สร้างโอกาสสุขภาวะ ปลุกพลัง “เกษตรอินทรีย์” เปลี่ยนโลก-เปลี่ยนเรา สู้ภัยโควิด


เพิ่มเพื่อน    

      

สสส.-ภาคีเครือข่าย พลิกวิกฤติ เป็นโอกาสสร้างสุขภาวะ ปลุกพลัง “เกษตรอินทรีย์” ขายสินค้าออนไลน์ จัดเทศกาล “กินสบายใจ-ห่างไกลโควิด-19” เสวนาถอดบทเรียน “เปลี่ยนโลก-เปลี่ยนเรา” สร้างวิถี New Normal สู้ภัยโรคระบาด ตัดวงจรโควิด-19 จ.อุบลราชธานี

      

ข้าวปลาอาหารไทย โดยเฉพาะอาหารปลอดภัยในสถานการณ์โควิดเป็นเรื่องสำคัญมาก ดังนั้นในงานเทศกาลกินสบายใจ ห่างไกลโรคในปีนี้จึงจัดให้มีการเสวนาในหัวข้อ “ข้าวปลาอาหารเรื่องสำคัญในสถานการณ์โควิด” มีวิทยากรชื่อดังผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการและในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. อ.สง่า ดามาพงษ์ รวมถึง นพ.สุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร นายแพทย์สาธารณสุข จ.อุบลราชธานี โดยมี กมล หอมกลิ่น ดำเนินรายการ

 

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิสื่อสร้างสุข และภาคีเครือข่าย จัดงานเทศกาลกินสบายใจ ห่างไกลโรค ปี 9 ชวนผู้ผลิต ผู้บริโภคเปลี่ยน เตรียมความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ภัยพิบัติ และวิกฤติโควิด-19 ปลุกพลัง สร้างทางเลือกให้ “เกษตรอินทรีย์” มีทางเลือก ทางรอดจากสถานการณ์โรคระบาด และกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนท้องถิ่นรับมือภัยพิบัติ ควบคู่การสร้างความมั่นคงทางอาหารที่ปลอดภัย

 

 

นพภา พันธุ์เพ็ง ประธานกรรมการมูลนิธิสื่อสร้างสุข กล่าวว่า งานเทศกาลกินสบายใจ ห่างไกลโรค ปี 9 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการกินสบายใจ ดำเนินงานโดยมูลนิธิสื่อสร้างสุข สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ปีนี้จัดขึ้นในหัวข้อ “โควิด-19 เปลี่ยนเรา เปลี่ยนโลก” ระหว่างวันที่ 29-31 มกราคม 2564 แบบ new normal รูปแบบออนไลน์ มีวัตถุประสงค์เพื่อชวนทุกคนเปลี่ยนวิถีการผลิต การบริโภค และปรับวิถีชีวิตใหม่ ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งเรื่องสภาพอากาศ ภัยพิบัติ และสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19

 

 

สง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิของ สสส. กล่าวว่า สสส.และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศได้ร่วมกันขับเคลื่อนงานด้านอาหารปลอดภัยมาอย่างยาวนาน มีผู้คนมากมายตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อาหารมีส่วนร่วมเข้ามาเกี่ยวข้อง และเชื่อมร้อยงานด้านอาหาร จึงไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะในมิติของสุขภาพ เพราะมีกระบวนการที่ทำงานเชื่อมร้อยคนให้มาเรียนรู้การผลิต การรับรองมาตรฐาน การตลาด การบริโภค ลงมือทำจนเกิดเป็นรูปธรรม และขยายสู่สังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ล้วนทำให้เกิดสุขภาวะ ทางกาย ใจ สังคม และปัญญา

 

เกริกชัย ผ่องแผ้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดความเปลี่ยนแปลงและความผันผวนของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผลกระทบจากการบริโภคที่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เช่น ภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่สูงขึ้นถึง 1.47 องศาเซลเซียส ส่งผลกระทบต่อความแปรปรวนของสภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้น ขณะเดียวกัน ในปี 2563 ทั่วโลกได้เกิดโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทั้งผู้ผลิตอาหาร และผู้บริโภคอาหาร ตลอดจนกลไกการกระจายอาหารในหลายพื้นที่ ตลาดบางแห่งได้ปิดตัวลง ทำให้ประชาชนบางกลุ่มขาดแคลนอาหาร หรือเข้าไม่ถึงอาหาร เกษตรกรผู้ผลิตก็ขาดช่องทางการจำหน่ายผลผลิตสู่ผู้บริโภค ส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซา ขาดรายได้ และนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย

 

วิกฤติที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ชวนทุกคนหันมาพึ่งตนเองแบบองค์รวม ทั้งเรื่องอาหาร และวิถีการดำเนินชีวิต โดยเริ่มต้นที่การเปลี่ยนเรา เพื่อเปลี่ยนโลก ทั้งการผลิตด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ การบริโภคอาหารอินทรีย์ ที่จะเชื่อมโยงไปถึงสุขภาพ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมที่เกื้อกูลกัน รวมทั้งชวนเปลี่ยนวิถีชีวิตอื่นๆ เช่น การจัดการขยะในครัวเรือน การลดการใช้ถุงพลาสติก เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำรงชีวิตของเราด้วย  

 

ภายในงานมีการจัดเสวนา “ชวนเปลี่ยน โควิด-19 เปลี่ยนเราเปลี่ยนโลก”, ถอดบทเรียน โควิดปิดเมืองไม่อดตาย, กิจกรรม live สดนาทีทองสินค้าเกษตรอินทรีย์, การประกวด Organic Got talent 2012 ออร์แกนิกขายให้ปัง โดยมีเกษตรอินทรีย์ที่สนใจร่วม live ขายสินค้าจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการเวิร์กช็อปชวนปลูกกะกล่ำปลีกินเอง และการให้แนวคิดเรื่องการสร้างความมั่นคงทางอาหารรับมือภัยพิบัติกับผู้เข้าร่วม หากสนใจข้อมูลเพิ่มเติมติดตามได้ที่เพจเฟซบุ๊ก “กินสบายใจ”.

 

 

กินสบายใจไกลโควิด-19 สร้างความมั่นคงอาหาร

ถอดบทเรียน บ.ยักษ์ใหญ่ทุ่มเงินก้อนโตผูกขาดใช้เทคโนโลยี ผลิตอาหารกระทบราคาแพงขึ้น

      

การเปิดฉากงานในปีนี้ท่ามกลางโควิด-19 ระลอกใหม่ นำโดยวิทยากร โจน จันได จากศูนย์พันพรรณ จังหวัดเชียงใหม่ พรรณี เสมอภาค ประธานคณะกรรมการ PGS กินสบายใจ เกษตรกรแปลงต้นแบบรับมือภัยพิบัติกลุ่มกินสบายใจ ปาฏิหาริย์ มาตสะอาด คนรุ่นใหม่ที่หันมาทำเฮือนสวนเฮา Organic Farm ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ มีโจทย์ใหญ่ที่ร่วมกันแสดงความเห็นและหาทางออก ประเด็นที่บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่หลายแห่งเดินหน้านำเม็ดเงินก้อนโตลงทุนใช้เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรมูลค่ามหาศาล กำลังคนน้อยลง จนสร้างปรากฏการณ์อาหารเกษตรราคาแพง ขณะที่บริษัทผลิตข้าวโพดจากสหรัฐใช้ต้นทุนสูงกว่าไทย 4 เท่า ส่งออกอาหารไปยังประเทศยากจนด้วยงบโฆษณาจูงใจ

   

    

เสวนาออนไลน์ครั้งแรกของ จ.อุบลราชธานี รูปแบบ New Normal เมื่อวันที่ 29-31 ม.ค.64 มีเป้าหมายเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อความยั่งยืน ภายในงานมีการให้ความรู้ สร้างผลผลิตอินทรีย์แบบออนไลน์ส่งตรงถึงบ้าน จัดแสดงนิทรรศการออนไลน์ มีการประกวดกินสบายใจมากมาย เช่น เชิญชวนเกษตรอินทรีย์ ขายให้ปัง ลุ้นรับรางวัล 1 หมื่นบาท ประกวดทำเมนูอาหารเพื่อสุขภาพ รวมถึงให้ความรู้การปลูกผักในบ้าน ปรับวิถีชีวิตใหม่ให้ยั่งยืน แล้วนำมาทดลองจำหน่ายเกษตรสินค้าอินทรีย์

