ไม่แก้ 112 ระยะยาวส่งผลกระทบต่อสถาบันฯ


เพิ่มเพื่อน    

แก้ รธน.หากถูกล้มกระดาน เสี่ยงเกิดวิกฤติขัดแย้งรอบใหม่

            รัฐสภาได้พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256  เรียงรายมาตรา วาระ 2 เสร็จไปแล้วเมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่  25 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังจากนี้จะมีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อลงมติให้ความเห็นชอบวาระ 3 ต่อไปกลางเดือนมีนาคม  ขณะเดียวกันมีการคาดหมายกันว่า ช่วงเดือนมีนาคมศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา  256 ออกมาว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาในเวลานี้จะเดินหน้าต่อไปได้ หรือจะล้มกระดานทั้งหมด

                ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ที่แวดวงการเมืองต่างบอกว่าเขาคือมือขวา เป็นคนสนิทของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ  อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้มองเส้นทางการแก้ไข รธน.ต่อจากนี้ว่าอยู่บนความเสี่ยงจะเกิดวิกฤติการเมืองครั้งใหม่ หากศาล รธน.ล้มกระดานการแก้ไข รธน.ทั้งหมด ขณะเดียวกันยังพูดถึงเหตุผลที่ ส.ส.พรรคก้าวไกลเข้าชื่อเสนอแก้ไขกฎหมายรวม 5 ฉบับ ที่รวมถึงเสนอแก้มาตรา 112 ด้วย โดยย้ำว่าที่เสนอแก้ไขก็เพื่อต้องการให้มีการคุ้มครองพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์

            เลขาธิการพรรคก้าวไกล เริ่มต้นด้วยการมองเส้นทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อจากนี้ว่า หลังรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 วาระ 2 เสร็จสิ้นไปแล้ว ต่อไปจะมีการลงมติในวาระ 3 ในเดือนมีนาคมต่อไป แต่ก็ยังมีเหตุที่อาจทำให้กระบวนการหยุดชะงักลง หลังศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องตามญัตติที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 โดยหากศาลวินิจฉัยออกมาว่ารัฐสภาดำเนินการเรื่องนี้ไม่ได้ ก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ตามมา

            ...พรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยกับการยื่นคำร้องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านกระบวนการของรัฐสภา ไม่ว่าจะแก้ไขโดยรัฐสภาเอง หรือว่ารัฐสภาเปิดช่องให้ประชาชนมาแก้ผ่านการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญมันเป็นอำนาจที่รัฐสภาทำได้ เพราะเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามวิถีประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาที่เป็นการใช้อำนาจของสภา ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และเป็นเจ้าของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ แต่พอไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ก็หมิ่นเหม่มากที่จะให้อำนาจตุลาการและศาลรัฐธรรมนูญมาจำกัดสิทธิ์ตรงนี้ มาล้ำเส้นแดนอำนาจของรัฐสภา ฝ่ายนิติบัญญัติ

            ...ถือเป็นความสุ่มเสี่ยง เพราะจะทำให้สมดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ในระบอบประชาธิปไตยเสียสมดุลไป จะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเห็นด้วยกับคำร้องของนายไพบูลย์ที่ยื่นไป ถ้าล้มกระดานจะเป็นเรื่องใหญ่มากในสังคมไทย เพราะว่าญัตติของนายไพบูลย์ระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้มีบทบัญญัติที่เปิดช่องให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับมาแทนที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

            เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวต่อไปว่า ดังนั้นในทางปฏิบัติหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปในทางที่นายไพบูลย์และคณะเป็นคนยื่น เท่ากับผลในทางปฏิบัติก็คือ หลังจากนี้ประเทศไทยจะไม่สามารถมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เลยผ่านกระบวนการทางประชาธิปไตยและรัฐสภา ทำให้เราก็จะอยู่กับรัฐธรรมนูญปี 2560 ไปตลอดกาล จะทำได้ก็แค่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จนกว่าจะมีการทำรัฐประหารครั้งต่อไปเท่านั้น เพราะเมื่อมีการทำรัฐประหารก็จะมีการฉีกรัฐธรรมนูญ พอมีการฉีกรัฐธรรมนูญก็จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ในนั้นถึงจะมีการเขียนหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวร จากนั้นถึงจะมีกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาอีก มันจึงเป็นเรื่องใหญ่มากที่นายไพบูลย์ทำและศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะวินิจฉัย จะกระทบและจะเป็นเรื่องใหญ่มากกับการวางบรรทัดฐานการเมืองที่จะมีปัญหาการเมืองมาก ซึ่งเฉพาะหน้าก็คือ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภากำลังดำเนินการอยู่ได้รับผลกระทบ แต่ที่ใหญ่กว่านั้นก็คือ การไปวางบรรทัดฐานการเมืองว่าต่อไปนี้ เราไม่สามารถใช้ระบบรัฐสภาตามกระบวนการประชาธิปไตยจัดทำรัฐธรรมนูญได้อีก โดยไปล็อกให้รัฐธรรมนูญฉบับที่มาจากรัฐประหารเท่านั้น เป็นรัฐธรรมนูญฉบับนิรันดร และการที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้อีก ก็คือต้องรอให้มีการทำรัฐประหารครั้งใหม่ อันนี้เป็นอันตรายมากสำหรับการเมืองไทย

                -ถ้าผลออกมาแบบนี้ แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ จะเกิดวิกฤติศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่?

            จะเกิดวิกฤติศาลรัฐธรรมนูญ เกิดวิกฤติการเมืองแน่นอน จะเกิดคำถามว่าเมื่อประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่มาจากรัฐประหารจะให้ทำอย่างไร จะต้องฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งหรือ แต่ประชาชนไม่มีรถถังที่จะขับออกมาแล้วไปฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งเหมือนคณะรัฐประหาร ไม่เหมือนกองทัพ

                -ถ้าไปถึงจุดที่แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง ส.ส.ร.ไม่ได้ จะทำให้การเคลื่อนไหวของนักศึกษา กลุ่มประชาชน ที่เคยเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้กลับมาอีกครั้งได้หรือไม่?

            ก็อาจเป็นชนวนการเมืองครั้งใหม่ที่ทำให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองมากขึ้นไปอีก ที่อาจมีผลต่อตัวศาลรัฐธรรมนูญเองด้วย สุดท้ายมันก็อาจมีคนจำนวนหนึ่งเห็นว่า ถ้าจะให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้จริง สงสัยต้องเสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญก่อน

            ถามย้ำว่าหากผลการตัดสินของศาล รธน.ออกมาแบบนั้น จะทำให้เกิดกระแสแบบตอนหลังศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ ที่ทำให้การชุมนุมของนักศึกษา คนรุ่นใหม่ ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวนอกรัฐสภากันจำนวนมากแบบตอนนั้นได้หรือไม่ ชัยธวัช-อดีตผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ตอบว่า เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่ามาก เพราะเท่ากับว่า ส.ส. รัฐบาลและ ส.ว.บางส่วนกับศาลรัฐธรรมนูญ ไปทำให้เกิดเดตล็อกทางการเมืองอันใหม่ขึ้นมา ทั้งที่คนส่วนใหญ่เห็นแล้วว่าวิธีการหนึ่งที่จะทำให้ความตึงเครียด ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาคลี่คลายลงไปคือ การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นฉันทมติของคนส่วนใหญ่ไปแล้ว โดยหากมีการไปสร้างเดดล็อกทางการเมืองว่า รัฐสภาไม่สามารถทำให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ไม่มีอำนาจทำ ประชาชนไม่มีอำนาจ มันก็ไม่มีทางออกเลย มันอันตรายมาก

