นักข่าว หมอดู และการเดินทาง


เพิ่มเพื่อน    


ปกหนังสือ A Fortune-Teller Told Me หากมีผู้พิมพ์เป็นภาษาไทยก็อาจใช้ชื่อ “คำเตือนหมอดู”

              ก่อนจะขึ้นเรื่องใหม่วันอาทิตย์นี้ ต้องกราบขออภัยท่านผู้อ่านเวอร์ชั่นหนังสือพิมพ์เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้วเสียก่อนครับ ท่อนสุดท้ายของ “ชาวเมารีแห่งนิวซีแลนด์” ผมเขียนผิดพลาดไปอย่างน่าถูกทำโทษ ระบุตัวเลขคนไร้บ้าน 1 เปอร์เซ็นต์ของ 5 ล้านคน เป็น 5 แสนคน ที่ถูกต้องคือ 5 หมื่นคน หากว่าจำนวนคนไร้บ้านมากมายถึงครึ่งล้านจริงคงได้เห็นผู้คนหลับนอนบนบาทวิถีกลาดเกลื่อนยิ่งกว่าฝูงแกะนิวซีแลนด์หากินตามทุ่งหญ้าเป็นแน่แท้

                ในห้วงเวลาแห่งการระบาดของโควิด-19 อันยาวนี้ เชื่อว่ามีหลายท่านคันตามนิ้วมือนิ้วเท้า อยากเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศแทบขาดใจ ผมเองไม่ได้เดินทางมาปีกว่าก็คิดถึงบรรยากาศการโดยสารรถไฟต่างถิ่น เช็กอินโฮสเทล นั่งสนทนากับคนแปลกหน้าในบาร์เล็กๆ ชมเทศกาลประจำเมือง ฯลฯ และที่สำคัญระยะหลังๆ มานี้เกิดอาการชักจะตันๆ ตื้อๆ ไม่รู้จะเขียนเรื่องอะไรดี

                มิตรสหายในต่างประเทศหลายคนส่งข้อความ เขียนอีเมลมาปรับทุกข์ และรู้สึกว่าพวกเขาจะทุกข์ยิ่งกว่าเรา โดยเฉพาะทางยุโรป อย่าว่าจะไปเที่ยวต่างเมือง แค่ออกจากบ้านยังยาก เพราะถูกคำสั่งล็อกดาวน์ การนั่งเครื่องบินไปเที่ยวต่างประเทศแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องถูกกักตัวเสียครึ่งเดือนก่อนได้เข้าประเทศ เที่ยวอีกครึ่งเดือนก็หมดเวลาพักร้อนพักหนาว กลับประเทศยังต้องถูกกักตัวอีก

                เพื่อนชาวเยอรมันของผมคนหนึ่งเขียนอีเมลมาหาแทบทุกสัปดาห์ เขาเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศปีละ 2 ครั้ง อย่างน้อย 1 ครั้งต้องบินมาเมืองไทย จากนั้นอาจจะเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านของเราต่อ ก่อนจะวกมาขึ้นเครื่องบินที่กรุงเทพฯ กลับเยอรมนี นี่เป็นปีที่สองแล้วที่เดินทางไปไหนไม่ได้ ก็เกิดอาการคันหัวใจนักเดินทางอย่างที่ผมได้กล่าวไป

                ด้วยความชื่นชอบนักข่าว-นักเขียนระดับโลกชื่อ Tiziano Terzani (ติเซียโน เตอร์ซานี) อย่างชนิดเป็นแฟนตัวยง เมื่อเขาอ่านงานของ “เตอร์ซานี” เจอเรื่องโดนๆ ประโยคเด็ดๆ ทีไรก็จะเขียนมาแบ่งปันกับผม เมื่อไม่กี่วันก่อนได้ส่งบทความที่มีคนเขียนถึงเตอร์ซานีมาให้อ่าน ผมมีหนังสือ A Fortune-Teller Told Me ของเตอร์ซานีอยู่นานแล้ว แต่ไม่เคยเปิดอ่าน จึงได้เวลาทำความรู้จักเสียที

