ACEมุ่งสู่พลังงานสีเขียว แก้วิกฤติขยะมูลฝอย-ลดโลกร้อน


เพิ่มเพื่อน    

ขณะนี้มีความชัดเจนแล้วว่าทั่วโลกได้หันมาให้ความสนใจทางด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเป้าหมายสำคัญคือการลดภาวะโลกร้อนและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรปและประชาคมโลกกว่า 200 ประเทศที่มีภารกิจร่วมกันในนาม COP21 สำหรับประเทศไทยก็เช่นกัน รัฐบาลได้มุ่งขับเคลื่อนนโยบายพลังงานทดแทน ทั้งไบโอดีเซล ไบโอแมส ไฟฟ้า และไบโอเคมิคัล โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก 25% ภายในปี 2030 และวัดผลทุก 3-5 ปี หากทำได้ดีกว่าเป้าหมาย ก็จะเป็นบันไดให้เราก้าวไปเช่นเดียวกับยุโรป และกลุ่มอาเซียนก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากเช่นกัน    

 

ที่ผ่านมานั้น กระทรวงพลังงานได้เตรียมใช้เวทีการหารือเชิงนโยบาย (Policy Dialogue) กับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) ของญี่ปุ่น ในรูปแบบการประชุมออนไลน์ ซึ่งปีนี้ทางกระทรวงพลังงาน โดยจะขอให้ทางญี่ปุ่นนำเสนอรายละเอียดของแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ขึ้นอยู่ชั้นบรรยากาศ ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดก๊าซเรือนกระจก และนำไปสู่ปัญหาโลกร้อน หลังจากเมื่อเร็วๆ นี้ทางญี่ปุ่นได้ประกาศเป้าหมายชัดเจนว่า จะลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 หรือ Carbon Neutral by 2050 และยังมียุทธศาสตร์การเติบโตด้านพลังงานสะอาด "green growth strategy" กำกับการขับเคลื่อนชัดเจน

 

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเองก็จะนำแนวทางดังกล่าวมาเป็นโมเดลในการจัดทำแผนลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ให้สอดรับกับทิศทางพลังงานของหลายประเทศทั่วโลกที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เช่น สหรัฐ ได้ประกาศเป้าหมาย ลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2593 และจีน ประกาศเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2603 ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญในการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ 2022 ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้
    

โดยจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ ที่ประกอบไปด้วย  แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทน (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ในทุกๆ แผนก็จะต้องกำหนดแนวทางขับเคลื่อนให้ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ การลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ 

 

และจากนโยบายของรัฐบาลที่ผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะทำให้ความต้องการไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมานั้นกระทรวงพลังงานได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2564  เพื่อวางแผนเตรียมความพร้อมด้านพลังงานในอีอีซี แม้โควิด-19 จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนไทยชะลอตัวบ้าง แต่สถิติการใช้ไฟฟ้าล่าสุดชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้ว โดยภาคอุตสาหกรรมการใช้ไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น จนเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เหลือเพียงภาคการท่องเที่ยวเท่านั้น

 

นายพรชัย รุจิประภา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า แนวโน้มการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่อีอีซีจะเพิ่มขึ้นกว่า 4 พันเมกะวัตต์ เนื่องจากสิ่งที่จะเกิดขึ้นอนาคตล้วนแล้วแต่ต้องใช้ไฟฟ้าทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน ภาคตะวันออก ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 และท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 รวมถึงเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) และเมืองใหม่สมาร์ทซิตี้ที่จะเกิดขึ้นในอีกหลายเมือง
  

 "นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลยังพุ่งไปที่หลายเมืองจะทำให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกว่า 4 พันเมกะวัตต์ ในอีก 10 ปีข้างหน้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ทำให้ไฟฟ้ามีความจำเป็นอย่างมาก ดังนั้นต้องเร่งวางแผนการสร้างโรงไฟฟ้าที่เหมาะสม และสอดคลองกับนโยบายลดโลกร้อนของรัฐบาลที่ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว และยังสอดคล้องกับเทรนด์ของโลก สร้างแรงจูงใจให้กับต่างชาติเข้ามาลงทุนในอีอีซี" นายพรชัยกล่าว
  

