เลือกตั้งเทศบาล 28 มี.ค. สนามแก้มือ 'คณะก้าวหน้า'


เพิ่มเพื่อน    

   เคาะออกมาอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับปฏิทินการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล และนายกเทศมนตรีทั่วประเทศ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดให้เลือกตั้งกันในวันอาทิตย์ที่ 28 มี.ค. เวลา 08.00-17.00 น.

            สำหรับหนึ่งในกลุ่มการเมืองที่ประกาศลงสู้ศึกเลือกตั้งท้องถิ่นระดับเทศบาลทั่วประเทศรอบนี้ด้วยก็คือ "คณะก้าวหน้า" ที่มีคีย์แมนสำคัญจากอดีตพรรคอนาคตใหม่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-ปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นสองแกนนำสำคัญ

            ศึกเลือกตั้งรอบนี้ถือเป็น "นัดล้างตา-แมตช์แก้มือ" ของ "ธนาธร-ปิยบุตร-คณะก้าวหน้า" หลังศึกเลือกตั้ง อบจ. เมื่อ 20 ธ.ค.2563 ที่ผ่านมา คณะก้าวหน้าประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะกับสนามเลือกตั้งนายก อบจ.ที่คณะก้าวหน้าส่งไปร่วม 42 คน แต่ไม่ได้รับเลือกตั้งแม้แต่คนเดียว

                "ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้าและอดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่" กล่าวถึงการเดินหน้าปักธงในสนามเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่นของคณะก้าวหน้าว่า หลังเสร็จจากศึกเลือกตั้งระดับ อบจ.ไปเมื่อ 20 ธ.ค.2563 ทางคณะก้าวหน้าก็ได้มีการมานั่งพูดคุยถอดบทเรียนกัน แน่นอนที่สุดการที่เราส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งในระดับ อบจ. เราก็ต้องหวังว่าจะได้รับชัยชนะ เมื่อไม่ชนะ (นายกฯ อบจ.) ก็ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ แต่การที่เราไม่ประสบความสำเร็จในครั้งนี้เรามีการมาพิจารณาถอดบทเรียนกัน ด้านหนึ่งเราก็ได้มีโอกาสลงไปปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองของท้องถิ่นให้เป็นแบบใหม่ ซึ่งแม้จะยังไม่ชนะก็ไม่เป็นไร ก็ต้องใช้เวลาต่อสู้กันต่อไป แต่อย่างน้อยคณะก้าวหน้าก็ได้หย่อนความคิดลงไปในสนามเลือกตั้งท้องถิ่นแล้ว จากเดิมที่เรามักพูดกันว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นเกี่ยวข้องกับกลไกรัฐ-ตระกูลการเมือง-บ้านใหญ่ประจำจังหวัด-เกี่ยวข้องกับการเมืองระดับชาติที่แบ่งกันเป็นคนละฝ่าย แต่พอการเมืองท้องถิ่นแต่ละฝ่ายดังกล่าวกลับมาจับมือกัน ซูเอี๋ยกัน ที่ผ่านมามักเป็นแบบนี้

            ...เราก็ทดลองนำแบบใหม่ลงไป โดยไม่ใช้กลไกรัฐ-ตระกูลการเมือง เราไม่มีการซูเอี๋ยกับการเมืองระดับชาติ การเมืองฝ่ายประชาธิปไตย-เผด็จการก็ต้องแยกแบบนี้เช่นเดียวกัน โดยต้องแข่งกันที่นโยบาย ก็ทดลองทำไป ก่อนลงสู่สนามเลือกตั้ง อบจ.ดังกล่าว คณะก้าวหน้าก็เข้าใจดีว่างานนี้ยาก บางคนบอกว่าเลือกตั้งท้องถิ่นยากกว่าเลือกตั้ง ส.ส.เสียอีก แต่เราก็ทดลองทำดู ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าประเมิน หากไม่ได้พิจารณาตรงจุดที่ว่า คณะก้าวหน้าได้นายกฯ อบจ.หรือไม่ได้นายกฯ อบจ. แต่พิจารณาคะแนนดิบที่ผู้สมัครของคณะก้าวหน้าได้ทั้งหมดในเกือบ 42 จังหวัดทั่วประเทศ ประมาณ 2,600,000-2,700,000 คะแนน แต่หากคิดในแง่ของนายกฯ อบจ.ก็ถือว่าเราไม่ประสบความสำเร็จ แต่คณะก้าวหน้าก็ตั้งใจจะทำกันใหม่ ปีนี้ตลอดทั้งปี คณะก้าวหน้าก็จะเตรียมเรื่องการเลือกตั้งระดับเทศบาล และ อบต.ที่จะมีขึ้นต่อไป

                - ที่บอกว่า มีการถอดบทเรียนหลังเลือกตั้ง อบจ. สิ่งที่ได้จากการถอดบทเรียนคืออะไร?

