ทำไม 'ราษฎร' ต้องชุมนุม 24 มีนา. ครบรอบเลือกตั้ง-ปลุกกระแสคดี?


เพิ่มเพื่อน    

 

         สัปดาห์ที่แล้ว การประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอันจะนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2564 เป็นไฮไลต์สำคัญทางการเมืองที่ประชาชนติดตาม ซึ่งในที่สุดก็ถูกคว่ำลงอย่างเป็นทางการ ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และ ส.ส.พร้อม ส.ว.จำนวนมากงดออกเสียง และไม่ลงมติ จนทำให้ร่างดังกล่าวตกไปในวาระที่ 3 อันเป็นปรากฏการณ์ที่ชัดเจนในการไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องของฝ่ายค้านทั้งในสภาและนอกสภา ที่จะให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่แทนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

            แน่นอนว่า บรรยากาศทางการเมืองนอกสภาที่มีการชุมนุมของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล อันมี 3 ข้อเรียกร้องหลักเพื่อขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ก็ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องร้อนแรง โดยที่ไม่มีใครเห็นทางออกจากวิกฤติรอบใหม่นี้ได้อีก เมื่อข้อเรียกร้องทั้งสามถูกปิดประตูไม่ได้รับการตอบสนองแล้ว จากที่ผู้ชุมนุมเคลื่อนไหวมาตลอดปี 2563 เป็นไปโดยสงบ จนกระทั่งเข้าสู่ปี 2564 เมื่ออารมณ์เริ่มสั่งสมมากขึ้น การเคลื่อนไหวโดยสงบก็เริ่มยากยิ่งขึ้น ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งแม้ยืนหยัดในการชุมนุมโดยสงบได้ แต่อีกส่วนหนึ่งไม่เป็นเช่นนั้น ซึ่งส่วนนี้ไม่ว่าจะเป็นมือที่หนึ่งหรือมือที่สาม ก็ได้นำพาสถานการณ์ให้มาสู่การปะทะก่อจลาจล บาดเจ็บกันทั้งฝ่ายตำรวจและผู้ชุมนุม ดังเช่นเหตุการณ์ชุมนุมของ REDEM เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2564 และเหตุการณ์ปะทะก่อนหน้านี้เรื่อยมา

            ไฮไลต์สำคัญทางการเมืองนอกสภาที่ต้องติดตามกันสัปดาห์นี้คือ วันนี้ 24 มี.ค.2564 มีการนัดชุมนุมอีกครั้งของกลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ซึ่งค่อนข้างมีความเป็นเนื้อเดียวกับกลุ่มที่ใช้ชื่อ “ราษฎร” ได้ประกาศนัดผ่านเพจด้วยว่า “เตรียมพบกับม็อบมีเวที! มีปราศรัย! พร้อมดูแลความปลอดภัยผู้ชุมนุม” โดยยังไม่ประกาศสถานที่และเวลานัดขณะเขียนรายงานชิ้นนี้ เชื่อว่าการชุมนุมครั้งนี้ น่าจะเป็นการชุมนุมปรับสถานการณ์ โดยให้มีแกนนำ มีการรักษาความปลอดภัย เพื่อป้องกันสถานการณ์ปะทะ อันแตกต่างจาก REDEM ที่ไม่มีแกนนำ ซึ่งถ้าหากการชุมนุมมีแกนนำ มีเวทีปราศรัย ไม่เคลื่อนขบวนไปไหน มีแนวรักษาความปลอดภัย โอกาสเกิดปะทะย่อมแทบไม่มี จะรักษาแนวทางการชุมนุมโดยสงบไว้ได้

            ส่วนเหตุใดถึงกำหนดนัดชุมนุมวันที่ 24 มี.ค. ทั้งที่ไม่ใช่วันหยุด แม้ฝ่ายผู้นัดชุมนุมยังไม่มีการอธิบาย แต่น่าจะมีนัยสำคัญเท่าที่วิเคราะห์ได้ 2 ประการสำคัญ ประการแรก หากย้อนกลับไปวันที่ 24 มี.ค.2562 หรือสองปีที่แล้ว คือวันที่มีการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 ครั้งล่าสุด ที่ทำให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย โดยการเสนอชื่อจากพรรคพลังประชารัฐ ถึงแม้พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามจะมี ส.ส.ได้รับเลือกจำนวนที่นั่งมากที่สุดก็ตาม แต่พรรคพลังประชารัฐได้อ้างผลคะแนนเสียงป๊อปปูลาร์โหวตมากที่สุด ชักชวนพรรคการเมืองอื่นร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ พร้อมกับมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งอีกด้วย ดังนั้นการนัดชุมนุมในวันที่ 24 มี.ค. คงเป็นไปได้ที่จะมีการปราศรัยเนื่องด้วยเหตุครบรอบ 2 ปีที่รัฐบาลประยุทธ์-พรรคพลังประชารัฐสืบทอดอำนาจต่อสำเร็จจนวันนี้