เสนอแก้ 112 เพื่อคุ้มครอง

พระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์

            ส่วนกรณี ส.ส.พรรคก้าวไกลเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับกรณีคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน จำนวน 5 ฉบับ จนถูกวิจารณ์อย่างมาก โดยเฉพาะการเสนอแก้มาตรา 112 เราสอบถามลงรายละเอียดถึงเหตุผล ที่มาที่ไปกับ ชัยธวัช-เลขาธิการพรรคก้าวไกล โดยเขาให้เหตุผลว่า ที่เสนอเรื่องนี้เพราะเป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลเล็งเห็นจากความขัดแย้งทางการเมืองในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปราบปรามทางการเมือง โดยเฉพาะการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือไปปิดกั้นการแสดงออกทางการเมืองของนักศึกษา ประชาชนที่ไม่ได้เห็นด้วยกับรัฐบาล ซึ่งวิธีการเหล่านี้จะยิ่งทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองมันรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคตได้ พรรคก้าวไกลก็เลยเสนอการแก้ไขกฎหมายเพื่อคุ้มครองและปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบ และสิทธิในกระบวนการยุติธรรม

            ...เนื้อหาโดยสรุปของร่างแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เสนอไป จะมีด้วยกัน 5 ส่วน คือ 1.เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาในฐานความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาททั้งหมด 2.เสนอแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับที่ 3 และฉบับที่ 4 เป็นการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่เป็นการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนในการเข้าไปมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะต่างๆ ส่วนฉบับที่ 5 เป็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเช่นกัน โดยเป็นการเสนอแก้ไขเพื่อให้เพิ่มฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมในชั้นต้น เพราะเราเห็นปัญหาที่ผ่านมาก็คือ หลายครั้งที่เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมมีการ ยัดข้อหา ที่ร้ายแรงเกินจริงต่อประชาชน โดยเฉพาะกับ คดีการเมือง เช่น มีการยัดข้อหาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือยัดข้อหามาตรา 112 ทั้งที่องค์ประกอบความผิดมันไม่ควรไปไกลถึงขนาดนั้น พรรคก็เสนอให้แก้ไของค์ประกอบตรงนี้ ให้ครอบคลุมถึงเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมที่ใช้อำนาจในทางที่ผิด กระทำการบิดเบือนกฎหมาย หากทำก็จะโดนฐานความผิดที่เสนอแก้ไขไว้

            เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า ที่พรรคเสนอให้แก้ไขฐานความผิดเกี่ยวกับเรื่องหมิ่นประมาท ก็เพราะฐานความผิดเกี่ยวกับเรื่องหมิ่นประมาทมันไม่ได้ถูกปรับให้เข้ากับยุคสมัยเลย ทั้งที่เรื่องนี้ไปเกี่ยวโยงกับเรื่องการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น แล้วถูกฟ้องร้องดำเนินคดีว่าไปกระทบชื่อเสียงของบุคคล พรรคก็เสนอให้มีการแก้ไขเพื่อให้มันได้สมดุลในยุคสังคมประชาธิปไตย ที่ต้องคุ้มครองและให้เสรีภาพในการแสดงออก การแสดงความคิดเห็นที่ทำโดยสงบสันติ แต่ต้องให้ได้สัดส่วนสมดุลกับการคุ้มครองสิทธิ ชื่อเสียงของบุคคลด้วย ที่ไล่ไปตั้งแต่บุคคลทั่วไป เจ้าพนักงาน  เจ้าหน้าที่รัฐ ศาล ไปจนถึงองค์พระมหากษัตริย์

            ...ในการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเรื่องหมิ่นประมาทดังกล่าว ตามร่างที่เสนอไป สำหรับบุคคลทั่วไป สิ่งที่เราเสนอแบ่งได้เป็น 3 ส่วน โดยส่วนแรกเสนอให้ยกเลิกโทษจำคุก เหลือแต่โทษปรับอย่างเดียวในฐานความผิดหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นบุคคลทั่วไป ดูหมิ่นเจ้าพนักงานและศาล  เนื่องจากว่าในสังคมประชาธิปไตยปัจจุบัน การลงโทษจำคุกในทางอาญาจะต้องเอามาใช้กับการกระทำความผิดที่ร้ายแรงเท่านั้น แต่ในส่วนของความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทแล้วลงโทษจำคุกมันร้ายแรงเกินไป มันไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำผิด กับการแสดงความคิดเห็นที่แม้จะเป็นสิทธิเสรีภาพ  แต่หากไปใช้สิทธิเสรีภาพแล้วไปหมิ่นประมาท ดูหมิ่นบุคคลอื่น แม้จะเป็นความผิดแต่ก็ควรลงโทษแค่ปรับเท่านั้น

