4 ปี คสช.กับโอกาสกลับมาของเพื่อไทย


เพิ่มเพื่อน    

 4 ปี คสช.  กับโอกาสกลับมาของเพื่อไทย 

          นับไปอีก 2 วันจะครบรอบ 4 ปี รัฐประหาร คสช. เสียงวิพากษ์วิจารณ์และการประเมินผลงาน 4 ปี คสช.จากฝ่ายต่างๆ ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง

          ชัยเกษม นิติสิริ-อดีตอัยการสูงสุด-อดีต รมว.ยุติธรรม ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร-แกนนำพรรคเพื่อไทย ซึ่งล่าสุดถูกคณะทำงานด้านกฎหมาย คสช.แจ้งความดำเนินคดีต่อตำรวจกองปราบปราม ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ซึ่งห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน โดยไม่ได้รับอนุญาต หลังเป็น 1 ใน 8 แกนนำพรรคเพื่อไทยที่ไปร่วมแถลงข่าว ชำแหละ 4 ปี รัฐประหาร คสช. ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย เมื่อ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา

          สำหรับ ชัยเกษม คือคนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยเป็นผู้บัญชาการทหารบกทำการยึดอำนาจ-รัฐประหาร เมื่อ 22 พ.ค.57 ที่สโมสรกองทัพบก เพราะวันดังกล่าว ชัยเกษมคือหัวหน้าคณะฝ่ายรัฐบาลรักษาการในเวลานั้น ที่นำทีมร่วมประชุมเจรจากับตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ จนเกิดการรัฐประหาร โดยชัยเกษมคือคนที่กล่าวประโยคสุดท้าย หลังพลเอกประยุทธ์ถามกลางที่ประชุมว่า ตกลงรัฐบาลจะลาออกหรือไม่ โดยเขาตอบว่า ณ นาทีนี้ รัฐบาลไม่ลาออก ลาออกไม่ได้ เมื่อสิ้นเสียงดังกล่าว พลเอกประยุทธ์ก็ประกาศยึดอำนาจ ทำรัฐประหารทันที จากนั้น ชัยเกษม ได้ถูกทหารคุมตัวออกจากสโมสรกองทัพบกไปยังค่ายทหารที่ปราจีนบุรีเป็นเวลา 7 วัน ก่อนปล่อยตัวออกมา

ชัยเกษม-แกนนำพรรคเพื่อไทย วิพากษ์ 4 ปี รัฐประหาร คสช. ในหลายมุมมอง รวมถึงได้พูดถึงอนาคต ทิศทางพรรคเพื่อไทยไว้หลายประเด็น เช่น ความเป็นไปได้ในการจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์หลังเลือกตั้ง – การเป็นพันธมิตรการเมืองกับพรรคตั้งใหม่ เช่น พรรคอนาคตใหม่ ที่นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รวมถึงเรื่องตัวบุคคลที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นต้น

          ก่อนจะวิพากษ์ 4 ปี คสช.กับการบริหารประเทศ ชัยเกษม-อดีต รมว.ยุติธรรม เล่าถึงเหตุการณ์วันรัฐประหาร 22 พ.ค.57 ไว้ว่า ก่อนหน้าวันปฏิวัติ ก็มีคนเตือนผมแล้วให้ระวัง จะมีการปฏิวัติ บอกว่ามีการคุยกันไว้แล้ว แล้วก็มีเพื่อนผมคนหนึ่ง ถามผมว่า จะไปอยู่ที่ลาวหรือไม่ มีที่พัก ให้ผมไปพักอยู่ที่นั่นได้ จะได้หลบปฏิวัติ และยังมีเพื่อนผมอีกคนหนึ่งติดต่อมา เขาบอกผมว่า จะไปอยู่กัมพูชาหรือไม่ ผมก็ตอบไปว่า ไม่ไป หากผมไป ผมก็คงไม่ได้กลับ

...ก็เหมือนกับหลายคนที่คิดว่าจะมีการรัฐประหารแล้วหนีไปแล้วก็ยังไม่ได้กลับมา ผมก็บอกเขาไปว่า ผมไม่ไป อะไรจะเกิดก็ให้เกิด หากจะปฏิวัติจริง ก็ปฏิวัติ

          ...วันที่ 22 พ.ค.57 ผมก็คิดอยู่ว่าเขาคงจะทำรัฐประหาร เพียงแต่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นตอนไหน เพราะเห็นอะไรหลายอย่าง เช่น วันที่ 22 พ.ค. ทหารกันสื่อออกไปไกลจากหอประชุมสโมสรมาก แล้ววันนั้นพวกทหาร ตำรวจ ใส่ชุด มีอาวุธติดตัวเต็มไปหมด มีการเก็บเครื่องมือสื่อสารคนเข้าไปประชุมหมด ตอนนั้นผมก็ดูแล้ว สงสัยโดนแน่แล้ว แต่ตอนที่ไปประชุมวันแรก วันที่ 21 พ.ค. ที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ก็ไม่คิดว่าจะเกิดรัฐประหารในวันรุ่งขึ้น เพราะสิ่งที่เขาเรียกร้องคือให้รัฐบาลรักษาการเวลานั้นลาออก ซึ่งผมก็ชี้แจงในที่ประชุมว่า เราทำไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ให้ต้องรักษาการ ผมถึงขนาดได้รับ mandate ว่าให้ลาพักร้อนไปสัก 1 เดือนก็ยังได้ เราก็ชี้แจงว่าทำไม่ได้ หากวันนั้นบอกว่า จะลาออกทั้งคณะ ก็จะมีคนไปแจ้งความดำเนินคดีกับพวกผมว่าไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ก็จะโดนไปอีกแบบ ก็เลยยืนยันว่าลาออกไม่ได้ ก็คิดว่าผมถูกคุมตัวไปอยู่ค่ายทหาร 7 วัน ก็ยังดีกว่าถูกฟ้องเอาผิดในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหากลาออก

