รอยร้าวผลโหวตซีกรัฐบาล จับตาศึกซักฟอกนอกสภาฯ


เพิ่มเพื่อน    

        ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล 10 คน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ระหว่างวันที่ 16-19 ก.พ. 4 วัน 4 คืน ใช้เวลาไปมากกว่า 60 ชั่วโมง จบลงไปแล้ว

                ลงมติโหวตว่าจะไม่ไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ในวันเสาร์ที่ 20 ก.พ. ผลออกมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้รับคะแนนไม่ไว้วางใจ 206 ไว้วางใจ 272 งดออกเสียง  3 พล.อ.ประวิตรได้รับคะแนนไม่ไว้วางใจ 204 ไว้วางใจ 274 งดออกเสียง 4 นายอนุทินได้รับคะแนนไม่ไว้วางใจ 201 ไว้วางใจ 275 งดออกเสียง 6 นายจุรินทร์ได้รับคะแนนไม่ไว้วางใจ 207 ไว้วางใจ 268 งดออกเสียง 7 พล.อ.อนุพงษ์ได้รับคะแนนไม่ไว้วางใจ 205 ไว้วางใจ 272 งดออกเสียง 3 

                นายณัฏฐพลได้รับเสียงไม่ไว้วางใจ 215 ไว้วางใจ 258 งดออกเสียง 8 นายสุชาติได้รับเสียงไม่ไว้วางใจ 212 ไว้วางใจ 263 งดออกเสียง 5 ไม่ลงคะแนนเสียง 1 นายศักดิ์สยามได้รับเสียงไม่ไว้วางใจ 201 ไว้วางใจ 268 งดออกเสียง 12 ไม่ลงคะแนนเสียง 1 นายนิพนธ์ได้รับเสียงไม่ไว้วางใจ 206 ไว้วางใจ 272 งดออกเสียง 4 และ ร.อ.ธรรมนัสได้รับเสียงไม่ไว้วางใจ 199 ไว้วางใจ 274 งดออกเสียง 5 ไม่ลงคะแนนเสียง 1 

                ตามเงื่อนไขทางรัฐธรรมนูญ กฎหมายกำหนด รัฐมนตรีจะพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หากได้รับเสียงจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลงมติไม่เกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากสมาชิกทั้งหมดที่ลงมติ ตัวเลขปัจจุบัน หากใครได้รับเสียงไว้วางใจไม่ถึง 244 จะต้องยุติปฏิบัติหน้าที่ทันที ปรากฏว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้ง 10 คนสอบผ่าน ได้ทำหน้าที่ต่อไป แม้หลังจากการลงคะแนน แต่ละคนจะมีเสียงไว้วางใจมากบ้าง น้อยบ้าง เสียงงดออกเสียงมากเป็นพิเศษ เป็นเรื่องราวที่แต่ละพรรคต้องไปว่ากันต่อไป

                ในพรรคพลังประชารัฐ เดิมเก็งหวย พี่เสือ-ร.อ.ธรรมนัสจะได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจน้อยที่สุด อมบ๊วยในกลุ่มรัฐมนตรีซีกพลังประชารัฐ ปรากฏว่า คะแนนไว้วางใจสูงสุด เทียบชั้นพี่ใหญ่มากบารมีในพรรคอย่าง บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร ที่คะแนนแซงหน้าแม้แต่ บิ๊กตู่-พล.ประยุทธ์ พล.อ.อนุพงษ์ เลยทีเดียว 

                ปล่อยให้ เสี่ยตั้น-นายณัฏฐพล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กินบ๊วยแทน ได้คะแนนเสียงไว้วางใจเพียง 258 คะแนน ไม่รู้เป็นเพราะการขับเคลื่อนกับกลุ่มสมาชิกในพรรค ต่างพรรคให้กระชุ่มกระชวย ในค่ำคืนหมาหอน ก่อนลงมติเพียง 1 วันหรือเปล่า ทำให้ผู้กองธรรมนัสคะแนนพุ่งสูง กลับทำให้มนต์ขลัง บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรค เริ่มเสื่อมลง แม้จะเรียกประชุมด่วนแกนนำพรรค หัวหน้ามุ้ง กำชับลูกพรรคให้คะแนนเสียงไว้วางใจรัฐมนตรีในค่ายแต่ละคนออกมาเท่าๆ กัน เพื่อรักษาทั้งหน้าตัวเอง และความเป็นเอกภาพในรัฐบาลไม่ให้สั่นคลอนหนักขึ้น

