ขยายมาตรการ 3 ปี ดึงลงทุน ฟื้น ศก.จังหวัดชายแดนใต้


เพิ่มเพื่อน    

        อีกหนึ่งพื้นที่สำคัญในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มุ่งแก้ไขปัญหาและผลักดันการพัฒนา นำความเจริญเข้าสู่พื้นที่ โดยจัดให้เป็น “เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จังหวัดชายแดนภาคใต้” ในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอเทพา

            โดย พล.อ.ประยุทธ์เน้นย้ำเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ มุ่งเป้าที่การพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความเจริญ ประชาชนมีงานทำ มีรายได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี โดยไม่ใช้วิธีการรุนแรงเข้าแก้ปัญหา ซึ่งโครงการพัฒนาพื้นที่ ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนจะต้องนำไปสู่ความสงบสุขและการพัฒนาที่อย่างยั่งยืนให้ได้

            และล่าสุด รัฐบาลโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ขยายเวลามาตรการสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกไปอีก 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จากเดิมที่สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ทั้งนี้เพื่อจูงใจผู้ประกอบกิจการและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ อันจะเป็นการสร้างรายได้และอาชีพที่มั่นคงให้แก่ประชาชน

            สำหรับ มาตรการที่ขยายเวลาออกไปอีก 3 ปีนั้น ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ 1.มาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียม โดย “มาตรการทางภาษี” ประกอบด้วย การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เหลือร้อยละ 0.1 ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล เหลือร้อยละ 3 ลดภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย และภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายอสังหาริมทรัพย์ เหลือร้อยละ 0.1

            ให้ผู้เสียภาษีเงินได้หักค่าใช้จ่ายค่าซื้อและค่าติดตั้งระบบกล้อง CCTV ได้เป็น 2 เท่า ให้นิติบุคคลหักรายจ่ายจากการลงทุนเกี่ยวกับกิจการโดยทำให้ดีขึ้น แต่ไม่ใช่การซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม เป็นจำนวน 2 เท่า ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 รอบบัญชี สำหรับกำไรสุทธิของนิติบุคคลรายใหม่ (New Start-up) และลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของผู้มีความสามารถสูงที่เข้าไปทำงานในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ เหลือร้อยละ 3 ของเงินได้

            ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องยกร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษียกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ....รวม 5 ฉบับ ก่อนดำเนินมาตรการดังกล่าว

            ส่วนการ “ลดค่าธรรมเนียม” โดยลดค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายที่ดินในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ เหลือร้อยละ 0.01 และลดค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ เหลือร้อยละ 0.01 ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะดำเนินการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยรวม 2 ฉบับ

            2.มาตรการด้านการเงิน ได้แก่ “มาตรการพักชำระหนี้” ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยให้ลูกค้าที่เคยเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้และยังมีหนี้คงเหลือ ไม่ต้องชำระเงินต้น และรัฐบาลจะเป็นผู้ชำระดอกเบี้ยแทน ในส่วนเงินต้นที่ไม่เกิน 200,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 ปี มีมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โดยขยายวงเงินเป็น 8,000 ล้านบาท และขยายระยะเวลาดำเนินโครงการออกไปอีก 2 ปี จากเดิมที่สิ้นสุด 30 ธันวาคม 2563 เป็น 30 ธันวาคม 2565 โดย ธอส.ไม่ขอรับการชดเชยจากรัฐบาล

            3.มาตรการด้านประกันภัย ได้แก่ โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยก่อการร้ายในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยภาครัฐจะชดเชยส่วนต่างค่าเบี้ยประกันภัยให้ผู้ประกอบกิจการ สำหรับการประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองภัยการก่อการร้าย และประกันอุบัติเหตุของพนักงาน 

            และโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยภาครัฐจะชดเชยค่าเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันอัคคีภัย การประกันภัยความเสี่ยงทรัพย์สิน และการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักให้ผู้ประกอบการ ทั้งนี้

 ครม.ได้เห็นชอบให้จัดสรรงบกลาง ปี 2564 จำนวน 50 ล้าน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการชดเชยค่าเบี้ยกันภัยดังกล่าวด้วย

            อย่างไรก็ตาม จากการขยายมาตรการดังกล่าวออกไปในช่วงนี้ที่ยังมีสถานการณ์โควิด-19 อยู่ด้วยนั้น จึงเป็นอีกช่องทางที่จะช่วยเสริมให้เศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"