...เมื่อมีการถามในที่ประชุม ผมก็ยืนยันกลางที่ประชุมไปว่า ณ นาทีนี้ รัฐบาลลาออกไม่ได้ จากนั้นพลเอกประยุทธ์ก็เลยบอกว่า ถ้าเช่นนั้นก็ยึดอำนาจตั้งแต่นาทีนี้ พอประกาศเสร็จ เขาก็เดินออกจากห้อง จากนั้นทหารพร้อมอาวุธก็เข้ามาในห้องประชุมแล้วคุมตัวออกไป

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ ก็ไม่ได้เหนือความคาดหมาย แต่ที่เหนือความคาดหมายคือทหารมาจับพวกผมในที่ประชุม แล้วทหารของท่านก็มามัดนิ้ว เอาผ้ามาคลุมหัวปิดตา แล้วตัวท่านก็มาพูดในทีวีสองครั้ง ว่ามีที่ไหน มีแต่ในหนังฝรั่งที่ไปปิดตา มัดมือ แล้วคุณคิดว่าผมจะเชื่อท่านได้อย่างไร ถ้าท่านบอกว่าผมไม่รู้ว่าลูกน้องไปทำถึงขนาดนั้น เกินเลยไป แล้วขอโทษ เราก็ยังจะพอเออ ดูน่ารัก แต่วันนั้นเอาหมวกไหมพรมมาคลุม ปิดตาแล้วมัดนิ้ว คุมตัวผมจากวิภาวดีรังสิตไปจนถึงปราจีนบุรี ก็ให้ไปอยู่ในห้องที่เป็นค่ายทหาร 7 วัน และตอนออกมาก็ปิดตาไม่ให้รู้ว่านำตัวมาไว้ที่ไหน

...ที่ผมผิดหวังก็คือไม่คิดว่าจะจับผมในที่ประชุมสโมสรกองทัพบก ความจริงต้องปล่อยผมกลับไปก่อน เพราะทหารเชิญผมไปประชุมวันนั้น จะไปจับที่บ้านก็ได้ ผมจะหนีไปไหนได้

ชัยเกษม ยืนยันว่าหากวันดังกล่าว พลเอกประยุทธ์ไม่ทำรัฐประหาร บ้านเมืองก็ยังมีทางออก เพราะขณะนั้นการเลือกตั้งยังเหลืออีกแค่ 6-7 หน่วยเท่านั้น มีปัญหาแค่ในภาคใต้ไม่กี่หน่วย แทนที่ทหารจะช่วยรัฐบาลทำให้การเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อย ก็กลับไม่ทำ ทำเหมือนกับว่าจะทำให้ทุกอย่างเรียบร้อย จัดให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ย เชิญไปประชุมที่หอประชุมที่สโมสรกองทัพบก แทนที่จะทำหน้าที่ของตัวเองให้เสร็จสิ้นไป กลับเลือกทำรัฐประหาร ซึ่งพฤติการณ์มันเหมือนกับว่าเขาเข้าข้างกันอยู่ ระหว่างทหารกับ กปปส.ที่เริ่มชัดขึ้นทุกที ว่ารู้เห็นกัน มันก็ต้องออกมาแบบนี้

...ผมไม่รู้ว่าประเทศได้บทเรียนอะไรบ้างจากรัฐประหารครั้งนี้ เพราะบทเรียนแบบนี้มันเกิดมาแล้วหลายครั้งซ้ำซาก รู้แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นผลดีต่อประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน แม้ คสช.จะบอกว่าที่ผ่านมาทำหลายอย่าง แต่การทำโดยคนที่ไม่ได้มีความรู้ประสบการณ์ในการบริหารประเทศ เคยอยู่แต่ในกองทัพ ก็เลยไม่ได้มีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้บ้านเมืองตกต่ำ

ปัญหาที่สำคัญในยุค คสช.ก็คือการที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ซึ่งไม่ได้เป็นที่ต้องการของประชาชน แล้วก็ไม่มีระบบตรวจสอบ ทำให้คนไม่มั่นใจที่จะมาลงทุน มาค้าขายกับไทยเรา เพราะประเทศที่เขายึดถือประชาธิปไตยเขายอมรับไม่ได้ คืออาจไม่ได้ถึงกับจะไม่คบหากับไทย เพราะก็ยังมีเรื่องของผลประโยชน์ระหว่างประเทศอยู่บ้าง เพียงแต่ดีกรีการสนับสนุนจะมาลงทุนที่สำคัญในประเทศลดน้อยลงไป เพราะเขาไม่มั่นใจว่าจะเจอกับอะไร

            ชัยเกษม พูดถึงรัฐประหาร 4 ปี คสช.ต่อไปว่า 4 ปีที่ผ่านมา คสช.ที่เขาปฏิวัติเขาอ้างว่าทำเพราะบ้านเมืองไม่สงบ ทำให้บ้านเมืองมั่นคง ต้องการให้เกิดความปรองดอง ทำให้การทุจริตลดน้อย แก้ปัญหาความขัดแย้ง

...หากมาไล่ดูการทำงานในแต่ละเรื่อง ถ้าดูเรื่อง ความมั่นคง ต้องถือว่าดีขึ้น จากที่ก่อนรัฐประหารมีม็อบกลางถนน ทำให้เศรษฐกิจ การทำมาหากินไม่ดี 4 ปีที่ผ่านมา ก็ต้องบอกว่าเรื่องความสงบเรียบร้อยก็ทำไปได้ในระดับหนึ่ง แต่ตอนนี้เริ่มเห็นแล้วว่า ได้มีกลุ่มต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหวกันบ้างแล้ว เพราะ คสช.อยู่นานเกินไป จากเดิมที่บอกว่าจะอยู่ไม่นาน แต่มาถึงตอนนี้ 4 ปีแล้ว เท่ากับวาระรัฐบาลจากเลือกตั้ง อันไม่เป็นไปตามคำมั่นสัญญา เพราะมีการเลื่อนโรดแมปเลือกตั้งหลายครั้ง จนตอนนี้ คสช.อยู่นานเกิน 4 ปี การที่ไม่ทำตามที่พูด ทำให้ความน่าเชื่อถือไม่มี คนจะมาลงทุนก็ไม่กล้า ต่างประเทศก็ไม่มั่นใจ แม้แต่คนไทยก็ไม่มั่นใจว่าจะทำอะไรไปแล้ว บ้านเมืองก็ยังอยู่ในสภาวะที่ไม่ปกติต่อไป อันนี้เป็นความเสียหายอย่างยิ่ง กระนั้นแม้เรื่องความมั่นคงระยะหลังก็ยอมรับว่าดีขึ้น แต่หากไปดูสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ จะพบว่าไม่ได้ดีขึ้นเลย ทั้งที่ คสช.มีอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ในมือ