                อันเนื่องจากกระแสข่าวที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนการอภิปราย ที่รัฐมนตรีบางคนเดินเกมอย่างหนัก ทิ่มแทงรัฐมนตรีอีกคนในค่ายเดียวกัน ที่ผสมทั้งเรื่องการทำงาน เรื่องส่วนตัว โดยมีจุดหมายสุดท้าย เพื่อหวังกดดัน นำไปสู่การเปิดทางปรับ ครม. แต่ผลที่ออกมา คะแนนบางคนโดดไปมาก กดคะแนนบางคนให้ต่ำลง หวังทำให้เสียหน้า ชี้ให้เห็นพลังบารมี คอนเน็กชั่นทั้งในพรรค ต่างพรรค การขับเคลื่อนที่เหนือกว่า เลยออกมาเป็นผลคะแนนอย่างที่ได้เห็นกัน   

                จะว่าไปแล้ว ผลการลงคะแนนเสียงรอบนี้ เกิดการไม่ไว้วางใจพวกกันเองทั้ง 2 ฝ่าย กลุ่มดาวฤกษ์จากพรรคพลังประชารัฐ นำโดย มาดามเดียร์-นางวทันยา วงษ์โอภาษี กับสมาชิกกลุ่ม 6 เสียง งดออกเสียงให้ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม จากซีกรัฐบาลด้วยกัน จากปมการชี้แจงไม่เคลียร์ ในการล้มประมูลโครงการรถไฟฟ้าสีส้ม 

                ในซีกฝ่ายค้าน พรรคก้าวไกลมี ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 4 คน ไปลงคะแนนเสียง สนับสนุนนายอนุทิน รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย ในซีกฝ่ายรัฐบาล พรรคประชาชาติ ก็มี ส.ส.แหกโผอย่างผิดสังเกต ขณะที่ในพรรคประชาธิปัตย์ ผลการลงคะแนน ส.ส.ในพรรคหลายคน ลงคะแนนหักหน้า นายจุรินทร์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่นั่งในตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ 

                เบื้องลึก เบื้องหลัง จากสาเหตุทางการเมือง ชี้แจงไม่เคลียร์ หรือมีเรื่องส่วนตัว ความขัดแย้งในพรรค หรือประเด็นอะไรที่มากกว่านั้น หลังจบศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ แต่ละพรรคคงต้องไปเคลียร์ปัญหาภายในกันขนานใหญ่ ยังไม่รับรวมพรรคเล็กที่คะแนนเสียงสวิงไปมากันอุตลุด 

                พรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาลโชคดีตรงที่ว่า ในวันนี้คะแนนเสียงระหว่างซีกรัฐบาลกับซีกฝ่ายค้านเหลื่อมกันมากกว่า 40 เสียง ไม่เหมือนกับตอนตั้งรัฐบาลใหม่ๆ ที่คะแนนห่างกันเพียง 5 คะแนน พรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาลจึงยังคงสถานะความเป็นรัฐบาลต่อไปได้ ไม่จำเป็นต้องผนึกกำลังต้านศัตรู มีเวลาหันมาทิ่มแทงกันเอง

                ปัญหาของคะแนนเสียง หากไปถอดรหัส ดูถึงความเป็นไปเป็นมา จะเห็นรอยร้าวที่มาที่ไปในซีกพรรคพลังประชารัฐ พรรคร่วมรัฐบาล มากกว่าใครเพื่อน ที่มีปัญหาทั้ง ปัญหาภายในพรรคกันเอง ก่อนการอภิปรายมีข่าวลืออย่างหนาหู ข้อมูลสำคัญหลุดออกไปจาก ซีกรัฐบาล นำไปให้พรรคร่วมฝ่ายค้านอภิปราย

                ไม่ใช่มีแค่เพียงในพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น ยังมีพรรคการเมืองบางพรรคในซีกรัฐบาลที่ไปขุดข้อมูล อันเนื่องจากในอดีตเคยนั่งกำกับดูแลในหน่วยงานนั้นมาก่อน เลยมีข้อมูล Exclusive ส่งไปถึงมือฝ่ายค้าน ที่ก็แค่เพียงปะติดปะต่อ ขยายความ ใส่ลีลา น้ำเสียง ชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติในการบริหารงานของรัฐมนตรีคนนั้นๆ  

                เป็นการยืมปากเพื่อน ส่งมีดให้ เบื้องหลังการทำงาน พรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาลช่างน่าหดหู พรรคหรือความเป็นรัฐบาลคงสถานะไว้เพียงรวมการเฉพาะกิจเท่านั้น มีข่าวที่หลุดออกมาอย่างต่อเนื่อง แกนนำแต่ละมุ้ง แยกขั้ว แบ่งสาย ไปยื่นจดแจ้งทำพรรคการเมืองใหม่รอ หากการเมืองพลิกผัน   

