“มาตรการรัฐ-วัคซีน” อาวุธดัน ศก.ฟื้น


เพิ่มเพื่อน    

     หลังรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่านโครงการเยียวยาประชาชนหลากหลายโครงการ ที่ยอดนิยม เช่น โครงการคนละครึ่ง เราชนะ เราเที่ยวด้วยกัน ม.33เรารักกัน เป็นต้น รวมถึงปัจจุบันประเทศไทยมีการกระจายวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประเทศ ทำให้เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทยเริ่มฟื้นตัว

            ล่าสุด ได้มีการรายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ประเมินภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มของประเทศเป็นรายไตรมาส

            ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มหดตัวน้อยลงในปี 2563 โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 ภายหลังการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เนื่องจากเริ่มมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีประสิทธิผลและกระจายได้อย่างทั่วถึง ประกอบกับนโยบายการคลังที่ออกมาอย่างต่อเนื่องและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

            ซึ่งในปี 2564 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.2 โดยการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 5.7 และ 5.0 ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ

            ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ โดยเศรษฐกิจไทยปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 4.8 ตามข้อสมมติฐานที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัวตามสัดส่วนการกระจายวัคซีนในไทยและต่างประเทศ และเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565

            ขณะที่ประมาณการดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2564 คาดว่าจะเกินดุลลดลงอยู่ที่ 11.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากรายรับภาคท่องเที่ยวที่ลดลงเป็นสำคัญ ส่วนในปี 2565 คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลสูงขึ้นที่ 29.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น

            อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยภายใต้การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ การระบาดในช่วงต้นเดือนมกราคม 2564 ถือว่ารุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ ดังนั้นประมาณการเศรษฐกิจในปี 2564 และ 2565 จึงมีโอกาสที่จะต่ำกว่ากรณีฐาน

            ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การบริโภคภาคเอกชนจะได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นตามมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดมากขึ้น ภาคบริการและภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามพัฒนาการด้านการจัดซื้อวัคซีนของไทยมีความคืบหน้ามากกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่ง จะต้องติดตามสถานการณ์และประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด

            ส่วนเสถียรภาพระบบการเงินไทยนั้น ได้มีการรายงานว่ามีความเสี่ยงสูงตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า และการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้ฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเปราะบางจากหนี้ที่อยู่ในระดับสูง และความสามารถในการชำระหนี้ที่ด้อยลง ทั้งนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอน ดังนั้นการสนับสนุนเงินทุนเพิ่มเติมแก่ธุรกิจที่มีศักยภาพและการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเหมาะสม รวมถึงการปรับโครงสร้างธุรกิจและรูปแบบธุรกิจจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้

            ขณะที่ การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี ทั้งนี้เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจยังต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง และเห็นควรให้รักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด

            อย่างไรก็ตาม จากการผลักดันในหลายมาตรการ ควบคู่กับการกระจายวัคซีนให้ประชาชนได้ครอบคลุมภายในปี 2564 ตามนโยบายรัฐบาล และหากสถานการณ์ทางการเมืองเป็นไปอย่างสงบ ก็คาดว่าจะช่วยเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็วมากยิ่งขึ้นด้วย.  

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"