โยนบาปมือที่3ป่วน โตโต้อ้างสร้างเหตุปะทะ/ตร.แจงยิบไม่ได้ใช้'แก๊ส-กระสุน'


เพิ่มเพื่อน    


    ศูนย์เอราวัณเผยเหตุม็อบ 3 นิ้วปะทะ จนท.มีผู้บาดเจ็บ 25 คน พลเรือน 5 ตำรวจ  20 นาย ต้องผ่าตัด 1 คน ตร.จ่อดำเนินคดีผู้ชุมนุม 8 ราย ฐานทำร้ายเจ้าพนักงาน-ฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ผบช.น.แจงพยาบาลอาสาอยู่ในกลุ่มก่อความวุ่นวาย ยันไม่ได้ใช้แก๊สน้ำตา-กระสุนยาง “กลุ่มราษฎร” โวย จนท.ไม่มีสิทธิ์ใช้ความรุนแรง “โตโต้” โบ้ยมือที่สามแทรกแซงสร้างสถานการณ์ปะทะ โฆษก พท.จี้รัฐหยุดใช้ความรุนแรง “ธนกร” งงเห็นชัดว่าม็อบทำร้าย จนท.ยังเข้าข้างม็อบ กลุ่มราษฎรเชื่อไสยศาสตร์ จัดกิจกรรมกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลวีรชน 14 ตุลา-6 ตุลา
    เมื่อช่วงเช้าวันอาทิตย์ เจ้าหน้าที่สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) ทำการคัดแยกไม้ดอกไม้ประดับที่เคยตกแต่งโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่เสียหายจากการรื้อทำลายของกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา มีทั้งต้นเทียนทอง ต้นสร้อยไก่ ผักโขมแดง และชะแมบทอง เบื้องต้นพบว่าไม้ดอกและต้นไม้เสียหายประมาณร้อยละ 70-80 ซึ่งส่วนที่เสียหายจะทำการขนย้ายกลับไปทำเป็นปุ๋ย ส่วนที่ยังไม่เสียหายหรือเสียหายไม่มากจะนำกลับมาประดับตกแต่งซ้ำ และนำต้นไม้มาเสริมเพิ่มเติม
    นพ.พรเทพ แซ่เฮ้ง ผอ.ศูนย์เอราวัณ กทม. กล่าวถึงเหตุการณ์ปะทะกันจากการชุมนุมทางการเมืองบริเวณศาลหลักเมือง ถนนราชดำเนินใน และนางเลิ้ง ว่ามีผู้บาดเจ็บรวม 25 คน เป็นพลเรือน 5 คน ตำรวจ 20 นาย กระจายรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ 20 นาย, รพ.กลาง 2 คน, รพ.วชิรพยาบาล 1 คน, รพ.มิชชั่น 1 คน, รพ.แพทย์ปัญญา 1 คน โดยทราบว่าในจำนวนพลเรือนที่บาดเจ็บและรักษาตัวที่ รพ.กลาง ต้องเข้ารับการผ่าตัด อยู่ระหว่างการรอรายงานผล
    ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น., พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น., พล.ต.ต.เมธี รักพันธุ์ ผบก.น.6, พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รอง ผบก.น.1 รรท.ผบก.น.1 และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร.กล่าวถึงกรณีกลุ่มราษฎรนัดทำกิจกรรม "นับ 1 ถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน" เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว 4 แกนนำ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ก.พ. โดย พล.ต.ท.ภัคพงศ์กล่าวว่า ในเวลา 15.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากนั้น 18.00 น. เคลื่อนตัวมาที่หน้าศาลหลักเมือง ตำรวจได้ประกาศเตือนว่าเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก่อนจะขว้างปาสิ่งของเป็นระเบิดปิงปอง ก้อนหิน ขวดน้ำ และวัตถุอื่นๆ เป็นเหตุให้ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 23 นาย ส่วนใหญ่ถูกสะเก็ดระเบิด และได้รับผลกระทบทางการได้ยิน อยู่ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล
       พล.ต.ท.ภัคพงศ์กล่าวว่า ต่อมาแกนนำได้ประกาศยุติการชุมนุม แต่มีบางส่วนยังก่อความวุ่นวาย ยื้อเวลากว่า 30 นาที ตำรวจจำเป็นต้องยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ให้ความร่วมมือ ยืนยันว่าไม่ได้มีคำสั่งใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยาง ส่วนที่ปรากฏภาพตำรวจรุมทำร้ายเจ้าหน้าที่พยาบาล (กั๊กเขียว) จากการตรวจสอบบุคคลดังกล่าวไม่ใช่พยาบาล อยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมอาสา เป็นหน่วยปฐมพยาบาล และพบว่าอยู่ในกลุ่มที่ก่อความวุ่นวาย
ดำเนินคดีผู้ชุมนุม 8 ราย
    “หลังเกิดความวุ่นวายตำรวจควบคุมตัวผู้ก่อเหตุ 11 ราย เบื้องต้นดำเนินคดี 8 ราย ข้อหา พ.ร.บ.โรคติดต่อ, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน นำตัวไปควบคุมไว้ที่ บก.ตชด.ภาค 1 ส่วนอีก 3 รายเมาสุราไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม เปรียบเทียบปรับและปล่อยตัวไป ทั้งนี้ อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกลุ่มผู้ชุมนุมที่รื้อถอนสิ่งของรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำร้ายร่างกายตำรวจ และหากใครถูกตำรวจทำร้ายก็เข้ามาแจ้งความได้”
    ผบช.น.กล่าวต่อว่า สำหรับเหตุการณ์การ์ดอาชีวะถูกยิงบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ โดยคนร้ายมุ่งหน้ามาที่ร้านสะดวกซื้อ สาขาถนนกะออม ตำรวจจึงเข้าควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 1 ราย แล้วนำตัวมาที่ สน.นางเลิ้ง ระหว่างนั้นกลุ่มการ์ดและผู้ชุมนุมพยายามขัดขวางและแย่งตัวผู้ต้องสงสัย ตำรวจจึงยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อควบคุมสถานการณ์ จากการตรวจสอบไม่ใช่ผู้ก่อเหตุจึงปล่อยตัวไป ส่วนผู้ก่อเหตุตัวจริงอยู่ระหว่างพิสูจน์ทราบ ส่วนกรณี น.ส.ชญาธนุส ศรทัตต์ หรือเฌอเอม อดีตผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ โพสต์ทวิตเตอร์ว่าเป็นนางงามคนแรกที่โดนแก๊สน้ำตานั้น บอกไปแล้วว่าตำรวจไม่ได้ใช้แก๊สน้ำตา จากนี้อาจต้องเชิญเจ้าตัวเข้ามาให้ปากคำเพื่อเป็นประโยชน์ทางคดี ว่าเขาเห็นใครใช้ หรือใครมีข้อมูลหลักฐานสามารถส่งมาให้ตำรวจได้ 
    พล.ต.ท.ภัคพงศ์กล่าวด้วยว่า การนัดชุมนุมในวันที่ 20 ก.พ.นี้ เนื่องจากอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ตนขอความร่วมมืองดทำกิจกรรม หากมีการชุมนุมก็ขอความร่วมมือ ปฏิบัติตามมาตรการของเจ้าหน้าที่ ส่วนคดีการชุมนุมที่สามย่านมิตรทาวน์ เมื่อวันที่ 16 ม.ค. พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวันได้ออกหมายเรียกผู้ปราศรัย 3 รายมารับทราบข้อหาในวันที่ 18 ก.พ. เวลา 10.00 น. และคดีชุมนุมที่สถานทูตเมียนมา เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวาได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาเพิ่ม 12 ราย มารับทราบข้อหาในวันที่ 19 ก.พ. เวลา 10.00 น. ในจำนวน 3 ราย เป็นแกนนำคือ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน,  นายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง
    ขณะที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. เข้าตรวจเยี่ยมและให้ขวัญกำลังใจตำรวจ 20 นายที่ได้รับบาดเจ็บจากการดูแลความสงบในการชุมนุม พร้อมสั่งการดูแลด้านสวัสดิการและทำการรักษาให้เป็นอย่างดี 
    พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) เปิดเผยว่า ผบ.ตร.มาตรวจเยี่ยมและให้ขวัญกำลังใจแก่ข้าราชการตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บจากการดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม โดยได้รับบาดเจ็บจำนวนทั้งสิ้น 20 นาย ทั้งหมดได้เข้าพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ จากการเปิดเผยของแพทย์ที่ทำการรักษา พบว่าผู้ได้รับบาดเจ็บส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกปาด้วยของแข็งและของเหลวคล้ายน้ำมัน 
    ที่ สน.นางเลิ้ง นายภวัต หิรัณย์ภณ หรือเจ๊ป๊อกกี้ พานายบอล อายุ 23 ปี สมาชิกกลุ่มการ์ดราษฎร ที่ถูกบุคคลแต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ใช้กระบองตีเข้าที่ช่องท้องจนได้รับบาดเจ็บ โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นบริเวณหน้า สน.นางเลิ้ง เมื่อกลางดึกวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยนายภวัตเปิดเผยว่า วันนี้ได้พานายบอลมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้ ให้ตำรวจรวบรวมพยานหลักฐาน และทำหนังสือส่งตัวผู้บาดเจ็บไปตรวจร่างกาย เพื่อยืนยันว่าถูกทำร้ายร่างกายจริง และต้องการให้หาตัวผู้ที่ก่อเหตุมาดำเนินคดีต่อไป
    นายปิยรัฐ จงเทพ หรือ “โตโต้” หัวหน้ากลุ่มการ์ดวีโว่ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กชี้แจงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า เหตุความผิดปกติเมื่อคืนมีความเป็นไปได้ว่ามีขบวนการแทรกแซงเพื่อสร้างสถานการณ์หน้าแนวปะทะ คาดว่าเกิดการแทรกแซงโดยมือที่สาม หรือกลุ่มจัดตั้งอันธพาลที่มาในรูปของมวลชนกลุ่มหนึ่งแฝงอยู่ในม็อบ สอดประสานกับอันธพาลอีกกลุ่มที่รอดักซุ่มทำร้ายประชาชนอยู่ในเส้นทาง หลังจากนี้หวังว่าทางแกนนำทุกๆ กลุ่มจะได้นำบทเรียนครั้งนี้ไปหาทางแก้ปัญหาอย่างเด็ดขาด หากไม่ดำเนินการก่อนที่จะนำม็อบครั้งต่อไป ปัญหานี้จะไม่จบ
โวยจนท.ใช้ความรุนแรง
    กลุ่มราษฎรออกแถลงการณ์ยืนยันในหลักการและแนวทางของปฏิบัติการไร้ความรุนแรง ว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีสิทธิ์ใช้ความรุนแรงกับผู้ที่ใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ การจับกุมอย่างไม่เลือกหน้าเป็นการละเมิดทั้งกฎหมายไทยและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ พวกเราขอยืนยันว่าจะยังคงยืนหยัดที่จะสู้จนกว่าจะไม่มีประชาชนคนใดถูกจับโดยไม่เป็นธรรม จะสู้ต่อไปจนกว่าประชาชนในประเทศนี้จะมีความเสมอภาค เป็นธรรม จนกว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และประเทศมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