 อย่างไรก็ตาม ในภาคเอกชนก็ให้ความสำคัญในสิ่งเหล่านี้ อย่างเช่น บมจ.แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้  หรือ ACE ผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานสะอาดด้านโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าขยะ ถือว่าเป็นหนึ่งในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจมายาวนาน และสามารถเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนได้อย่างต่อเนื่องยาวนานเต็มประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ นายธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ACE กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มปีละ 4% เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะไม่ขาดไฟฟ้า รัฐบาลจึงออกนโยบายแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยเพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนลงทุนในโรงไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียนถือเป็นพระเอกของแผนพัฒนาครั้งนี้เพราะมีสัดส่วนถึง 37% หรือเกิน 1 ใน 3 ของกำลังผลิตไฟฟ้าที่ต้องการเพิ่มทั้งหมด
    

ดังนั้น โรงไฟฟ้าชีวมวลและขยะถือเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานหมุนเวียนจึงมีโอกาสได้รับประโยชน์จากแผนพัฒนาครั้งนี้ และโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบในเชิงหน่วยไฟฟ้าที่ผลิต และตรงกับนโยบาย BCG หรือ Bio-Circular-Green economy ที่รัฐบาลกำลังส่งเสริมอย่างจริงจัง ส่วนโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยก็ได้รับอานิสงส์จากนโยบายการจัดการขยะอย่างถูกวิธี เพื่อแก้ไขวิกฤติขยะมูลฝอยของประเทศไทย
  

 นายธนะชัย กล่าวว่า เป้าหมายการลงทุนของบริษัทนั้น ไม่เจาะจงว่าต้องเป็นในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือ อีอีซี เพราะการลงทุนหรือขยายธุรกิจนั้น ดูตามโอกาสของธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่นขยะ ถ้ามองว่าพื้นที่อีอีซีมีขยะเยอะ มีศักยภาพ ก็จะเข้าไปทำ อีอีซีนั้นบริษัทมาดำเนินงานอยู่ก่อนแล้ว ส่วนจะส่งอานิสงส์อย่างไรกับบริษัทนั้น คือในอนาคตถ้ามีโรงงานเกิดขึ้นมากๆ แล้วไฟฟ้าไม่พอกับความต้องการเยอะ ก็มีโอกาสขยายได้อีก ที่ฉะเชิงเทรามีที่เหลือ สามารถขึ้นอีกโรงหนึ่ง เพราะเป็นพื้นที่ที่มีท่อก๊าซธรรมชาติผ่านข้างหน้า 

 


  "ถ้าตอบคำถามว่าอีอีซีเราสนใจไหม เราสนใจในฐานะที่มันเป็นหนึ่งในพื้นที่ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องมุ่งไปที่อีอีซีอย่างเดียว มันไม่ใช่เราดูตามโอกาสตามผลตอบแทน คือดูหมด เราไม่ได้ดูเฉพาะในประเทศด้วยซ้ำ เราดูต่างประเทศด้วย ทุกวันนี้ก็คุยอยู่ทั้งดีลที่เป็น M&A และดีลที่เป็นการลงทุนใหม่ แต่ส่วนใหญ่ถ้าเลือกจะไปก็จะไปในสิ่งที่เราได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งวันนี้สิ่งที่เราได้เปรียบคิดว่าจะเป็นเรื่องของ Biomass Biogas และขยะชุมชน เพราะมีประสบการณ์ในการออกแบบ ประสบการณ์ในการเดินเครื่อง” นายธนะชัยกล่าว
    

