"ส้มอมพิษ"ผลไม้ใกล้ตัว การบริโภคที่ต้องระวัง


เพิ่มเพื่อน    

การเรียกร้องให้"ส้ม"ที่ขายมีการติดคิวอาร์โค้ด  เพื่อสืบย้อนไปถึงที่มาของแหล่งผลิตได้

 

         “ส้ม” เป็นผลไม้ยอดฮิต เพราะนอกจากจะมีคุณค่าทางโภชนาการทำให้ต้องมีติดบ้านไว้อยู่เสมอแล้ว  "ส้ม"ยังเป็นผลไม้มงคล ถูกนำมาใช้ในแทบทุกเทศกาล และธรรมชาติของส้มจะให้ผลผลิตเพียงปีละ 1 ครั้ง ออกมากสุดในช่วงเดือนธันวาคม – มีนาคม หรือที่เรียกว่าเป็นช่วง"หน้าส้ม"มีผลผลิตมากที่สุดของปี ราคาไม่แพงเชิญชวนให้บริโภค ยิ่งมาใกล้ช่วงเทศกาลตรุษจีน ก็เหมือนมารองรับพอดี เพราะส้มถือว่าเป็นผลไม้มงคลของเทศกาลเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่จะขาดไม่ได้  

    แต่เป็นที่รับรู้กันมาระยะหนึ่งแล้วว่า "ส้ม"เป็นผลไม้อุดมไปด้วยสารเคมี เคยมีคำเตือนจากฝ่ายวิชาการของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าผู้ปลูกนำยายาปฏิชีวนะอะม็อกซีซิลลินมาฉีดในต้นส้มเพื่อรักษาอาการกรีนนิ่งในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง ซึ่งยาชนิดนี้ จะตกค้างในส้ม เมื่อคนบริโภคเข้าไปก็เหมือนได้รับยาตัวนี้ไปด้วย ซึ่งจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการดื้อยาปฎิชีวนะ เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก

    นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้ว มีข้อมูลยืนยันจากการสำรวจโดยเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน (Thai-PAN) มาช่วยตอกย้ำให้ระมัดระวังการบริโภคส้มอีกว่า โดยพบว่า ส้ม 1 ผล มีสารเคมีตกค้างมากถึง 55 ชนิด โดยเฉลี่ยถึง *0.364 มิลลิกรัม ซึ่งเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย (MRL) โดยเป็นสารเคมีตกค้างชนิดดูดซึมที่ไม่สามารถล้างออกได้ถึง 28 ชนิด ซึ่งจากการสุ่มตรวจในหลายๆ ครั้ง ก็ยังพบว่าเกินมาตรฐาน แต่กลับยังคงวางขายกันปกติ เป็นเพราะยังไม่เคยเกิดการบังคับใช้มาตรฐานอาหารปลอดภัยอย่างเข้มงวดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
    จนเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนปี 2563 ที่ผ่านมา เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอ็อกแฟมประเทศไทย (Oxfam) ภายใต้แคมเปญ “ผู้บริโภคที่รัก (Dear Consumers)” จึงได้จัดกิจกรรม “Orange Spike เราไม่เอาส้มอมพิษ” ร่วมกันรณรงค์ให้ผู้บริโภคตระหนักว่าส้มมีกระบวนการผลิตที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการตกค้างของสารเคมีซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค โดยเชิญชวนให้ภาคประชาชนร่วมขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลง ให้กลไกลตลาดผลักดันให้กระบวนการผลิตส้มปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยร่วมกันลงนามเรียกร้องให้ผู้จำหน่ายส้ม โดยเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ตหรือโมเดิร์นเทรดรายใหญ่ มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับ โดยติด QR Code เพื่อพิสูจน์ว่าส้มที่ขายไม่มีสารพิษ ได้ที่ www.dearconsumers.com/th/petition

กิจกรรม “Orange Spike เราไม่เอาส้มอมพิษ” การรณรงค์ให้ผู้บริโภคตระหนักว่าส้มมีกระบวนการผลิตที่เป็นอันตรายต่องส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค และเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมที่จัดขึ้นเมือปลายปีที่แล้ว 

 

    แคมเปญนี้ เรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ต เริ่มจากเจ้าใหญ่ๆ  มีป้ายแสดงรายละเอียด ณ จุดขาย และติด QR Code ที่ผู้ซื้อสามารถสแกนตรวจสอบแหล่งที่มาของส้มที่นำมาขาย โดยบอกรายละเอียดเกี่ยวกับสวนส้ม วิธีปลูกส้ม รายการสารเคมีที่ใช้ และกระบวนการคัดกรอง”    พร้อมกับ รณรงค์ให้ผู้บริโภค ร่วม #หยุดส้มอมพิษ ผ่านทาง www.dearconsumers.com/th/petition