ชัยเกษม-แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องการสร้างความปรองดอง ในตอนที่ คสช.ทำเรื่องปรองดอง พรรคเพื่อไทยก็เคยทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลว่า สิ่งที่รัฐบาล คสช.คิดจะทำเรื่องปรองดองไม่ใช่วิธีการที่หลายประเทศประสบความสำเร็จในเรื่องการสร้างความปรองดอง เพราะต้องให้คู่ขัดแย้งใจต้องไปด้วยกันได้

...ไม่ใช่มาจับนั่งคุยกัน แล้วบอกว่าฝ่ายไหนจะทำหรือไม่ทำอะไร แล้วก็บอกว่าจะให้มีการทำสัญญาประชาคม ทำให้ 4 ปีของ คสช.ไม่ได้เกิดความปรองดองขึ้นมาเลย เรื่องนี้ผมให้คะแนนศูนย์เลย อีกทั้งนอกจากไม่ได้สร้างความปรองดองแล้ว ยังสร้างคู่ขัดแย้งเพิ่มขึ้น ที่ก็คือตัว คสช.เอง เพราะ คสช.ขัดแย้งกับพรรคการเมืองเกือบทุกพรรค ขัดแย้งกับความต้องการของประชาชน ที่ใจเขายังรู้สึกว่าไม่ได้รับการเยียวยาในช่วงที่เกิดวิกฤติของประเทศ การแก้ปัญหาความขัดแย้ง คสช.จึงทำไม่สำเร็จ ที่บอกว่าจะให้มีการทำสัญญาประชาคมต่างๆ ในที่สุดก็ทำไม่ได้ และถึงทำได้ มันก็แค่เศษกระดาษ เพราะใจคนมันไม่ไป

...ส่วนเรื่องการปราบปรามทุจริต ข้ออ้าง คสช.ที่เข้ามาแล้วบอกว่ามีการทุจริตต่างๆ ทำให้บ้านเมืองเสียหาย แต่หากถามความรู้สึกประชาชน ว่าเขารู้สึกหรือไม่ว่ารัฐบาล คสช.ไม่มีทุจริต หรือแม้ตัวเองไม่ทุจริต แต่ก็ปล่อยให้พรรคพวกเพื่อนฝูงมาทำการทุจริต เพราะคนก็ยังข้องใจเรื่องความไม่ปกติในการบริหารราชการ ข้องใจเช่น เรื่องโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ที่ก็ยังไม่เห็นทำอะไรที่ชัดเจนเพื่อให้เห็นว่าไม่ได้มีการทุจริต หรืองบโครงการในองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก การตั้งบริษัทในค่ายทหาร ข้องใจเรื่องการยืมนาฬิกา จนดัชนีการสำรวจเรื่องความโปร่งใสในประเทศไทยก็ไม่ได้ดีขึ้น 

...ความจริงท่านอาจจะไม่มีก็ได้ แต่เนื่องจากตอนนี้ไม่มีระบบตรวจสอบ ก็เลยพูดไม่ได้ว่ามีหรือไม่มี แต่ในใจของประชาชนก็มองว่าโครงการต่างๆ ไม่โปร่งใส โดยที่ก็ไม่ได้มีการออกมาดำเนินการอะไรที่ทำให้ประชาชนหายข้องใจ

...เช่นเดียวกับเรื่อง ปฏิรูปประเทศ 4 ปีที่ผ่านมา เห็นชัดว่าไม่ได้ผลอะไร รัฐบาลเพิ่งจะมาเร่งรัดเอาในปีสุดท้ายตอนจะเลือกตั้งที่ก็คงไม่ทันการ ก็ขนาดคนที่ทำเรื่องปฏิรูปให้กับรัฐบาลอย่าง ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ปธ.กรรมการปฏิรูปด้านกฎหมาย ก็ยังออกมาบอกว่าปฏิรูปไม่ได้ผล แล้วคนอื่นจะไปให้คะแนนเรื่องนี้กับรัฐบาล คสช.ได้อย่างไร เรื่องปฏิรูปจึงสอบตกแน่นอน เพราะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรที่เป็นผลความสำเร็จ เรื่องปฏิรูป-ปรองดอง จึงถือว่าล้มเหลวหมด  

            -เมื่อบอกว่าเรื่องปรองดอง คสช.สอบไม่ผ่าน ถ้าเช่นนั้นมีข้อเสนอเรื่องนี้อย่างไร?

ความจริงพรรคเพื่อไทยได้เสนอตั้งแต่ต้นแล้วว่า การปรองดองที่จะสำเร็จได้ต้องทำแบบที่ต่างประเทศทำแล้วประสบความสำเร็จ คือต้องทำให้ใจของคนยอมรับในการจะร่วมมือร่วมใจกันทำบางอย่าง ซึ่งการดำเนินการ บางทีก็ต้องมีสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วยนอกเหนือจากแค่การพูดคุยกัน อาจต้องมีการเยียวยา เพราะมีคนสูญเสีย ลูกตาย พ่อตาย เมียตาย แต่ไม่เคยได้รับการเยียวยา โดยเขาก็บอกว่าเขาเป็นฝ่ายถูก เพราะออกมาเพื่อช่วยประเทศชาติ