            ในส่วนที่สอง เป็นเรื่องเกี่ยวกับฐานความผิดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งอยู่ในมาตรา 112 พรรคก็เสนอแก้ไขปรับปรุงโดยให้ย้ายมาตรา 112 มากำหนดเป็นลักษณะความผิดใหม่เพิ่มเข้ามาในประมวลกฎหมายอาญา คือเราเรียกว่าลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี  องค์รัชทายาท หรือเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมทั้งเรื่องอัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมให้มีการยกเว้นความผิด ยกเว้นโทษได้ รวมถึงแก้ไขเรื่องผู้ร้องทุกข์

            อย่างเรื่องอัตราโทษ สำหรับประชาชนบุคคลทั่วไป หรือเจ้าพนักงานของรัฐที่อยู่ในส่วนแรก ที่อยู่ในส่วนแรกไม่ให้มีโทษจำคุกเลย แต่สำหรับส่วนที่สองอันนี้ เรามองว่ามันเป็นการคุ้มครองพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ ในฐานะที่เป็นประมุขของรัฐ  ดังนั้นก็ควรที่จะมีการคุ้มครองที่เหนือกว่าประชาชนขึ้นมา ก็เลยยังกำหนดโทษให้มีโทษจำคุกอยู่ แต่เป็นโทษจำคุกที่ลดลงมาไม่ให้มันรุนแรงเกินไป และไม่กำหนดโทษขั้นต่ำไว้ เพราะมาตรา 112 ปัจจุบันที่กำหนดโทษจำคุกขั้นต่ำ 3 ปี สูงสุดจำคุกไม่เกิน 15 ปี มันสูงเกินไปมาก จึงมีปัญหามาก เพราะพอกำหนดโทษขั้นต่ำไว้ที่ 3 ปี  ทำให้ศาลไม่สามารถใช้ดุลยพินิจให้มีการลงโทษให้เหมาะกับลักษณะการทำความผิดได้ คือต่อให้มีการทำผิดจริง แต่ลักษณะไม่ได้รุนแรงมาก เช่นโพสต์เฟซบุ๊กหรือไปแสดงความคิดเห็นที่ไม่ได้รุนแรงมาก ศาลก็ไม่สามารถไปวินิจฉัยให้ลงโทษต่ำกว่า 3 ปีได้

            ...เราจึงเห็นการพิจารณาลงโทษคดี 112 ที่จำคุก 20 ปี  30 ปี จนกระทั่งล่าสุดตัดสินจำคุก 87 ปี (คดีแชร์คลิป จำนวน  29 คลิป) โดยคดีดังกล่าวศาลลงโทษขั้นต่ำแล้วคือ 3 ปี แต่ศาลวินิจฉัยว่ามีหลายกรรม ก็คูณ 3 ปีไป เลยกลายเป็นหลายสิบปีมาก พอลงโทษสูงเลยทำให้มาตรานี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก และปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีผลกระทบทางอ้อมไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย

             กรณีล่าสุดที่ตัดสินลงโทษจำคุก 87 ปี ทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ข้าหลวงใหญ่ยูเอ็น ออกมาให้ความเห็นว่าไม่ควรมีมาตรา 112 แบบนี้ และเรียกร้องให้ทางการไทยยุติการดำเนินคดีลักษณะเช่นนี้กับประชาชน ซึ่งใช้สิทธิแสดงความคิดเห็นอย่างสงบ พรรคจึงเสนอให้ยกเลิกโทษขั้นต่ำเพื่อให้ศาลวินิจฉัยและกำหนดโทษหนักเบา ให้เป็นไปตามพฤติการณ์ความผิด และไม่ได้ให้มีโทษจำคุกอย่างเดียวแต่ให้มีโทษปรับด้วย ทำให้ศาลก็สามารถวินิจฉัยได้ว่าจะให้มีโทษจำคุกหรือว่าปรับก็ได้ หรือจะสั่งทั้งจำคุกและปรับก็ได้

