วิสามัญ‘ประชามติ’ ‘ชวน’เล็งเปิด7-8เม.ย./พปชร.เอาคืนขยี้‘ภท.’ใสร้ายหักหลัง


เพิ่มเพื่อน    

  “ชวน” แย้มเปิดประชุมวิสามัญ 7-8 เม.ย. ถกร่าง พ.ร.บ.ประชามติต่อ ยัน ส.ว.จะขอลงมติ ม.9 ใหม่ไม่ได้ "วิษณุ" เผยพรรคร่วมกำลังถกใครเป็นเจ้าภาพแก้ รธน.รายมาตรา “นิกร" หวั่นร่าง พ.ร.บ.ประชามติถูกคว่ำวาระสาม เผยคุย 3 พรรคร่วมแก้รธน.ม.256 สมัยประชุมหน้า "พปชร." เอาคืน "ภท." จี้ "เสี่ยหนู" รับผิดชอบสอบ "ชาดา" ใส่ร้ายดูหมิ่นรัฐสภา พท.จ่อสอบ 26 ส.ส.ไม่โหวตวาระ 3 "มาร์ค" เตือนสะสมความขัดแย้งเหมือนเป็นระเบิดเวลา

    ที่รัฐสภา วันที่ 19 มีนาคม นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา กล่าวถึงการนำร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ..... ปรับปรุงใหม่ว่า ขณะนี้รอคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติปรับปรุงกฎหมายที่เห็นว่ามีความเชื่อมโยงกันระหว่างมาตรา 9 และมาตราอื่นๆ ให้เรียบร้อยก่อน เมื่อคืนตนก็ได้สอบถามทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าสามารถทำได้เลยหรือไม่ ก็ได้รับการชี้แจงว่าทำไม่ได้ เพราะโยงไปถึงเนื้อหาและมาตราอื่น จึงขอเวลา 1 สัปดาห์ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับประธานคณะกรรมาธิการฯ ที่จะนำไปแก้ไขให้เรียบร้อยก่อน จึงจะทำเรื่องถึงรัฐบาลเพื่อขอเปิดสมัยประชุมวิสามัญเพื่อพิจารณากฎหมายที่ค้างอยู่
    "กฎหมายประชามติมี 67 มาตราก็จริง แต่มีการแก้ไขและแปรญัตติทุกมาตรา ซึ่งต่างจากกฎหมายยาเสพติดที่มีกว่า 100 มาตรา แต่แก้ไขและแปรญัตติน้อย เพราะฉะนั้นคิดว่าเปิดสมัยประชุมแค่ 1-2 วันก็น่าจะเพียงพอ ซึ่งเมื่อกี้ได้หารือกับผู้นำฝ่ายค้านถึงเวลาที่เหมาะสม น่าจะเป็นวันที่ 7-8 เม.ย. ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ ก็จะรีบแจ้งให้ฝ่ายต่างๆ รับทราบ แต่ยังไม่ได้แจ้งไปยังรัฐบาล โดยจะแจ้งให้เจ้าหน้าที่สภาติดต่อประสานไปยังรัฐบาล"
    เมื่อถามว่า ส.ว.ต้องการให้ลงมติมาตรา 9 ใหม่ สามารถทำได้หรือไม่ นายชวนกล่าวว่า ทำไม่ได้ เพราะเลยเวลาไปแล้ว และมีการพิจารณามาตราอื่นไปแล้ว จึงไม่สามารถลงใหม่ได้ เพราะผ่านไปก่อน
    เมื่อถามว่า หากมีการยื่นญัตติแก้ไข รธน. ได้มีการวางกรอบเวลาไว้หรือไม่ นายชวนกล่าวว่า ไม่ได้วางกรอบ และไม่มีวาระหรือญัตติอะไร แต่เป็นเป็นเรื่องภายในสภาที่เห็นว่าไม่วันนี้ก็วันหน้าก็เกิดขึ้นอีก และเมื่อศาลวินิจฉัยไว้อย่างนี้ น่าจะมีการเตรียมศึกษาไว้ว่าแนวทางการปฏิบัติควรจะปฏิบัติอย่างไร ส่วนหากจะมีการแก้ไขรายมาตรา ก็มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้วว่าสามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงรัฐสภาเลื่อนลงมติร่าง พ.ร.บ.ประชามติ จะส่งผลให้กระบวนการแก้ไข รธน.ล่าช้าไปอีกหรือไม่ว่า ถ้าจะส่งผล ก็ส่งผลไม่มาก เพราะหากมีอะไรเกิดขึ้นก็ยินดี ที่จะเปิดประชุมสมัยวิสามัญให้อีก แต่ข้อสำคัญคือต้องทำให้เสร็จและครบองค์ประชุมก็แล้วกัน เพราะช่วงนี้ใกล้จะถึงเทศกาลสงกรานต์แล้ว หากเปิดประชุมสมัยวิสามัญแล้วไม่มีสมาชิกมาประชุมก็จะยุ่ง แต่ถ้าแน่ใจก็ยินดีที่จะเปิด
หาเจ้าภาพแก้ รธน.รายมาตรา