กระบวนการเหล่านี้ต้องมีการทำ ทั้งเยียวยา พูดคุย อภัยซึ่งกันและกัน เช่น สมมุติว่ามีการดำเนินคดีกันในขณะนั้น เรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อาจจำเป็นก็ได้ แต่ต้องดูให้เหมาะสม รอบที่แล้วก็มีความพยายามจะทำในบางเรื่อง แต่ก็กลับกลายมาเป็นสาเหตุข้ออ้างในการทำปฏิวัติไป อันนี้ก็เลยกลายเป็นเรื่องลำบาก แต่เรื่องการสร้างความปรองดองก็มีกระบวนการ มีหลักวิชาอยู่ เรื่องเหล่านี้ได้เคยเสนอไปแล้ว ตอนที่รัฐบาลเรียกตัวแทนแต่ละฝ่ายไปพูดคุยกันที่กระทรวงกลาโหมแล้วตอนนั้นบอกว่าจะให้มีการทำสัญญาประชาคม แต่ว่าเวลานี้ ทุกคนจิตใจยังไม่ปรองดอง ยังมองสีเสื้อกันอยู่ ว่าคนนี้เสื้อแดง เสื้อเหลือง พอลับหลังให้กัน ก็บอกว่าต้องเอาให้ตาย แบบนี้ก็ไม่ใช่ปรองดองแล้ว มันก็แค่หยุดสงครามได้ชั่วขณะหนึ่ง เรื่องปรองดอง ผมถึงให้คะแนนศูนย์เลย ที่รัฐบาลมาตั้งกรรมการ ป.ย.ป. ก็ไม่เห็นมีการทำอะไรออกมา

ผมเป็นตัวแทนพรรคเพื่อไทยไปประชุม บอกเขาว่าเรื่องการปรองดอง ต้องใช้เวลา ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ เรียกคนมา แล้วให้เซ็นหนังสือแล้วบอกว่า จะไม่ทะเลาะกัน ไม่ตีกัน เรื่องปรองดอง ผมจึงไม่ได้คาดหวังอะไรกับ คสช. เพราะที่ผ่านมามีคนทักให้ไปทำไปศึกษา เช่น ข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าที่เคยทำออกมา แต่เขาก็ไม่ได้สนใจ ไม่ฟังความเห็นคนอื่น

ตอนที่ผมไปร่วมประชุมให้ความเห็นกับ ป.ย.ป.ที่กระทรวงกลาโหม ผมพูดเลยว่า ความจริงผมโกรธนายกฯ ที่เชิญผมไปประชุมที่สโมสรกองทัพบกเมื่อ 22 พ.ค.57 แล้วจับผมในที่ประชุม แต่ถ้าท่านนายกฯ ขอโทษผมคำเดียว ผมยอม ผมต้องการแค่นั้น เพราะใจเราก็ไม่ได้อยากอะไร มันผ่านไปแล้ว ก็จบๆ ไป เพราะมาทำกับผมแบบนี้ จะขอโทษผมสักคำก็ไม่มี แล้วจะมาให้ปรองดอง แล้วก็ชอบพูดว่าที่ทำปฏิวัติ เข้ามาทำเพื่อชาติเพื่อรักษาความสงบ ทำสำเร็จแล้วหลายเรื่อง ไม่เหมือนรัฐบาลเก่าๆ ที่ทำเรื่องไม่ดีไว้ แบบนี้ไม่ใช่ปรองดอง ท่านชูตัวท่าน แล้วทำลายคนอื่น

-ในฐานะอดีตอัยการสูงสุด ที่ในยุค คสช.พยายามจะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปตำรวจ เห็นความสำเร็จบ้างหรือไม่?

ก็ถามว่ามีอะไรสำเร็จบ้าง อย่างเรื่องปฏิรูปตำรวจ ที่เขาบอกว่ากำลังทำ ผมก็ยังไม่เห็นอะไรที่สำเร็จออกมาเป็นรูปธรรม มีแต่การถกเถียงกันในข้อเสนอต่างๆ เช่น จะทำตำรวจให้เป็นแบบทหาร ซึ่งผมเห็นว่าเดินผิดทาง ไม่ถูกต้อง ตำรวจมีภารกิจหลายอย่างนอกจากเรื่องการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมแล้ว ตำรวจก็ยังทำหน้าที่ตามกระบวนการยุติธรรม คือการสอบสวนดำเนินคดีต่างๆ ก็ยังมีคนวิจารณ์อยู่ตลอดเวลาว่ามีการดำเนินการสองมาตรฐาน

...เรื่องสองมาตรฐาน ผมมองว่าไม่ได้เกิดแค่กับตำรวจที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับทุกหน่วยในองค์กรกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ องค์กรอิสระ ผมก็เคยถามตัวเองเหมือนกันว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมเป็นแบบนี้ ซึ่งในความเห็นผม ก็มองว่าเมื่อมีการปฏิวัติ คนที่ถืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ที่เป็นอำนาจสูงสุดในประเทศ อยู่นานเกินสมควร เมื่ออยู่นานเกินสมควร ทุกคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ก็เหมือนกับอยู่ใต้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ บุคคลที่คิดว่าจะมีอิสระในการดำเนินการก็จะขาดความเป็นอิสระ เพราะถูกผู้มีอำนาจทั้งกำลังทหาร กำลังตำรวจในมือ มีทั้งอาวุธ การกำหนดนโยบายต่างๆ การกำหนดงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้กับองค์กรต่างๆ

...ทำให้หน่วยงานที่เราคิดว่าจะเป็นอิสระ พูดง่ายๆ ว่า หากมีการสะกิดสะเกา เรียกร้อง ขอให้เรื่องนั้นเป็นอย่างนั้น เรื่องนี้เป็นแบบนี้ มันก็อดไม่ได้ที่จะต้องผ่อนตามไป แล้วพอการเมืองมาเกี่ยวข้องกับ คสช. จากที่ตอนแรกบอกจะมาปฏิรูป แต่ตอนนี้กลายเป็นทหารที่เป็นนักการเมือง เมื่อเป็นนักการเมืองขึ้นมา การเป็นนักการเมืองก็ต้องการคนที่สนับสนุนตนเองในทุกด้าน ทำให้หน่วยงานที่ต้องอิสระ เคยอิสระก็จะหมดไป

