วาง6ตัวจี๊ดประท้วงศึกซักฟอก


เพิ่มเพื่อน    


    รัฐบาลพร้อมลุยศึกซักฟอก หลังติวเข้มสองวัน คาดปมโควิดระบาดรอบสอง ฝ่ายค้านถล่มหนัก "ณัฏฐพล" เคลียร์ใจส.ส.พปชร.กลางงานเลี้ยง หลังมีข่าวโดนแซะเก้าอี้ วิปรัฐบาลตั้งทีมองครักษ์ หากฝ่ายค้านอภิปรายพาดพิงเรื่องสถาบัน​ประท้วงทันที พรรคเล็กไม่เลิกงอแง อ้างขอฟังก่อนโหวต เพื่อไทยขู่จัดหนัก รมว.ศึกษาธิการ 
    ก่อนถึงศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลในสัปดาห์นี้ ระหว่างวันที่ 16-19 ก.พ. ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านได้มีการเตรียมความพร้อมกันอย่างคึกคัก 
    โดยเมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค มีการประชุมเตรียมพร้อมรับมือการอภิปรายของพรรคร่วมรัฐบาล ภายใต้ชื่องาน “สามัคคีรวมใจ พรรคร่วมรัฐบาล” ที่มีรัฐมนตรีซึ่งถูกฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจและ ส.ส.รัฐบาลมาร่วมงานดังกล่าว เป็นวันที่ 2 ต่อจากวันเสาร์ที่ 13 ก.พ. 
    พบว่าภายในงานมีแกนนำรัฐบาลและ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล เข้าร่วม อาทิ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, นายอนุชา นาคาศัย เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เป็นต้น  
    นายจุรินทร์​ ลักษณวิศิษฏ์​ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์​ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์​ ให้สัมภาษณ์หลังเข้าร่วมงาน ถึงกรณีที่อาจมีพรรคเล็กไม่ลงมติให้กับรัฐมนตรีบางคนว่า​ ยืนยันว่าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคยังมีความเป็นเอกภาพ ไม่มีการแบ่งพรรคใหญ่พรรคเล็ก ทุกพรรคมีความสำคัญเท่ากัน รัฐบาลให้ความสำคัญกับทุกพรรค และทุกพรรคก็มาร่วมหารือกัน พร้อมที่จะสนับสนุนรัฐบาล จึงไม่มีอะไรน่ากังวล​ และเชื่อว่าการลงมติครั้งนี้จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่ขอพูดถึงว่าโดยหลักรัฐมนตรีทุกคนจะต้องคะแนนเท่ากันหรือไม่ เพราะอยู่ที่การอภิปรายและการชี้แจง 
    ขณะที่นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า การสัมมนาทั้งสองวัน วิปรัฐบาลพยายามเก็บข้อมูลทั้งหมดเพื่อเตรียมใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ขณะเดียวกันก็มีตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรีมาเก็บข้อมูลทุกอย่างเพื่อส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งการอภิปรายเชื่อว่าไม่น่ามีอะไร เพราะหากมีข้อมูลอะไร แค่ 10 ชั่วโมงก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องขออภิปรายถึง 42 ชั่วโมง
เตือนฝ่ายค้านอย่าแตะเรื่องสถาบัน 
    ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์กรณียื่นญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาว่า ปัญหาเรื่องอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาญัตติที่พรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอข้อความที่นำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเมืองว่าจะทำได้หรือไม่ ว่าสัปดาห์มีการพิจารณาเพียงญัตติเดียวคือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งต้องยอมให้มีการพิจารณาเรื่องนี้ไปก่อน แต่หากนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านได้มีการอ่านข้อความที่มีเนื้อหาต้องห้ามตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ยุบพรรคไทยรักษาชาติ จะลุกขึ้นทักท้วงขึ้นพอสมควร แต่ถ้านำเสนอและข้ามข้อความไปได้ก็จะไม่มีประเด็น แต่หากพูดถึงก็จะมี ส.