...ที่เสนอไปคือโทษจำคุกให้ลดเพดานลงมา โดยแยกเป็นสองระดับคือ หากผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  โดยในยุคประชาธิปไตยสมัยใหม่ โทษจำคุกหนึ่งปี

            สิ่งที่เสนอน่าจะพอรับกันได้ และได้สัดส่วนระหว่างการคุ้มครองประมุขของรัฐไม่ให้เสียชื่อเสียง กับการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก ที่จะทำให้มาตราดังกล่าวไม่ถูกโจมตี ไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมโลกมากจนเกินไป ขณะที่หากกระทำความผิดต่อพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็ให้ลดหลั่นโทษลงมา คือให้ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

            เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวต่อไปว่า อีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญของมาตรา 112 ในช่วงที่ผ่านมาก็คือ หลายครั้งถูกใครก็ได้ไปแจ้งความยื่นฟ้องดำเนินคดีกับใครก็ได้ จนกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกประเภทหนึ่ง เพื่อแก้ปัญหานี้เราก็เลยจะไม่ให้ใครก็ได้เอาฐานความผิดนี้ไปเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งกัน หรือไปใช้โดยไม่สุจริต ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้ถูกมองว่า องค์พระมหากษัตริย์เข้ามาเป็นคู่ความเสียเอง เราเลยเสนอแก้ไขให้มีการกำหนดตัวผู้ร้องทุกข์ไว้เลย คือให้ สำนักพระราชวัง เป็นผู้ร้องทุกข์ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหายในความผิดลักษณะนี้ เพราะสำนักพระราชวังถือว่าเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่คุ้มครองปกป้องพระเกียรติยศขององค์พระมหากษัตริย์โดยตรง ไม่ใช่ในฐานะที่ได้รับมอบอำนาจมา เราเลยกำหนดไว้ด้วยว่า ห้ามมิให้ระบุพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย หรือข้อความใดอันแสดงหรืออนุมานได้ว่า พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นคู่กรณีหรือคู่ความ เพื่อจะได้ไม่มีปัญหา เพราะเดี๋ยวจะไปเข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท  หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงมาเป็นคู่กรณีเสียเอง

                -มีการวิจารณ์และตั้งคำถามถึงเรื่องเหตุผลความจำเป็นเพียงใดที่ต้องเสนอแก้ไขมาตรา 112?

            ก่อนหน้านี้มาตรา 112 ไม่ได้เป็นประเด็นการเมืองขึ้นมา เพราะว่ามันไม่ได้ถูกบังคับใช้มาอยู่ช่วงหนึ่งนานพอสมควร  แต่พอนายกรัฐมนตรีมีการออกมาแถลงว่าจะใช้กฎหมายทุกมาตรากับนักศึกษาประชาชนที่ออกมาชุมนุมทางการเมือง  ซึ่งสิ่งหนึ่งที่กลุ่มที่ออกมาชุมนุมพูดถึงคือ เรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยหลังนายกฯ แถลงก็เกิดการแจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 เยอะมาก และมีแนวโน้มจะเยอะขึ้นเรื่อยๆ อีก ซึ่งหากเป็นแบบนี้น่าจะมีคนที่โดนข้อหานี้อีกหลายร้อยคน และเริ่มมีการไม่ให้ประกันตัวคนที่ถูกคดี 112  ด้วย

