ประชาธิปัตย์ซดเกาเหลา ‘ส.ส.กปปส.’พ้นสภาแล้ว


เพิ่มเพื่อน    

 ประชาธิปัตย์เปิดศึกเขย่าพรรคกันเอง อดีตรองโฆษกฯ กางกฎหมายฟันธง 5 ส.ส.กปปส. สมาชิกภาพสิ้นสุดแล้ว เตือนอย่าทำหลักกฎหมายเสียหาย ยันไม่ได้มีปัญหากับใครเพราะเคยร่วมเคลื่อนไหวกับ กปปส. แต่เจ็บปวดที่เห็นคนสู้เพื่อชาติ กำลังถูกชะตากรรม คนเสวยสุขกลายเป็นคนที่นอกจากไม่เคยสู้เพื่อชาติแล้วยังเคยอยู่ร่วมแก๊งปล้นชาติมาก่อนด้วย

    เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564 นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นกรณี  5 ส.ส.กปปส.สิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ ว่าอย่าทำหลักกฎหมายเสียหาย กรณียังมีการถกเถียงในข้อกฎหมายว่า ส.ส.ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำระหว่างรอคำสั่งตามคำขอประกันตัวของศาลอุทธรณ์ ว่า ส.ส.เหล่านี้พ้นจากสมาชิกภาพแล้วหรือไม่ โดยเห็นว่าเรื่องนี้ต้องฟังประกอบกันทั้ง 2 ส่วน คือปัญหาว่า ส.ส.ทั้ง 5 คนถูกคุมขังโดยหมายของศาลหรือไม่
    ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ การจะควบคุมตัวหรือขังผู้ต้องหาหรือจำเลยได้นั้น ต้องอาศัยคำสั่งหรือหมายจากศาล ซึ่งมีอยู่ 4 ประเภทคือ 1.หมายขังระหว่างสอบสวน 2.หมายขังระหว่างไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา 3.หมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์หรือฎีกา 4. หมายจำคุก กรณีคดีถึงที่สุด จึงเห็นได้ว่า ส.ส.ทั้ง 5 คนถูกคุมขังโดยหมายของศาลโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
    มีปัญหาต้องพิจารณาต่อไปว่า กรณีที่ถูกศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกแต่อยู่ระหว่างรอคำสั่งขอปล่อยตัวชั่วคราวจากศาลอุทธรณ์ จะถือว่าถูกคุมขังหรือไม่ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 ได้บัญญัติให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงไว้หลายกรณี แต่ตาม (6) คือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (6) ที่ระบุว่า "ต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกและถูกคุมขังโดยหมายของศาล" เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะนี้ ส.ส.กปปส.ทั้ง 5 ถูกคุมขังโดยหมายจำคุก ระหว่างอุทธรณ์หรือฎีกาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จึงถือว่าสมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(6) แล้ว
    นายเชาว์ระบุว่า การที่กฎหมายรัฐธรรมนูญวางหลักไว้อย่างเคร่งครัดในเรื่องนี้ ก็เพราะเป็นหลักประกันในเรื่องความเป็นอิสระของผู้แทนปวงชนชาวไทย ว่าต้องสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้ตลอดเวลา โดยปราศจากอำนาจใดๆ มาขัดขวาง หรือควบคุมหรืออยู่ใต้อาณัติใดๆ แม้กระทั่งความคิด ดังนั้นการถูกขังโดยหมายศาลแม้จะกี่วันกี่ชั่วโมง แต่ในระหว่างที่ถูกขังความอิสระย่อมหมดไปตามระเบียบของกฎหมาย ไม่สามารถทำหน้าที่ต่อไปได้อย่างปกติ จึงให้ความเป็น ส.ส.จึงต้องสิ้นสุดลง แม้ต่อมาจะได้รับอนุญาตให้ประกันตัวก็ตาม