ในเวทีรณรงค์“Orange Spike เราไม่เอาส้มอมพิษ”  นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ตัวแทนจากเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ให้ข้อมูลว่า ส้มเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงและมีห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ อยู่คู่กับชีวิตคนไทยในทุกรูปแบบ แต่จากการตรวจสอบของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน (Thai-PAN) พบว่า ส้ม 1 ผล มีสารเคมีตกค้างมากถึง 55 ชนิด โดยเฉลี่ยถึง *0.364 มิลลิกรัม ซึ่งเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย (MRL) โดยสารเคมีตกค้างเป็นชนิดดูดซึมที่ไม่สามารถล้างออกได้ถึง 28 ชนิด อาทิ คาร์เบนดาซิม (Carbendazim) ส่งผลให้พิการแต่กำเนิดและภาวะเจริญพันธุ์เสื่อม, สารคาร์โบฟูราน (Carbofuran) เป็นพิษต่อเซลล์สมองและฮอร์โมนเพศ, สารอะเซตามิพริด (Acetamiprid) มีผลกระทบต่อสมองและระบบประสาท เป็นต้น แม้ที่ผ่านมาจะมีการพูดถึงเรื่องสารพิษตกค้างมากมาย แต่จากการสุ่มตรวจส้มจากซูเปอร์มาร์เก็ต พบว่า 100% ของส้มที่นำมาตรวจมีการตกค้างของสารเคมีที่เกินกว่าปริมาณสูงสุดที่กฎหมายกำหนด แม้แต่ในซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำที่อ้างว่ามีระบบตรวจสอบแล้วก็ตาม ทั้งที่เป็นสถานที่ค้าปลีกที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไว้วางใจในเรื่องของความสะอาดและปลอดภัย

 

ส่วนนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ธรรมชาติของส้มจะให้ผลผลิตเพียงปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือนธันวาคม – มีนาคม ซึ่งถือเป็นช่วงที่ปลอดภัยที่สุดเพราะเป็นส้มในฤดูกาล แต่ด้วยอุปสงค์ของตลาดที่มีความต้องการส้มตลอดทั้งปี ทำให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมีมากกว่าปกติเพื่อให้สามารถผลิตส้มได้ตามความต้องการของตลาด ตั้งแต่ระยะติดดอก ระยะติดผลตุ่มเท่าหัวไม้ขีด ช่วงลูกปิงปอง ช่วงเลี้ยงผิวสวยไปถึงช่วงเก็บผลผลิต โดยสารเคมีที่ใช้ตลอดช่วงอายุมักเป็นชนิดดูดซึม (Systemic) ซึ่งจะกระจายในลำต้นไปจนถึงเนื้อในของผลส้ม

ภาพตัวอย่างการรณรรงค์ สแกนคิวอารโค้ด ส้มที่มีการจำหน่ายตามที่ต่างๆ

 

ฝั่งซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่อย่าง นางจุฑารัตน์ พัฒนาทร  ผู้อำนวยการฝ่ายประกันคุณภาพ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด ให้ข้อมูลว่า แม็คโคร (Makro) มีการจำหน่ายส้ม 8 ตันต่อปี มีการใส่ใจในเรื่องของคุณภาพของส้มเป็นพิเศษ โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชนจัดทำโครงการ ส้มปลอดภัยคนไทยยิ้มได้ (Safe orange make Thai people smile) ตั้งแต่ปี 2557 และยังส่งเสริมให้เกษตรกรมีความยั่งยืน มีการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อให้เกษตรกรใช้ได้ฟรี เรียกว่า Makro iTrace ซึ่งลูกค้าสามารถตรวจสอบที่มาของสินค้าย้อนกลับได้จนถึงฟาร์มด้วย QR Code โดยตรวจสอบตั้งแต่ระดับแปลง