            “ติเซียโน เตอร์ซานี” เกิดเมื่อปี ค.ศ.1938 ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ครอบครัวมีฐานะยากจน ญาติของเขาหลายคนเรียนจบแค่ระดับประถมศึกษา เขาเองในวัย 15 ปีก็ได้ตระเวนล้างจานในร้านอาหารไปทั่วยุโรป แต่สุดท้ายก็ยังกลับมาเรียนจนจบปริญญาทางด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยมีชื่อระดับประเทศในเมืองปิซา จากนั้นได้ทำงานในบริษัทผลิตอุปกรณ์สำนักงาน ครั้งหนึ่งได้รับมอบหมายให้เดินทางไปติดต่อธุรกิจในญี่ปุ่น การเดินทางครั้งนั้นทำให้เขาได้พบเจอเอเชียและได้เปิดโลกอย่างแท้จริง ไม่นานก็ลาออกจากบริษัทเพื่อไปเรียนภาษาและวัฒนธรรมจีนที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา


“ติเซียโน เตอร์ซานี” ภาพด้านในปกหน้าของหนังสือ A Fortune-Teller Told Me

 

                เขาเดินทางมายังเอเชียอีกครั้งในปี ค.ศ.1971 ยึดสิงคโปร์เป็นฐานเพื่อรายงานข่าวความเคลื่อนไหวในภูมิภาคเอเชียซีกตะวันออกให้กับวารสารข่าวรายสัปดาห์ของเยอรมนี Der Spiegel เป็นการย้ายมาพร้อมๆ กับภรรยาชาวเยอรมันและลูกน้อยอีก 2 คน

                เวลาต่อมาได้ย้ายไปประจำการตามประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้อีกหลายแห่ง ทั้งญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง เวียดนาม กัมพูชา และไทย เขาค่อยๆ เป็นที่รู้จักในอิตาลีบ้านเกิด และประเทศอื่นในยุโรปด้วยงานเขียนที่เต็มไปด้วยความรอบรู้ วิพากษ์วิจารณ์อย่างเร่าร้อนรุนแรง และเขียนด้วยลีลาวรรณกรรม

                นอกจาก Der Spigel ก็ยังได้ร่วมงานกับหนังสือพิมพ์อิตาลีอย่าง Corrier della Sera และ La Republica อีกด้วย เตอร์ซานีได้เผชิญเหตุการณ์สำคัญๆ ของโลกด้วยตาตัวเอง อาทิ เหตุการณ์เวียดนามเหนือกรีฑาทัพเข้ายึดไซง่อนได้สำเร็จและเห็นทหารอเมริกันคนสุดท้ายกระโดดหนีขึ้นเฮลิคอปเตอร์ เหตุการณ์เขมรแดงเข้ายึดกัมพูชาและวันที่เขมรแดงถูกโค่น รวมถึงได้เห็นการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991

                ยุคที่จีนคอมมิวนิสต์กำลังขมีขมันกับการปฏิวัติวัฒนธรรม ถอดรื้อธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อแบบเก่า เตอร์ซานีเป็นหนึ่งในนักข่าว-นักเขียนจากโลกตะวันตกจำนวนไม่กี่คนที่ได้อยู่อาศัยในกรุงปักกิ่งรายงานข่าวจากจีนให้โลกรับทราบตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 1980 เขาได้ไปเยือนทิเบต ดินแดนเคร่งครัดในพุทธศาสนา สังเกตเห็นความเป็นไปของสถานการณ์อันล่อแหลมที่ถูกคุกคามโดยกรงเล็บคอมมิวนิสต์

                ชาวตะวันตกทั่วไปนั้นแม้จะเข้าใจและซึมซับรับเอาวัฒนธรรมตะวันออกได้ดีแค่ไหน แต่ส่วนมากแล้วพวกเขาก็ยังปฏิบัติตนบางอย่างในแนวทางเดิม เรียกได้ว่าไม่ทิ้งนิสัยและรากเหง้า

                ในกรณีของเตอร์ซานี ซึ่งเป็นชาวเมืองฟลอเรนซ์ เมืองที่มีวัฒนธรรมการพูดจาแสดงออกทางการเมืองโผงผางตรงไปตรงมา อย่าง “ดันเต” หรือ “แมคคิอเวลลี” ผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง 2 ก็ล้วนเป็นชาวเมืองฟลอเรนซ์ เตอร์ซานีได้วิพากษ์วิจารณ์ จะว่าไปก็คงสื่อสารตามสิ่งที่พบเห็นในประเด็นการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของจีนต่อสื่อตะวันตก สุดท้ายทางการจีนก็ขับไล่เขาออกจากแผ่นดินในปี ค.ศ.1984 ข้อหาเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิวัติ เตอร์ซานีเจ็บปวดยิ่ง เพราะความรักที่เขามีต่อจีนได้ถูกตีความผิดไปจากความตั้งใจของเขา ไม่นานจากนั้นได้ออกหนังสือ Behind The Forbidden Door ตีแผ่เรื่องราวหลังม่านไม้ไผ่