 

โดยปีนี้ใช้รูปแบบ “โควิด-19 เปลี่ยนเรา เปลี่ยนโลก” กินสบายใจห่างไกลโรคจัดเป็นปีที่ 9 แม้จะอยู่กันคนละจังหวัด แต่ทุกพื้นที่สามารถร่วมกันชมผ่านช่องทางออนไลน์ เพจอุบล เพจกินสบายใจ เพจสถานีข่าวได้ ระหว่างจัดงานสามารถแชร์ความคิดเห็นกับผู้ร่วมงานทุกคนได้ โดยมีประสาน อิงคนันท์ ผู้ก่อตั้งบริษัทบุญมีฤทธิ์มีเดีย ดำเนินรายการ

 

พรรณี เสมอภาค ประธานคณะกรรมการ PGS กินสบายใจ เกษตรกรแปลงต้นแบบรับมือภัยพิบัติกลุ่มกินสบายใจ เปิดประเด็นว่า โควิด-19 ทำให้ชีวิตคนเปลี่ยน จากเดิมที่เคยทำได้กลายเป็นทำไม่ได้ ธุรกิจการตลาดภาคการเกษตรก็เปลี่ยนอันเนื่องจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้น หลายคนเปลี่ยนแปลงตัวเองมาทำงานด้านเกษตรกรรม แต่ก่อนที่เคยทำนา ปรับพื้นที่นามาทำสวนหลากหลาย ขณะนี้อุณหภูมิโลกเฉลี่ย 1.47 องศา ที่อุบลฯ อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น น้ำท่วม ฝนแล้ง โรคระบาด ปี 2562 อุบลฯ น้ำท่วมใหญ่ พื้นที่ข้าวเสียหายเพราะน้ำท่วม ฝนแล้งก็ได้รับผลกระทบ ปีที่แล้วไม่มีข้าวพอกินส่งผลต่อรายได้ อันเนื่องมาจากสภาพอากาศและภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เกษตรกรมีความเสี่ยงสูงเป็นเรื่องที่เราจะรับมือได้อย่างไร จึงตั้งต้นกำหนดพื้นที่ 50 แปลงต้นแบบเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากสภาพอากาศและภัยพิบัติ กลุ่มเกษตรกรกินสบายใจเข้าร่วมโครงการ 200 คน แบบครบวงจร โดยริเริ่มจากการออกแบบฟาร์มให้เหมาะสมกับภูมินิเวศในท้องถิ่น

 

 

ถ้าเราเปรียบเทียบอุณหภูมิโลกกับร่างกายก็เหมือนกัน เพราะโลกป่วยจึงเกิดโรคระบาดในพืช น้ำท่วมเกิดความเสียหาย จากสถิติน้ำท่วมปี 2521 น้ำท่วมหนักอีกครั้ง 2545 ห่างกัน 21 ปี น้ำท่วมหนักมากปี 2554 ห่างกัน 9 ปี ปีนี้อาจจะน้ำท่วมและน้ำแล้ง เมื่อเกิดโรคระบาดในพืชจะเสียหายทั้งหมด จากสถิติร้อยปีอุณหภูมิจะเปลี่ยน 1 องศา ในปี 2552-2563 ลดเวลาลงอุณหภูมิขึ้น 2 องศา คนก็แย่ด้วยต้องเผชิญกับโรคระบาดทั้งคน พืช โควิดส่งผลเห็นได้อย่างชัดเจน ผู้คนกลับบ้านเพื่อปลูกผักที่บ้านได้อย่างยาวนาน เราทำพื้นที่เป็นหลุมหลบภัยพิบัติ เป็นพื้นที่เรียนรู้เกษตรอินทรีย์สอดคล้องกับระบบนิเวศถึงระบบการตลาด หมายความว่า “เมื่อโลกเปลี่ยน เราจะเปลี่ยนตามโลก ไม่เคยแล้งก็แล้ง ไม่เคยน้ำท่วมก็ท่วม” พรรณีกล่าว

