หักกมธ.ข้างมาก รัฐสภามีอำนาจ ขอทำประชามติ


เพิ่มเพื่อน    

 ที่ประชุมรัฐสภาโหวตหัก กมธ.เสียงข้างมาก ให้รัฐสภามีอำนาจขอทำประชามติ แล้วให้ ครม.ดำเนินการ ด้าน “ส.ว.” โวยขอนับคะแนนใหม่หลังโหวตแพ้

    ที่รัฐสภา เวลา 15.00 น. วันที่ 18 มีนาคม ในการประชุมร่วมรัฐสภา มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. .... ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยเป็นการพิจารณาวาระสอง เรียงตามลำดับมาตรา มีทั้งหมด 67 มาตรา โดยไฮไลต์อยู่ที่มาตรา 9 ที่กำหนดให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจจัดและควบคุมดูแลการออกเสียงให้เป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม เสรี เสมอภาค และชอบด้วยกฎหมาย
    โดยนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายเห็นด้วยกับนายชูศักดิ์ ศิรินิล กรรมาธิการเสียงข้างน้อย ว่า แม้ที่ผ่านมาฝ่ายนิติบัญญัติจะทำความเห็นไปยังคณะรัฐมนตรี( ครม.) แต่อำนาจการตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำก็อยู่ที่ ครม. แต่หากใช้ร่างของนายชูศักดิ์ จะทำให้ ครม.ต้องดำเนินการตามความเห็นที่รัฐสภาส่งไป จะทำให้ความเห็นของรัฐสภาที่ต้องการให้รัฐบาลทำประชามตินั้นรัฐบาลปฏิเสธไม่ได้
    ด้านนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายเห็นแย้งกับ กมธ.ว่า ตนไม่เห็นด้วยที่จะมอบหมายให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำประชามติ เพราะแค่ให้ กกต.ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง กกต.ก็ทำให้เกิดการซื้อเสียงกันอย่างกว้างขวาง การเลือกตั้งในแต่ละครั้งมีกฎหยุมหยิม ป้ายติดอะไร ตรงไหน ขนาดเท่าไหร่ กำหนดหมด แต่ใครซื้อเสียงตรงไหนไม่เคยรู้เลย เพราะไม่เคยออกไปดู ตั้งแต่มีการเลือกตั้งมา กกต.ที่นครสวรรค์รับแต่เงินเดือน ไม่มีการพัฒนาอะไรเลย ถ้าเรายังไปมอบหมายภารกิจสำคัญให้เขาจัดทำอีก ตนมองไม่ออกเลยว่า กกต.จะจัดให้มีการทำประชามติที่บริสุทธิ์ยุติธรรมได้อย่างไร แถมยังมีการเพิ่มถ้อยคำว่าต้องเสรีและเสมอภาคอีก กกต.จะดำเนินการอย่างไร เพราะแค่ที่ทำกันอยู่ กกต.ยังไม่เคยออกมาดูเลย มีทั้งคะแนนเขย่งและบัตรเขย่งเต็มไปหมด
    “ผมมองว่าถ้าเราไปมอบภาระหน้าที่ให้ กกต.มากจนเกินไป ผมเกรงว่าจะเละกันไปหมด ขนาดภาคใต้ที่ผ่านมาไม่เคยมีการซื้อเสียง ท่านยังทำจนเละไปหมดเลย ผมขอถามว่า กกต.จะทำให้การทำประชามติเสมอภาคได้อย่างไร จะเอาวิธีไหนมาทำให้เสมอภาค เพราะแค่การเลือกตั้งที่สุจิรตเที่ยงธรรมท่านยังทำไม่ได้เลย” นายวีระกรกล่าว
    ภายหลังสมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็นแล้ว ที่ประชุมลงมติเห็นชอบให้แก้ไขมาตรา 9 ตามที่นายชูศักดิ์เสนอ ด้วยมติ 273 ต่อ 267 งดออกเสียง 1 เสียง
    ทั้งนี้ เนื้อหาที่นายชูศักดิ์เสนอ คือกำหนด 5 เงื่อนไขในการทำประชามติ ได้แก่ 1.การออกเสียงที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่มีบทบัญญัติกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2.การออกเสียงกรณีเมื่อ ครม.เห็นว่ามีเหตุอันสมควร 3.การออกเสียงตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการออกเสียง 4.การออกเสียงในกรณีที่รัฐสภาได้พิจารณาและมีมติเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุสมควรที่จะให้มีการออกเสียงและได้ชี้แจงเรื่องให้ ครม.ดำเนินการ และ 5.การออกเสียงกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบการออกเสียง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด นอกจากนั้นได้กำหนดรายละเอียดด้วยว่า ห้ามออกเสียงประชามติเรื่องที่ผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้