ส.ทักท้วงจำนวนมาก ทำให้ใช้เวลานานพอสมควร และเรื่องนี้จะเป็นประวัติศาสตร์ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการเสนอญัตติลักษณะแบบนี้ จึงหวังว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านจะหลีกเลี่ยง และถือเป็นเรื่องดีของพรรคร่วมฝ่ายค้าน 
    เมื่อถามว่าเป็นการประท้วง ยังไม่นำไปสู่ยุบพรรคใช่หรือไม่  นายไพบูลย์กล่าวว่า การประท้วงเป็นจุดแรก แต่ถ้ายังจะดำเนินการก็ถือว่าเป็นการกระทำอันต้องห้ามตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นห่วง เพราะนายสมพงษ์ก็เป็นหัวหน้าพรรค และเรื่องนี้เป็นมติของพรรคร่วมฝ่ายค้านทุกพรรค ดังนั้นการยุบพรรคไทยรักษาชาติก็เป็นอุทาหรณ์ที่ดี
    "ผมขอเรียนก่อน ผมเป็นผู้ยื่นคำร้องพรรคไทยรักษาชาติไปที่กกต. โดยเหตุเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีขัดต่อระเบียบการหาเสียงของ กกต.เท่านั้น ยังเป็นเรื่องเลยมาถึงขนาดนี้ แต่กรณีนี้ผมท้วงว่าขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562 กรณี กกต.ยื่นยุบพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งคำวินิจฉัยมีผลผูกพันทุกองค์กร ดังนั้นผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้าน รวมทั้งผู้อภิปราย หากนำประเด็นต้องห้ามมาอภิปราย ผมว่าเป็นผลที่ทำให้เรื่องไปศาล ซึ่งเรื่องไปได้หลายทาง ไม่จำเป็นต้องไปด้วยญัตติของผม หากมีการอภิปรายด้วยข้อความต้องห้าม มั่นใจว่าไปแน่" นายไพบูลย์ระบุ
    นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กล่าวเช่นกันว่า เรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่เป็นประเด็นในการปรับ ครม.ในอนาคต ขอย้ำว่าสัญญาณเรื่องการปรับ ครม.ไม่มีแน่นอน
    ด้านนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ที่ถูกยื่นอภิปรายเช่นกันกล่าวว่า คาดว่าประเด็นที่จะถูกอภิปรายน่าจะเป็นเรื่องเมืองอุตสาหกรรมต้นแบบแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กำหนดไว้ตามกฎหมายปี 2553 มั่นใจว่าจะอธิบายทุกประเด็นได้แน่นอน 
ตั้งทีมตอบโต้-งัดฝ่ายค้าน
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า​ ภาพรวมการสัมมนา​ของวิปรัฐบาล​เพื่อเตรียมพร้อมรับมือการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค​ ตลอด​ 2​ วันที่ผ่านมา​ บรรดารัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจต่างยืนยันกับที่ประชุมว่ามีข้อมูลที่สามารถชี้แจงได้​ ขณะเดียวกัน​ที่ประชุมมีการประเมินกันว่าประเด็นที่จะฝ่ายค้านจะเน้นเป็นพิเศษคือเรื่องที่ส่งผลกระทบกับสังคม อย่าง​สาธารณสุข​ การศึกษา​ และกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวกับชาวบ้าน​ โดยเรื่องโควิด-19​ น่าจะเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากที่สุด​ ส่วนเรื่องของสถาบันนั้น​ จะรอดูฝ่ายค้านว่าจะอธิบายอย่างไรให้เกิดความแนบเนียน​ เป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านต้องระมัดระวังเอง​ และถึงดึงดันจะพูดก็คงไปต่อไม่ได้​ เพราะถูกประท้วงอย่างหนัก​ โดยในวันที่​ 15​ ก.