    ชมรมแพทย์ชนบทออกหนังสือแถลงการณ์ระบุว่า การปฏิบัติการช่วยเหลือ ปฐมพยาบาล รักษา รวมถึงการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่ 2 ปี 1960 การรุมทำร้ายอาสาสมัครที่เข้ามาปฏิบัติดังกล่าวโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าผู้บาดเจ็บเป็นฝ่ายใด ถือเป็นการละเมิดกติการะหว่างประเทศดังกล่าว และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง ขอประณามการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรณีที่แพทย์อาสาที่เข้าดูแลผู้ชุมนุมกลุ่มคณะราษฎรได้ถูกทำร้ายโดยเจ้าหน้าที่จนได้รับบาดเจ็บ และขอเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง พร้อมทั้งดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้กระทำผิดโดยไม่เลือกปฏิบัติ    
    สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทยเรียกร้องตำรวจสอบสวนเหตุการณ์ทำร้ายอาสาสมัครทางการแพทย์อย่างโปร่งใสพร้อมลงโทษผู้กระทำผิด รวมถึงทบทวนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ในภายภาคหน้ามีการปฏิบัติต่อหน่วยอาสาสมัครทางการแพทย์และผู้ชุมนุมทุกคนอย่างถูกต้องตามหลักการพื้นฐานในการดูแลฝูงชนและหลักการสากล
    ด้าน น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีที่มีทีมแพทย์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้าย ตามหลักสากลทีมแพทย์ถือเป็นสัญลักษณ์ของมนุษยธรรม ต้องได้รับความเคารพและคุ้มครองจากภาคีคู่พิพาทเสมอ เจ้าหน้าที่รัฐควรตระหนักและใช้ความพยายามอดทนอดกลั้นในสถานการณ์ที่มีความตึงเครียดและอาจถูกยั่วยุจากกลุ่มที่ไม่หวังดี ถึงเจ้าหน้าที่รัฐจะมีความเคลือบแคลงสงสัยต่อผู้ชุมนุมบางคน หรือทีมแพทย์อาสา เพราะการใช้ความรุนแรงไม่เคยแก้ไขปัญหาใดๆ อยากเรียกร้องให้รัฐหยุดใช้ความความรุนแรงในทุกรูปแบบต่อประชาชน และยึดหลักสิทธิมนุษยชนพื้นฐานตามหลักสากลและควรมีขันติ​ 
    “แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว โดยรัฐลืมมองไปว่าท่าทีที่ผ่านมาของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐสร้างความหวาดระแวงให้ประชาชนมาตลอดด้วยการใช้กฎหมาย ทั้งการข่มขู่คุกคามทุกรูปแบบ มาเป็นเครื่องมือเล่นงานประชาชน จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้รับการยอมรับทั้งในสายตาประชาชนและนานาชาติในเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนสากล” น.ส.อรุณีกล่าว
    ขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การชุมนุมของคณะราษฎรไม่ได้เป็นการชุมนุมอย่างสงบ ปราศจากอาวุธ มีการใช้ความรุนแรง ปาระเบิดปิงปองทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ใช้ความรุนแรงอย่างที่มีการกล่าวหา ทุกอย่างมีหลักฐานชัดเจน เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอดทนอดกลั้น ซึ่งทางคณะราษฎรก็ไม่ได้สนใจ การแสดงออกต่างๆ สามารถทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย แต่จะต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นด้วย ที่สำคัญจะต้องไม่ผิดกฎหมาย การชุมนุมเพื่อกดดันให้รัฐบาลปล่อยตัว 4 แกนนำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะรัฐบาลไม่เกี่ยวข้อง จะใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมายได้อย่างไร การจับกุม 4 แกนนำเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมของไทย ไม่มีใครไปแทรกแซงได้ 
