 ลำขึ้นฝั่งที่อ่าวบอทานีในซิดนีย์ ภายใต้การนำของ “กัปตันอาร์เธอร์ ฟิลลิป”  นับได้จนถึงปัจจุบัน 233 ปี ทว่าประวัติศาสตร์ของชาวพื้นเมืองมีอยู่ยาวนานกว่านั้นถึงประมาณ 65,000 ปี

            สาเหตุที่อังกฤษส่งนักโทษลงเรือมาคุมขังเสียไกลถึงออสเตรเลียก็คงเพราะเพิ่งพ่ายแพ้ในสงครามปฏิวัติอเมริกา (ค.ศ.1775-1783) สูญเสียดินแดนในทวีปอเมริกาเหนือส่วนใหญ่ จากที่เคยขนนักโทษไปไว้ในอเมริกา ก็ต้องย้ายไปยังทวีปใหม่ออสเตรเลียที่ก่อนนั้นมีผู้เรียก “นิวฮอลแลนด์” เพราะมีนักเดินเรือชาวดัตช์ซึ่งเป็นชาวยุโรปพวกแรกที่มาถึงในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17

            ในช่วงเริ่มต้นชนชาวผู้ดีฉลองวันที่ 26 มกราคมในฐานะวันครบรอบปีการขึ้นฝั่ง และวันก่อตั้งประเทศ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นวัน “ออสเตรเลีย” หรือวันชาติอย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ.1935 ทำให้ลูกหลานของชาวอะบอริจินประท้วงเรื่อยมา เพราะพวกเขามองว่าเป็นวันเริ่มต้นนับหนึ่งการถูกกระทำย่ำยี่บีฑา ได้เคลื่อนไหวให้ยกเลิก หรือไม่ก็ควรเปลี่ยนเป็นวันแห่งการถูกรุกราน และวันแห่งความโศกเศร้า

            หลังการมาของชาวผู้ดีขี้คุกเที่ยวแรกจนถึงอีก 80 ปีต่อมาเพื่อตั้งทัณฑนิคมขึ้น มีนักโทษรวมกันประมาณ 161,700 คน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ตามมาด้วยชาวอาณานิคม หรือผู้เข้ามาตั้งรกราก แรกเริ่มมีชนพื้นเมืองอยู่อย่างน้อย 250 ชาติพันธุ์ จำนวนรวมกันระหว่าง 3 แสน-1 ล้านคน ใน 3 ปีแรกพวกเขาต้องเสียชีวิตลงมากมายจากโรคระบาดที่มากับชาวอังกฤษ ซึ่งเวลานั้นชนพื้นเมืองยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ก่อนที่การตายจากการถูกฆาตกรรมจะตามมาอย่างเป็นระบบ


ชะตากรรมของชนพื้นเมืองออสเตรเลียหลังการมาถึงของชนชาวผู้ดี (เครดิต : welcometocountry.org/australias-brutal-treatment-of-aboriginal-people)

 

            โครงการวิจัยนำโดย “ลินดัลล์ ไรอัน” จากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล และ "โจนาธาน ริชาร์ดส์" จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ได้ศึกษาเรื่องการสังหารหมู่ชนพื้นเมืองออสเตรเลีย โดยนับเฉพาะจำนวนศพที่มีครั้งละ 6 ศพขึ้นไป พบว่าเกิดขึ้นอย่างน้อย 311 ครั้ง ในช่วงระยะเวลา 140 ปีแรก ลงมือโดยกองทัพอังกฤษ, ผู้ตั้งอาณานิคมติดอาวุธ, ตำรวจชายแดน, ตำรวจนิวเซาท์เวลส์, ตำรวจเวสเทิร์นออสเตรเลีย, ตำรวจนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี และตำรวจท้องถิ่นชนพื้นเมืองที่มีผู้บังคับบัญชาเป็นชาวอังกฤษ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ดังต่อไปนี้