                ย้อนไปยังฤดูใบไม้ผลิ ปี ค.ศ.1976 ขณะติดสอยห้อยตามเพื่อนชาวจีนไปยังสำนักหมอดูแห่งหนึ่งในเขตหว่านไจ๋ ฮ่องกง ที่เวลานั้นอังกฤษยังไม่หมดสัญญาเช่าจากจีน เพื่อนของเขาดูหมอเพื่อจะไปวัดดวงที่กาสิโนในมาเก๊า เมื่อดูดวงให้เพื่อนเสร็จหมอดูชราก็ชี้ไปที่เตอร์ซานี “อั๊วสนใจคนนั้น” เป็นอันว่าเขาได้ดูดวงเป็นครั้งแรกในชีวิต


“ติเซียโน เตอร์ซานี” ในอินเดีย (ภาพจาก : italia.ilreporter.com/il-buddha-di-tiziano-terzani)

 

                คนที่เคยปฏิเสธหมอดูแล้วเปลี่ยนเป็นติดหมอดูนั้น ส่วนมากก็คงมาจากการที่หมอทายอดีตของเราได้ตรงเผงนั่นเอง ในกรณีของเตอร์ซานี หมอดูคนนี้ทายว่าประมาณ 1 ปีก่อนเขาเกือบตายไปแล้ว หากว่า “ยิ้ม” ได้ช่วยชีวิตเขาไว้

                เป็นความจริง เตอร์ซานีนึกย้อน เมื่อ 1 ปีก่อนพอดิบพอดี (เมษายน 1975) ระหว่างกองกำลังเขมรแดงของพลพตเข้ายึดพนมเปญ เตอร์ซานีหนีออกไปทันเวลา ขณะพักอาศัยอยู่ในโรงแรมโอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ เขาเกิดความรู้สึกผิดที่ไม่อยู่ต่อในพนมเปญ เพราะมีเพื่อนนักข่าวของเขาบางคนยังติดค้างอยู่ที่นั่น จึงตัดสินใจเช่ารถขับไปยังชายแดนอรัญประเทศ ทิ้งรถไว้แล้วข้ามไปยังฝั่งปอยเปต มีความคิดหลุดโลกหมายเดินเท้าเข้าสู่พนมเปญ ระหว่างทางได้สวนกับคลื่นชาวเขมรที่หนีภัยสงครามไปยังทิศทางฝั่งประเทศไทย  สุดท้ายเขาก็โดนทหารเขมรแดงจับ ถูกดันให้หลังชนกำแพง ทหารเอาปืนจ่อหัว แล้วตะโกน “ซีไอเอ ซีไอเอ อเมริกา อเมริกา”

                เตอร์ซานีรีบหยิบพาสปอร์ตออกมา ยิ้มหวานแล้วพูดว่า “ผมเป็นชาวอิตาเลียน ไม่ใช่อเมริกัน”

                ในกลุ่มคนผู้สนับสนุนการปฏิวัติเขมร เขาสังเกตเห็นหนุ่มหน้าตี๋อยู่ด้วย เตอร์ซานีพูดภาษาจีนออกไป พ่อค้าชาวจีนในกัมพูชารายนี้จึงแปลความหมายให้ทหารเขมรแดงรับทราบ

            “อย่าเพิ่งยิง ผมเป็นนักข่าว รอให้นายทหารฝ่ายการเมืองของพวกคุณมาตัดสิน ผมเป็นอิตาเลียน ไม่ใช่อเมริกัน” แล้วก็ฉีกยิ้มพิมพ์ใจแช่ค้างไว้

                หลายชั่วโมงต่อมานายทหารฝ่ายการเมืองเดินทางมาถึง พูดกับไอ้เณรเขมรแดงเสียยืดยาวแล้วหันมาพูดกับเตอร์ซานีเป็นภาษาฝรั่งเศส ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ภาษาที่เขาเชี่ยวชาญ

            “ยินดีต้อนรับสู่กัมพูชา วันนี้เป็นวันแห่งชัยชนะของเรา”

                เตอร์ซานีถูกปล่อยเป็นอิสระ เขาเดินทางกลับกรุงเทพฯ เมื่อถึงโรงแรมโอเรียนเต็ลก็มีโอกาสได้บอกกับลูกๆ ว่า “เวลาใครเอาปืนมาจ่อหัว ต้องยิ้มไว้นะลูก”