 

ทุกอย่างต้องปรับที่ตัวเอง อะไรที่ยังไม่เคยทำก็ต้องทำ เก็บข้อมูล อุณหภูมิความชื้น กลุ่มที่เริ่มต้นด้วยกัน บางคนปลูกผักหลากหลายเพื่อต้องการกระจายความเสี่ยง พื้นที่เดิมเคยทำนาก็หันมาปลูกผัก ทำสวน สังเกตเรื่องดิน ทำให้ระบบดี พื้นที่ร้อนมาก ไม่มีต้นไม้ ส่งผลให้แมลงวัชพืชลงได้ ร้อนมากแมลงกระจายตัวได้ดี เพลี้ยกระโดดระบาดมากในช่วงหน้าร้อน สิ่งเหล่านี้ต้องปรับตัวเพื่อเรียนรู้ เก็บข้อมูลที่เป็นองค์ความรู้ เมื่อเจอโรคระบาดมีความเข้าใจเกษตรกร เมื่อเจอปัญหาก็ต้องหันหน้ามาคุยปรึกษากันเพื่อหาทางออก การที่ลูกหลานหลายคนกลับมาอยู่บ้านมีทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี ช่วยพ่อแม่ เพราะที่ผ่านมาพ่อแม่ทำงานด้วยความยากลำบาก ลูกหลานเข้ามาช่วยการเกษตรทำให้ราคาดีขึ้น ขายผลผลิตสินค้าทางออนไลน์ได้

 

      

เรื่องอาหารการกิน ความมั่นคงทางอาหาร ไม่มีกิน การมีกินในภาคอีสานพืชผักที่ปลูกในบ้านก็มีกินแล้ว ลูกหลานตกงานกลับบ้านทุกอย่างก็มีกิน ไม่มีอดตาย พ่อแม่มีข้าวหุงให้กิน ผักก็ล้วนแล้วแต่อยู่ในบ้านตัวเอง อย่างที่เรียกว่าข้าวไร่ปลายนา ระบบนิเวศ มีปลาร้า มีข้าว มีปลา มีผักอยู่รอบตัว มีผลไม้ตามฤดูกาลที่เก็บกินได้ตลอด

 

พรรณีกล่าวต่อว่า การรวมกลุ่มเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะทำให้มีกำลังใจ เหมือนมีเพื่อน ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยว ถ้าเราทำอะไรคนเดียวเมื่อมีปัญหา หันหน้าหันหลังจะทำอย่างไร แต่ถ้าเรามีเพื่อน มีเครือข่าย ทำให้มีกำลังใจ ข้อมูลความรู้ที่ขาดหายไป การสร้างมาตรฐานคุณภาพ เราต้องมีเกษตรกรในเครือข่ายเป็นพี่เลี้ยงแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ การทำผ้าป่าเมล็ดพันธุ์พืช ผ้าป่าข้าว ทำระบบควบคุมมาตรฐานสร้างความเชื่อต่อผู้บริโภค ทำให้มีคนเข้ามาช่วยเหลือเราได้มากยิ่งขึ้นด้วย

 

โจน จันได เจ้าของศูนย์พันพรรณ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ผลกระทบจากโควิดมาเร็วและแรง อันเนื่องมาจากวิถีชีวิตของคนเราไม่ได้สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว เราไม่รู้สึกว่ามีการเปลี่ยนแปลงในภาคเหนือ หากทบทวน 20 ปีย้อนหลัง คนเหนือจะนั่งผิงไฟตั้งแต่เช้าจนถึง 9 โมงเช้า (เดือน พ.ย.-ก.พ.) ไม่ทำงานจนกว่าจะ 9 โมงเช้า เพราะอากาศหนาวมาก เมื่อถึงเวลาบ่าย 4 โมงก็จะเริ่มอาบน้ำแล้ว มีการก่อไฟแม้แต่ที่ไนท์พลาซ่าก็ยังเห็นคนนั่งผิงไฟ แต่ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาไม่เห็นคนนั่งก่อไฟ ผิงไฟ ใส่เสื้อกันหนาว เราเรียนรู้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับคนรอบข้าง บรรยากาศที่เกิดขึ้นหลายๆ อย่างนั้น ยิ่งคนที่มีอาชีพเกษตรกรรมจะเห็นได้อย่างชัดเจนขึ้น

