บีทีเอสคาใจเล็งฟ้องรฟม.ปมล้มประมูลสายสีส้ม


เพิ่มเพื่อน    

 

10 มี.ค.64-นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เปิดเผยในการแถลงข่าว “การดำเนินงานรถไฟฟ้าสายสีส้ม” ว่า ตามที่เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ประกาศในเว็บไซต์ แจ้งยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ และยกเลิกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร (กม.) วงเงินประมาณ 1.2 แสนล้านบาทนั้น ถือเป็นการดำเนินการที่น่าประหลาดใจ เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด และยังไม่มีคำตัดสินแต่อย่างใด 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 รฟม. ยังเดินหน้าประกาศรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน (Market Sounding) สำหรับการจัดทำร่างประกาศเชิญชวนและร่างเอกสารเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุน (RFP) ฉบับใหม่ ทั้งนี้ BTSC จึงได้ทำหนังสือยื่นต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายศักดิ์สยาม ชิกชอบ รมว.คมนาคม รวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องว่า การดำเนินการของ รฟม. ดังกล่าวนั้น ไม่ถูกต้อง แต่ในขณะนี้ ยังไม่ได้รับคำตอบจากการส่งหนังสือดังกล่าว

“สิ่งที่บริษัททำ เหนื่อยมาพอสมควร ที่ทำมาไม่ได้หมายความว่า เราได้โครงการนี้ แต่ต้องการให้การดำเนินการมีความเป็นธรรม และถูกต้องในการประมูล โครงการใหญ่ ที่มีมูลค่าหลักแสนล้าน รวมถึงนักลงทุนต่างชาติจับตาดูอยู่ และเกี่ยวข้องกับชื่อเสียงของประเทศไทย เราต้องการให้เกิดความน่าเชื่อถือของประเทศ” นายสุรพงษ์ กล่าว

เมื่อถามว่า BTS จะเข้าร่วมประมูลในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มหรือไม่ นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ต้องพิจารณาเอกสารการประกวดราคา (TOR) ก่อนว่าเป็นอย่างไร รวมถึงพิจารณารายละเอียดเกณฑ์การคัดเลือกเอกชน ทั้งนี้ จากการหารือกับบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) นั้น ยังยืนยันที่จะเป็นพันธมิตรร่วมกัน ซึ่งจะมีพันธมิตรเพิ่มเติมหรือไม่ จะต้องพิจารณา TOR เช่นกัน สำหรับจุดยืนของ BTS นั้น คือ ไม่เห็นเด้วยกับการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การคัดเลือกโดยใช้คะแนนด้านเทคนิคควบคู่กับด้านราคา และมองว่า ไม่เป็นธรรม ซึ่งการใช้เกณฑ์เดิม หรือการพิจารณาด้านราคาเพื่อผลตอบแทนสูงสุดของรัฐ คือ วิธีที่เหมาะสม 

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า กรณีการต่อสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนี้นั้น ไม่เกี่ยวข้องกัน ขณะที่คดีที่ศาลปกครองที่บริษัทฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 5 แสนบาทกับรฟม. นั้นยังคงดำเนินการอยู่

ด้าน พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น เริ่มมีความผิดปกติของการดำเนินการในขั้นตอนที่อยู่ระหว่างการรอยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนในโครงการนี้ ปรากฎว่า มีบริษัทเอกชนที่ร่วมซื้อซองมีหนังสือไปถึงผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ขอให้พิจารณาเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การพิจารณาผู้ชนะการประมูล โดยอ้างเหตุผลถึงหลักเกณฑ์ และความเสี่ยงสูง ของการขุดเจาะอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งผ่านพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน จะต้องใช้เทคนิคการออกแบบทางวิศวกรรมและวิธีการก่อสร้างขั้นสูง เพื่อลดผลกระทบที่มีต่อประชาชนในด้านต่างๆ ต่อมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือก ซึ่งล้มล้างสิ่งที่หน่วยงานของรัฐทำมาหลายปี  

ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าว ชี้ให้เห็นเจตนา และความคิดของหน่วยงานเจ้าของโครงการ เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา บริษัทต้องทำหนังสือร้องเรียนไปถึงผู้มีอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบตามกฎหมาย ได้แก่ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน, ผู้อำนวยการ สคร. ในฐานะกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายฯ, ผู้ว่าการ รฟม. ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานเจ้าของโครงการ, คณะกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งถูกแต่งตั้งตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์), รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะที่กำกับดูแล รฟม. และคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.

"การประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวน รฟม.ออกมาเมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งออกก่อนที่ศาลจะมีมติออกมา เพราะคำสั่งศาลจะออกมาได้ 2 รูปแบบ คือ คำสั่งทุเลาของศาลปกครองกลาง นั่นคือ 1.รฟม.ทำตามหลักเกณฑ์เก่า และ 2.คำสั่งศาลปกครองกลางไม่ชอบใช้หลักเกณฑ์ได้ หากเป็นแบบที่ 2 รฟม.จะใช้หลักเกณฑ์ใหม่ในการคัดเลือกไม่ได้ เพราะตอนยื่น BTS ยื่นในหลักเกณฑ์เก่า ซึ่ง รฟม.ไม่มีอำนาจในการยกเลิกเหมือน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ขณะที่การรับฟังความเห็นของ​ รฟม.​ ก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย​ คนที่ฝ่าฝืนกฎหมายแต่ต้องมาเป็นคณะกรรมพิจารณาแพ้หรือชนะ​ มั่นใจได้หรือไม่เป็นกลาง​ไม่มีดุลพินิจที่เอนเอียง" พ.ต.อ.สุชาติ กล่าว

พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวต่ออีกว่า ตามที่ รฟม. ประกาศเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การคัดเลือก รวมถึงการออกคำสั่งยกเลิกประกาศเชิญชวน ซึ่งควรจะต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเสียก่อน และการประกาศรับฟังความคิดเห็นเอกชนครั้งใหม่นั้น รฟม. ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย และไม่ได้กำหนดไว้ในตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เนื่องจาก รฟม. มีสิทธิ์เป็นแค่เจ้าของโครงการเท่านั้น ทำให้การดำเนินการดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะเดียวกัน หากคณะกรรมการคัดเลือกฯ ประเมินว่า เกณฑ์การพิจารณาด้านเทคนิคควบคู่ราคา มีความเหมาะสม เหตุใดจึงไม่นำมาดำเนินการตั้งแต่รับความฟังความคิดเห็นครั้งแรก

“จากการประกาศยกเลิกเมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา อ้างว่า เป็นไปเพื่อความเรียบร้อย ฝากถามว่า ใครทำให้ไม่เรียบร้อย และการยกเลิก เกิดประโยชน์สูงสุดตรงไหน ท่านไม่ได้ใช้อำนาจที่รัฐให้ ในการประกาศยกเลิกโครงการนี้ ซึ่งโครงการนี้ เป็นโครงการขนาดใหญ่ ถ้าช้าไป 1 วัน หรือ 1 เดือน จะสร้างความเสียหายหลักพัน หลักหมื่นล้าน หาก รฟม. ยังจะดันทุรังเดินหน้าโครงการต่อ ผมเชื่อว่าปีนี้ก็ไม่ได้เซ็น เพราะกระบวนการไม่ถูกต้อง แล้วถ้า รฟม. ส่งให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ผมว่าความเสียหายยิ่งไปกันใหญ่ และผู้รับผิดชอบอาจเพิ่มมากขึ้น” พ.ต.อ.สุชาติ กล่าว

พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวอีกว่า ตามที่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่ง ฉบับลงวันที่ 5 มี.ค. 2564 จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้น การที่ศาลปกครองกลางมีการจำหน่ายคดี ยังไม่ใช่ข้อยุติ​ และ BTS มีสิทธิ์ที่จะยื่นอุทธรณ์ในการจำหน่ายคดี ภายใน 30 วันว่า การพิจารณาคำสั่งการยกเลิกใช้อำนาจโดยชอบหรือไม่ อีกทั้ง อยู่ระหว่างการพิจารณายื่นฟ้องอีก 2 ประเด็นเพิ่มเติม คือ การประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวนเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2563 และการประกาศรับฟังความเห็นเอกชน เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการภายใน 90 วัน

ขณะเดียวกัน ยังมีในส่วนของการฟ้องร้องค่าเสียหาย และรอการพิจารณารับฟ้องในวันที่ 15 มี.ค.นี้ กรณีที่ BTSC ได้ยื่นฟ้องนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 เป็นคดีอาญา ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในฐานความผิดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นคดีหมายเลขดำที่ อท 30/2564 อย่างไรก็ตาม หากมีการรับฟ้อง ยืนยันว่า จะมีหมัดเด็ดที่จะใช้ในการไต่สวน

“ผมยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่มีการแบ่งเค้ก เพราะเราเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถูกจับตามองของนักลงทุนต่างประเทศ รวมถึงได้รับรางวัลจาก DJSI ให้เป็นบริษัทที่มีความยั่งยืนในอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้มา 3 ปีซ้อนแล้ว และในปีนี้ได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยดัชนีชี้วัดกำหนดไว้ 3 ตัว ได้แก่ ด้านการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ด้านการดูแลช่วยเหลือสังคม และด้านธรรมาภิบาล ซึ่งถ้าเรื่องนี้ ปล่อยให้ผ่านไป เหมือนเป็นการทำลายระบบ ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ของประเทศไทย นอกจากนี้ ยืนยันเจตนารมณ์ผู้บริหาร BTS ที่ต่อสู้ยาวนานมาครึ่งปี แพ้หรือชนะยังไม่รู้ ถ้าปล่อยไปตามปกติเรื่องราคา ยังไม่รู้ว่า BTS จะชนะหรือแพ้ ซึ่งที่เราต่อสู้ ขอเพียงอย่างเดียว คือ ขอเข้าสู่การแข่งขันอย่างเป็นธรรม และเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้ เพราะว่าสิ่งที่ร้องเรียน คือ ทำไม่ถูกตามกฎหมาย” พ.ต.อ.สุชาติ กล่าว

พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวว่า นอกจากนี้ ขอตั้งขอสังเกตอีกว่า ตั้งแต่มีปัญหา ยังไม่เคยเห็นการให้สัมภาษณ์ของนายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่า (วิศวกรรมและก่อสร้าง) รฟม.ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง มีเพียงแค่นายภคพงศ์ ผู้ว่าการ รฟม. และไม่ใช่คณะกรรมการคัดเลือกฯ และไม่มีอำนาจ รวมถึงไม่ได้เข้าร่วมประชุมครั้งที่ 1-16 มีแค่การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เท่านั้น 

นอกจากนี้ ผู้ว่าการ รฟม. ยังไม่เคยออกมาเปิดเผยว่า ในการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน เมื่อช่วง เม.ย. 2563 มีใครแสดงความเห็นบ้างว่า ต้องใช้เกณฑ์คัดเลือกด้านเทคนิค 30 คะแนน และด้านราคา 70 คะแนน เนื่องจากหาก มีการแสดงความคิดเห็นดังกล่าว แปลว่า นำไปพิจารณาแล้วแต่ไม่นำมาใช้ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้น ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งต้องมีจุดจบ และต้องมีการแก้ปัญหา ถ้าหากไม่แก้ไข จะเกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อประเทศไทย และภาครัฐ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"