                การอภิปรายครั้งนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านอาจจะถูกเสียงเย้ยหยัน เยาะเย้ย ไม่มีของบ้าง ข้อสอบรั่วบ้าง เกิดความขัดแย้งภายในกันอยู่บ้าง แต่ใช่ว่าจะไม่มีของเสียทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมัดเด็ดที่ปล่อยไป 

                ปมเหมืองทองอัครา ที่พุ่งเป้าไปยังนายกรัฐมนตรี ที่มีการฉายภาพให้เห็นตั้งแต่การใช้มาตรา 44 ไปยึดคืนหรือปิดเหมือง นำมาสู่การฟ้องร้องในศาลต่างประเทศ จนไต่สวนข้อพิพาทแล้วเสร็จ ขั้นตอนหลังจากนี้คือ ต่อรอง ไกล่เกลี่ย ก่อนที่จะมีการเขียนคำชี้ขาดที่จะออกใน 1-2 เดือนนี้ 

                มีความพยายามยกที่การทำเหมืองให้นับล้านไร่ แลกกับการถอนฟ้อง เรื่องราวอันสนุกตื่นเต้นยังมีเสียงลือหลุดรอดออกจากปากผู้มีอำนาจ ‘เซ็นๆ ไปเหอะ เขาจะได้ไม่ฟ้อง’ ขณะที่รัฐมนตรีผู้กำกับดูแลเรื่องนี้หนักใจ ยังดื้อแพ่งไม่ยอมลงนาม เพราะรู้ดีว่า หากลงนามไป ปลายทาง ทั้งเรื่องการเมือง ผลทางคดี จะมีอะไรตามมาบ้าง

                เช่นเดียวกับเรื่องราวไม่ชอบมาพากล ถุงมือยาง ภายใต้การกำกับของจุรินทร์ ที่มีการฉายภาพให้เห็นถึงความสัมพันธ์โยงใยถึงคนใกล้ชิด มีข้อมูลภาพ เอกสารหนักแน่น เป็นเหตุให้รัฐเสียหายไปกว่า 2 พันล้านบาท รวมไปถึงเรื่องราวการโยงใยขบวนการรับส่วยแรงงานต่างชาติ เรื่องราวธุรกิจพลังงาน การออกระเบียบแก้กฎเกณฑ์การค้าบางอย่างเพื่อ เอื้อเจ้าสัวบางราย และทำให้คนใกล้ชิดจากเดิมทำผิด แก้กฎเกณฑ์ให้ทำถูก เลยรอดเงื้อมมือทางกฎหมาย เรื่องราวบ่อนการพนัน ที่ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์เรื่องราวไม่สู้ดีนัก เจ้าของบ่อน มาถึงเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย และผู้ที่กำกับควบคุมดูแลเจ้าหน้าที่ โครงการกำจัดขยะด้วยระบบเตาเผา การล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม การขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นต้น 

                ที่ถือเป็นจิ๊กซอว์สำคัญ แต่ละเรื่องล้วนน่านำไปขยายต่อ เจาะลึกเป็นซีรีส์ยาว โยงใยให้เห็นถึงขบวนการอันไม่ชอบมาพากล แต่ก็อยู่ที่ว่าฝ่ายค้านจะกดปุ่มเดินหน้าตรวจสอบต่อไปเพื่อเขย่าขวัญรัฐบาล เสถียรภาพหรือไม่ หรือเพียงแค่ว่า จบฤดูไว้วางใจไปแล้วก็แล้วกันไป 

                หลังศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลคาดกันว่า จะมีการปรับคณะรัฐมนตรีอย่างแน่นอน ส่วนจะปรับกี่ตำแหน่ง เอาโควตาใครออก เอาโควตาใครเข้ามา กระทบไปถึงพรรคร่วมรัฐบาลด้วยหรือไม่ ปัญหาคาใจคนในพรรคพลังประชารัฐต่อคนในพรรคพลังประชารัฐ คนในพรรคพลังประชารัฐกับคนต่างพรรคจะลงเอย จบอย่างไร  

                ผลโหวตรัฐมนตรีทั้งในพรรคพลังประชารัฐ และในพรรคร่วมรัฐบาลจบลง แต่ก็สร้างรอยร้าวใหม่ให้เกิดขึ้น ขณะที่มหากาพย์ซีรีส์ ศึกซักฟอกนอกสภาฯ ที่คงจะมีมหกรรมเคลียร์ใจ เช็กบิล ก็เป็นอะไรที่น่าจับตามองชนิดห้ามกะพริบตาเลยทีเดียว.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"