ทางด้าน บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ผู้จำหน่ายรายใหญ่อีกราย นางอารยา เผ่าเหลืองทอง ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายประกันคุณภาพ  เล่าว่า ท็อปส์ (Tops) วางนโนบายเรื่องของคุณภาพไว้อย่างชัดเจน ว่าผู้บริโภคจะต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลและแหล่งที่มาของอาหารได้  และทางห้างฯยังดูแลตั้งแต่ฟาร์มผลิต เพื่อรับรู้เรื่องการใช้สารเคมี และก่อนสินค้าที่จะเข้ามาจำหน่าย ก็ต้องผ่านการรับรองตั้งแต่ในฟาร์มอย่างน้อยต้องมีการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) ปัจจุบันมีการออกกฎหมายให้ส้มเป็นผลไม้ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้  ซึ่งทางซูเปอร์มาร์เก็ต ได้ร่วมมือกับทางสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติในเรื่องของการจัดทำ QR Code บนผลิตภัณฑ์ ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมการตรวจสอบย้อนกลับกว่า 100 ราย และสำหรับผู้ผลิตที่ไม่ได้ร่วมทำการตรวจสอบย้อนกลับนี้ก็จะไม่สามารถจำหน่ายสินค้าที่ท็อปส์ได้

นับได้ว่า"ส้ม"ซึ่งเป็นผลไม้ใกล้ตัว ด้วยรสชาติหวานอมเปรี้ยว กินแล้วชื่นใจ ทำให้คนชื่นชอบในการบริโภค  แต่ปลูกโดยใช้สารเคมีจำนวนมาก ทำให้"ส้ม"กลายเป็นอาหารที่กัดกร่อนสุขภาพของผู้บริโภคอย่างแท้จริง   และแม้ว่าจะมีการรณรงค์ เปิดเผยช้อมูลเรื่องสารพิษ ที่ใช้กับส้มไปแล้ว หรือแม้กระทั่งทางฝั่งผู้จำหน่ายเอง ก็มีความพยายามที่กลั่นกรอง เลือกส้มที่ปลอดภัยมาจำหน่าย แต่ก็ไม่ได้แก้ปัญหาเบ็ดเสร็จ เพราะทั้งหมดทั้งปวงอยู่ที่แหล่งผลิตส้ม จะต้องลดละการใช้สารเคมี  หรือใช้น้อยที่สุดให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งปัญหานี้ ยังไม่นับรวมไปถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีตกค้าง จากฟาร์มสวนส้มที่มีพื้นที่จำนวนมากในประเทศ  

"จากเกษตรเคมี"สู่"สวนส้มอินทรีย์

ทางเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคยังคงเกาะติดเรื่อง"ส้มเป็นพิษ" มาโดยตลอด  เมื่อวันที่  18 ธ.ค.2563 กลุ่มรณรงค์ เรื่องส้มเป็นพิษ มีการจัดงาน"มหาส้มสมุทร" ในหัวข้อ "ส้ม(ไม่)อมพิษ" ณ สวนครูองุ่น เอกมัยมา ซึ่งทางเพจ"ผู้บริโภคที่รัก"หรือ www.dearconsumers.com ได้เผยแพร่ข้อมูลประสบการณ์ เกษตรกรผู้เคยปลูกส้มโดยใช้สารเคมีจำนวนมาก และกลับใจหันมาทำส้่มอินทรีย์
 
กัลย์ทิพา วสุรัฐเดชาพงศ์  หรือ "แป้น" เกษตรผู้ปลูกส้มอินทรีย์   ที่หนองสามวัง อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี เล่าว่า เป็นผู้ปลูกส้มเขียวหวานสืบทอดาตั้งแต่สมัยรุ่นปู่  ซึ่งที่ปทุมธานีปลูกส้มกันมา 50ปีแล้ว พันธุ์ที่ปลูกเป็นพันธุ์เขียวดำเนิน   สมัยก่อนไม่ได้ใช้ยาเยอะขนาดนี้ ตั้งแต่รุ่นปู่และรุ่นพ่อ ไม่ได้ใช้ยามาก รุ่นพ่อทำก็ไม่ได้มีการกระตุ้นด้วยเคมี พ่อจะบำรุง แต่เรื่องการใช้ยาฆ่าหนอนต่าง ๆ จะไม่เท่าตอนนี้ แต่สมัยนี้ ใช้สารเคมีเยอะมาก พอกลับไปมองก็คิดว่าคงเพราะดินมันเริ่มเสื่อม ต้นส้มก็เริ่มอ่อนแอ โรคแมลงก็เข้าเยอะก็ต้องใช้ยาเยอะ

กัลย์ทิพา เล่าที่มาของการเลิกใช้สารเคมี และยืนยันว่า ใช้สารเคมีก็แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะว่าเคมีเป็นกรด ยิ่งใช้ก็เหมือนเอากรดเข้าไปเพิ่ม มันก็ยิ่งทำให้ส้มร่วงไปอีก  จึงหยุดใช้เคมีทั้งหมด หยุดแบบหักดิบไม่ใช้เลย จากที่ทำส้ม 300 ไร่ หมดที่ดินไปกับค่าสารเคมี เหลือที่ 30 ไร่ ผืนสุดท้ายก็เลยต้องยอมหยุดใช้เคมีเพื่อรักษาที่ดินเอาไว้ ไม่กล้าขายเพราะว่าพ่อกับแม่ทำมาด้วยหยาดเหงื่อ  ก็เลยต้องคิดว่ายังไงก็ต้องรักษาที่ดินเอาไว้ สุดท้ายต้องลดเหลือส้มแค่ 8 ไร่  