    ส่วนกรณีที่ น.ส.อรุณีเรียกร้องรัฐบาลให้เคารพหลักสิทธิมนุษยชนนั้น นายธนกรกล่าวว่า ตนไม่เข้าใจ น.ส.อรุณีจริงๆ ขนาดเห็นพฤติกรรมชัดเจนว่าม็อบทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ยังเข้าข้างม็อบ รัฐบาลนี้เคารพหลักสิทธิมนุษยชนแน่นอน ไม่นิยมใช้ความรุนแรงเหมือนรัฐบาลในอดีต เจ้าหน้าที่ก็อดทนอดกลั้น หรือจะให้เจ้าหน้าที่สูญเสียก่อน น.ส.อรุณีจึงจะเข้าใจ ขอถาม น.ส.อรุณีว่า พรรคเพื่อไทยสนับสนุนม็อบที่จาบจ้วงสถาบันใช่หรือไม่ 
ยึดกฎหมายไม่ปล่อย 4 แกนนำ    
    นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คนไทยรู้สึกสะเทือนใจกับเหตุการณ์ที่มีเหตุชุลมุนปาระเบิดปิงปองและวุ่นวาย แต่การชุมนุมของกลุ่มราษฎรไม่ได้ยึดหลักสันติ แม้มีการบอกว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้ความรุนแรง แต่ก็พิสูจน์ได้ว่าไม่ได้ใช้ความรุนแรง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความอดทนจนถึงที่สุดแล้ว หลายครั้งแล้วที่จัดการชุมนุมอย่างต่อเนื่องเพื่อกดดันให้ศาลปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 4 คน บ้านเมืองมีกฎหมายมีขื่อมีแป กลุ่มผู้ชุมนุมเหล่านี้ไม่อยู่ในกฎระเบียบของบ้านเมืองเหมือนบ้านนี้เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน นักเคลื่อนไหวหลายกลุ่มอย่าบอกว่ารัฐบาลคุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเหล่านี้มีอาวุธ มีระเบิดปิงปองทำลายทรัพย์สินของราชการ และลงมือก่อเหตุรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ก่อน 
    ส่วนกรณีแกนนำประกาศขีดเส้น 7 วันให้ปล่อยผู้ต้องขังทั้ง 4 คน นายสุภรณ์กล่าวว่า กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ม็อบกลุ่มนี้พยายามกดดันตำรวจ จาบจ้วงสถาบัน และกดดันอำนาจตุลาการ มันเป็นไปไม่ได้ บ้านเมืองมีขื่อมีแป กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ไม่มีใครสามารถทำตามข้อเรียกร้องได้ มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเอาอยู่     
    นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวถึงกลุ่มราษฎรขีดเส้นตาย 7 วันให้ปล่อย 4 แกนนำ มิเช่นนั้นจะนัดจัดชุมนุมในวันที่ 20 ก.พ.ที่หน้ารัฐสภา ซึ่งอยู่ในช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า เรื่องดังกล่าวผ่านมาเยอะแล้ว จึงรู้สึกเฉยๆ ไม่ตื่นเต้นอะไร
    ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง “กลุ่มราษฎร หรือม็อบสามนิ้ว ณ เวลานี้” ระหว่างวันที่ 8-10 ก.พ.2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,315 หน่วย เมื่อถามประชาชนถึงการมีแกนนำกลุ่มราษฎรหรือม็อบสามนิ้ว พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 67.60 ระบุว่ามีแกนนำ ขณะที่ร้อยละ 32.40 ระบุว่าไม่มีแกนนำ ส่วนการมีผู้อยู่เบื้องหลัง พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 65.25 ระบุว่า มีผู้อยู่เบื้องหลัง ขณะที่ร้อยละ 34.75 ระบุว่าไม่มีผู้อยู่เบื้องหลัง