    ทำให้นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธาน กมธ. ขอพักการประชุม 10 นาที เพื่อไปดูว่ามาตรา 10 และมาตรา 11 จะทำอย่างไรให้สอดคล้องกับมาตรา 9
    ต่อมา นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว. ลุกขึ้นอภิปรายขอใช้สิทธิ์นับคะแนนใหม่ ด้วยการขานคะแนน ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 58 เพราะคะแนนมีผลต่างน้อยกว่า 30 คะแนน ทำให้ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านประท้วงและโต้ตอบว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเข้าสู่กระบวนการพิจารณามาตรา 10 แล้ว ทำให้มี ส.ว.โห่ประท้วงไม่พอใจ
    แต่ก่อนที่ความขัดแย้งจะบานปลาย นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา วินิจฉัยว่าที่ประชุมเข้าสู่มาตรา 10 ไม่สามารถใช้สิทธิ์นับคะแนนใหม่ได้
    จากนั้นนายพรเพชรได้พักการประชุม 10 นาที เพื่อให้ กมธ.หารือปรับแก้เนื้อหามาตรา 10 และมาตรา 11 ให้สอดคล้องกับมาตรา 9 ที่ได้แก้ไข
       จากนั้น เวลา 19.35 น. ที่ประชุมรัฐสภาได้เปิดอีกครั้งภายหลังที่พักประชุมเพื่อหารือเป็นเวลา 1 ชั่วโมง โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธาน กมธ. กล่าวว่า สืบเนื่องจากการลงมติของที่ประชุมในมาตรา 9 โดยเพิ่มเติมรายละเอียดตามที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล กมธ.เสียงข้างน้อยเสนอ เมื่อ กมธ.ตรวจสอบรายละเอียดพบว่ามีผลกระทบอย่างน้อย 4 มาตรา คือ มาตรา 10, มาตรา 11,  มาตรา 14 และมาตรา 15 ซึ่งระหว่างการพักประชุมก็ได้สอบถามกฤษฎีกา ได้ความว่ากฤษฎีกาขออนุญาตกลับไปทบทวนยกร่างตามกระบวนการของกฤษฎีกา ซึ่งไม่อาจแล้วเสร็จในวันนี้ได้ อีกทั้งต้องตรวจสอบหมวดอื่นๆ อีกด้วย ด้วยเหตุผลความจำเป็นนี้ ขออนุญาตให้ประธานพิจารณาเลื่อนการประชุมเป็นคราวหน้าได้หรือไม่
     จากนั้น นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม กล่าวว่า เนื่องจากมีพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมแล้ว ทำให้เราไม่สามารถประชุมได้อีก จึงมีทางคือรอพิจารณาต่อในสมัยประชุมหน้าในเดือน พ.ค. หรือจะขอเปิดให้มีพระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุมวิสามัญอีกครั้ง เพื่อพิจารณาเฉพาะเรื่องนี้
    อย่างไรก็ตาม ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ต่างไม่ติดใจที่จะให้เลื่อนการพิจารณาออกไป แต่ขอให้เปิดสมัยประชุมวิสามัญ เพราะถ้าหากรอให้เปิดสมัยประชุมทั่วไปในเดือน พ.ค. จะนานเกินไป และขอให้ประธานรัฐสภายืนยันว่าเมื่อเปิดประชุมในครั้งหน้าจะเป็นการพิจารณาในมาตรา 10 ต่อจากวันนี้ ไม่ใช่เป็นการเริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติใหม่ ซึ่งนายชวนก็รับปากว่าจะเป็นการพิจารณาต่อจากวันนี้
     จากนั้นได้อ่านพระบรมราชโองการปิดสมัยประชุมวิสามัญ และสั่งปิดการประชุมในเวลา 20.00 น..

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"