สงครามกลางเมืองศรีลังกาหลังยุคอาณานิคม


เพิ่มเพื่อน    

 


เมืองร้างหลังการสู้รบ เครดิต : Abigail Skoda

 

        การประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 46 ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ และจะไปสิ้นสุดลงในวันที่ 23 มีนาคมนี้ หนึ่งในวาระที่น่าสนใจคือ การหยิบยกกรณีสงครามกลางเมืองศรีลังกาขึ้นมาพิจารณา

                ทางคณะทำงานของสหประชาชาติได้เสนอรายงานไปก่อนหน้านี้ และกำลังต้องการมติจากที่ประชุมเพื่อเข้าไปดำเนินการตรวจสอบเหตุความขัดแย้งนองเลือดที่กินเวลายาวนานเพื่อหาผู้กระทำผิดและมาตรการเยียวยา แต่รัฐบาลศรีลังกาได้ประกาศไว้ล่วงหน้าแล้วว่า ไม่ว่าองค์กรระดับโลกใดๆ ก็ไม่มีสิทธิ์เข้าไปยุ่ง แถมยังขู่ถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิก

                สหราชอาณาจักร แคนาดา เยอรมนี มาลาวี มอนเตเนโกร และนอร์ธมาซิโดเนีย คือกลุ่มประเทศที่ร่วมลงชื่อเสนอญัตติให้ที่ประชุม 47 ชาติสมาชิกพิจารณาลงมติ แต่คาดว่าจีน รัสเซีย และชาติพันธมิตรของศรีลังกาคงจะไม่เห็นด้วย

                เส้นทางความขัดแย้ง

                ประวัติศาสตร์ศรีลังกาที่มีการบันทึกไว้เริ่มขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล ชาวสิงหลจากทางเหนือของอินเดียได้เดินทางมายังเกาะแห่งนี้ ตั้งอาณาจักรทัมบาปันนี จากนั้นในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาลเกิดอาณาจักรอนุราธปุระที่อยู่ยืนยงจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 11 ทั้งนี้ “พระมหินทเถระ” โอรสของพระเจ้าอโศกมหาราชได้นำศาสนาพุทธเข้ามาเผยแผ่เมื่อศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล และยังคงเป็นศาสนาที่นับถือโดยชาวศรีลังกาส่วนใหญ่ในปัจจุบัน (ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ จากประชากร 22 ล้านคน)

                ชาวทมิฬจากอินเดียตอนใต้เริ่มข้ามมายังเกาะศรีลังกาในราวศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล และการอพยพเข้ามาครั้งใหญ่เกิดขึ้นระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 7-11 ตั้งถิ่นฐานทางด้านเหนือของเกาะ ต่อมาเจริญรุ่งเรืองกลายเป็นอาณาจักรจาฟฟ์นา

                ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 พื้นที่ชายฝั่งของเกาะศรีลังกาถูกยึดครองโดยโปรตุเกสก่อนจะค่อยๆ ได้ดินแดนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่พอถึงตอนกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 โปรตุเกสสูญเสียดินแดนเหล่านั้นให้กับเนเธอร์แลนด์คู่อริในสงคราม 80 ปีของทางฝั่งยุโรป มีเพียงอาณาจักรแคนดีที่อยู่รอด ทว่าสุดท้ายศรีลังกาทั้งเกาะก็ตกเป็นของอังกฤษ สุดยอดนักอาณานิคมในปี ค.ศ.1815 อย่างเบ็ดเสร็จ เปลี่ยนโคลัมโบเป็นเมืองหลวงแทนที่แคนดี เวลานั้นประชากรของศรีลังกามีประมาณ 3 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธสิงหล และมีชาวฮินดูทมิฬประมาณ 3 แสนคน

                ศรีลังกาได้รับเอกราชในปี ค.ศ.1948 ทว่ายังคงอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ใช้ชื่อว่าประเทศซีลอนในเครือจักรภพจนถึงปี ค.ศ.1972 จึงได้เป็นสาธารณรัฐ เท่ากับว่าอังกฤษมีอำนาจและอิทธิพลเหนือศรีลังกาอยู่นานกว่า 1 ศตวรรษครึ่ง

                อังกฤษทำเงินจากเกาะแห่งนี้โดยพืชเศรษฐกิจอย่างกาแฟ ยางพารา และใบชา พวกเขาได้นำชาวทมิฬจากอินเดียเข้ามาทำงานในไร่เป็นจำนวนมาก ตั้งโรงเรียนขึ้นหลายแห่งทางภาคเหนือของเกาะ ซึ่งชาวทมิฬเป็นประชากรหลัก และมักมอบตำแหน่งงานราชการสำคัญๆ ให้กับชาวทมิฬตามสูตรแบ่งแยกและปกครองของชาติยุโรป ซึ่งพอหมดยุคอาณานิคมปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติก็เกิดขึ้นตามมาแทบทุกดินแดน