            เราก็มองว่าจะเป็นการไปสุมไฟความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่ จึงเสนอแนวทางการแก้ไขกฎหมายขึ้นมา  เพราะไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาทางการเมืองโดยการไปใช้มาตรา 112 อย่างเคร่งครัดและเกินขอบเขต เกินเจตนารมณ์ของกฎหมาย

“ในทางกลับกัน สิ่งที่รัฐบาลอาจมองไม่เห็นหรือไม่เข้าใจก็คือ การกระทำแบบนี้ยิ่งไปทำให้ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้คนที่เรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์มีความเห็นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์รุนแรงมากขึ้นไปอีก”

...พรรคเสนอความเห็นในสภาหลายครั้ง เราต้องตั้งสติให้ดีว่าเราจะทำความเข้าใจกับคนรุ่นใหม่จำนวนมากอย่างไร ที่เขาออกมาพูดประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ เราต้องเข้าใจก่อน แล้วมองหากุศโลบายที่ดีที่สุดในการรับมือคนรุ่นใหม่ ที่เขามีความคิดที่เปลี่ยนไปแล้ว ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของประเทศที่เปลี่ยนไปด้วย แน่นอนว่าคนรุ่นเก่าอาจรับไม่ได้ ไม่เข้าใจ แต่มันเป็นความเป็นจริง เป็นนิวนอร์มอลทางการเมืองที่เราต้องหาวิธีรับมือกับปรากฏการณ์ใหม่เหล่านี้ให้ได้ แต่สิ่งที่กำลังมีการดำเนินการตอนนี้มันกำลังยิ่งทำให้ความขัดแย้งไปกันใหญ่

                -พวกแกนนำม็อบนักศึกษาและนักเคลื่อนไหวอย่าง เพนกวินรวม 4 คนที่โดนคดี 112 ก็ยังไม่ได้รับการประกันตัว และแกนนำอีกหลายคนก็มีนัดฟังคำสั่งคดี  112 และ 116 ช่วงวันที่ 8 มีนาคม ซึ่งก็ยังไม่แน่ชัดจะได้ประกันตัวหรือไม่ จะเกิดอะไรขึ้นหากอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีต่อศาล?

            คำถามก็คือว่า ถ้าเราจะมาแก้ปัญหาด้วยวิธีการเหล่านี้  คำถามคือเราเชื่อจริงๆ หรือว่าวิธีการแบบนี้จะยุติความขัดแย้งได้ หรือมันจะทำให้ความคับข้องใจ ความขัดแย้งทางการเมือง ความคิดเห็นทางการเมืองที่เห็นไม่ตรงกันมันหายไป  หรือมันจะยิ่งซึมลึก ยิ่งร้าวลึกลงไปอีก พรรคก้าวไกลไม่เชื่อแบบนี้ เราคิดว่าต้องใช้มาตรการทางการเมืองมาแก้ปัญหา  ต้องเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้มาคุยกันด้วยเหตุด้วยผล ที่จะเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว

            การผลักดันเรื่องกฎหมายในสภา แน่นอนว่าอาจไม่สามารถชนะเสียงส่วนใหญ่ในสภาได้ แต่เราก็ยังจะเสนอเพื่อจะผลักดันเรื่องเหล่านี้ต่อ อย่างน้อยการได้แสดงความคิดเห็น  การเสนอเรื่องใหม่ๆ ผ่านเวทีรัฐสภาก็มีความสำคัญ เป็นการทำงานทางความคิดให้สังคม การเปลี่ยนแปลงทางความคิดต้องใช้เวลา วันนี้สิ่งที่พรรคเสนอไปอาจยังไม่ชนะเสียงข้างมาก แต่มันเป็นจุดเริ่มต้นที่พยายามใช้กระบวนการทางประชาธิปไตย ซึ่งปีนี้อาจไม่สำเร็จ แต่อีก 3 ปีอีก 5 ปีข้างหน้าเสียงส่วนใหญ่อาจเข้าใจความจำเป็น จนกลับมาเห็นว่า แนวทางการเมืองที่พรรคก้าวไกลเสนอเป็นทางออกทางการเมืองที่ดีที่สุดก็ได้