            กันยายน 1794 ชาวอาณานิคมอังกฤษบริเวณแม่น้ำฮอว์คสบิวรี รัฐนิวเซาท์เวลส์ สังหารชนพื้นเมืองบีเดียกัล 7 ศพ เป็นการแก้แค้นที่พวกเขาถูกขโมยเสื้อผ้าและอาหาร เด็กที่รอดชีวิตส่วนหนึ่งถูกนำไปขังไว้ที่ไร่ของชาวอาณานิคม เด็กชายคนหนึ่งถูกลากเข้ากองไฟ โยนลงน้ำ ก่อนถูกยิงเสียชีวิต

            มีนาคม 1806 ชนพื้นเมืองยูอิน บริเวณอ่าวทูโฟลด์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ พยายามขับไล่พวกล่าแมวน้ำชาวอังกฤษ 11 คนออกไปจากที่ดินของพวกเขา แต่ถูกพวกล่าแมวน้ำยิงด้วยปืนคาบศิลาตายไป 9 คน จากนั้นศพถูกนำไปแขวนไว้บนต้นไม้เพื่อข่มขู่ชาวยูอินที่เหลือให้ดูเป็นเยี่ยงอย่าง

            กุมภาพันธ์ 1828 ที่เคปกริม เกาะแทสเมเนีย คนของบริษัท Van Dieman’s Land ซุ่มฆ่าชาวเพนเนมูเคีย 30 คน อีกเหตุการณ์ในเดือนเดียวกันคนของบริษัทนี้ก็ได้สังหารชนพื้นเมืองไปอีก 12 ศพ

            เดือนกรกฎาคม 1865 ร็อคแฮมป์ตัน รัฐควีนส์แลนด์ ตำรวจท้องถิ่นซุ่มสังหารชาวดารุมบอลขณะรวมกลุ่มทำพิธีตามความเชื่อเสียชีวิต 18 ราย ก่อนจุดไฟเผาศพในที่เกิดเหตุ

            ระหว่างปี 1840-1850 ในกิปป์สแลนด์ รัฐวิกตอเรีย พวกเลี้ยงปศุสัตว์ชาวสก็อตได้ฆ่าชาวกูไนไประหว่าง 300-1,000 คน

            การสังหารหมู่ภายหลังรวมอาณานิคมต่างๆ เป็นสหพันธรัฐออสเตรเลีย (ในเครือจักรภพอังกฤษ) เมื่อปี ค.ศ.1901 ยังมีขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1920

            นอกจากยิงให้ตายด้วยปืนแล้ว ชาวอาณานิคมยังฆ่าชนพื้นเมืองด้วยวิธีวางยาพิษอีกนับครั้งไม่ถ้วน เริ่มใช้ในคริสต์ทศวรรษที่ 1820 หลังจากที่สารเคมีในอุตสาหกรรมขนแกะออกวางจำหน่าย ได้แก่ สารกัดกร่อน, กรดพรัสสิค, อะคอนิทัม รวมถึงสารหนูและยาเบื่อบางชนิด


การปฏิบัติต่อชนพื้นเมืองโดยผู้มาใหม่ (เครดิต : english.khamenei.ir/news/3638/Australia-s-sanitized-genocide-against-Aborigines-in-the-21st)

 

            ส่วนมากเป็นไปในลักษณะวางอาหารยั่วไว้ให้ชนพื้นเมืองมาลักขโมยไปกิน ซึ่งชาวอาณานิคมผสมยาพิษไว้เรียบร้อยแล้ว เหตุการณ์แบบนี้มีมาจนถึงยุคไม่กี่สิบปีหลัง เช่นในปี ค.ศ.1981 ชนพื้นเมืองดื่มน้ำเชอร์รี่จากขวดเสียชีวิตไป 2 ราย และป่วยหนักอีก 14 ราย โดยในขวดมีการใส่ยาเบื่อแล้ววางไว้ในจุดที่คาดว่าชาวอะบอริจินจะต้องมาหยิบไป