                เมื่อได้รับเอกราชจากอังกฤษ รัฐบาลศรีลังกาที่เป็นชาวสิงหลก็ผ่านกฎหมายหลายฉบับกีดกันชาวทมิฬ โดยเฉพาะต่อชาวทมิฬที่พวกอังกฤษนำเข้ามาจากอินเดีย กำหนดภาษาสิงหลเป็นภาษาประจำชาติ ผลักให้ชาวทมิฬออกจากงานราชการ ไม่ให้สัญชาติกับชาวทมิฬจากอินเดียที่มีถึงประมาณ 7 แสนคน นำไปสู่ความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ขบวนการแบ่งแยกดินแดนพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam) ถูกก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1975 มีเป้าหมายเป็นรัฐอิสระของชาวทมิฬศรีลังกา หรือ “ทมิฬอีแลม” ประมาณ 3 ล้านคนในเวลานั้น ซึ่งอยู่ทางเหนือของเกาะ

                สงครามอีแลมครั้งที่ 1

                เดือนกรกฎาคม ค.ศ.1983 ได้เกิดการจลาจลในกรุงโคลัมโบและอีกหลายเมือง กบฏพยัคฆ์ทมิฬสังหารทหาร 13 นาย ฝ่ายชาวสิงหลเอาคืนด้วยการก่อความรุนแรงต่อเพื่อนบ้านที่เป็นชาวทมิฬทั่วประเทศ ชาวทมิฬเสียชีวิตระหว่าง 2,500-3,000 คน และได้หลบหนีไปยังเขตที่ชาวทมิฬเป็นประชากรส่วนใหญ่ และกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬก็ได้ประกาศสงคราม เรียกภายหลังว่า “สงครามอีแลมครั้งที่ 1” (ระหว่างปี 1983-1987) ช่วงแรกๆ พยัคฆ์ทมิฬอีแลมต่อสู้และสังหารพวกทมิฬด้วยกันก่อนเพื่อชิงการนำ โดยสามารถครองอำนาจทมิฬเบ็ดเสร็จในปี 1986

                “นางอินทิรา คานธี” นายกรัฐมนตรีของอินเดียในเวลานั้นเสนอเป็นตัวกลางเจรจาสงบศึก แต่รัฐบาลศรีลังกาไม่ไว้ใจ และพบว่ารัฐบาลอินเดียสนับสนุนอาวุธและฝึกการรบให้กับกองโจรทมิฬในค่ายทางใต้ของประเทศอินเดีย

                การก่อเหตุของกองโจรพยัคฆ์ทมิฬในช่วงนี้ ได้แก่ การใช้คาร์บอมบ์ ซุกระเบิดในกระเป๋าเดินทาง รวมถึงวางกับดักระเบิดทั้งต่อทหารและพลเรือนสิงหล รัฐบาลศรีลังกาก็ตอบโต้ด้วยการกำจัดกลุ่มเยาวชนชาวทมิฬ จับมาทรมาน และอุ้มหาย

                ปี ค.ศ.1987 “นายราจีฟ คานธี” นายกฯ อินเดียคนต่อมาตัดสินใจเข้าแทรกแซงในสงครามกลางเมืองของศรีลังกา ด้วยการส่งกองกำลังสันติภาพจำนวน 1 แสนนายเข้าไปเนื่องจากเริ่มเป็นกังวลว่าชาวทมิฬในรัฐทมิฬนาดูของอินเดียจะขอแบ่งแยกดินแดน และมีความเป็นไปได้ที่จะมีชาวทมิฬอพยพจากศรีลังกากลับไปยังอินเดีย ภารกิจของกองกำลังสันติภาพคือ ปลดอาวุธของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อปูทางนำไปสู่การเจรจาไกล่เกลี่ย

 สงครามและการพลัดถิ่น เครดิต : humanityhouse.org

 

                อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงล้มเหลวที่จะระงับข้อพิพาท กองกำลังสันติภาพเริ่มรบกับฝ่ายพยัคฆ์ทมิฬ เพราะพยัคฆ์ทมิฬปฏิเสธที่จะวางอาวุธ แถมยังส่งเด็กและผู้หญิงไปวางระเบิดใส่ฝ่ายอินเดีย