กระบวนการสองมาตรฐานจึงเกิดขึ้นในทุกหน่วยงานของกระบวนการยุติธรรมทุกระดับชั้น โดยเกิดจากคนที่อยู่ใต้อำนาจที่ถูกกดดัน โดยไม่มีการตรวจสอบ เมื่อต้องคล้อยตาม ทำตามไป ในที่สุด การจะปรับเปลี่ยนนิสัยก็จะยาก ในยุคนี้ที่คณะรัฐประหารอยู่นานแล้วใช้อำนาจที่ทำให้หลายคนกลัว เกรงใจ ใช้สารพัดวิธี คนไหนเห็นแตกต่างก็ถูกโยกย้าย ถูกปรับทัศนคติ ทำให้เรื่องสองมาตรฐานถูกวิพากษ์วิจารณ์มากในกระบวนการยุติธรรม ทั้งในระดับตำรวจ อัยการ ศาลหรือองค์กรอิสระ เพราะทุกคนย่อมอยากอิงกับผู้มีอำนาจ หน่วยงานเหล่านี้อยากได้งบประมาณหรือไม่ เมื่ออยากได้งบประมาณ ก็ต้องทำให้ถูกใจ เมื่อมีการอะไรมาก็พยายามที่จะสนองตอบ สิ่งเหล่านี้ไม่ดีกับบ้านเมืองและกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้คนนิสัยเสีย ต่อไปจะแก้ยาก ต่อไปแม้ คสช.ไม่อยู่แล้ว แต่การจะให้คนเลิกนิสัยดังกล่าวจะต้องใช้เวลานานแค่ไหน

-มองว่าองค์กรอัยการถูก คสช.เข้าไปทำอะไรหรือไม่ เพราะหลังรัฐประหารแรกๆ ก็ออกมาตรา 44 ย้ายนายอรรถพล ใหญ่สว่าง จากอัยการสูงสุดไปประจำสำนักนายกฯ?

คล้ายๆ กับเชือดไก่ให้ลิงดูว่าหากไม่ตามใจในสิ่งที่ คสช.อยากได้ก็จะอยู่ไม่ได้ ซึ่งกรณีแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับองค์กรอัยการเท่านั้น แต่ข้าราชการหน่วยอื่นก็โดนเยอะ ย้ายออกจากตำแหน่งเดิมโดยไม่มีเหตุผล ไม่มีการสอบสวน จนตอนนี้หลายคนที่โดนย้ายยังไม่ได้กลับไปอยู่ที่เดิมเลย ก็ลำบากทำให้บ้านเมืองเสียหาย

ถามถึงองค์กรอิสระมองว่าถูกครอบงำแทรกแซงหรือไม่ เพราะปัจจุบันก็มีอดีตคนใกล้ชิดกับฝ่ายคสช.ไปอยู่ในองค์กรอิสระบางแห่ง ชัยเกษม-อดีตอัยการสูงสุด ตอบว่า นอกจากจะส่งคนที่คิดว่าตัวเองสามารถควบคุมได้เข้าไปอยู่ในองค์กรอิสระต่างๆ แล้ว ก็ยังเห็นได้ชัดว่ากฎกติกาบางอย่างที่ออกมา เช่น รัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ก็ยังมีความพยายามจะให้ยกเว้นกฎกติกา บางองค์กรโดนเซตซีโร แต่บางองค์กรกลับไม่โดน และบางองค์กรคนที่ทำหน้าที่ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญแต่ก็ยังไปเขียนยกเว้นให้อยู่ต่อได้ ถามว่ามันเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมืองนี้ จะเอาอะไรเป็นหลักเกณฑ์ต่อไปได้ ทุกอย่างเลยกลายเป็นเรื่อง สุดแต่ใจของผู้มีอำนาจ ที่เป็นเรื่องอันตราย ไม่ว่าจะเป็นการเมืองในยุคไหน หากคนมีอำนาจไม่มีหลักการที่ชัดเจนอยู่ในใจ แต่อยากทำอะไรก็ทำโดยไม่ชี้แจงให้ชัดเจน ก็จะเกิดความเสียหายต่อบ้านเมือง

ส่วนการใช้มาตรา 44 ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ตอนที่หัวหน้า คสช.ใช้ช่วงแรกๆ เราอาจจะยังพอเข้าใจ ว่าเพื่อให้เกิดความเร่งด่วนเพราะหากไปแก้กฎหมายอาจไม่ทัน ช่วงแรกๆ คนก็ไม่ค่อยว่าเท่าใด แต่ต่อมามีการใช้มาตรา 44 แบบเหนือกฎหมาย เช่นกฎหมายออกจากสภานิติบัญญํติแห่งชาติแล้ว ประกาศใช้แล้วยังใช้มาตรา 44 ไปแก้ไขกฎหมายอีก เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะแทนที่จะใช้กระบวนการปกติแต่ก็ไม่ทำ กลับไปใช้อำนาจพิเศษ ที่ก็คืออำนาจเผด็จการที่ไม่ควรอยู่ยาวนานขนาดนี้ ที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบ

...มันเสียหาย แล้วเสียหายแบบยากที่จะเยียวยา เพราะหลักที่ คสช.ทำออกมาทำให้คนรู้สึกว่าเมื่อ คสช.ทำแบบนี้ได้ ต่อไปใครขึ้นมามีอำนาจก็อยากจะแบบนี้เหมือนกัน การที่เข้าไปก้าวก่ายกระบวนการออกกฎหมาย กระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ก็คือการเอาอำนาจที่ไม่เป็นระบบมาใช้ แล้วใช้แบบไม่เกรงกลัวการตรวจสอบ จึงเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ดีกับการที่ใช้อำนาจโดยไม่มีการตรวจสอบแล้วอยู่นานเกินไป ซึ่งเหตุการณ์ในอดีตเราก็เห็นอยู่แล้วว่า กลุ่มที่ทำปฏิวัติรัฐประหารแล้วอยู่นานเกินไป ในที่สุดก็จบไม่สวย เมื่ออยู่นานแล้วสร้างสิ่งที่ไม่ถูกต้องไว้มาก เมื่อถึงเวลาก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเมื่อมีรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายเข้ามา มันจะมีอะไรที่ย้อนกลับมาตรวจสอบเช็กบิลกัน เพื่อให้เกิดความถูกต้องตามกฎกติกาหรือไม่ มันก็จะเกิดความวุ่นวายยุ่งเหยิงในที่สุด มีคนไปเช็กมากๆ  ท่านก็จะบอกว่าถ้าอย่างนั้นก็เอาอีกสักที