พ.​ ที่รัฐสภา วิปรัฐบาลจะมีการประชุมเพื่อแบ่งหน้าที่​ แบ่งกลุ่ม​ในการรับมืออภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน​ โดยเฉพาะเรื่องสถาบัน ที่เบื้องต้นเตรียมไว้​ 6​ คน​ ได้แก่​ นายไพบูลย์​ นิติตะวัน​ ส.ส.บัญชีรายชื่อ​ พรรคพลังประชารัฐ, นายสิระ​ เจนจาคะ​ ส.ส.กทม.​พรรคพลังประชารัฐ,​ นายนิโรธ​ สุนทรเลขา​ ส.ส.นครสวรรค์​ พรรคพลังประชารัฐ​ และ ส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาลอีก 3 คน​ ซึ่งทันทีที่มีการพูดถึงสถาบันจะลุกขึ้นประท้วงทันที​ นอกจากนี้จะมีการมอบหมายให้มี​ ส.ส.ทำหน้าที่หัวหน้ากลุ่มองครักษ์เข้าผลัดเวรยาม​ตลอดในช่วงที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
    ขณะที่ประเด็นของกระทรวงมหาดไทยซึ่งน่าจะถูกอภิปรายเรื่องสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว​ โดยที่ประชุมได้สอบถาม​ พล.อ.อนุพงษ์​ เผ่าจินดา​ รมว.มหาดไทย ​ว่าเหตุใดจึงไม่ทำให้แล้วเสร็จตั้งแต่สมัย​ คสช.​ ซึ่ง​ พล.อ.อนุพงษ์ชี้แจงว่า​ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องดูให้ละเอียดรอบคอบ​ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน​ มีกฎหมายหลายตัว​ ส่วนกรณีที่กระทรวงคมนาคมคัดค้านการขยายสัมปทานให้เอกชนรายเดิมนั้น​ เป็นความเห็นต่างทางกฎหมาย​ ไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน​ ส่วนเรื่องก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ​ ไม่กังวล​ เพราะยังไม่ได้มีการดำเนินการ​ 
    ขณะที่ในส่วนรัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาล​คนอื่นๆ โดยเฉพาะนายจุรินทร์​ ลักษณวิศิษฏ์​ รองนายกรัฐมนตรี​และ รมว.พาณิชย์​​ ที่ประชุมพยายามซักถามเรื่องการทุจริตจัดซื้อถุงมือยางที่ฝ่ายค้านจะนำมาอภิปรายว่ามีรายละเอียด​อย่างไร โดยนายจุรินทร์ระบุว่ามีการเตรียมข้อมูลเอาไว้แล้ว​ สามารถชี้แจงได้​ แต่ขอไปตอบในสภา​ ไม่ขอให้รายละเอียดตรงนี้​ เพราะกลัวข้อมูลจะหลุดไปถึงฝ่ายค้าน
    อย่างไรก็ตาม​ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า​ ภายหลังการสัมมนาเสร็จสิ้นเมื่อค่ำวันที่​ 13​ ก.พ.​ ในช่วงระหว่างการรับประทานอาหารค่ำ​ ซึ่งมี​ พล.อ.ประวิตร​ วงษ์สุวรรณ​ รองนายกรัฐมนตรี​และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ร่วมอยู่ด้วย​ นายณัฏฐพล​ ทีปสุวรรณ​ รมว.ศึกษาธิการ​ ได้เคลียร์ใจกับ​ ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐ​ ที่มีความไม่เข้าใจกันเรื่องงานในกระทรวงศึกษาธิการที่ว่า​ ส.ส.ของพรรคไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากนายณัฏฐพลได้เลย​ ซึ่งได้มีการอธิบายเหตุผลจนเข้าใจ​กัน ขณะที่เรื่องการลงมติ​นั้น​ คะแนนเสียงรัฐมนตรีจะได้ในจำนวนเท่าๆ​ กัน หรือใกล้เคียงกัน​ ไม่เหลื่อมกันมาก
พรรคเล็กทำงอแง ขอฟังก่อนโหวต  