                เดือนพฤษภาคม ปี 1990 ประธานาธิบดี “รานาสิงเห เปรมาดาสา” เรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียนำกองกำลังสันติภาพออกจากศรีลังกา เวลานั้นกองกำลังสันติภาพได้เสียชีวิตไปแล้วประมาณ 1,200 นาย ปีต่อมาพยัคฆ์ทมิฬได้ส่งมือระเบิดผู้หญิงเข้าไปในเมืองเจนไนระหว่างการหาเสียงของนายราจีฟ คานธี เธอเข้าไปใกล้ๆ ก้มลงไปแตะเท้านายราจีฟเหมือนแสดงความนับถือก่อนจะกดระเบิดที่ซ่อนไว้ในตัว เธอตายพร้อมๆ กับนายราจีฟและอีก 14 คน เหตุการณ์คล้ายกันเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ปี 1993 ทำให้ประธานาธิบดีรานาสิงเหของศรีลังกาเสียชีวิต

                การใช้ระเบิดพลีชีพ หรือ Suicide Attack นี้ต้องถือว่าพยัคฆ์ทมิฬเป็นต้นแบบ กลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ได้นำไปใช้ในภายหลัง อีกสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬนั่นคือการกลืนสารไซยาไนด์เมื่อถูกจับได้ โดยจะห้อยหลอดเล็กๆ บรรจุสารพิษนี้คล้องคอเตรียมพร้อมไว้เสมอ ในส่วนของกำลังการรบนั้น พวกเขามีพร้อมทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ได้รับทุนสนับสนุนส่วนใหญ่จากชาวทมิฬโพ้นทะเล และเงินจากธุรกิจผิดกฎหมาย

                สงครามอีแลมครั้งที่ 2

                หลังจากกองกำลังสันติภาพของอินเดียถอนออกไป สงครามกลางเมืองศรีลังกายิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เริ่มจากฝ่ายพยัคฆ์ทมิฬจับเจ้าหน้าที่ตำรวจชาวสิงหลได้มากกว่า 600 นาย จากจังหวัดตะวันออก เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 1990 พยัคฆ์ทมิฬบอกให้ตำรวจวางอาวุธโดยสัญญาว่าจะไม่ทำร้าย พวกเขาบังคับให้ตำรวจเดินเข้าป่า สั่งให้คุกเข่า แล้วยิงตำรวจทีละนายตายทั้งหมด หนึ่งสัปดาห์ต่อมารัฐมนตรีกลาโหมศรีลังกาประกาศว่า “จากนี้ไปจะทำสงครามขั้นเด็ดขาด”

                รัฐบาลตัดเส้นทางการขนส่งอาหารและยาไปยังคาบสมุทรจาฟฟ์นาทางภาคเหนือของประเทศ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญของพยัคฆ์ทมิฬ และเริ่มทิ้งระเบิดอย่างหนักหน่วง ฝ่ายพยัคฆ์ทมิฬโต้กลับด้วยการสังหารหมู่ชาวสิงหลหลายร้อยคน รวมถึงชุมชนชาวมุสลิม ฝ่ายป้องกันตนเองมุสลิมก็เอาคืนแบบตาต่อตาฟันต่อฟันบุกสังหารหมู่ชาวทมิฬ

                เดือนกรกฎาคม ปี 1991 กองกำลังพยัคฆ์ทมิฬจำนวนราว 5,000 คน ปิดล้อมฐานบัญชาการทางทหารของฝ่ายรัฐบาลที่ Elephant Pass ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่คอขวดสู่คาบสมุทรจาฟฟ์นาอยู่เป็นเวลา 1 เดือน กว่ากำลังทหารของรัฐบาลจำนวนประมาณ 1 หมื่นนาย จะกู้สถานการณ์ได้ ทั้ง 2 ฝ่ายสูญเสียกำลังไปรวมกันมากกว่า 2,000 คน และถึงจะควบคุมจุดยุทธศาสตร์ได้ แต่กองกำลังรัฐบาลก็ไม่สามารถยึดจาฟฟ์นาได้ แม้ว่าจะโจมตีอย่างต่อเนื่องตลอดปี 1992-1993

 จุดจบของ “เวฬุพิลัย ประภาการัน” ผู้นำของพยัคฆ์ทมิฬอีแลม

            สงครามอีแลมครั้งที่ 3

                เดือนมกราคม ปี 1995 ขบวนการพยัคฆ์ทมิฬได้ตกลงเซ็นสัญญาสงบศึกกับรัฐบาลของประธานาธิบดีหญิงเหล็ก “นางสาวจันทริกา กุมาระตุงคะ” ทว่าอีก 3 เดือนต่อมา ฝ่ายพยัคฆ์ทมิฬ 4 คน มี 2 คนเป็นผู้หญิงได้ระเบิดฆ่าตัวตายบนเรือปืน 2 ลำของรัฐบาล ทหารเรือตาย 12 นาย และบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