            ถึงคริสต์ทศวรรษที่ 1920 เมื่อการสังหารหมู่ซาลง ชนพื้นเมืองที่เหลืออยู่เพียงประมาณ 60,000 คน ก็กลับเพิ่มจำนวนประชากรขึ้นอย่างรวดเร็ว การผสมข้ามสายพันธุ์มีส่วนช่วยเร่งปริมาณการเกิดใหม่ แต่ได้มีสิ่งที่น่าสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือการผ่านกฎหมายของรัฐสภาให้มีการพรากเด็กลูกครึ่งที่พ่อเป็นชาวยุโรป และแม่เป็นชาวอะบอริจินออกมาจากถิ่นฐานชนพื้นเมืองและเขตสงวนที่รัฐจัดให้

            รัฐบาลออสเตรเลียวิตกว่าเด็กลูกครึ่งที่มีอยู่มากมายเหล่านี้จะได้รับการถ่ายทอดวัฒนธรรมชนพื้นเมือง และทำให้พวกเขาเข้มแข็งขึ้น ไม่เป็นผลดีกับชาวอาณานิคม จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนให้เด็กลูกครึ่งเข้าสู่สังคมคนขาว เรียกคนเหล่านี้ว่า Stolen generation” หรือ “คนรุ่นที่ถูกลักพา” เกิดขึ้นอย่างเป็นล่ำเป็นสันระหว่างปี ค.ศ.1910-1970

            เด็กที่โดนพรากไปจากอ้อมอกแม่ส่วนมากจะถูกนำไปให้อยู่ในความดูแลของโบสถ์และสถานสงเคราะห์ของรัฐ   จากนั้นรัฐก็จะมีกระบวนการปลูกฝังความคิดและค่านิยมจากทางฝั่งยุโรปเพื่อให้พวกเขาตัดขาดจากวัฒนธรรมและตัวตนเดิม เด็กเหล่านี้มีจำนวนอย่างน้อยถึง 100,000 คนเลยทีเดียว แต่สุดท้ายก็ใช่ว่าพวกเขาจะอยู่ดีกินดี ได้รับการปฏิบัติดี กลับปรากฏให้เห็นว่าถูกกดขี่ โดนประณามหยามเหยียด เติบโตมาด้วยสภาพจิตใจไม่ค่อยปกติและแปลกแยกจากสังคม

            ในการลงประชามติชาวออสเตรเลียทั้งประเทศเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 1967 ว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้ชาวอะบอริจินได้รับสิทธิ์เป็นพลเมืองเต็มขั้น ปรากฏว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ออกเสียงเห็นด้วย นับแต่นั้นชนพื้นเมืองออสเตรเลียก็ได้เป็นพลเมืองของออสเตรเลีย แม้ว่าในทางปฏิบัติแล้วพวกเขายังเป็นพลเมืองชั้นสองอย่างไม่ต้องสงสัย ระดับการศึกษาต่ำ อัตราการว่างงานของพวกเขามีมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นขาประจำในคุก อัตราส่วนการเสียชีวิตในคุกก็สูง โดยตายไประหว่างถูกคุมขังอย่างน้อย 400 รายในรอบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

            เมื่อวันที่ 26 มกราคม ค.ศ.1888 ในโอกาสครบ 1 ศตวรรษการเข้าครองอาณานิคม “เซอร์เฮนรี พาร์คส์” บิดาแห่งสหพันธรัฐออสเตรเลียถูกถามว่าจะให้ชนพื้นเมืองมีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลองวันนี้อย่างไร เขาตอบว่า “ให้พวกเขาจดจำว่าเป็นวันที่พวกเขาถูกปล้น”

