โควิดแอฟริกาใต้ ภัยที่วัคซีนยังจัดการยาก


เพิ่มเพื่อน    

   นับตั้งแต่ที่โลกพบการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ทำให้รู้ว่าไม่ใช่โรคระบาดธรรมดา และยิ่งนับวันยิ่งแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ซึ่งขณะนี้เป็นเวลามากกว่า 1 ปีที่ทุกคนยังอยู่กับสถานการณ์การระบาดดังกล่าว ปัจจุบันเชื้อโควิดไม่ได้มีแค่สายพันธุ์เดียว แต่จากข้อมูลพบว่ามีการกลายพันธุ์ไปอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะสายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่กำลังได้รับความสนใจ เมื่อมีการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาให้กับชาวแอฟริกาใต้ พบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพเพียง 22% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ยอมรับได้ที่ 50%

            ขณะเดียวกัน ประเทศไทยเพิ่งพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้รายแรก เป็นชายไทย อายุ 41 ปี มีโรคประจำตัวเป็นหอบหืด ความดันโลหิตสูง และมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ซึ่งประกอบอาชีพเป็นนักธุรกิจค้าพลอยที่แทนซาเนีย ในทวีปแอฟริกา จากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยอาศัยอยู่ที่แทนซาเนียนาน 2 เดือน มีประวัติไปงานเลี้ยงโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย และเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 ม.ค.2564 ก่อนผลตรวจพบว่าติดโควิดในสถานกักกักตัวที่รัฐจัดให้ (State Quaratine) โดยศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่สภากาชาดไทย ยืนยันว่าเป็นสายพันธุ์แอฟริกา และผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐในเวลาต่อมา

            โดยจากการสังเกตพบว่า ผู้ป่วยมีปริมาณเชื้อจำนวนมาก มีอาการไอ และปอดอักเสบ ขณะเดียวกันเมื่อตรวจหาเชื้อครั้งที่สองยังพบเชื้อสะสมจำนวนมากอยู่ แม้ว่าจะมีการทานยาต้านเชื้อไวรัสแล้วก็ตาม ซึ่งขณะนี้ผู้ป่วยรายดังกล่าวมีอาการดีขึ้นเป็นลำดับแล้ว

            สำหรับสายพันธุ์ B.1.351 (GH,G) หรือสายพันธุ์แอฟริกา พบครั้งแรกที่แอฟริกา ไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวมีการกลายพันธุ์ที่เพิ่มเติมเข้ามาในตำแหน่งที่เรียกว่า E484K และตำแหน่ง 501Y.V2 เป็นตำแหน่งที่ทำให้ไวรัสจับกับเซลล์ได้ดีขึ้น และสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการใช้วัคซีนได้ ความเด่นของสายพันธุ์แอฟริกาใต้ คือการติดเชื้อง่ายขึ้น และอาจทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง ซึ่งมีหลายๆ ประเทศที่ทำการทดสอบวัคซีน พบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง รวมถึงการป้องกันการติดเชื้อลดลงด้วย

            ทั้งนี้ไวรัสเป็นชนิด rNA ไวรัส หมายถึงไวรัสที่เป็นสารพันธุกรรมกรดนิวคลีอิก โดยปกติเป็นอาร์เอ็นเอสายเดี่ยว แต่ก็มีอาร์เอ็นเอสายคู่เช่นกัน โรคเด่นในมนุษย์ที่เกิดจากอาร์เอ็นเอไวรัส ได้แก่ ซาร์ส ไข้หวัดใหญ่ ตับอักเสบซี ไข้ไนล์ตะวันตก โปลิโอและหัด ซึ่งปกติโดยธรรมชาติของไวรัสจะมีการกลายพันธุ์ เพียงแต่การกลายพันธุ์ในมนุษย์หรือสัตว์จะทำให้ไวรัสกลายพันธุ์ได้เร็วกว่าปกติ ขณะเดียวกันการระบาดในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกอาจทำให้เกิดการคัดเลือกสายพันธุ์ท้องถิ่นขึ้นมาด้วย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติของไวรัสเช่นกัน