    นายชัชวาลล์ คงอุดม หัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท ที่เป็นพรรคเล็กในพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวถึงเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ต้องดูว่าที่เขาชี้แจงมามันส่งผลหรือไม่ และถ้าเกิดฝ่ายค้านเขามีหลักฐานชัดๆ หรือชัดเจน เราคงจะยกมือลำบาก ถ้ามันยังคลุมเครือ เพราะเราอยู่พรรครัฐบาล มันเป็นตามมารยาทอยู่แล้ว ซึ่งพรรคเล็กๆ รวมก็กว่า 20 เสียง ยืนยันว่าจะขอฟังการอภิปรายก่อน อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่าฝ่ายค้านเขามีหลักฐานชัดเจนเราก็จะมาหารือร่วมกันก่อน อย่างไรก็ตาม พูดถึงตอนนี้อายุรัฐบาลเหลือปีกว่าๆ ตนคิดว่าส่วนมากมันจะไม่ครบ 4 ปี ก็ตามระเบียบอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการถึงเวลาของพรรคพลังท้องถิ่นไทที่จะเข้าไปร่วมบริหารเรื่องนี้ อยู่ที่ผู้นำรัฐบาลว่าจะเห็นสมควรหรือไม่ ส่วนอยากจะทำงานด้านไหนนั้น เราคนท้องถิ่นก็อยากทำให้ท้องถิ่น 
     นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย ที่เป็นพรรคเล็กในรัฐบาล กล่าวเช่นกันว่า ถ้าฝ่ายค้านมีเอกสารหลักฐานที่ปรากฏเป็นจริง หรือมีใบเสร็จว่ารัฐมนตรีผู้ถูกอภิปรายกระทำการทุจริตจริง การดำเนินการของพรรคการเมืองก็มีมาตรา 124 ของรัฐธรรมนูญคุ้มครองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อเงินภาษีของประชาชนถูกนักการเมืองโกงนั้น จึงอยากรู้ว่าพรรคการเมืองต่างๆ จะกล้ายกมือไว้วางใจให้หรือไม่ ดังนั้นคาดว่าในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ทางพรรคเล็กจะมีการแถลงข่าวถึงแนวทางการลงมติว่าเป็นไปในทิศทางใด แต่ยืนยันได้ว่าจะยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก
     “ส.ส.ของพรรคเล็กๆ 20 คน ได้มีการพูดคุยมาตลอด มีข้อสรุปว่าจะนั่งฟังการอภิปรายโดยตลอด พอถึงเวลาโหวตจะใช้วิจารณญาณของแต่ละคน ไม่ใช่ฟังคำสั่งจากวิปรัฐบาลหรือใครก็ตามที่บังคับให้เราโหวตไว้วางใจ เพราะผมยืนยันว่าพรรคการเมืองไม่ใช่บริษัทจำกัด ไม่ใช่ว่าฝ่ายค้านแสดงหลักฐานอย่างชัดเจน แต่กลับยกมือไว้วางใจ จะถูกประชาชนและสังคมครหาว่าไปรับกล้วยเขามาอย่างแน่นอน” นายพิเชษฐกล่าว
    ด้านพรรคฝ่ายค้าน นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม  พรรคเพื่อไทย แถลงข่าวเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า การอภิปรายครั้งนี้คนที่จะพูดคนแรกคือนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์  ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านอภิปรายสลับกันไปตามลำดับ การอภิปรายคราวนี้ไม่เหมือนทุกครั้ง เพราะผู้อภิปรายคือตัว ส.ส. สามารถลุกขึ้นอภิปรายได้หลายครั้ง อภิปรายรัฐมนตรีให้จบเป็นคนไป แต่ทุกคนสามารถเกี่ยวพันไปถึงนายกรัฐมนตรีได้ตลอด เพราะรับผิดชอบหลายอย่าง เช่น เป็น ผอ.ศบค. หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ส่วนความผิด เช่น การใช้ ม. 44 เอื้อประโยชน์ผูกขาดตัดตอน ปัญหาแรงงานข้ามชาติลักลอบเข้าประเทศ ต้องรับผิดชอบในฐานะ รมว.กลาโหม หรือปัญหาบ่อนการพนัน นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบในฐานะที่กำกับดูแล สตช.  