    ด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวความขัดแย้งภายในกลุ่มราษฎร พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 41.22 ระบุว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคล รองลงมา ร้อยละ 25.48 ระบุว่าเป็นความไม่เข้าใจกันชั่วคราว, ร้อยละ 16.88 ระบุว่าเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจริง และร้อยละ 16.42 ระบุว่าเป็นกลลวงที่สร้างขึ้นมาเพื่อหลอกฝ่ายตรงข้าม    
    เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรม/กิจกรรมของกลุ่มราษฎร พบว่า ร้อยละ 20.23 ระบุว่าเป็นการต่อสู้ด้วยวิถีทางแบบประชาธิปไตย, ร้อยละ 6.54 ระบุว่าต่อสู้ด้วยวิถีทางนอกเหนือจากแบบประชาธิปไตยเพื่อให้ได้ชัยชนะ, ร้อยละ 16.20 ระบุว่าเป็นการแสดงออกถึงการเอาแต่ใจ ไม่เคารพในกฎหมายของบ้านเมือง,   ร้อยละ 2.51 ระบุว่าแสดงออกถึงการเคารพในกฎหมายของบ้านเมือง, ร้อยละ 9.89 ระบุว่าเป็นการแสดงออกถึงการละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น, ร้อยละ 9.13 ระบุว่าเป็นการแสดงออกถึงการไม่เคารพและไม่รับฟังความคิดเห็นต่าง ขณะที่ร้อยละ 8.29 ระบุว่าแสดงออกถึงการเคารพและรับฟังความคิดเห็นต่าง, ร้อยละ 4.26 ระบุว่าเป็นการแสดงออกด้วยการพูดความเท็จและบิดเบือนข้อมูล ขณะที่ร้อยละ 3.12 ระบุว่าแสดงออกด้วยการพูดข้อเท็จจริงและเหตุผล, ร้อยละ 3.57 ระบุว่าเป็นการแสดงออกถึงการต่อสู้ที่ไม่ยึดหลักสันติวิธี ขณะที่ร้อยละ 3.12 ระบุว่าแสดงออกถึงการต่อสู้ที่ยึดหลักสันติวิธี 
      วันเดียวกัน เวลา 15.00 น. ที่บริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน กลุ่มราษฎรสายมูเตลู ซึ่งเป็นเครือข่ายม็อบราษฎรที่มีความเชื่อในเชิงไสยศาสตร์ สิ่งลี้ลับ ไปจนถึงการบูชาเสริมมงคลและดวงชะตา ได้จัดกิจกรรม รฤกคุณ “คนดีมีคุณค่า” แห่งประชาธิปไตยครั้งที่ 2 เพื่อรำลึกถึงวีรชนจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 จากเดิมที่จะมีการเคลื่อนขบวนภายหลังทำพิธีที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ไปห่มผ้าแดงเพื่อแสดงสัญลักษณ์ที่ภูเขาทอง (วัดสระเกศ) แต่ทางวัดสระเกศได้ออกประกาศปิดวัด ทำให้กลุ่มราษฎรมูเตลูต้องยกเลิกกำหนดการดังกล่าว เหลือเพียงจัดกิจกรรมภายในอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา
     การทำกิจกรรมครั้งนี้มวลชนมาร่วมบางตา ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนเสื้อแดงผสมกับกลุ่มผู้ชุมนุมคนรุ่นใหม่ที่มีความเชื่อทางด้านมูเตลู จากนั้นในเวลา 15.30 น. ได้มีศาสนพิธี พระสงฆ์ได้อาราธนาศีล สวดพระปริตร กรวดน้ำ รับพร และอธิษฐานจิตถึงวีรชน 14 ตุลาและ 6 ตุลา พิธีถวายเครื่องจตุปัจจัยไทยธรรมต่อพระสงฆ์ นำโดยนายสุเทพ อริยะมงคล ตัวแทนประชาชน อดีตนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 นางนุชนารถ แท่นทอง เครือข่ายสลัมสี่ภาค รวมถึงกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล และยืนสงบนิ่งให้เหล่าวีรชนดังกล่าวจนเสร็จสิ้นพิธี ขณะเดียวกันก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้ามาสังเกตการณ์บริเวณที่จัดกิจกรรม ซึ่งสถานการณ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีเหตุวุ่นวายใดๆ เกิดขึ้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"