    ผู้สื่อข่าวถามกรณีร่างแก้ไข รธน.ถูกโหวตล้มในวาระ 3 ไปแล้วจากนี้รัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพแก้ไขเองเลยหรือไม่ และหากจะแก้ไข จะเป็นแบบรายมาตราหรือทำประชามติก่อนเพื่อแก้ทั้งฉบับ นายวิษณุกล่าวว่า ตนได้ยินว่าพรรคร่วมรัฐบาลกำลังคิดกันอยู่ ถ้าได้ความอย่างไรคงจะหาทางออกว่า 1.จะทำเองในนามพรรคร่วมรัฐบาล หรือ 2.ทำโดยรัฐบาล ซึ่งถ้าความเห็นตกผลึก คงมาพูดคุยให้ตนฟังเร็วๆ นี้ แต่เขายังไม่ได้ว่าอะไร
    เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคฝ่ายค้านเรียกร้องให้นายกฯ และนายวิษณุรับผิดชอบ ที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน และมองว่าต้องถูกยื้อไปอีก นายวิษณุกล่าวว่า "ทำไมผมทำอะไร ที่จะต้องรับผิดชอบ ซึ่งผมยังไม่รู้เลยว่าทำอะไร ยิ่งถ้าบอกว่าผมเข้าไปเกี่ยวด้วย ผมทำอะไรไม่ทราบ ผมยังไม่รู้เหมือนกัน เห็นพูดกันตั้งแต่ 09.00-21.00 น. แล้วก็ทำกันเอง โหวตกันเอง คนอื่นไม่ได้ไปโหวตด้วย"
    นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ในฐานะ กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ กล่าวถึงกรณี ส.ว.เเพ้โหวตในมาตรา 9 ของร่าง พ.ร.บ.ประชามติว่า ต่อจากนี้จะมีนิมิตหมายใหม่ในการทำประชามติ ก่อนหน้านี้การทำประชามติจะขึ้นอยู่กับอำนาจการตัดสินใจหรือดุลพินิจของ ครม.ฝ่ายเดียว ต่อจากนี้การจะทำประชามติไม่ได้มีเเค่ 2 ช่องทาง แต่จะทำให้ต่อจากนี้รัฐสภา สามารถเป็นจุดตั้งต้นทำประชามติได้ และประชาชนสามารถเข้าชื่อเพื่อให้ทำประชามติได้เช่นกัน ผลโหวตที่ออกมาไม่ใช่เเค่เรื่องการเตือนสติว่าอย่าคิดว่ามีเสียงมากจะทำอะไรที่ฝืนความต้องการประชาชนได้ อีกนัยหนึ่งก็เพื่อเตือนสติให้เห็นว่าอย่าชะล่าใจว่ามี ส.ว. 250 คนในมือเเล้วจะคว่ำรัฐธรรมนูญที่สวนทางกับความรู้สึกประชาชนก็ได้อีกด้วย
    นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวยอมรับว่า ตนเป็น 1 ใน  267 เสียงที่ลงมติสนับสนุนให้มาตรา 9 ของร่าง พ.ร.บ.ประชามติแก้ไขปรับปรุงตามข้อเสนอของ กมธ.เสียงข้างน้อย ซึ่งเนื้อหาได้เปิดช่องให้รัฐสภา, ประชาชนมีสิทธิเสนอเรื่องให้ทำประชามติ เพราะเห็นว่าควรเปิดกว้างการเสนอให้ทำประชามติที่ไม่ควรมีแค่จากฝั่งรัฐบาลเท่านั้น และเมื่อพิจารณาเรื่องที่สอดคล้องกัน คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากกฎหมายประชามติผ่าน รัฐสภาจะมีสิทธิ์เสนอให้ทำประชามติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ตกไป จุดนี้เชื่อว่าจะเป็นทางออกตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญได้ การเปิดช่องให้การทำประชามติไม่ถูกจำกัดเฉพาะดุลยพินิจของฝ่ายบริหารนั้น ตนกังวลว่าร่าง พ.ร.บ.ประชามติอาจถูกคว่ำในวาระสามได้
    นายนิกรกล่าวว่า สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จุดยืนของพรรคชทพ.คือจะเดินหน้าแก้ไขต่อ เบื้องต้นตนได้คุยกับนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์, นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะเป็น กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ มีความเห็นร่วมกันว่าในการเปิดสมัยประชุมสภาฯ เดือนพฤษภาคม จะพิจารณาเสนอญัตติขอแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นที่สามารถเดินหน้าร่วมกันได้คือมาตรา 256 ที่รัฐสภาได้ผ่านการพิจารณาและเห็นพ้องกันในวาระสอง คือปรับเงื่อนไขการใช้เสียงรับหลักการวาระแรก และเสียงเห็นชอบวาระสาม โดยเสียง 3 ใน 5 โดยตัดเกณฑ์เสียง ส.ว. 1 ใน 3  และเสียงพรรคฝ่ายค้านร้อยละ 20 ออก