 

คนส่วนมากที่ไม่ได้ทำการเกษตร คนมักไม่รู้ว่าเกิดภัยพิบัติ ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย ไม่ได้คิดรักษาตัวเอง เดินตามวิถีเดิมๆ และสังคมไทยมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ ปี 2540 มีปัญหาคนตกงานจำนวนมากต้องเดินทางกลับไปบ้านเกิดของตัวเอง ปีนี้เกิดโควิดเป็นภัยพิบัติ สิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตที่เป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต อาหาร คนที่มีชีวิตอยู่ย่อมได้รับผลกระทบทั้งคน สัตว์ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่มาก เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับคนทั้งโลก เป็นความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว รุนแรง คนลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหา มุ่งหน้าเพื่อบริโภคได้มากที่สุด ผู้ผลิตสร้างทรัพยากรลดน้อยลง จึงเป็นวิกฤติรุนแรงมากที่สุด โจนกล่าว

       

โจน จันได กล่าวต่อว่า เมื่อโลกเปลี่ยน ที่ผ่านมาเราไม่ได้คิดถึงวิธีการแก้ไขปัญหา รู้วิถีแบบเดิมๆ ก็ต้องนำไปสู่วิถียั่งยืนมากยิ่งขึ้นด้วย วิถีเดิมๆ บางอย่างก็ใช้ไม่ได้ แต่บางอย่างก็ใช้ได้ดีมาก วิถีเดิมที่ไม่ได้มีการพัฒนาต่อยอด ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่วิถียั่งยืนรวดเร็วมากยิ่งขึ้น การที่เกิดวิกฤติการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาเป็นปกติของธรรมชาติ ผลักดันให้เราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง วิวัฒนาการขึ้นอยู่กับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือความเป็นจริง คนอยากให้เหมือนเดิม เรายอมรับ เข้าใจ เปิดใจตลอดเวลา เตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง แต่คนทั่วไปอยากทำเหมือนเดิม การใส่ปุ๋ยเคมี แต่โลกเปลี่ยนไปแล้ว เราจะต้องเปลี่ยนวิธีคิด เตรียมพร้อมกับการเผชิญวิกฤติ เปิดใจที่จะใช้เหตุผลมากกว่าอยากใช้ความคุ้นเคยมักง่าย ต้องมีการจดข้อมูลรวบรวมสถิติเพื่อทำให้เราเข้าใจสิ่งต่างๆ พัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ได้ผลผลิตสูงขึ้นและมีความยั่งยืน

 

แต่ที่ผ่านมานั้น เราไม่ได้คิดถึงเรื่องเหล่านี้ คิดแต่ให้ได้ผลผลิตสูงๆ และขายสินค้าในราคาแพง ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงเราขายแพงไม่ได้ถ้ามีผลผลิตเยอะ เราต้องเผชิญกับปัญหาเดิมๆ เหมือนกันทุกๆ ปี ถ้าเราแข่งกันทำนาปลูกข้าวเพื่อให้ได้ผลผลิตเป็นจำนวนมากๆ ยิ่งได้ผลผลิตสูงมากเท่าไหร่ราคาก็ตกต่ำลง เราไม่เคยเตรียมตัว ไม่พร้อมกับการเปลี่ยนแปลง สภาพปัจจุบันเป็นความจำเป็นตามธรรมชาติเมื่อเกิดวิกฤติ มีความซับซ้อน กีดขวางสิ่งที่เราคุ้นเคย เมื่อคิดแล้วเลือกใครที่พร้อมปรับตัวได้ ปรับตัวตน มิฉะนั้นเกษตรกรจะไปไม่รอด การเพาะปลูกลงทุนสูงปัญหาเยอะ คนก็ไม่อยากจะลงทุน มีแต่คนคิดอยากจะทำธุรกิจ ทำงานน้อยลงเพื่อให้ได้เงินมากขึ้น

 

