วันงดสูบบุหรี่โลกชู"อมควันเข้าไปโรคหัวใจถามหา" 


เพิ่มเพื่อน    

 

สธ. ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมวันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2561 ประเด็น “Tobacco and Heart Disease” หรือ “รักษ์หัวใจ ห่างไกลบุหรี่” เป็นปีแรกที่เชื่อมโยงโรคหัวใจกับการสูบบุหรี่ ซึ่งเกือบร้อยละ 50 ของคนวัยหนุ่มสาวถึงกลางคนที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่

 

วันที่ 18 พฤษภาคม 2561  ที่กระทรวงสาธารณสุข  จ.นนทบุรี  ศาสตราจารย์คลินิก  เกียรติคุณ  นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์แดเนียล เคอร์เทสซ์ (Dr. Daniel Kertesz) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย พลตำรวจตรีนายแพทย์เกษม รัตนสุมาวงศ์ เลขาธิการสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวการจัดงานรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2561

 ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกลกล่าวว่า องค์การอนามัยโลก กำหนดให้วันที่ 31พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก เพื่อให้รัฐภาคีสมาชิกทั่วโลกร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความรอบรู้ถึงอันตรายของบุหรี่ที่มีผลต่อสุขภาพ ในปี 2561นี้ เป็นปีแรกที่เชื่อมโยงโรคหัวใจมาเป็นประเด็นการรณรงค์ ว่า “Tobacco and Heart Disease” หรือ “รักษ์หัวใจ ห่างไกลบุหรี่” เนื่องจากบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตลำดับต้นๆ ของประชากรทั่วโลก โดยแต่ละปี  มีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่มากกว่า 7 ล้านคน

 จากรายงานผลการสำรวจการบริโภคยาสูบของประชากรไทย อายุ 15 ปีขึ้นไป ล่าสุดในปี 2560 ที่ผ่านมา พบจำนวนผู้สูบบุหรี่ 10.7 ล้านคน คิดเป็นอัตราการสูบบุหรี่ ร้อยละ 19.1 ของประชากรกลุ่มนี้ เมื่อพิจารณาแนวโน้มการบริโภคยาสูบของประชากรไทยโดยรวม ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2549-2560) พบว่า อัตราการสูบบุหรี่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องอย่างช้า ๆ  เป้าหมายสำคัญในการทำงานจึงมุ่งเน้นกลุ่มเยาวชนอายุ 15 – 24 ปี เพื่อลดนักสูบหน้าใหม่ เพราะการไม่สูบบุหรี่ จะลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงานรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2561 ขึ้น โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงาน และประทานรางวัล World  No Tobacco Day Award 2018 และโล่ประกาศเกียรติคุณแก่บุคคล หรือหน่วยงานที่ทำคุณประโยชน์ด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบ รวมทั้งมีการจัดแสดงนิทรรศการทางวิชาการ การให้บริการทางการแพทย์ กิจกรรมสอดแทรกความรู้ ในวันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม 2561 เวลา 11.00-20.00 น. ณ บริเวณลานโปรโมชั่น 2 และ 3 ชั้นจี ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ เขตลาดพร้าว กทม.

          ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้ดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบในทุกมิติ รวมถึงมิติด้านกฎหมาย ซึ่งเป็นมิติสำคัญที่ขับเคลื่อนสังคมไทยให้เป็นสังคม และสถานที่สาธารณะปลอดบุหรี่อย่างแท้จริง  การรณรงค์ “รักษ์หัวใจ ห่างไกลบุหรี่”  เป็นการรณรงค์ป้องกันควบคุมการเสพผลิตภัณฑ์ยาสูบ   ช่วยเหลือผู้ที่เสพติดให้เลิกสูบบุหรี่    และปกป้องประชาชนจากการได้รับ ควันบุหรี่ เพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับสารพิษจากบุหรี่ และเป็นการปกป้องดูแลหัวใจและหลอดเลือดด้วย โดยประสานความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย ทั้งเชิงนโยบาย และการขับเคลื่อนให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงโทษ พิษภัย และผลกระทบจากการสูบบุหรี่ และการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ได้จัดระบบให้บริการช่วยเลิกบุหรี่ในสถานบริการสาธารณสุขภาครัฐ สามารถขอรับบริการช่วยเลิกบุหรี่ได้ที่โรงพยาบาล สถานบริการสาธารณสุขภาครัฐใกล้บ้านได้ทุกแห่ง และขอรับคำปรึกษาได้ที่ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ  โทร. 1600

 นายแพทย์แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า วันงดสูบบุหรี่โลกในปีนี้องค์การอนามัยโลก กำหนดคำขวัญในการรณรงค์ว่า “รักษ์หัวใจ ห่างไกลบุหรี่” เน้นย้ำให้เห็นถึงผลกระทบของบุหรี่กับโรคหัวใจวาย และหลอดเลือดสมองอุดตัน เพื่อกระตุ้นให้ประเทศต่าง ๆ เพิ่มความพยายามในการยุติผลกระทบจาก พิษภัยของบุหรี่ โดยเฉพาะการป้องกันเด็กและเยาวชนจากการลองสูบบุหรี่ เข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 โดยคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าการสูบบุหรี่เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตัน ก่อให้เกิดโรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน และโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ มีคนไทยกว่า 60,000 คน เสียชีวิตจากโรคที่มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ หลายคนทุพพลภาพ ไม่สามารถหายใจ ออกกำลังกาย เดินหรือมีชีวิตได้อย่างปกติ ปัจจุบันเยาวชน 25 ล้านคนทั่วโลกหันมาเริ่มสูบบุหรี่ อีกประมาณ 13 ล้านคนสูบบุหรี่แบบไร้ควัน มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคหัวใจเนื่องจากการสูบบุหรี่มากกว่า 2 ล้านคนทั่วโลก การเลิกสูบบุหรี่จะช่วยรักษาหัวใจ โดยหลังจากเลิกสูบบุหรี่ 1 ปี จะลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจวายลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับผู้ที่สูบบุหรี่ 

พลตำรวจตรี นายแพทย์เกษม รัตนสุมาวงศ์ เลขาธิการสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองปีละ 100,000 คน คิดเป็นร้อยละ 20 หรือ 1 ใน 5 ของสาเหตุการเสียชีวิตในแต่ละปี ผู้ที่มีอายุระหว่าง 30 - 45 ปีที่สูบบุหรี่มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าคนที่ไม่สูบถึง 4 เท่า หรือเกือบครึ่งหนึ่งของคนวัยหนุ่มสาวถึงกลางคนที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ ผู้ที่เป็นผู้สูบบุหรี่มือสอง (Passive or Second Hand Smoker) มีโอกาสเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดพอๆ กับผู้ที่สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เพียง 1 – 2 มวนต่อวันก็เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ บุหรี่ไร้ควัน หรือ E cigarette มีสารนิโคตินซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้เช่นกัน ผู้ที่เคยสูบบุหรี่และสามารถเลิกบุหรี่ได้สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ถึงร้อยละ 30

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ  ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ข้อมูลจากการสำรวจล่าสุดมีคนไทยที่เคยสูบบุหรี่แต่เลิกสูบได้แล้ว  4.75  ล้านคน จึงขอเชิญชวนผู้สูบบุหรี่ให้ลงมือเลิกในวันงดสูบบุหรี่โลก โดยเริ่มต้นจากการไม่สูบบุหรี่ในบ้าน ซึ่งจะทำให้เลิกสูบได้ง่ายขึ้น


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"