            สำหรับข้อสงสัยว่าสายพันธุ์แอฟริกาใต้จะอันตรายกว่าโควิดสายพันธุ์อื่นหรือไม่ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention : CDC) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าสายพันธุ์ใหม่นี้จะเป็นอันตรายถึงชีวิต หรือทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น แต่ได้มีผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ คาดว่าโควิดสายพันธุ์นี้จะแพร่เชื้อได้มากกว่าซึ่งอาจทำให้มีผู้ป่วยมากขึ้น ส่งผลให้มีโอกาสที่จะพบผู้เสียชีวิตมากขึ้น ทั้งนี้สายพันธุ์ของแอฟริกาใต้มีแนวโน้มว่าจะแพร่เชื้อได้มากกว่า 50% ซึ่งหมายความว่าโควิดสายพันธุ์นี้ทำงานได้ดีกว่าไวรัสตัวเดิมที่เข้าสู่เซลล์มนุษย์

            อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ในต่างประเทศพบการติดเชื้อรุนแรงกับเซลล์ของมนุษย์มากกว่า SARS-Cov-2 ตัวเดิมที่ทำให้เกิดโรคโควิด โดยสายพันธุ์แอฟริกาดังกล่าวอาจหลบหนีจากแอนติบอดีบางส่วนหรือทั้งหมด ที่ผู้คิดค้นพัฒนาขึ้นเพื่อต่อต้านการติดเชื้อตามธรรมชาติ โดยดูจากผลตรวจเลือดจากชาวแอฟริกาใต้ 44 รายที่หายจากโควิด พบว่ามากกว่า 90% มีภูมิคุ้มกันลดลงต่อสายพันธุ์ใหม่ และเกือบครึ่งหนึ่งไม่มีการป้องกันเลย

            ในด้านวัคซีนโควิด-19 อย่างไฟเซอร์, โมเดอร์นา, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และโนวาแวกซ์ จะมีประสิทธิภาพอย่างไรกับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ นายชาบีร์ มาธี (shabir madhi) ศาสตราจารย์ด้านวัคซีนวิทยา ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยการวิเคราะห์วัคซีนและโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยวิต ให้คำตอบว่า โควิดสายพันธุ์นี้ลดระดับการป้องกันจากวัคซีนเกือบทั้งหมด แต่วัคซีนส่วนใหญ่ยังแสดงประสิทธิภาพเป็นที่น่าพอใจในการป้องกัน และช่วยลดความรุนแรงจากอาการป่วยหรือเสียชีวิต ดังนี้  ไฟเซอร์ พบมีประสิทธิผลกับสายพันธุ์ของสหราชอาณาจักรและการกลายพันธุ์ในตัวแปรแอฟริกาใต้ได้ โมเดอร์นา พบมีผลกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อตัวแปรของแอฟริกาใต้ แต่กลับพบการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อตัวแปรของสหราชอาณาจักรหรือโคโรนาไวรัสดั้งเดิมที่น้อยกว่า

            จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน พบมีผลการป้องกันโรคดังกล่าวน้อยลง แต่ยังมีประสิทธิภาพสูงในการลดความรุนแรงจากอาการป่วยหรือเสียชีวิต โนวาแวกซ์ พบมีประสิทธิผลลดลง แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ 50% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับมาตรฐาน

            ขณะที่วัคซีนแอสตราเซเนกาถูกระงับการใช้ที่แอฟริกาใต้ หลังพบผลการฉีดวัคซีนมีประสิทธิภาพต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน อย่างไรก็ตามมีรายงานความความคืบหน้าว่านักวิจัยของวัคซีนดังกล่าวกำลังเร่งปรับแต่งวัคซีน โดยการใส่ลำดับพันธุกรรมจากตัวแปรใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มประสิทธิผลการทำงานของวัคซีนให้ดีขึ้นได้

            ประเด็นที่น่ากลัวตามมาคือ ไวรัสมักจะกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ตามสภาพแวดล้อมของตัวเอง ซึ่งถ้ามีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์แอฟริกาใต้ในไทย ความกังวลที่จะเกิดการระบาดใหม่ในระลอกที่ 3 ก็จะเป็นจริง แล้ววัคซีนแอสตราเซเนกาที่ไทยกำลังตั้งตารอเพื่อจะฉีดให้กับประชาชน คงอาจล้มเหลวต่อการป้องกันโรคได้ และที่สำคัญกว่านั้นไม่มีใครทราบว่าสายพันธุ์แอฟริกาใต้เมื่อมาอยู่ในสิ่งแวดล้อมประเทศไทยจะกลายพันธุ์ไปเป็นสายพันธุ์รุนแรงกว่านี้หรือไม่ คงไม่มีใครอยากให้เกิดเรื่องกรณีแบบนี้.

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"