"พปชร."จี้"ภท."สอบ"ชาดา"
    นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า ไม่ได้หลอกพรรคร่วมรัฐบาลเสนอญัตติให้ลงมติวาระ 3 ร่างรัฐธรรมนูญ แต่หลังเฝ้าดูการอภิปราย 9 ชั่วโมงเต็ม มีการเสนอญัตติขึ้นมาซ้อน 3 ญัตติ ส่วนที่ไม่ปล่อยให้ 3 ญัตติที่เสนอก่อนหน้านี้ เพราะทำตามข้อบังคับที่ประชุมยืนยันว่าไม่ได้เปลี่ยนเกมเล่น พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)ตกลงกันไว้แล้วว่าจะเปิดให้สมาชิกฟรีโหวต และ ส.ส.พปชร.ก็อยู่ที่บริเวณรัฐสภา เพื่อเตรียมเข้าร่วมประชุม ถ้าองค์ประชุมไม่ครบ แม้ไม่ปรากฏตัว แต่ก็อยู่ในรัฐสภา ไม่เหมือนบางพรรคที่ออกนอกพื้นที่ไปเลย ได้พูดคุยกับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยหลังบัลลังก์ห้องประชุมในวันลงมติแล้ว ว่าพลังประชารัฐเปิดให้ฟรีโหวต และต้องการโหวตวาระ 3 เพื่อชี้ว่าผ่านหรือไม่ผ่านไปเลย
    นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพปชร. กล่าวถึงกรณีนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี และรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ระบุว่าจะไม่ร่วมสังฆกรรมด้วยกับพวกฉ้อฉลศรีธนญชัย ว่าการที่นายชาดาพูดแบบนั้น ย่อมแสดงว่าหมายถึงตนโดยตรง และรวมถึง ส.ส. ส.ว. จำนวน 474 คนที่ร่วมออกเสียงเห็นด้วยกับญัตติที่ตนเสนอ การกระทำของนายชาดา กล่าวหา ใส่ความ ให้ร้ายทำให้เสียหายต่อชื่อเสียง และยังประณามรัฐสภาว่าเป็นสภาโจ๊ก ทำให้นายชาดามีปัญหาตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้อที่ 12 ที่ระบุว่าสมาชิกและกรรมาธิการต้องเคารพสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของผู้อื่น ไม่แสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ มีลักษณะเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท เสียดสีหรือใส่ร้ายป้ายสีบุคคลใด หรือนำเอาเรื่องที่เป็นเท็จมาอภิปรายแสดงความเห็นในที่ประชุม
    "ในฐานะผู้เสียหายจากการกระทำของนายชาดา จึงขอเรียกร้องให้นายอนุทิน ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย สอบสวนการกระทำของนายชาดา เพราะการกระทำดังกล่าวมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อชื่อเสียงของ ส.ส. ส.ว. 474 คน และรัฐสภา จึงเรียกร้องให้แสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ รวมทั้งขอให้ดำเนินการตามมาตรฐานในการดูแลควบคุมสมาชิกพรรคให้มีจริยธรรมและมารยาททางการเมืองด้วย” นายไพบูลย์กล่าว
    นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ กล่าวชี้แจงกรณีที่ไม่ได้ร่วมลงมติวาระ 3 ในร่างรัฐธรรมนูญว่า เพราะกังวลว่าการลงมติจะหมิ่นเหม่หรือละเมิดคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังที่มีคำวินิจฉัยออกมา แต่ส่วนตัวนั้นอยู่ที่รัฐสภาตลอด เพียงแต่ไม่ได้ลงมติ ซึ่งวิปรัฐบาลก็ย้ำว่าเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภา อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าปัญหาการแก้รัฐธรรมนูญจะไม่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล ทุกคนอยากแก้รัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีอะไรที่ดี 100 เปอร์เซ็นต์ มีจุดบกพร่องหลายจุด
     นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช และรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงผลการลงมติในการแก้ไข รธน.วาระ 3 ว่า ยืนยันว่าได้ใช้สิทธิ์ลงคะแนนเพื่อเห็นชอบในร่าง รธน. เพราะเป็นการย้ำให้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังยืนยันจุดเดิม ที่มองว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีข้อบกพร่องหลายประการ ทั้งนี้ ประชาชนสงสัยในท่าทีของพรรคแกนนำรัฐบาลว่าไม่มีความจริงใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่แรก เหมือนกับสำนวนที่ว่า ขายผ้าเอาหน้ารอด จากเหตุการณ์ต่างๆ ประมวลได้ว่า พรรคแกนนำรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามคำแถลงนโยบายของรัฐต่อสภา และยังยอมที่จะให้เกิดคำครหาว่ารัฐธรรมนูญนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา สิ่งที่เกิดขึ้นคนที่จะต้องตอบคำถามกับประชาชนก็คือ คนที่แสดงท่าทีที่นอกเหนือจากการลงมติ เช่น การอยู่เฉยๆ ในห้องเมื่อถึงคราวที่ถูกเรียกชื่อ
    นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานด้านกฎหมายของพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เตรียมยื่นคำร้องกล่าวหา ส.ส.และ ส.ว.ที่ร่วมลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 ต่อ ป.ป.ช.ว่า การที่ ส.ส.และ ส.ว.ได้ลงมติร่างแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญ เป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญที่รัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภากำหนดไว้ จะเป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตรงไหน ถือเป็นการทำในแนวทางประชาธิปไตย ขอเตือนว่าวันใดที่นายศรีสุวรรณไปยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. ในวันรุ่งขึ้นจะมี ส.ส.ไปยื่นฟ้องหรือร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับนายศรีสุวรรณทันที ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา และรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น
สะสมความขัดแย้งรอระเบิดเวลา
      นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี 26 ส.ส.เพื่อไทยไม่โหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 สวนมติพรรคว่า ทางพรรคคงต้องพูดคุยสอบถามถึงสาเหตุว่าเกิดจากอะไร เบื้องต้นคาดว่าคงไม่เกี่ยวข้องกับข่าวแยกตัวไปอยู่กับพรรคการเมืองที่จะตั้งขึ้นใหม่ สมัยนี้ไม่ควรมีใครมาตกปลาในบ่อเพื่อน เพราะคนทั่วไปดูก็รู้ และหากใครสนใจจะไปร่วมงานกับพรรคการเมืองใหม่บางพรรค ต้องเปิดตัวให้ชัด ไม่ใช่คอยแต่สร้างความแตกแยก ไม่ควรปล่อยให้เกิดปัญหาคาราคาซังจนกลายเป็นภาพลักษณ์ที่ติดลบทางการเมือง การโหวตวาระ 3 ทำให้เห็นได้ชัดว่า เขียนด้วยมือลบด้วยเท้าเป็นอย่างไร การปฏิรูปการเมืองไม่มีอยู่จริง กระบวนการสืบทอดอำนาจลับลวงพรางทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองอยู่ในอำนาจให้นานที่สุด
    นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่ตนไม่ได้ลงมติ ไม่ได้เกรงว่าจะขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ที่ไม่โหวต เพราะกลัวไม่ผ่าน ไม่ได้กลัวว่าจะผิด ทั้งเชื่อว่าโหวตไปก็แพ้ ได้แจ้งเหตุผลให้นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรค และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค รับทราบก่อนจะลงมติแล้ว ยืนยันไม่ได้เป็นงูเห่า ซึ่งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคบอกว่ารับฟังเหตุผล อย่างไรก็ตาม พร้อมจะชี้แจงต่อพรรค และเห็นว่า ส.ส.เพื่อไทยที่โหวตลงมติวาระ 3 ไม่ผิด
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รู้สึกเสียดายต่อการคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่าควรใช้เวทีสภาในการแก้ปัญหา เพราะการแก้ไขต่อจากนี้เป็นเรื่องที่ยาก ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขทั้งฉบับหรือรายมาตรา เนื่องจากการแก้ไขรายมาตราก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะมีการผูกโยงกันไว้ จึงเป็นเรื่องอันตราย ถ้ากลไกตามรัฐธรรมนูญถูกจำกัดไปเสียหมด คนก็จะต้องแสดงพลังหรือแสดงออกในทางอื่น นับวันคนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาก็จะโน้มเอียงไปในทิศทางที่เห็นด้วยกับกลุ่มที่เคลื่อนไหว หากไม่ตอบสนองอะไรเลย ก็เหมือนกับรอเป็นระเบิดเวลา ยิ่งสะสมประเด็นความขัดแย้ง ทำให้สถานการณ์ในอนาคตยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้น
    ผู้สื่อข่าวถามว่า สโลแกนเลือกความสงบจบที่ลุงตู่ วันนี้ถ้าทัศนคติผู้นำยังเป็นอย่างนี้ ความสงบจะจบที่ตรงไหน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้การที่สถานการณ์การเคลื่อนไหวของมวลชนอาจดูเบาบางลง แต่สังคมกลับไม่ได้ขัดแย้งน้อยลง แม้ผู้ชุมนุมจะจำนวนน้อยลง แต่คนที่เห็นว่าจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือระบบในหลายจุดมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ฝ่ายผู้มีอำนาจอาจพึงพอใจ บรรยากาศเอื้อให้ตัวเองรักษาอำนาจได้ และการเกิดเหตุรุนแรงแบบสุดโต่งระหว่างการชุมนุมมากขึ้น ก็จะเพิ่มความชอบธรรมในการหาความนิยม คือต้องเลือกเพื่อความสงบ แต่ทั้งหมดมันเป็นความสงบผิวเผิน ไม่ยั่งยืน มีแต่สะสมปัญหาสำหรับอนาคตประเทศ ถ้าคิดแต่การรักษาอำนาจ ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ประเทศอยู่แล้ว จึงอยู่ที่ว่าผู้มีอำนาจจะตัดสินใจอย่างไร    นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานที่ปรึกษาและแกนนำพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า  เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประชุมสภาได้ตกไปแล้ว การแก้ไข รธน.ถือว่าเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล แล้วก็เป็นนโยบายที่สำคัญของพรรคการเมืองหลายๆ พรรคที่อยู่ในรัฐบาลด้วย เมื่อไม่สามารถแก้ไขทั้งฉบับเพราะตกไปแล้ว อาจจะต้องมาพิจารณาในแนวทางของการแก้ไขเรื่องของรายมาตรา เพราะการแก้ไขรายมาตราในบางหมวดไม่ต้องไปทำประชามติ อยากจะเห็นทุกฝ่ายมีความจริงใจและมีความร่วมมือกันอย่างจริงจัง จะทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไป ส่วน พ.ร.บ.ประชามติก็คงจะต้องเร่งรัดกัน.
            

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"