                ก่อนนั้นแม้ว่าเขาได้หลงเสน่ห์วัฒนธรรมความเชื่อของเอเชียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถึงขั้นครั้งหนึ่งบอกว่าเขาเป็นชาวเอเชียที่กลับชาติมาเกิดในอิตาลี แต่เขาไม่เคยเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ เมื่อพบว่าหมอดูจับยามสามตาได้แม่นยำขนาดนี้ เขาจึงประหลาดใจและเริ่มคล้อยตาม

                หมอดูชราในเขตหว่านไจ๋เตือนเขาว่า ปี ค.ศ.1993 ให้ระวังไว้ “ทั้งปีนี้ห้ามขึ้นเครื่องบิน อย่าขึ้นแม้แต่ครั้งเดียว เสี่ยงถึงตาย แต่ถ้ารอดไปได้ก็จะมีอายุถึง 84 ปี”

                จากปี ค.ศ.1976 ถึง 1993 ยาวนานถึง 17 ปี แต่เตอร์ซานีไม่ลืม และเวลาที่ผ่านไปเขาคงเชื่อมั่นศาสตร์การพยากรณ์ชีวิตเพิ่มขึ้นอีกมาก ตัดสินใจว่าจะไม่บินตามที่หมอดูได้เตือนไว้ นับเป็นความลำบากยากเข็ญสำหรับผู้มีอาชีพรายงานข่าว ซึ่งได้ปฏิญาณตนว่าต้องรายงานจากจุดเกิดเหตุโดยมีวัตถุดิบจากปากเสียงผู้คนในพื้นที่ เขาเคยบอกว่ามีนักข่าวฝรั่งรายงานข่าวเหตุการณ์เทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 ด้วยการดูจากทีวีของโรงแรมในกรุงปักกิ่ง ทั้งที่เหตุการณ์จริงอยู่ห่างออกไปไม่กี่ร้อยเมตร หากเขาอยู่ในปักกิ่งเวลานั้นก็คงได้ออกไปอยู่ในจัตุรัสเทียนอันเหมิน ไม่สามารถเป็นอย่างอื่นได้

                หัวหน้ากองบรรณาธิการ Der Spiegel เข้าใจในคำอธิบายของเตอร์ซานี อนุญาตให้เขาทำข่าวโดยไม่ขึ้นเครื่องบินทั้งปีนั้น โดยมีเพื่อนร่วมงานชาวเยอรมันคนหนึ่งทำหน้าที่หลักแทน

                เป็นปกติทุกปี เตอร์ซานีต้องกลับไปเยี่ยมแม่ที่ฟลอเรนซ์ในช่วงฤดูร้อน เขาเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงอิตาลีโดยผ่านกัมพูชา เวียดนาม จีน แล้วนั่งรถไฟสายทรานซ์ไซบีเรียจากจีนไปยังยุโรป ขากลับออกจาก “ลา สปีเซีย” เมืองชายฝั่งทะเลที่อยู่ระหว่างเจนัวและปิซาโดยเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่พร้อม “อานเจลา” ภรรยา (คนเดิม) ในเรือนอกจากตู้คอนเทนเนอร์นับพันแล้วก็มีลูกเรืออิตาเลียนอีก 18 คน จากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนล่องไปทางตะวันออก เข้าคลองสุเอซของอียิปต์สู่ทะเลแดง ออกอ่าวเอเดน ล่องไปในมหาสมุทรอินเดียจนถึงช่องแคบมะละกา แล้วขึ้นฝั่งที่สิงคโปร์

                ช่วงเวลา 1 ปีนี้เขายังได้เสาะหาหมอดูเก่งๆ จากอีกหลายที่ ย่านเยาวราชของกรุงเทพฯ ก็เป็นหนึ่งในนั้น มีคนแนะนำให้เขาไปพบหมอดูตาบอดชาวจีนตั้งแต่ช่วงต้นปี หมอดูขอวันเดือนปีเกิด เวลาและสถานที่ตกฟากเหมือนเช่นชายชราในเขตหว่านไจ๋ของฮ่องกง

                ล่ามสตรีชาวไทยที่เขาจ้างไปแปลคำทำนายให้เตอร์ซานีฟัง สรุปใจความได้ว่า ปีนี้ไม่ค่อยดี แต่ปีที่แย่ที่สุดได้ผ่านไปแล้ว นั่นคือปี 1991 ที่เกือบจะเกิดอุบัติเหตุทางอากาศ และหากจะไปใช้ชีวิตในประเทศอื่นต้องเป็นปีถัดไป นั่นคือ 1994 ทายอีกว่าเขาจะมีเงินใช้อย่างเพียงพอ แต่ชาตินี้จะไม่มีวันร่ำรวยเงินทอง ทว่าจะมีชื่อเสียงจากการเขียนหนังสือ และมีอายุจนถึง 76 ปี