            จากนั้น 50 ปีต่อมา วันที่ 26 มกราคม ค.ศ.1938  รัฐบาลได้จัดงานรำลึกโดยจำลองเหตุการณ์เมื่อศตวรรษครึ่งก่อนโน้น และเนื่องจากว่าชาวอะบอริจินที่หลงเหลือในซิดนีย์ไม่ยอมเข้าร่วมในกิจกรรม ทำให้ผู้จัดงานต้องไปนำชาวอะบอริจินมาจากสถานที่ห่างไกล พวกเขาถูกนำมาขังไว้ในค่ายตำรวจแห่งหนึ่งก่อนที่จะถึงวันงาน และเมื่อวันรำลึกเหตุการณ์มาถึง พวกเขาก็ถูกนำไปปล่อยไว้ที่ชายหาด จากนั้นเมื่อมีเรือแล่นเข้ามาก็มีคนออกคำสั่งให้พวกเขาวิ่งออกจากชายฝั่งหนีขึ้นบก เป็นภาพที่น่าพอใจของผู้จัดงาน

            มีผู้แย้งว่าเหตุการณ์การพบกันครั้งแรกของชาวอังกฤษและชนพื้นเมืองไม่ได้เกิดขึ้นตามที่ได้แสดง เพราะเรื่องจริงมีว่าตอนที่กัปตันคุกขึ้นฝั่งนั้นเขาถูกชนพื้นเมืองต้อนรับด้วยท่าทีข่มขู่ กัปตันคุกจึงยื่นไมตรีด้วยลูกปืนกลับไป

            ปี ค.ศ.1988 “เซลดา ควาคาวูธ” ชาวบายิลีกล่าวในงานวันครบรอบ 2 ศตวรรษว่าชาวอะบอริจินดั้งเดิมไม่เคยผลักไสผู้ที่เข้ามาค้าขายหรือผู้หลีกลี้หนีภัย ชาวมัคคัสซันจากอินโดนีเซียเดินทางมายังออสเตรเลียตอนเหนือเป็นประจำเพื่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าหลายร้อยปีก่อนการมาถึงของกัปตันคุก

            ในโอกาสออสเตรเลียมีอายุครบ 200 ปีดังกล่าว ชาวอะบอริจินและผู้สนับสนุนรวมกันประมาณ 40,000 คนได้เดินขบวนไปตามสถานที่สำคัญในนครซิดนีย์ ไม่เห็นด้วยกับการให้วันที่ 26 มกราคมเป็นวันชาติ ถือเป็นการประท้วงครั้งใหญ่สุดของออสเตรเลียในรอบหลายปี

            “เควิน รัดด์” นายกรัฐมนตรี ในวันที่ก้าวขึ้นรับตำแหน่งผู้นำออสเตรเลียในปี ค.ศ.2008 เขาได้กล่าวสุนทรพจน์อันเป็นคำขอโทษครั้งประวัติศาสตร์ เขาขอโทษสำหรับกฎหมายและนโยบายของรัฐบาลก่อนๆ ที่ได้กระทำต่อชาวอะบอริจิน โดยเฉพาะต่อคนรุ่นที่ถูกลักพา

            “ไมเคล แมนเซลล์” นักรณรงค์สิทธิ์ชนพื้นเมืองบนเกาะแทสเมเนีย กล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า สำหรับชาวอะบอริจินแล้ว หากจะให้วันที่ 26 มกราคมเป็นวันสำคัญก็ต้องเป็นวันที่รำลึกถึงความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ทั้งสูญเสียชีวิต ครอบครัว แผ่นดิน สิทธิ์ในการปกครองตนเอง สิทธิ์ในการดำรงวัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนาน

            “มันคือการมาถึงของคนผิวขาว การมาถึงของชาวอังกฤษพร้อมอาวุธครบมือ และทันทีที่พวกเขาเหยียบแผ่นดินของเรา พวกเขาก็เริ่มเข่นฆ่าและยึดครองสิ่งที่เคยเป็นของเรา ออสเตรเลียเป็นเพียงประเทศเดียวของชาวยุโรปที่วันขึ้นฝั่งของพวกเขากลายเป็นวันสำคัญถึงระดับวันชาติ  ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่วันชาติคือวันที่พวกเขาได้รับเอกราช”