    ซึ่งเทียบเคียงได้กับคำพิพากษาปกครองสูงสุดที่ อ.2162/2559 ที่ได้วินิจฉัยวางแนวไว้เป็นบรรทัดฐานว่า แม้ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ในวันเดียวกัน แต่ศาลแขวงก็มีคำสั่งให้ส่งคำร้องของผู้ฟ้องคดีไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาสั่ง โดยมิได้มีคำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวผู้ฟ้องคดี และมีหมายลงวันที่ 18 กันยายน 2555 จำคุกผู้ฟ้องคดีไว้ระหว่างอุทธรณ์ แม้ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยผู้ฟ้องคดีชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ศาลแขวงจึงมีหมายลงวันที่ 19 กันยายน 2555 ปล่อยตัวผู้ฟ้องคดีก็ตาม กรณีถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 45 (4) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 แล้ว
    สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลของผู้ฟ้องคดีจึงสิ้นสุดลงตามนัยมาตรา 47 ตรี วรรคหนึ่ง (7) ประกอบมาตรา 47 ทวิ (3) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 แม้จะเป็นการถูกคุมขังเพียง 1 วัน และต่อมาผู้ฟ้องคดีจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ก็ไม่ทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลของผู้ฟ้องคดีซึ่งสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมายกลับฟื้นคืนมาได้แต่ประการใด การที่ผู้ถูกฟ้องคดีวินิจฉัยให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลของผู้ฟ้องคดีสิ้นสุดลง จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
    "ผมไม่ได้มีปัญหาใดๆ กับ ส.ส.ทั้ง 5 ท่าน ตรงกันข้าม เห็นใจและให้กำลังใจอย่างเต็มที่ เพราะผมเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่เคยออกไปเคลื่อนไหวกับ กปปส. เจ็บปวดที่เห็นคนสู้เพื่อชาติกำลังถูกชะตากรรม คนเสวยสุขกลายเป็นคนที่นอกจากไม่เคยสู้เพื่อชาติแล้ว ยังเคยอยู่ร่วมแก๊งปล้นชาติมาก่อนด้วย แต่ในข้อกฎหมายเราไม่ควรปล่อยให้มีการบิดเบี้ยวเพื่อประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะจะทำให้หลักกฎหมายได้รับความเสียหาย คนที่พยายามดิ้นไปในทางตันก็จะเสียหายตามไปด้วย" อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ระบุ
    นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก มีรายละเอียดดังนี้ เทคนิคติดคุก 1 วัน พ้นจากตำแหน่งทันที ย้อนอดีตกลับไปดูรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 137(4) กำหนดว่า คนที่จะเป็น กกต. ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 109 (4) ที่เขียนว่า "ต้องคำพิพากษาจำคุกและถูกควบคุมโดยหมายศาล"  
    เมื่อ กกต.ยุควาสนา เพิ่มลาภ 3 คนถูกศาลตัดสินจำคุกเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2549 คนละ 4 ปี และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี ด้วยข้อหาจัดการเลือกตั้งโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม และถูกส่งตัวเข้าเรือนจำทันที  โดยถูกคุมขังเป็นเวลา 3 วัน จึงมาการประกันตัวมาสู้คดีในขั้นอุทธรณ์และฎีกา ซึ่งกว่าคดีขั้นฎีกาจะแล้วเสร็จคือวันที่ 13 มิถุนายน 2556
    กกต.ทั้งสามพ้นจากตำแหน่งทันที เมื่อศาลส่งเข้าเรือนจำ ด้วยเหตุขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ และมีการสรรหา กกต.ชุดใหม่มาทำงานต่อโดยเริ่มงานตั้งแต่ 20 กันยายน 2549
    ข้อความในมาตรา 109 (4) ของรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นลักษณะต้องห้ามของผู้เป็น ส.ส. ซึ่งเป็นเนื้อหาเดียวกับมาตรา 98(6) ของรัฐธรรมนูญ 2560  
    ดังนั้นเมื่อ ส.ส.และรัฐมนตรีถูกส่งเข้าเรือนจำเพียงวันเดียวก็หลุดจากตำแหน่งครับ
    ทบทวนความจำอีกนิด คดี กกต.ชุดที่ 2 ติดคุกและพ้นตำแหน่งทันที คนยื่นฟ้องชื่อ ถาวร เสนเนียม.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"