    นายยุทธพงศ์กล่าวว่า ขอให้กลุ่มนักเรียนเลว กลุ่มครูชุดดำเตรียมฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ เพราะมีข้อมูลว่าครูผู้หญิงที่โรงเรียนนานาชาติ Rugby School Thailand ซึ่งตั้งอยู่เขาไม้แก้ว บางละมุง ชลบุรี แต่กลับให้สามีมารับเงินเดือนที่กระทรวงศึกษาธิการเดือนละ 50,000 บาท พฤติกรรมดังกล่าวเป็นการฉ้อฉล ทุจริต ไร้สำนึก ไร้คุณธรรมหรือไม่ ขอให้ติดตามในการอภิปรายว่าโรงเรียนนี้เป็นของใคร เหตุใดจึงต้องมารับเงินเดือนที่กระทรวงศึกษาธิการ ส่วนเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว หนักแน่ เพราะมีเรื่องผิดปกติความไม่ชอบมาพากล เพราะอาจมีการเอื้อประโยชน์การสมคบคิดกับเอกชน และข้อมูลที่ออกมาถือว่าน้อยยังมีทีเด็ดอีกมาก
     วันเดียวกันนี้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวตอนหนึ่งระหว่างร่วมบรรยายกับกลุ่มแคร์ในงาน "คนไทย ไร้จน" ซึ่งจัดโดยกลุ่มแคร์ ที่ลิโด้ คอนเนค ถึงเรื่องรัฐธรรมนูญว่า โชคดีที่ได้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ตอนมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีมาก รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เขียนถึงภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรี ถ้านายกฯ ไม่มีภาวะผู้นำ ถูกต่อรองทางการเมืองตลอดก็ทำงานยาก รัฐธรรมนูญบางคนคิดว่าเป็นเพียงกฎหมาย โครงสร้างของการบริหารประเทศ แต่มันเป็นมากกว่านั้น รัฐธรรมนูญหมายถึงเศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญที่มีกระบวนการทำให้หลักนิติธรรมถูกบังคับใช้อย่างเสมอภาค เป็นธรรม จะทำให้ทุกประเทศมีความเชื่อถือ และเคารพเรา ถ้าเมื่อไหร่หลักนิติธรรมไม่เป็นสากล คนจะไม่เคารพ ไม่เชื่อถือ ไม่เอาเงินมาไว้หรือลงทุนที่ประเทศไทย อย่าคิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นเพียงกฎหมายเพื่อให้อำนาจและการปกครองเท่านั้น ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญเพื่อรัฐบาล ไม่ใช่เพื่อรัฐ ซึ่งรัฐธรรมนูญเพื่อรัฐหรือเพื่อประเทศและคนไทยทุกคน ต้องมีหลักการของประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมที่เป็นสากล ถึงจะทำให้คนเชื่อถือ และเศรษฐกิจจะดี แต่ถ้าไล่ดูรัฐธรรมนูญที่มีประชาธิปไตยมากเท่าไหร่เศรษฐกิจจะดี แต่รัฐธรรมนูญที่มีประชาธิปไตยแย่ เศรษฐกิจก็จะแย่ นอกเหนือจากคุณภาพด้านการบริหารจัดการ ตัวของรัฐธรรมนูญจะเป็นกุญแจ และการทุจริตคอร์รัปชัน รัฐธรรมนูญเป็นตัวบอกหมด ฉะนั้นเราต้องเอาจริง และต้องเอารัฐธรรมนูญที่ดี อย่างรัฐธรรมนูญที่เถียงกันในสภา ว่ารัฐบาลนี้ปฏิญาณตนไม่ครบ เพราะมุ่งที่จะยึดมั่นรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 
     "ความจริงผมแอบอดพูดในใจไม่ได้ว่า ก็อย่าไปปกป้องเลยเพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีประชาธิปไตย เปลี่ยนรัฐธรรมนูญใหม่ดีกว่า ให้เป็นของประชาชน ที่มีประชาธิปไตย มีหลักนิติธรรมเป็นสากล เพื่อเศรษฐกิจ สังคมที่ดีขึ้น เพื่อคนไทยทุกคนจะได้มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ฝากให้คิดด้วย" อดีตนายกรัฐมนตรีระบุ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"