            พรรคการเมือง นักการเมืองส่วนใหญ่ ไม่ใช่ว่าไม่เห็นด้วย บางคนก็เห็นด้วย แต่เขากลัว เขาไม่กล้า ก็เป็นเรื่องของบรรทัดฐานวัฒนธรรมทางการเมือง ที่เรายังถูกครอบด้วยกรอบทางการเมืองและวัฒนธรรมทางการเมืองแบบเก่าอยู่  แต่ในอนาคตข้างหน้าผมคิดว่ามันจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป  จนมาถึงจุดที่สังคมไทยเดินมาถึงจุดที่ต้องพิจารณาอย่างจริงจังว่า ภายใต้สถานการณ์และข้อเท็จจริงทางการเมืองที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย จะทำอย่างไรให้สถาบันพระมหากษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตยดำรงอยู่คู่กันไปได้อย่างมั่นคง

“การที่จะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย อาจคิดว่าเป็นความหวังดี อาจคิดว่าเป็นความจงรักภักดี แต่ถ้าพิจารณาจริงๆ อาจส่งผลเสียในท้ายที่สุดก็ได้ โจทย์สำคัญของเรื่องนี้ ท้ายที่สุดไม่ใช่โจทย์ว่าใครล้มเจ้า หรือใครจะจงรักภักดี ให้เลือกกันระหว่างสองฝั่ง แต่โจทย์ที่แท้จริงคือ วิธีการไหนกันแน่ที่จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตยได้อย่างมั่นคงจริงๆ”

                -หากไม่มีการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ระยะยาว มองว่าจะเป็นอย่างไร?

            ระยะยาวก็จะส่งผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้กับสถาบันพระมหากษัตริย์แน่ๆ ในด้านหนึ่งก็จะถูกมองว่า การมีกฎหมายแบบนี้ไม่สอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตยแล้ว

                -มองยังไงที่คนมักวิจารณ์หรือตั้งข้อสงสัยว่าพรรคก้าวไกลมีอะไรกับสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่?

            พรรคก็เสนออะไรที่ตามสถานการณ์อย่างที่บอกไว้ ไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้น หากฟังการอภิปรายสรุปของนายพิธา  ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ตอนกล่าวสรุปช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา ก็จะเข้าใจว่าพรรคต้องการเสนออะไร เพราะเราเล็งเห็นถึงสถานการณ์ อย่างตอนแรกที่หัวหน้าพรรคพูดถึงความจริงอันน่ากระอักกระอ่วนใจ ตอนที่เริ่มมีการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปีที่แล้วช่วงแรก ที่ตอนนั้นยังไม่มีการพูดเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ มีแค่ 3 ข้อเรียกร้อง คือให้หยุดคุกคามประชาชน-นายกฯ ลาออก-ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เราก็เริ่มเห็นสัญญาณและออกมาเตือนว่า มีความจริงอันน่ากระอักกระอ่วนใจบางอย่างในยุคสมัยปัจจุบัน ที่เราต้องมีสติรับมือกับสิ่งนี้ให้ได้

            ...ต่อมาหลังจากนั้นมันก็เกิด มีการพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เราก็พยายามบอกว่าต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนที่เห็นต่างกันมาพูดคุยอย่างมีวุฒิภาวะ ต้องมีวิธีการรับมือแบบใหม่ อย่าใช้ประสบการณ์เก่าในการจัดการกับปัญหา เพราะการชุมนุมแล้วมีการพูดเรื่องข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเจอมาก่อน  ประเด็นคือเราจะรับมืออย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย คือดำรงสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้และดำรงระบอบประชาธิปไตยไว้ด้วย ให้ทั้งสองอย่างนี้อยู่คู่กัน เพราะหากเรื่องนี้จัดการไม่ดี มันอาจสายเกินกาล อาจนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหญ่ อาจนำไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองได้ ซึ่งเชื่อว่าพวกเราไม่มีใครอยากเห็น.

                                                            โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

...............................

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"