                เตอร์ซานีทึ่ง เพราะหมอดูไม่รู้มาก่อนว่าเขาเป็นใคร ซึ่งในเวลานั้นเขาพอมีชื่อเสียงจากการเขียนหนังสือแล้ว อีกทั้งในปี 1991 หรือ 2 ปีก่อนหน้านั้นเครื่องบินที่เขานั่งเกือบตกในโซเวียต ช่วงนั้นเขากำลังเขียนหนังสือ Goodnight, Mister Lenin ทว่าการจะไปอยู่ประเทศอื่นในปี 1994 คงเป็นไปไม่ได้ เพราะสัญญากับ Der Spiegel จะสิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคม 1995 เช่นเดียวกับสัญญาบ้านเช่าในกรุงเทพฯ

                วันที่ 20 เดือนมีนาคม 1993 ได้เกิดเหตุเฮลิคอปเตอร์ของสหประชาชาติตกในกัมพูชา มีผู้โดยสารรวม 23 คน รวมทั้งนักข่าวต่างประเทศ 15 คน โดยหนึ่งในนั้นคือ “โยอาคิม เฮอซเจิน” เพื่อนร่วมงานผู้ทำหน้าที่แทนเตอร์ซานี “เฮอซเจิน” ได้รับบาดเจ็บขาหักและกระดูกสันหลังผิดรูป อุบัติเหตุครั้งนี้แม้ไม่มีใครเสียชีวิต แต่บาดเจ็บสาหัสไปหลายคน

                และในปี 1994 เตอร์ซานีย้ายไปอินเดียเพื่อศึกษาเรียนรู้ทางด้านจิตวิญญาณและศาสนาโดยไม่ต้องรอถึงปี 1995 ก่อนที่ต่อมาจะได้เป็นศาสนิกของฮินดูในปี 1999

                การเดินทางข้างในได้ทำให้เขาตระหนักถึงการมีชีวิตอยู่ และกล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า “...คือการอยู่อย่างผสมผสานกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาลและตัวของเราเอง” และ “บ่อยครั้งคนเราติดกับดักภาษา ถูกขังด้วยแนวความคิด ความรับรู้ และอคติ แต่เมื่อเลิกยึดติดกับอุดมการณ์ ผมก็พบว่าตัวเองได้เดินทางเข้าใกล้การค้นพบชีวิต นั่นคือการค้นหาความจริง”

                แต่หลังเหตุการณ์ 9/11 เขาก็เดินทางออกจากอาศรมในเขตเทือกเขาหิมาลัยไปรายงานข่าวสงครามในอัฟกานิสถานจากปากคำของชาวบ้านผู้ตกเป็นเหยื่อการทิ้งระเบิดของกองทัพสหรัฐ

            “โอเรียนา ฟัลลาชี” สื่อมวลชนสตรีชาวอิตาเลียนผู้มีชื่อเสียงโด่งดังร่วมยุคกับเตอร์ซานีได้เขียนประณามมุสลิมแบบเหมารวม เตอร์ซานีทนไม่ได้จนต้องออกหนังสือ Letters Against the War เพื่อตอบโต้

                เตอร์ซานีถูกตรวจพบมะเร็งลำไส้และได้ต่อสู้อยู่ระยะหนึ่ง เมื่อเห็นว่าหมดหนทางเอาชนะ เขาก็เดินทางกลับอิตาลีเพื่อไปอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว และได้ให้สัมภาษณ์ “ฟอลโก” ลูกชายของเขาเองในหนังสือ The End Is My Beginning ตีพิมพ์ในปี 2006

                ตอนหนึ่งในหนังสือเขาได้กล่าวว่า “เห็นมั้ยว่าสื่อรายงานข่าวสงครามในอิรักว่าอย่างไร มีแต่อคติทั้งนั้น เจ้าจะไม่พบความจริงจากข้อเท็จจริงที่พวกเขานำเสนอ ความจริงอยู่ลึกลงไปอีกระดับ ต้องมีมิติทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมประกอบด้วย...”

                หมอดูจากเขตหว่านไจ๋และเยาวราชอาจแม่นในเรื่องอุบัติเหตุและการดำเนินชีวิต แต่ไม่ใช่การทายอายุคน

            “ติเซียโน เตอร์ซานี” เสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ.2004 ขณะมีอายุ 65 ปีเท่านั้น.

 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"