          ชัยเกษม เชื่อว่าเวลานี้กระแสไม่ยอมรับ คสช.มีมากขึ้น เพราะเรื่อง คสช.ทำงานดีหรือไม่ดี ประชาชนเขาวัดจากการใช้ชีวิตประจำวัน ยิ่งหากไปดูที่ต่างจังหวัด ทุกคนก็จะบ่นเหมือนกันหมดว่าเศรษฐกิจไม่ดี ค้าขายไม่ได้ จากที่แต่ก่อนเคยถูกรีดไถแต่ตอนนี้กลับยิ่งถูกรีดไถมากขึ้นเป็นสองเท่า มีเหลือบเพิ่มขึ้น ประชาชนก็รู้สึกว่ายิ่ง คสช.อยู่ต่อไปบ้านเมืองยิ่งเสียหาย แต่ทุกอย่างที่ผมพูดจะถูกหรือผิดวัดกันได้ตอนเลือกตั้ง แล้วจะรู้ว่าประชาชนชอบที่เผด็จการอยู่นานหรือชอบประชาธิปไตย เพราะตอนนี้ก็เป็นที่รู้กันว่าจะมีการตั้งพรรคการเมืองมาสนับสนุนเขา แต่สุดท้ายก็อยู่ที่ประชาชนตัดสิน

           ...แม้ผมจะอิงๆ การเมืองอยู่บ้าง แต่มากกว่าครึ่งในชีวิตผมก็คิดว่าผมก็คือประชาชนธรรมดา ก็เห็นว่าการสืบทอดอำนาจในลักษณะต่างๆ จากคนที่ทำรัฐประหาร เป็นฝ่ายเผด็จการไม่ใช่มาด้วยระบอบประชาธิปไตย จะไม่ได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชนเพราะประชาชนรู้ว่าชีวิตเขาไม่ดีขึ้น

คิดว่าในการเลือกตั้ง ใครก็ตามที่แสดงออกชัดเจนว่าสนับสนุน คสช.จะได้รับการสั่งสอนจากประชาชน จะเห็นได้ว่าตอนนี้ก็มีหลายพรรคที่ยื่นขอจัดตั้งพรรค แต่ก็ยังมองไม่ออก แต่บางพรรคก็แสดงออกชัดเจน ซึ่งพวกที่ยังแสดงออกไม่ชัด เราก็ยังไม่รู้เบื้องหน้าเบื้องหลังว่าใครสนับสนุนพรรคเหล่านั้น แต่หากประชาชนรู้ผมเชื่อว่าประชาชนไม่เอาเผด็จการ

ถามว่าคนเพื่อไทยบางคนเสนอให้พรรคชูนโยบาย เช่นปฏิรูปกองทัพหรือล้างมรดก คสช.  เช่นกฎหมายต่างๆ ที่ออกมาในยุค คสช. ชัยเกษม-อดีต รมว.ยุติธรรม ยืนยันว่าเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของบางคน อย่างถ้าผมแสดงความเห็นก็เป็นความเห็นของผม จะบอกว่าเป็นความเห็นของพรรคก็ยังไม่ได้ เพราะพรรคก็ยังไม่สามารถทำกิจกรรมการเมืองทางการเมืองได้ ก็ต้องคุยให้ชัดเจน แต่หลักการที่ชัดเจนก็คือพรรคเพื่อไทยยึดหลักประชาธิปไตย เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง กระบวนการยุติธรรมต้องไม่มีสองมาตรฐาน ส่วนสิ่งที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องคุยกันให้ชัดเจนว่าอะไรดีไม่ดี ต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไร

-จะชูนโยบายล้างมรดก คสช.แบบที่บางพรรคการเมืองประกาศไปก่อนหน้านี้หรือไม่?

ถ้าถามความเห็นส่วนตัวผมคงไม่อยากใช้คำว่า "ล้าง" แต่เราก็คงต้องลงไปดูว่าอะไรที่ดีเราก็เก็บไว้ได้ เราไม่ได้บอกว่าเขาไม่ได้ทำอะไรดีเลยสักอย่าง ต้องล้มหมด คงไม่ใช่ อะไรที่ดีเราก็เก็บไว้ ดูแลพัฒนาต่อไป ถ้าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่อะไรที่เห็นชัดว่าไม่ดีก็ต้องพยายามแก้ไข

อย่างรัฐธรรมนูญที่ผมก็เห็นว่ามีปัญหามากที่สุด แต่ก็คงไม่ถึงกับขนาดจะไปล้ม และถึงจะล้มก็คงไม่ง่ายเพราะก็เป็นรัฐธรรมนูญแล้ว การที่อยู่ดีๆ จะบอกว่าจะล้มรัฐธรรมนูญแล้วนำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา คงไม่ถึงขนาดนั้น แต่จุดไหนไม่ดีก็ต้องแก้ไข เพราะอย่างพรรคการเมือง หากดูตามรัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่ว่าเลือกตั้งชนะมาแล้วได้เสียงข้างมากจะได้เป็นรัฐบาล แล้วขณะเดียวกัน คสช.แม้ต่อให้กลับมาเป็นรัฐบาลก็ใช่ว่าจะอยู่ได้ เพราะเขียนออกมาแบบแปลกประหลาด คสช.เองก็คงรู้ตัวแล้ว.

                                                          วรพล วัฒนวรางกูร

....................................

พท.ชนะเลือกตั้ง แต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล?