            เรามองแบบนี้ว่าทุกการเคลื่อนไหวของคณะก้าวหน้า ไม่ว่าจะผ่านการบรรยาย การสื่อสาร การเลือกตั้ง ทั้งหมดมันอยู่ในกรอบใหญ่ คือ การทำงานทางความคิด สมมุติเราลงเลือกตั้งท้องถิ่น แล้วเราใช้วิธีแบบที่เขาทำกันมา เราอาจได้นายกฯ อบจ.มา 1-3 คน แต่การเมืองท้องถิ่นไม่ได้เปลี่ยนไปเลย ดังนั้นถามว่าเรารู้ไหมแบบนี้เราลงไปก็เหนื่อย โอกาสที่เราจะไม่ได้เลยก็มี เราก็ประเมินกันอยู่ แต่ก็อยากทดลองกันดู ซึ่งเมื่อไม่ได้ เราก็มาพิจารณากัน

                “บางประเด็นอย่างการใช้กระแสการเมืองระดับชาติ อาจจะไม่เหมาะกับการเมืองท้องถิ่น อาจไม่เข้าเป้า สิ่งนี้คือการที่เราถอดบทเรียนได้กันมา”

            ..เราต้องปรับตรงนี้ในการเลือกตั้งระดับเทศบาล เพราะพฤติกรรมของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเขาก็มีการแยกแยะว่าตอนเลือกตั้ง ส.ส. เขาต้องการเลือกรัฐบาล ก็เลือกโดยอิงกระแสระดับชาติ หาคนมาเป็นนายกฯ แต่พอเลือกตั้งท้องถิ่น ประชาชนต้องการหาคนมาดูแลเขา ก็ชัดเจนว่ากระแสระดับชาติไม่ได้ส่งผลไปถึงท้องถิ่นเสมอไป แต่อย่างน้อยที่สุด เท่าที่เราดูในภาคเหนือและอีสาน จากคะแนนผู้สมัครที่คณะก้าวหน้าส่งคนลงเลือกตั้ง พบว่าคะแนนไม่ได้ลดลงจากตอนเลือกตั้งมีนาคม 2562 แต่ที่ลดลงไปชัดเจนยอมรับเลยคือภาคใต้ ซึ่งก็ต้องยอมรับอีกเช่นกันว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับประเด็น การใส่ร้ายป้ายสีพวกผมที่เขาเรียกกันว่า "ล้มเจ้า" อันนี้ส่งผลในภาคใต้ แต่สำหรับภาคเหนือกับภาคอีสานพบว่าคะแนนได้เพิ่มขึ้น บางจังหวัดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพียงแต่ไม่สามารถทำให้คนของคณะก้าวหน้าได้เป็นนายกฯ อบจ.      สำหรับผม หากคณะก้าวหน้าได้นายกฯ อบจ. 1 คน หรือ 10 คน แต่เป็นแบบเดิมทั้งหมด เราใช้วิธีการหาเสียงแบบเขา ใช้กลไกรัฐ-อิทธิพลเงินทองแบบเขา แล้วได้นายกฯ อบจ.มา 10 คน แบบนี้เราไม่ทำดีกว่า สู้เราไม่ได้เลยสักคน แต่เราได้ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ อย่างน้อยก็ได้เป็นก้อนหินก้อนที่หนึ่ง หยอดลงไป แล้วอีก 4 ปีข้างหน้าก็มีการเลือกนายกฯรอบใหม่

            ...การเลือกตั้งในระดับเทศบาลที่จะมีขึ้น ยืนยันว่าคณะก้าวหน้าจะส่งคนลงสมัคร โดยหลายที่เราก็ตั้งความหวังเอาไว้ เช่น เทศบาลนคร ในเขตที่เป็นตัวเมืองสำคัญ เราตั้งความหวังเอาไว้ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีฐานคะแนนของอนาคตใหม่เดิม เราก็เน้นเป็นพิเศษ แต่ครั้งนี้ก็ไม่ได้คาดหวังว่าเราจะได้กี่คน แต่เรามองว่าการที่เราส่งคนลงเลือกตั้งท้องถิ่นแต่ละครั้งมันคือการทำงานทางความคิด ที่แน่นอนที่สุดว่าก็ต้องหวังว่าจะชนะ เพราะหากไม่หวังชนะก็ไม่รู้จะลงเลือกตั้งทำไม แต่ก็มีองค์ประกอบหลายอย่างด้วย เช่น เราทำแล้วเราสามารถ recruit คนใหม่ๆ เข้ามาสู่แวดวงการเมือง เราได้เจอบางคนที่อายุเพิ่งถึงเกณฑ์คือ 35 ปี แต่เขาอยากช่วยพัฒนาบ้านเกิดเขา แบบนี้ ซึ่งสำหรับผม ทุกๆ ก้าว ทุกๆ จังหวะ มันก็คือการประสบความสำเร็จไปทีละนิด

            สนามเลือกตั้งเทศบาล 28 มี.ค. จะทำให้คณะก้าวหน้า-ธนาธร-ปิยบุตร ปักธงการเมืองท้องถิ่นได้ หรือจะล้มเหลวอีกครั้ง ติดตามรอผลการตัดสินจากประชาชน.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"