            มีตัวเลือกที่จะเป็นวันชาติของออสเตรเลียได้อีกหลายวัน อาทิ 1 มกราคม วันที่พวกเขากลายเป็นสหพันธรัฐออสเตรเลียในปี ค.ศ.1901, วันที่ 13 กุมภาพันธ์ รัฐบาลมีสุนทรพจน์ขออภัยต่อชาวอะบอริจินเมื่อปี ค.ศ.2008, วันที่ 2 มีนาคม วันที่ควีนเอลิซาเบธและนายกรัฐมนตรี “บ็อบ ฮอว์ค” ลงนามในพระราชบัญญัติออสเตรเลีย 1986 ซึ่งทำให้ออสเตรเลียได้รับอิสรภาพจากสหราชอาณาจักร, วันที่ 20 มีนาคม เมื่อกรุงแคนเบอร์ราได้รับการประกาศให้เป็นเมืองหลวงของประเทศในปี ค.ศ.1913 เป็นต้น

            ทว่าดูจะเป็นไปได้ยาก เมื่อ “สก็อต มอร์ริสัน” นายกฯ ออสเตรเลียคนปัจจุบันยังมีความเห็นเฉไฉไปว่า ตอนที่เรือเหล่านั้นเข้ามายังอ่าวออสเตรเลียเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน มันก็ไม่ใช่วันที่น่าอภิรมย์สำหรับพวกนักโทษในเรือเหล่านั้นเช่นกัน และว่าเวลานี้ออสเตรเลียได้ก้าวผ่านความโหดร้ายในยุคเริ่มต้นไปแล้ว

                “พอล เฟลทเชอร์” รัฐมนตรีการสื่อสารได้กล่าวตำหนิสถานีโทรทัศน์ ABC ที่ใช้คำว่า “วันแห่งการรุกราน” ในหัวข้อข่าวเกี่ยวกับวันชาติ ทำให้สื่อประจำชาติเจ้านี้ต้องถอดคำดังกล่าวออกไป

            ด้านโพลสำรวจความคิดเห็นของชาวออสเตรเลียโดย  Ipsos เมื่อไม่นานมานี้เปิดเผยว่า จำนวนชาวออสซี่ไม่ถึง 1 ใน 3 ด้วยซ้ำที่เห็นควรให้เปลี่ยนวันชาติไปจากเดิม

            เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาพที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 26 มกราคมปีต่อๆ ไปก็คงเหมือนเดิม ชาวอะบอริจินที่มีอยู่ 3.3 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร 24.6 ล้านคนของออสเตรเลียในปัจจุบัน ต้องออกไปประท้วงเพื่อขอให้เปลี่ยนแปลงวันชาติและเรียกร้องสิทธิ์ในด้านต่างๆ ต่อไป

            ฝ่ายชนผิวขาวชาวออสเตรเลียก็รวมกลุ่มจัดปาร์ตี้ปิ้งย่างในสวนหลังบ้าน ดื่มไวน์ชั้นดี เมามายให้เต็มคราบเหมือนเช่นที่ผ่านมา หรือไม่ก็ออกไปฉลองริมชายหาดพร้อมบิกินีสีสันสดใสและผ้าขนหนูผืนสวย

            หากเห็นเรือผู้อพยพชาวโรฮิงญาแล่นใกล้ฝั่งเข้ามา ก็จงไล่ให้กลับไปไกลๆ.

 

******************

อ้างอิง :

- australianstogether.org.au/discover/australian-history/australia-day

- bbc.com/news/world-australia-55806766

- en.wikipedia.org/wiki/History_of_Australia

- en.wikipedia.org/wiki/List_of_massacres_of_Indigenous_Australians

- en.wikipedia.org/wiki/Mass_poisonings_of_Aboriginal_Australians

- creativespirits.info/aboriginalculture/history/australia-day-invasion-day

- en.wikipedia.org/wiki/Stolen_Generations

- culturalsurvival.org/publications/cultural-survival-quarterly/australian-aborigine

- australiangeographic.com.au/blogs/on-this-day/2013/11/on-this-day-indigenous-people-get-citizenship

- theguardian.com/australia-news/2021/jan/26/invasion-day-thousands-attend-vigils-before-26-january-protests-and-marches

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"