ไฟต์บังคับ ปรับครม. นิรโทษกรรม สถานการณ์ไม่เอื้อ


เพิ่มเพื่อน    

      หลังคำพิพากษาของศาลอาญาเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา กับคำตัดสินคดี "กปปส." ซึ่งอัยการฝ่ายคดีพิเศษเป็นโจทก์ยื่นฟ้องแกนนำแนวร่วม กปปส. ที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. กับพวกรวม 39 คน แต่ปัจจุบันเหลือ 38 คน เพราะหนึ่งในจำเลยคือ พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ เสียชีวิตแล้ว ซึ่งคำฟ้องเอาผิดแกนนำ กปปส. ที่คดีเริ่มต้นมาจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ยุคธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นอธิบดี และต่อมาสำนวนส่งถึงอัยการ จนอัยการสั่งฟ้องจำเลยทั้งหมดในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ, ก่อการร้าย, ยุยงให้หยุดงานฯ, กระทำให้ปรากฏด้วยวาจาหรือวิธีการอื่นใดฯ ทำให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในราชอาณาจักรฯ, อั้งยี่, ซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองฯ, บุกรุกในเวลากลางคืนฯ และร่วมกันขัดขวางการเลือกตั้งฯ

      โดยคำตัดสินของศาลอาญาที่ออกมา ซึ่งตัดสินจำคุกจำเลยที่เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบันอยู่ด้วยคือ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พลังประชารัฐ เป็นเวลา 7 ปี-ถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม และ ส.ส.สงขลา ประชาธิปัตย์ 5 ปี และณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เป็นเวลา 6 ปี 16 เดือน ขณะที่จำเลยคนอื่นๆ ก็โดนตัดสินคดีตามความผิดแตกต่างกันไปตามโทษหนัก-เบาของแต่ละคน แต่ก็มีจำเลยหลายคนที่ศาลยกฟ้อง

      แต่ในส่วนของ 3 รมต.ดังกล่าว ผลก็คือทำให้ต้องหลุดจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญหลายมาตราที่เชื่อมโยงกันคือ บทบัญญัติในมาตรา 98 (6), มาตรา 101 (6) และ (13) และมาตรา 160 (6) และ (7)

      ซึ่งมือกฎหมายรัฐบาล "วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี" ออกมาสำทับยืนยันข้อกฎหมายว่า เมื่อศาลมีคำตัดสินจำคุกผู้เป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (7) จะหลุดจากตำแหน่งทันทีตั้งแต่มีคำพิพากษา ขณะที่ในส่วนของ ส.ส. ถ้าศาลไม่ได้เพิกถอนสิทธิทางการเมืองก็ไม่เป็นไร

      อย่างไรก็ตาม ในช่วงเย็นวันเดียวกัน หลังมีการยื่นขอประกันตัวจำเลยที่ถูกศาลตัดสินจำคุกโดยไม่รอลงอาญา มีรายงานว่า ศาลอาญาไม่ให้ประกันตัวจำเลยรวม 8 คน คือสุเทพ-ณัฏฐพล-พุทธพงษ์-ถาวร-ชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร ประชาธิปัตย์-นายอิสระ สมชัย ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ประชาธิปัตย์-ร.ต.แซมดิน เลิศบุศก์-นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือหลวงปู่พุทธะอิสระ จนมีการควบคุมตัวส่งเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที และน่าจะส่งผลต่อสถานภาพการเป็น ส.ส.ตามมาด้วย

      ก่อนหน้าที่ศาลจะไม่ให้ประกันตัว "สุเทพ เทือกสุบรรณ-อดีตลุงกำนัน" แสดงท่าทีหลังมีคำตัดสินของศาลออกมาผ่านการโพสต์เฟซบุ๊กของตัวเองว่า "เรียนพี่น้องร่วมอุดมการณ์ทุกท่าน วันนี้พวกเราแกนนำ กปปส.ถูกพิพากษาลงโทษจำคุกคนละหลายปี อย่างไรก็ตาม ทุกคนยังยึดมั่นในอุดมการณ์ รับใช้ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไม่เปลี่ยนแปลงครับ"