            ประการที่สอง อีกหนึ่งวันถัดมาหลังการชุมนุม คือวันที่ 25 มี.ค.2564 สำนักงานอัยการสูงสุด กรุงเทพใต้ มีนัดสั่งคดีแกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร กรณีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ต.ค.2563 ซึ่งคดีนี้มีผู้ต้องหาจำนวน 13 คน ถูกแจ้งข้อหาหลักคือ หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตาม ป.อาญา ม.112 และยุยงปลุกปั่นฯ ตาม ป.อาญา ม.116 โดยจากการเปิดเผยก่อนหน้านี้ของ “ครูใหญ่-อรรถพล บัวพัฒน์” หนึ่งในแกนนำที่เป็นผู้ต้องหาคดีนี้ ได้ขอให้จับตาการที่อัยการจะมีคำสั่งฟ้อง เพราะเป็นคดีที่มีผู้ต้องหาถูกแจ้งข้อหาตาม ป.อาญา ม.112 จำนวนมากที่สุด

            ดังนั้น การชุมนุมวันที่ 24 มี.ค. อาจเป็นการปลุกกระแสต่อในเรื่องนี้ เพื่อให้ติดตามในวันถัดมา 25 มี.ค. ว่าอัยการจะมีคำสั่งฟ้องและส่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 13 คน เป็นจำเลยต่อศาลอาญากรุงเทพใต้หรือไม่ และหากมีการส่งฟ้องจะได้รับการประกันตัวหรือไม่ จากการที่ทุกคนโดนแจ้งข้อหาตาม ม.112 อันเป็นข้อหาที่ยากแก่การได้รับการประกันตัวในเวลานี้ ทำให้แกนนำกลุ่มราษฎรหลายรายต้องเข้าเรือนจำไปก่อนแล้ว สำหรับผู้ต้องหาซึ่งเป็นแกนนำคนสำคัญในคดีนี้ มีอาทิ ครูใหญ่-อรรถพล บัวพัฒน์, มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, บอล-ชนินทร์ วงษ์ศรี, เบนจา อะปัญ, แอม-ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา และปอ-กรกช แสงเย็นพันธ์

            อย่างไรก็ตาม มีข่าวล่าสุดว่า “กฤษฎางค์ นุตจรัส” ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยจากการประสานทราบว่า “ทางพนักงานอัยการยังพิจารณาสำนวนไม่แล้วเสร็จ จึงให้เลื่อนการนัดฟังคำสั่งในวันดังกล่าวออกไปก่อน ส่วนจะนัดอีกครั้งเมื่อไหร่นั้น ทางพนักงานอัยการจะแจ้งให้ทราบในวันนัดฟังคำสั่งครั้งแรกวันที่ 25 มี.ค.นี้” ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ เท่ากับในวันที่ 25 มี.ค.ที่จะถึง ทั้ง 13 คน ก็ย่อมรอดพ้นได้เลื่อนวันสุ่มเสี่ยงในการเข้าเรือนจำ

                ไฮไลต์การเมืองนอกสภาของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.2564 จะพิสูจน์การเดินหน้าต่อของผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรจะเป็นไปอย่างไร ก้าวพ้นหลีกเลี่ยงเหตุปะทะได้หรือไม่ มีแนวทางเคลื่อนไหวอย่างไรเพิ่มเติมหรือไม่ กับต้องลุ้นระทึกคดีที่จ่อเข้าสู่ชั้นศาล บนการต่อสู้ทางการเมืองที่แสนยากลำบากท่ามกลางวิกฤติประเทศไทยครั้งใหม่.

นายชาติสังคม

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"