นายธนะชัย กล่าวถึงแผนการดำเนินงานในปี 2564 นั้น ACE มีแผนที่จะ COD อีกหลายโครงการ ที่คาดจะก่อสร้างแล้วเสร็จและ COD ได้ทันภายในปีนี้ รวมถึงการทยอยลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) อาทิ โครงการโรงไฟฟ้า SPP Hybrid อีก 3 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 73 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล VSPP อีก 11 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 108.9 เมกะวัตต์ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนและมีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ รวมถึงโอกาสการได้มาซึ่งโครงการใหม่ๆ จากการที่ภาครัฐมีแผนที่จะเปิดประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง 150 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ ซึ่ง ACE ก็มีความพร้อมเต็มที่ในการเข้าร่วมประมูลในส่วนนี้

 

 "ขณะที่ดีลซื้อกิจการโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในปีนี้ หลังมีผู้เสนอเข้ามาให้พิจารณาจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบสถานะ (Due Diligence) และการเจรจา โดย ACE จะพิจารณาความคุ้มค่าในการลงทุนและความเสี่ยงเป็นหลักสำคัญ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเมื่อซื้อเข้ามาแล้วจะช่วยให้ผลประกอบการของ ACE เติบโตได้ดียิ่งขึ้น และเป็นไปอย่างยั่งยืนในระยะยาว"


อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกลุ่มบริษัท ACE มีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วกำลังการผลิตติดตั้งรวม 245.91 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตติดตั้งที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 203.66 เมกะวัตต์ รวมเป็นกำลังการผลิตติดตั้ง 449.57 เมกะวัตต์ 
    

สำหรับในปี 2563 ที่ผ่านมานั้น มีผลการดำเนินงานเติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มีกำไรสุทธิ 1,508 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 85% จากปีก่อนหน้าที่มีกำไรสุทธิ 815 ล้านบาท  เนื่องมาจากการที่กลุ่มบริษัทสามารถเดินเครื่องโรงไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องยาวนานเต็มประสิทธิภาพ สามารถบริหารและควบคุมต้นทุนต่างๆ ได้ดีเยี่ยมจนทำให้โรงไฟฟ้าทุกประเภทมีอัตรากำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้กลุ่มบริษัทยังมีการบริหารต้นทุนทางการเงินที่ทำได้ดีอย่างต่อเนื่อง 
    

อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าของบริษัทนั้นเป็นโรงไฟฟ้าไบโอแมส เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนของเชื้อเพลิง ทางบริษัทมีการวิจัยและพัฒนาเชื้อเพลิงที่นำมาใช้ในการผลิตพลังงานอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงบริษัทยังได้มีการกระจายแหล่งซัพพลายของพืชพลังงานให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะลดความเสี่ยงที่ราคาต้นทุนของพืชพลังงานจะปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งในขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างวิจัยพืชพลังงานชนิดใหม่ 2 ชนิด ได้แก่ หญ้าสาทร และหญ้าเลา คาดปลายปีนี้จะสามารถนำออกมาให้เกษตรกรทดลองปลูกได้
    

นอกจากนี้ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 บริษัทเตรียมที่จะนำโดรนเข้ามาช่วยวิเคราะห์พืชผลให้กับเกษตรกรที่ปลูกพืชพลังงานเหล่านี้ส่งให้กับบริษัท ส่วนโรงไฟฟ้าขยะ บริษัทได้มีการนำเทคโนโลยีอย่าง IoT เข้ามาใช้เพื่อให้ระบบภายในโรงไฟฟ้าสามารถที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วยเช่นกัน


  "ACE มุ่งที่จะสร้างความเติบโตให้กิจการและเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าด้วยการเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ และการเจรจาซื้อกิจการโรงไฟฟ้าต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศอีกเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่องในอนาคต เพื่อขับเคลื่อนให้ ACE บรรลุเป้าหมายการเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งให้ได้มากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2567" นายธนะชัย กล่าว.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"