                เหตุการณ์นี้ทำให้รัฐบาลประกาศสิ่งที่เรียกว่า “สงครามเพื่อสันติ” ให้กองกำลังทางอากาศทิ้งระเบิดปูพรมใส่บ้านเรือนประชาชนและค่ายผู้อพยพในคาบสมุทรจาฟฟ์นา ส่วนกองกำลังภาคพื้นดินก็เดินหน้าสังหารพลเรือนฝ่ายทมิฬในหลายเมือง ปลายปี 1995 คาบสมุทรจาฟฟ์นาก็อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลเป็นครั้งแรก ทำให้ทั้งนักรบกองโจรและพลเรือนทมิฬต้องอพยพเข้าไปสู่พื้นที่ชั้นในของเกาะในเขตแวนนีของจังหวัดภาคเหนือ

                กลางปี 1996 ฝ่ายพยัคฆ์ทมิฬแก้แค้นด้วยการถล่มเมืองมัลไลติวู ชายฝั่งตะวันออกทางเหนือของประเทศเป็นเวลา 8 วัน กำลังของฝ่ายรัฐบาล 1,400 นาย และกองทัพอากาศอีกจำนวนหนึ่งไม่สามารถต้านทานการโจมตีของฝ่ายพยัคฆ์ทมิฬที่มีกำลัง 4,000 คนได้ ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของพยัคฆ์ทมิฬ ทหารของรัฐบาลถูกฆ่าตายมากกว่า 1,200 นาย โดยมีราว 200 นาย ถูกราดด้วยน้ำมันแล้วจุดไฟเผาทั้งเป็นหลังจากยอมแพ้แล้ว ขณะที่ฝ่ายพยัคฆ์ทมิฬเสียกำลังไป 322 คน

                ปลายยุคคริสต์ทศวรรษ 1990’s ฝ่ายพยัคฆ์ทมิฬได้มุ่งเน้นการโจมตีในกรุงโคลัมโบและเมืองทางใต้อื่นๆ อย่างถี่ยิบ สถานที่สำคัญที่ถูกโจมตี ได้แก่ ธนาคารกลางในโคลัมโบ ศรีลังกาเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ วัดพระธาตุเขี้ยวแก้วในเมืองแคนดี รวมถึงความพยายามระเบิดพลีชีพสังหารประธานาธิบดีจันทริกา กุมาระตุงคะ ในเดือนธันวาคม ปี 1999 ซึ่งเธอรอดชีวิตมาได้ แต่สูญเสียดวงตาไป 1 ข้าง

                เดือนเมษายน ปี 2000 พยัคฆ์ทมิฬยึด Elephant Pass ได้คืน แต่รัฐบาลก็ยังไม่สูญเสียเมืองจาฟฟ์นา ช่วงเวลาเดียวกันนี้รัฐบาลนอร์เวย์ได้ยื่นมือเสนอตัวเข้ามาไกล่เกลี่ย ฝ่ายพยัคฆ์ทมิฬประกาศหยุดยิงในเดือนธันวาคม ปี 2000 นานาชาติเริ่มมองเห็นความหวัง

                แต่แล้วในเดือนเมษายน ปี 2001 พยัคฆ์ทมิฬก็ยกเลิกประกาศหยุดยิง และพยายามรุกขึ้นเหนือไปยังคาบสมุทรจาฟฟ์นาอีกครั้ง อีกทั้งในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกันได้ก่อเหตุระเบิดพลีชีพในท่าอากาศยานบันดารานาเยก ในกรุงโคลัมโบ มีเหยื่อเสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บจำนวนมาก เครื่องบินของกองทัพเสียหาย 8 ลำ เครื่องบินโดยสารพังอีก 4 ลำ กลุ่มพลีชีพตายไป 14 ราย

                จนกว่าความย่อยยับจะมาเยือน

                หลังเหตุการณ์โจมตีอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ สหรัฐอเมริกา เมื่อ 11 กันยายน ค.ศ.2001 ซึ่งตามมาด้วยสงครามล้างแค้นจากสหรัฐได้ส่งผลกระทบให้การระดมทุนในต่างประเทศของขบวนการพยัคฆ์ทมิฬอีแลมทำได้ยากขึ้น เพราะสหรัฐตีตรากบฏพยัคฆ์ทมิฬเป็นผู้ก่อการร้ายระดับโลก และสหรัฐเองก็ได้ให้เงินสนับสนุนรัฐบาลศรีลังกาโดยตรง

