ปริศนา จม. “มิน อ่อง หล่าย” งัดไพ่ในกรอบ “อาเซียน”


เพิ่มเพื่อน    

          ความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างกองทัพไทยและเมียนมาในอดีต ถือเป็นกลไกนำระหว่างรัฐก่อนที่เมียนมาจะมีรัฐบาลพลเรือน และยังคงมีความใกล้ชิดต่อเนื่องจากแนวทางของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ที่มีบทบาทหลักในภาพรวมเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ ในการเชื่อมสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจของกองทัพไทยซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด

            นับตั้งแต่ยุคที่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ดำรงตำแหน่ง ผบ.สส. ในช่วงปี 2556 ก็มีการเดินทางไปเยือนเมียนมาและเมื่อมาเยือนไทย “มิน อ่อง หล่าย” ก็จะเข้าเยี่ยมคารวะผู้นำรัฐบาล ผู้นำทางทหาร และได้พบกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในขณะนั้น เลยไปถึงพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีผู้ล่วงลับ ในฐานะที่นับถือกันเป็นบิดา-บุตรบุญธรรม

            การใช้ “วิธีการทูตทางทหาร” เชื่อมสัมพันธ์จึงเป็นจังหวะก้าวสำคัญของผู้นำการรัฐประหารผู้นี้ใช้เพื่อการดำรงอยู่ในประชาคมกองทัพในภูมิภาคอาเซียน ที่ไทยมีบทบาทสำคัญ ต่างจากผู้นำทหารเมียนมาในอดีตที่ปิดช่องทางในการสมาคมกับมิตรประเทศ

            “บิ๊กทหาร” ของไทยที่เคยพูดคุยสัมผัสกับ “มิน อ่อง หล่าย” แล้ว ต่างก็พูดคำเดียวกันว่า ทหารคนนี้ไม่ธรรมดา และแตกต่างจากทหารยุคเก่า เนื่องจากมีความรอบรู้ สามารถสนทนาในหัวข้อต่างๆ ได้ทุกเรื่อง เป็นทหารที่ฉลาดหลักแหลม ไม่ได้จัดอยู่ใน “สายเหยี่ยว” ซึ่งผู้นำเมียนมาในอดีตส่วนใหญ่มักมีธรรมชาติของความแข็งกร้าว และปิดตัวเองจากโลกภายนอก

            จาก “ขิ่น ยุ้นต์” ก็มี “มิน อ่อง หล่าย” ที่ถูกมองว่าเป็นสายพิราบ แต่ต่างกันตรงที่ “มิน อ่อง หล่าย” เป็นทหารที่เดินเกมและคิดการใหญ่ โดยประเมินสถานการณ์ข้างหน้าว่าผลเลวร้ายสุดจากการตัดสินใจนั้นคืออะไร

            การที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยอมรับว่า พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ส่งจดหมายส่วนตัวมาถึงเพื่อขอให้ไทยสนับสนุนประชาธิปไตยในเมียนมา จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ

โดย พลเอกประยุทธ์ระบุว่า เป็นการส่งมาในฐานะที่เป็นรมว.กลาโหม ส่วนเรื่องการบริหารจัดการภายในของเมียนมาก็เป็นเรื่องของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่ายเอง ซึ่งเป็นไปตามหลักการของอาเซียน และ TAC หรือสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีกติกามากมาย อย่างน้อยเราก็สนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยในเมียนมา

“แต่สิ่งที่จำเป็นวันนี้คือ เราต้องรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไว้มากที่สุด เพราะมีผลต่อประชาชนโดยรวม ต่อเศรษฐกิจ การค้าขายชายแดน ที่สำคัญยิ่งในขณะนี้” พลเอกประยุทธ์ระบุ

            การริเริ่มเปิดข้อมูลเกี่ยวกับเหตุผลแห่งการ “รัฐประหาร” จึงมีความสำคัญ และต้องมีน้ำหนักเพียงพอที่ประชาคมอาเซียนจะรับฟังได้ โดยเฉพาะในเรื่องของเหตุผล หลักฐานในเรื่องการทุจริตการเลือกตั้ง ข้อกฎหมายต่างๆ ที่สนับสนุนให้การยึดอำนาจตามรัฐธรรมนูญจะมีน้ำหนักพอหรือไม่ ด้วยหลักการที่อาเซียนรับฟังแต่ไม่ก้าวก่ายกิจการภายในประเทศ

            แต่ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เห็นคือ “ประชาชนเมียนมา” ต้องการการเปลี่ยนแปลง เพราะผลการเลือกตั้งที่ถูกมองว่าทุจริตนั้น พรรคเอ็นแอลดีได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น การต่อรองให้ “ต่ออายุ” มิน อ่อง หล่าย ครั้งที่ 2 ไม่เป็นผล ทำให้เขาตัดสินใจยึดอำนาจก่อนสภาเปิด

            อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ในประเทศที่การประท้วงของประชาชนในเมืองต่างๆ บานปลาย และคณะรัฐมนตรี 11 คนที่แต่งตั้งขึ้นมาบริหารประเทศในช่วงประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน “เอาไม่อยู่” เลวร้ายสุดกลายเป็นสงครามกลางเมือง ตามการวิเคราะห์ว่าจะกลายเป็น “ซีเรีย 2”

            การขยับตัวของ “อาเซียน” ต่อสถานการณ์ดังกล่าวต้องเกิดขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะบทบาทของประธานอาเซียนอย่างเช่นเวียดนาม ที่มีความใกล้ชิดกับมหาอำนาจอย่างเช่นสหรัฐ

            เสียงปืนแตก “กระสุนนัดแรก” ที่พุ่งตรงไปที่ศีรษะสตรีระหว่างการประท้วง การฉีดน้ำ และปฏิบัติการปราบจลาจลต่อผู้ชุมนุม สุ่มเสี่ยงที่จะไปไกลกว่าที่ “มิน อ่อง หล่าย” ประเมินไว้

ต่อให้รัฐตัดสัญญาณโทรศัพท์-ตัดช่องทางการทำธุรกรรมการเงินจากต่างชาติที่จัดการท่อน้ำเลี้ยงไปยังกลุ่มผู้สนับสนุนม็อบ ก็ยังไม่มีแนวโน้มว่าการเดินขบวนต่อต้านในเมืองใหญ่ๆ จะหยุดลง ยังไม่นับท่าทีของ “ชนกลุ่มน้อย” ที่รอจังหวะในการปลดแอกตัวเองจากอำนาจกองทัพเมียนมามานานแล้ว ก็พร้อมผสมโรงได้ทุกเมื่อ

จึงน่าสนใจว่า “จดหมายน้อย” ที่มิน อ่อง หล่าย ที่ส่งถึง พลเอกประยุทธ์มีนัยสำคัญประการใด จะเป็นการ “ตีกัน” หรือ “หาพวก” ก็เป็นสิ่งที่น่าคิด

 และคงหนีไม่พ้นที่ “ไทย” อาจต้องตกอยู่ในสถานะ “หนังหน้าไฟ” หากสถานการณ์ไปไกลกว่านี้ เลยเถิดเป็นสมรภูมิ “ชนกัน” ระหว่างมหาอำนาจ ทั้งที่ไทยเองก็ไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยว

เพราะแค่ในประเทศไทยที่ “ม็อบ 3 นิ้ว” พร้อมร่วมผสมโรง และแซะแผลเดิมจากการที่พลเอกประยุทธ์เคยเป็นหัวหน้า คสช. นำกองทัพเข้าทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนมาแล้ว ก็น่าปวดหัวมากพอแล้ว.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"