เราต้องทบทวนถึงสิ่งที่คนไม่อยากจะทำ ถ้าเราสังเกตและทดลองทำเราจะเจอกับความง่าย ทุกอย่างล้วนมีค่าสร้างรายได้ที่เราต้องการ สนุกได้เสมอถ้าเราต้องการ คือความงดงามเป็นสิ่งที่ท้าทายที่เราตื่นเต้น วิกฤติอย่าคิดแต่ว่าเป็นเรื่องเลวร้าย จะทำให้เราสนุกกับการค้นคว้าทดลองการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ดีถ้าเราคิดว่าย่ำแย่มากจะเกิดความท้อแท้ ไม่มีพลังในการแก้ไขปัญหา ทุกปัญหาล้วนมีทางออกเสมอ ยิ่งคนรุ่นใหม่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือซึ่งคนรุ่นเก่าไม่ถนัดกับสิ่งเหล่านี้ ด้วยเหตุนี้คนในยุคปัจจุบันต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิด การออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหา ใช้ข้อมูลทางสถิติด้วย ดังนั้นคนรุ่นใหม่คือความหวัง คิดเร็ว กล้าเปลี่ยนแปลง ในขณะที่คนรุ่นเก่าเปลี่ยนยากมาก เพราะยังมีข้อมูลเก่าเยอะแยะมาก กล้าจึงเป็นความหวังของโจน จันได

       

โจทย์ใหญ่ที่สุดในขณะนี้ก็คือบริษัทยักษ์ใหญ่ทุกแห่งต่างนำเงินมาลงทุนทางด้านการเกษตรอาหารสูงขึ้น จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ที่จับเรื่องอาหารเป็นการผูกขาดในการใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น ใช้คนน้อยลง จะทำให้อาหารแพงขึ้น อาหารคุณภาพน้อยลง ความหลากหลายจะหายไป วิกฤติที่เราต้องเผชิญเมื่อบริษัทใหญ่ยึดครอง อาหารที่คนทุกคนกิน ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้นจะทำให้อาหารแพงขึ้น ทุกวันนี้สหรัฐใช้ระบบ GPS ใช้ปุ๋ยฉีดยาในพื้นที่ 1 หมื่นไร่ ข้าวโพดที่ได้ปุ๋ยได้น้ำไม่เพียงพอเมื่อเทียบต้นทุนการผลิตข้าวโพดในสหรัฐแพงกว่าที่เราผลิตถึง 4 เท่า เขาจะอยู่ได้อย่างไรก็ต้องเอาข้าวโพดที่ผลิตด้วยต้นทุนราคาแพงมาขายที่ประเทศยากจนที่บ้านเรา ทำการตลาดด้วยการเอาเงินภาษีชาวบ้าน การพัฒนาการเกษตรแนวทางสมัยใหม่ด้วยการเข้าสู่เส้นทางการเมือง

 

เกษตรกรควรเน้นเทคโนโลยีที่เหมาะสม เรียนรู้พฤติกรรมของธรรมชาติ เรียนรู้จากบุคลิกลักษณะ เราจะรู้ว่าเราจะอยู่กับมันได้อย่างไรด้วยต้นทุนถูกที่สุด ไม่ใช่เกษตรกรรมรูปแบบเดียว แต่ต้องผสมผสานและมีความหลากหลายทางเทคโนโลยีด้วย บริษัทที่ทำด้านพลังงานใช้น้ำมันมากกว่าเราในการผลิตข้าวในจำนวนเท่ากัน ทุกคนที่ผลิตอาหารก็ต้องใช้เทคโนโลยี เราจะเอาพลังงานที่ไหนมาเลี้ยงโลกใบนี้ ถ้าเรามัวแต่หลงใหลวิทยาศาสตร์ชั้นสูงจะทำให้เราไปไม่รอด เราต้องคิดที่จะทำอย่างไรให้เราอยู่ได้อย่างยั่งยืน

 

“คนที่ชอบการเกษตรก็พร้อมที่จะทำ มีทักษะและความพร้อมที่จะทำให้เกิดความหลากหลาย พึ่งพาซึ่งกันและกัน สร้างสรรค์และหาทางออก ถ้าคิดเพื่อให้ได้เงินจะไม่พัฒนา ดังนั้นอย่าให้ความกลัวเป็นอุปสรรค เราต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"