                ปี 2002 และ 2003 รัฐบาลใหม่ของศรีลังกาที่สนับสนุนแนวทางสันติได้เจรจากับกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬเพื่อการหยุดยิงหลายครั้งจนนำไปสู่การลงนามในบันทึกความเข้าใจ มีนอร์เวย์เป็นตัวกลางเหมือนเช่นเคย ลงเอยที่การเป็นสหพันธรัฐ ไม่ใช่ 2 รัฐตามที่ฝ่ายพยัคฆ์ทมิฬเรียกร้อง และรัฐเดี่ยวตามความต้องการของรัฐบาล การจราจรทางบกและทางอากาศทั่วทุกเมืองของศรีลังกากลับมาเปิดตามปกติอีกครั้ง

                ไม่ทันไร ในวันสุดท้ายของปี ค.ศ.2003 ฝ่ายพยัคฆ์ทมิฬประกาศควบคุมภูมิภาคทางเหนือและทางตะวันออกของประเทศ ทำให้รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และเพียง 1 ปีหลังจากเซ็นสัญญาเอ็มโอยูกัน ทางนอร์เวย์ได้พบว่าฝ่ายรัฐบาลทำผิดเงื่อนไขการหยุดยิง 300 ครั้ง ส่วนทางด้านพยัคฆ์ทมิฬทำผิด 3,000 ครั้ง และหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิเมื่อปลายธันวาคม ปี 2004 ซึ่งคร่าชีวิตชาวศรีลังกาไปกว่า 3 หมื่นคน ได้ทำให้ 2 ฝ่ายทะเลาะกันในประเด็นการแจกจ่ายความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ประสบภัยที่พยัคฆ์ทมิฬยึดครอง

                เดือนสิงหาคม ปี 2005 ฝ่ายพยัคฆ์ทมิฬใช้สไนเปอร์ลอบสังหาร “นายลักษมัณ คาดีร์กามาร์” รัฐมนตรีต่างประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นชาวทมิฬ แต่มักวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม จากนั้น “นายเวฬุพิลัย ประภาการัน” ผู้นำของพยัคฆ์ทมิฬได้ประกาศว่าจะมีการโจมตีครั้งใหญ่อีกในปี 2006 หากรัฐบาลไม่ดำเนินการตามแผนสันติภาพ

                การต่อสู้เกิดขึ้นอีก เป้าหมายโจมตีของพยัคฆ์ทมิฬคือพลเรือนในสถานที่แออัดหนาแน่น เช่น รถไฟและรถบัสในกรุงโคลัมโบ ฝ่ายรัฐบาลก็ได้สังหารสื่อมวลชนและนักการเมืองที่อยู่ข้างพยัคฆ์ทมิฬ รวมถึงการสังหารหมู่กลุ่มเอ็นจีโอชาวทมิฬที่ทำงานให้กับองค์กรจากฝรั่งเศสตายไปถึง 17 คน

                การเจรจาสันติภาพที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ในเดือนตุลาคม ปี 2006 ไม่เกิดผล หลังจากนั้นรัฐบาลก็เริ่มปฏิบัติการโจมตีครั้งใหญ่ในภูมิภาคตะวันออกและทางเหนือ เป็นเหตุการณ์นองเลือดครั้งรุนแรงที่สุด บางหมู่บ้านไม่เหลือประชาชนมีชีวิตรอดแม้แต่คนเดียว

                วันที่ 16 พฤษภาคม 2009 รัฐบาลศรีลังกาโดยประธานาธิบดี “มหินทะ ราชปักษา” ประกาศชัยชนะเหนือฝ่ายแบ่งแยกดินแดน วันต่อมากลุ่มพยัคฆ์ทมิฬยอมรับความพ่ายแพ้ และอีก 1 วันถัดจากนั้น นายเวฬุพิลัย ประภาการัน ผู้นำพยัคฆ์ทมิฬถูกพบเป็นศพในป่าชายเลนแห่งหนึ่ง วันที่ 19 ประธานาธิบดีศรีลังกาประกาศต่อสภาว่าสงครามกลางเมืองที่กินเวลาเนิ่นนาน 26 ปี ได้ปิดฉากลงแล้ว

                ความโหดร้ายของสงครามสังเวยด้วยชีวิตทั้ง 2 ฝ่ายรวมกันประมาณ 2 แสนคน พลัดถิ่นอีกหลายแสน จนถึงเวลานี้ยังไม่มีใครต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่ร่วมกันก่อขึ้น.

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"