 

กัลย์ทิพา วสุรัฐเดชาพงศ์ เกษตรกรปลูกส้มโดยใฃ้สารเคมี และสูญเสียที่ดิน 300 ไร่ แต่กลับใจมาปลูกส้มแบบเกษตรอินทรีย์ ในพื้นที่เพียง 8ไร่ (ภาพจากเพจ"www.dearconsumers.com )


"สมัยทำสารเคมีเราทำเอง คนที่โดนสารเคมีคนแรกคือตัวเรา ก็เริ่มเป็นโรคต่างๆ ที่หาสาเหตุ ไม่ได้ คนในบ้านที่กินเหมือนกัน และแฟน เป็นคนทำสวนเป็นหลัก ก็เป็นสารพัดโรคเลย อย่างเวลาเป็นแผลแล้วเข้าสวนนี่จะติดเชื้อง่าย เพราะมันมีสารเคมีที่อยู่ในดิน แล้วตัวเราก็อ่อนแอเพราะเราโดนสารเคมี"กัลย์ทิพาเล่า
กัลย์ทิพา เริ่มเรียนรู้เรื่องอินทรีย์ จากไม่เคยรู้มา อาจารย์สอนว่าต้องกล้าเปลี่ยน ทั้งๆ ที่เราไม่เชื่อถือไม่ศรัทธาเลยด้วยซ้ำไป แต่ต้องลอง ต้องกล้าเผื่อมันจะดีขึ้น  เพราะถ้าเราเดินหน้าด้วยเคมีต่อไปนี่ตายแน่ๆ


ผลผลิตที่ได้หลังเปลี่ยนมาเป็นเกษตรอินทรีย์ กัลย์ทิพา ยืนยันว่า ดีขึ้นมากเลย  จากวันนั้นเราเริ่มต้นเปลี่ยนมาใช้น้ำหมักต่างๆ กากน้ำตาล สะสมตาดอก เปิดตาดอกด้วยฮอร์โมนไข่ แล้วส้มเราเกิดการแตกยอดอ่อนมาทีเดียว 14 ใบ เราตกใจมากเลยค่ะ ตกใจกับการเปลี่ยนแปลง ต้นส้มแข็งแรงขึ้น ภายใน 1 ปี วันนั้นเราทิ้งเคมีหมดเลย จัดการศัตรูพืชโดยใช้น้ำปลาหมัก  ใส่เรือรดน้ำราดจากยอดลงมาเลย น้ำปลาหมักสามารถที่จะควบคุมไข่แมลงได้ ตอนที่เราใช้เคมีเราใช้ยาฆ่าหนอน ซื้อยาฆ่าหนอนซื้อผลิตภัณฑ์เนี่ยไปเที่ยวต่างประเทศปีๆ หนึง หลายหน เป็นลูกค้าระดับเพชรเลย


กัลย์ทิพา แนะวิธีเลือกส้มอินทรีย์ว่า ถ้าให้เลือกส้ม คำว่าอินทรีย์ก็ต้องดูความเป็นธรรมชาติ ถ้าลูกมันใหญ่ผิดปกติ ถ้าลูกดูสวยผิดปกติ เนี่ยไม่ใช่แล้ว สังเกตง่ายๆ ความดำ มันจะบ่งบอกความเป็นอินทรีย์ความเป็นธรรมชาติ กับความไม่เป็นธรรมชาติ ส้มอินทรีย์จริงๆ แค่ล้างน้ำเปล่าพัดลมให้แห้งก็เป็นมันเหมือนแวกซ์ ส่วนความหวานของส้มมันแต่งได้ ใช้อินทรีย์ก็ทำได้ ของเราก็จะใช้น้ำหมักผลไม้ที่มีรสหวานกว่าส้มฉีด ก่อนเก็บหยุดน้ำสัก 7 วัน ความหวานก็จะเพิ่มขึ้น เราจะเริ่มเก็บส้มที่อยู่ที่ 13 บริกซ์ หวานมาก  จริง ๆ ส้มมันต้องมีรสอมเปรี้ยว แต่คนยังติดหวานอยู่ เราก็ต้องทำให้มันหวาน

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"