            ชัยเกษม-อดีต รมว.ยุติธรรม-แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของพรรคเพื่อไทยต่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น โดยย้ำว่าพรรคเพื่อไทยพร้อมเสมอกับการเลือกตั้ง ต่อให้เลือกตั้งอาทิตย์หน้าหรือเดือนหน้าพรรคก็พร้อม เพราะเพื่อไทยไม่ใช่พรรคใหม่ มีแฟนคลับอยู่มาก ขณะเดียวกันนโยบายการช่วยประชาชน เพื่อไทยไม่เคยเปลี่ยนแปลง จึงไม่มีอะไรต้องกลัว พรรคพร้อมเสมอ

เมื่อถามถึงกรณีหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า แม้เพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งแต่อาจโดนสกัดไม่ให้จัดตั้งรัฐบาล ชัยเกษ ให้ความเห็นว่าต้องดูผลการเลือกตั้งว่าพรรคเพื่อไทยจะได้เสียง ส.ส.มากน้อยแค่ไหน  ถ้าคนเห็นว่านโยบายพรรคเพื่อไทยดี คนของพรรคทำเพื่อประชาชน แล้วเทคะแนนมาเต็มที่ ก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ถ้าไม่เป็นแบบนั้นจนถึงขนาดไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคเพื่อไทยก็พร้อมเป็นฝ่ายค้าน  การเมืองไม่มีอะไรแน่นอน ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ แต่แนวทางพรรคยังไงก็ไม่เอานายกฯ คนนอกแน่นอน เพราะเพื่อไทยพยายามจะเป็นสถาบันการเมืองที่ทุกฝ่ายยอมรับ ดังนั้นอะไรที่จะมาแบบผิดกติกาที่มาจากการยกเว้น เราไม่รับ

-ความเป็นไปได้ในการจับมือกับประชาธิปัตย์เพื่อไม่เอานายกฯ คนนอก หรือต่อต้านเผด็จการ ประตูนี้ปิดตายหรือไม่?

ในความเห็นส่วนตัวผม ถ้ามีการคุยกันแล้วนโยบายสามารถจะตรงกันได้  มันก็คนไทยด้วยกัน ก็ย่อมจับมือกันได้ ถ้าถามส่วนตัวผม แต่ผมเกรงแต่ว่านโยบายไม่ตรงกัน เพราะที่ผ่านมาก็มีหลายอันที่ขัดกัน ค่อนข้างจะ contrast แตกต่างกันอย่างมาก หากนโยบายไม่ตรงกัน เพียงแค่เพื่อจะเป็นรัฐบาล มันจะเกิดขึ้นยาก

ถามมุมมองต่อกรณีคนในเพื่อไทยเช่น นายเสนาะ เทียนทอง ประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย ออกมาสนับสนุนเรื่องรัฐบาลปรองดอง รัฐบาลแห่งชาติ ชัยเกษม-แกนนำเพื่อไทย มองว่า นายเสนาะท่านคงเห็นว่ามีความแตกแยก ความแตกร้าวในบ้านเมืองมาก อย่างเรื่องรัฐบาลแห่งชาติหากจะเกิดขึ้นก็เพราะไปไม่ไหวแล้ว ก็พยายามจะให้ประคองประเทศชาติต่อไป แต่ถ้าถามผมก็ไม่ค่อยเห็นด้วยกับรัฐบาลแห่งชาติ เพราะการเอาคนที่มีความคิดมีนโยบายแตกต่างกันมาทำงานด้วยกัน แล้วมาแบ่งกันว่า คุณไปคุมกระทรวงนั้นคุมกระทรวงนี้ คือถ้าแตกต่างกันมากๆ ก็จะไปด้วยกันยาก แต่ถ้ามันจำเป็นจริงๆ ไม่อย่างนั้นบ้านเมืองจะแตกสลายก็อาจเกิดขึ้นก็ได้ แต่ก็ต้องมีคนที่มีบารมีมากเพียงพอที่จะสร้างให้เกิดขึ้นได้ ถ้าอยู่ดีๆ จะมาบอกว่าให้มาจับมือกันตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ยังมองไม่เห็นเลยว่าใครจะจับมือกับใครบ้าง แล้วหากจับมือกันแล้วหากไม่มีฝ่ายค้าน ไม่มีการตรวจสอบ ผมก็ไม่เห็นด้วย

-เพื่อไทยจะเป็นพันธมิตรกับพวกพรรคตั้งใหม่อย่างพรรคอนาคตใหม่หรือไม่?

ต้องรอให้มีการเปิดให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมการเมือง จึงจะดูว่ามีแนวนโยบายสอดคล้องต้องกันหรือไม่ หากสอดคล้องกันก็เป็นได้ทั้งนั้น เพราะคนที่มารวมตัวกันทำการเมือง เพื่อประเทศชาติ ประชาชนก็ย่อมอยู่ด้วยกันได้ แต่หากอุดมการณ์ไม่ตรงกัน เช่นไปอยู่กับพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง เราบอกว่าเราไม่เอาเผด็จการไม่เอาทหาร แต่อีกพรรคบอกว่าถ้ามีจังหวะ อยู่กับใครก็ได้ ทหารก็อยู่ได้ ก็ไปด้วยกันยาก ต้องดูนโยบาย

ส่วนการเลือกตั้งที่เคยประกาศว่าจะเกิดขึ้นช่วง ก.พ.ปี 2562 คือมีความเป็นไปได้ แต่ไม่เชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะเลื่อนมาหลายครั้งแล้ว หรืออาจจะขยับเลื่อนการเลือกตั้งให้เร็วขึ้นก็ได้ หากพวกเรียกร้องเลือกตั้งแล้วมีเหตุทำให้รัฐบาลเห็นว่าหากไม่เลื่อนขยับเข้ามา บ้านเมืองอาจเสียหายมากกว่านี้ ก็อาจเลื่อนเข้ามาก็ได้หรืออาจเลื่อนออกไปอีกก็ได้ แต่การที่พูดเรื่องโรดแมปแล้วเลื่อนไปหลายครั้งมันทำให้คนไม่มั่นใจ