     หลังคำตัดสินดังกล่าว ในทางการเมืองทำให้เข้าสู่โหมด “การปรับคณะรัฐมนตรี” ไปโดยปริยาย ซึ่งก็เข้าสู่ช่วงเวลาที่กำลังมีการเคลื่อนไหวภายในพรรคพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์อยู่แล้ว ซึ่งคนในพรรคบางส่วนก็ต้องการให้มีการปรับ ครม.หลังจบศึกซักฟอก อย่างในพรรคประชาธิปัตย์เอง เห็นเงียบๆ แต่พบว่า คนในพรรคบางส่วนก็อยากให้มีการปรับ ครม.เช่นกัน เพราะที่ผ่านมาปีกว่ายังไม่มีการปรับ ครม.ในส่วนของพรรคเลย ขณะที่ “พลังประชารัฐ” ก็มีความเคลื่อนไหวจาก ส.ส.หลายกลุ่มในเรื่องการปรับ ครม.มาได้ร่วมเดือนแล้ว โดยเบื้องต้นข่าวว่า ส.ส.ในพรรคต้องการให้ขยับหลังจบศึกเลือกตั้งซ่อมที่นครศรีธรรมราช 7 มี.ค.นี้ก่อน

     อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์ออกมาแบบนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ แม้ไม่อยากให้มีแรงกระเพื่อมในพรรคร่วมรัฐบาล จึงแสดงท่าทีไม่ต้องการให้ปรับ ครม.มาตลอด แต่ถึงตอนนี้ยังไงก็ต้องปรับ

     ที่น่าจับตาก็คือ หากคนในพลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์เคลื่อนไหวเขย่ากันหนักๆ ก็อาจเป็นไปได้ที่จะมีการปรับ ครม.หลายตำแหน่ง เพราะแกนนำกลุ่มกรุงเทพมหานครคือ “ณัฏฐพล-พุทธิพงษ์” เจอปัญหาคดีความหนักหน่วงที่สุดในชีวิต จึงอาจทำให้มีการเขย่ารอบใหญ่ในพลังประชารัฐ เพื่อให้มีการปรับ ครม.หลายตำแหน่งตามมาแน่นอน

     และกับคดีความที่เกิดจากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ยุค นปช.-กปปส. ถึงตอนนี้พบว่าหลายสำนวนคดีถึงที่สุดไปแล้ว ที่เหลือค้างอยู่ก็คือ คดีในฝ่าย กปปส. แต่ที่โดนกันระนาวตอนนี้ก็คือ “คดีความที่มีการเอาผิดกับแกนนำม็อบสามนิ้ว” ทั้งเรื่องมาตรา 112 และมาตรา 116 ตามประมวลกฎหมายอาญา และอีกหลายคดี เช่น ฝ่าฝืน พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน

     หากจำกันได้ ก่อนหน้านี้หลายกลุ่มการเมืองเคยพยายามจุดกระแสเรื่องการนิรโทษกรรมคดีการเมืองที่เกิดจากการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมดให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่ยุคเสื้อเหลือง-เสื้อแดง-กปปส.จนถึงม็อบสามนิ้ว เพื่อล้างประวัติแกนนำบางคนให้สามารถเข้าสู่การเมืองได้ เพราะถือว่ามีการนิรโทษกรรมไปแล้ว โดยบางกลุ่มการเมืองมีการเคลื่อนไหวพยายามขบคิดผลักดันเรื่องนี้อยู่ ท่ามกลางข่าวว่าพลเอกประยุทธ์ก็เคยให้ทีมงานบางส่วนไปร่วมพูดคุยกับแกนนำเสื้อสีทางการเมืองหลายวง แต่สุดท้ายทุกวงหารือก็เดินหน้าต่อไปไม่ได้ เพราะติดเงื่อนไขหลายอย่าง โดยเฉพาะหวั่นเกรง "กระแสต่อต้าน" ถูกหาว่านิรโทษกรรมล้างผิดให้กับคนบางกลุ่ม

ทำให้ที่ผ่านมาแนวคิดการออก "กฎหมายนิรโทษกรรม” ให้กับคดีความที่เกิดจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง เลยไม่มีการพูดคุยผลักดันออกมาอย่างยิ่งจัง จนมาถึงตอนนี้ดูแล้วสถานการณ์ยิ่งอาจไม่เหมาะเข้าไปใหญ่ เพราะนับวันการต่อสู้เรื่องแนวคิดทางการเมืองเริ่มมาถึงจุดที่ไปสูงกว่าการสู้กันทางการเมืองไปแล้ว!!!.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"