ชัยเกษม กล่าวตอบหลังถามถึงโอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ โดยบอกว่าเดาใจยาก เพราะตอนนี้กิจกรรมการเมืองทำอะไรไม่ได้ จะมีโอกาสพบประชาชนในช่วงสั้นๆ หลังมีการปลดล็อกให้ทำกิจกรรมได้ ถึงตอนนั้นก็ยังไม่รู้ประชาชนจะเข้าใจแค่ไหน แล้วตอนนั้นเมื่อถึงเวลาออกไปหาเสียง การคิดคะแนนอะไรต่างๆ ทุกอย่างเปลี่ยนหมด การแลนด์สไลด์จึงเดาไม่ถูกเลย เพราะมีการเปลี่ยนแปลงกฎ กติกา วิธีการเลือกตั้ง

-ทิศทางพรรคต่อจากนี้ เช่นบุคคลที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรค หรือเป็น 3 แคนดิเดตนายกฯ  ในพรรคจะมีปัญหาจนเกิดความแตกแยกชิงตำแหน่งกันหรือไม่?

ของพรรคเพื่อไทยเนื่องจากพรรคไม่สามารถทำกิจกรรมการเมืองได้ ก็เลยยังไม่มีหัวหน้าพรรคที่ชัดเจน แต่ผมเชื่อว่าเมื่อมีกติกาจนมีการเลือกหัวหน้าพรรค ในพรรคเพื่อไทยจะไม่มีปัญหาใดๆ

ผมชอบพรรคเพื่อไทยอย่างหนึ่งว่า พรรคไม่ได้บริหารด้วยคนที่เป็นหัวหน้าพรรคเท่านั้น หัวหน้าพรรคอาจไม่ได้เป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็ได้ หัวหน้าพรรคคนหนึ่งคงแน่นอน แต่อีกสองคนที่ต้องส่งชื่อให้กกต.จะเป็นใคร พอเวลาหาเสียงเจอประชาชนถึงได้คะแนนเสียงมา คนที่เป็นหัวหน้าอาจไม่ใช่คนที่ประชาชนชื่นชอบอยากให้เป็นก็ได้ เวลาดูว่าใครเหมาะสม คือหัวหน้าพรรคก็ต้องได้รับการยอมรับจากคนในพรรค และต้องมีฝีมือการบริหาร รวมถึงประชาชนว่าอย่างไร จะมีหลายอย่างประกอบกัน การที่กฎหมายให้พรรคเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ได้สามชื่อ ก็ทำให้มีโอกาสที่จะเลือกที่จะเปลี่ยนแปลง คือหัวหน้าพรรคก็คือคนที่มาดูแลมาบริหารพรรค ซึ่งพรรคเพื่อไทยอย่างตัวท่าน พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์  แม้จะรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แต่ก็ไม่ได้เคยใช้อำนาจในลักษณะว่าต้องแบบนั้นต้องแบบนี้ ไม่ได้ชี้นำขนาดนั้น ส่วนมากก็จะคุยกัน พูดกันด้วยเหตุด้วยผลแล้วก็เดินไปตามที่เห็นว่าถูกต้อง ผมว่าวัฒนธรรมพรรคเพื่อไทย การที่จะไปแย่งชิงกัน แตกกัน ไม่มี หากสุดท้ายได้ผลอย่างไรออกมา ผมเชื่อว่าทุกคนจะยอมรับกันหมด

สำหรับการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองใหม่เช่น พรรคอนาคตใหม่ จะมาแย่งฐานเสียงพรรคหรือไม่  ชัยเกษม วิเคราะห์ว่า ถ้าถามผมก็คิดว่าไม่มาก เพราะเพื่อไทยอยู่มานานแล้วสร้างผลงานเอาไว้มากทีเดียว โดยเฉพาะคนในต่างจังหวัดที่ชีวิตความเป็นอยู่เขาดีขึ้น เช่นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นตัวอย่าง ซึ่งแบบนี้คนอื่นไม่กล้าทำ แต่เพื่อไทยกล้าทำ ก็ทำให้ได้ใจ หรือเรื่องจำนำข้าว ตอนนี้ผมก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าพรรคเพื่อไทยจะทำต่อหรือไม่ แต่เราอาจจะทำต่อก็ได้ แต่ปรับปรุงไม่ให้มันมีความไม่ชอบมาพากล เป็นที่สงสัยว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น ให้มันดี แต่หากถามชาวบ้าน ชาวบ้านชอบใจทั้งนั้น  เพราะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่เขาดีขึ้น เรื่องหนักใจตรงนี้ พรรคจึงไม่ได้หนักใจ เราคิดว่าเรามีแฟนคลับมากพอสมควร

ชัยเกษม-แกนนำเพื่อไทย กล่าวทิ้งท้ายถึงโอกาสความเป็นไปได้ที่พลเอกประยุทธ์จะกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งหลังเลือกตั้งว่า ต้องเดาใจประชาชน ก็อยู่ตรงที่ว่าตอนนี้ท่านจะใช้วิธีการอย่างไรเพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง อย่างตอนทำประชามติร่าง รธน. รัฐบาลก็ใช้วิธีไม่ให้คนอื่นแสดงความเห็น รัฐบาลพูดฝ่ายเดียวแล้วส่งคนลงไปหมดทุกหมู่บ้าน แล้วจะคาดเดาได้อย่างไรว่าการเลือกตั้งจะไม่เป็นอย่างนี้  เพราะยังเป็นการเลือกตั้งที่ยังอยู่ในระหว่างที่คณะรัฐประหารยังอยู่ มันอาจเกิดอะไรขึ้นมาที่ไม่แฟร์ แล้วก็มาบอกว่าชนะเลือกตั้ง แต่หากชนะแบบนั้นผมก็ไม่รับ แล้วถ้าคนไม่รับมากๆ ก็จะเกิดปัญหาความไม่สงบ ก็ต้องดู แต่หากเปิดกันแบบแฟร์ๆ ผมก็มองว่าท่านคงไม่ได้.

....................


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"