เปิดแนวทางป้องกันโควิดในเรือนจำ


เพิ่มเพื่อน    

      ในช่วงเดือน มี.ค. มีหลากหลายประเด็นข่าวที่เป็นที่น่าสนใจของประชาชน โดยเฉพาะ ปม “จดหมายอานนท์” ที่ระบุถึงความไม่ปลอดภัยในช่วงที่มีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ภายในเรือนจำ ปมดังกล่าวกลายเป็นกระแสที่สังคมมองถึงมาตรฐานในการตรวจโควิด-19 ภายในเรือนจำ ที่แอบแฝงปองร้ายผู้ต้องขังหรือไม่ เรื่องดังกล่าวสร้างความเดือดร้อนกับกรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรม ที่ต้องแจงสังคมถึงข้อเท็จจริงที่ประชาชนสงสัย โดยเฉพาะขั้นตอนการตรวจโควิดภายในเรือนจำว่ามีแนวทางปฏิบัติอย่างไร จึงต้องมีการเปิดข้อมูลนี้ออกมาดังนี้

โดยจำแนกเป็น 2 ด้าน 1.ด้านการบริหารภายในเรือนจำ มีการจัดเตรียมห้องแยกโรคหรือพื้นที่สำหรับรองรับการระบาดเป็นวงกว้าง จัดเตรียมพื้นที่แดนกักตัวสำหรับแยกผู้ที่เสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง แต่ยังไม่มีอาการ สถานพยาบาลเรือนจำจัดเตรียมอุปกรณ์คัดกรองอาการไข้ หรือเครื่องมือทางการแพทย์ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ

นอกจากนี้ ให้เรือนจำทำความสะอาดตามสถานที่ต่างๆ เช่น เรือนนอน พาหนะรับส่งผู้ต้องขังไปศาล หรือออกโรงพยาบาล และอุปกรณ์เครื่องใช้ที่มีผู้สัมผัสมาก เช่น ลูกบิด ราวบันได โต๊ะอาหาร ทุกวัน รวมถึงจัดอ่างล้างหน้าพร้อมสบู่ประจำห้องน้ำ โรงครัว โรงอาหาร เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ พร้อมงดการจัดกิจกรรมที่ต้องให้ผู้ต้องขังรวมตัวเป็นจำนวนมาก อีกทั้งงดกิจกรรมให้บุคคลภายนอกเข้ามาทำกิจกรรมในเรือนจำด้วย

งดการนำผู้ต้องขังออกไปทำงานภายนอกเรือนจำ หากมีความจำเป็น ให้เรือนจำทำแผนเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาเห็นชอบ โดยเรือนจำต้องจัดห้องแยกผู้ต้องขังดังกล่าวออกจากผู้ต้องขังรายอื่นเป็นการเฉพาะ และเฝ้าระวังอาการอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้ง งดการเยี่ยมญาติในช่องทางปกติ ตามสถานการณ์ในพื้นที่ โดยปรับระบบให้มีการเยี่ยมญาติ ส่วนทนายความสามารถมาที่เรือนจำเพื่อเข้าเยี่ยมได้ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ของเรือนจำ โดยจะต้องปฏิบัติตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการเยี่ยม การติดต่อของบุคคลภายนอกกับผู้ต้องขัง และการเข้าดูกิจการหรือติดต่อการงานกับเรือนจำ พ.ศ.2561 ได้กำหนดไว้ชัดเจนในข้อ 9 (2) ที่ระบุไว้ว่า “บุคคลภายนอกที่ได้รับอนุญาตให้เยี่ยม หรือติดต่อกับผู้ต้องขังจะต้องไม่กระทำการใดๆ ให้สิ่งของเข้ามา หรือให้ออกไปจากเรือนจำ หรือรับจาก หรือส่งมอบแก่ผู้ต้องขัง โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเรือนจำ” อย่างไรก็ดี กรณีทนายความเข้าพบผู้ต้องขังเกี่ยวกับคดี สามารถกระทำได้ โดยทนายความที่ได้รับอนุญาตสามารถสงวนข้อความที่พูดกับผู้ต้องขังเป็นความลับ ให้แจ้งเจ้าพนักงานเรือนจำทราบและให้เจ้า พนักงานเรือนจำผู้ควบคุม อยู่ในระยะที่ไม่ได้ยินข้อความการสนทนา

2.ด้านการคัดกรองผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่ และบุคคลภายนอก กรณีผู้ต้องขังใหม่ รวมทั้งผู้ต้องขังออกตรวจรักษาที่โรงพยาบาล และกลับจากศาล เปรียบเสมือนเป็นผู้ต้องขังใหม่ ให้แยกกักเพื่อเฝ้าระวังโรค 14 วัน ทุกราย และสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา รวมถึงวัดไข้ทุกวัน หากในระหว่างแยกกักพบมีไข้หรืออุณหภูมิตั้งแต่ 37.5 องศา รวมทั้งมีอาการระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเร็ว หรือหายใจเหนื่อย ให้แจ้งโรงพยาบาลแม่ข่าย หรือหน่วยงานสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทันที เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และทำการแยกผู้ต้องขังที่มีอาการผิดปกติออกจากผู้ต้องขังเข้าใหม่รายอื่น

            หากเรือนจำ ทัณฑสถานใดมีพื้นที่ไม่เพียงพอ ให้ดำเนินการโดยแยกเป็นกลุ่มๆ โดยให้ออกจากห้องแยกแรกรับพร้อมกัน ยกตัวอย่างเช่น วันจันทร์มีผู้ต้องขังเข้าใหม่ 10 คน, วันอังคารมีผู้ต้องขังเข้าใหม่ 20 คน, วันพุธมีผู้ต้องขังเข้าใหม่ 12 คน จัดให้ผู้ต้องขังทั้งหมดอยู่ห้องแยกเดียวกัน จนกว่าผู้ต้องขังเข้าใหม่วันพุธ จะครบ 14 วัน แล้วค่อยดำเนินการปล่อยผู้ต้องขังทั้งหมดออกจากห้องแยกพร้อมกัน ระหว่างอยู่ห้องแยกต้องวัดอุณหภูมิ และสังเกตอาการทุกวัน

            แต่ในส่วนของผู้ต้องขังแกนนำกลุ่มราษฎร แม้จะไม่ยอมรับการตรวจโรค ก็ต้องปฏิบัติตัวเหมือนกับผู้ต้องขังทั่วไป โดยเข้าไปที่ห้องแยกกัก เพื่อสังเกตอาการ เช่นเดียวกับที่กล่าวมาข้างต้น เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ทราบว่าใครบ้างที่มีเชื้อ โดยไม่เลือกปฏิบัติ นอกจากเป็นการป้องกันโรคแล้ว ยังไม่เป็นการป้องกันการเกิดความตื่นตระหนกของผู้ต้องขังคนอื่น รวมถึงการเกิดจลาจลในเรือนจำด้วย

            ในกรณีผู้ต้องขังอายุเกิน 60 ปี หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคปอดเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือดรวมโรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ภาวะอ้วน ตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ หญิงตั้งครรภ์ และเด็กติดผู้ต้องขัง ให้แยกขังไว้ต่างหากจากผู้ต้องขังรายอื่นเพื่อเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ทั้งนี้ ให้พิจารณาแยกแดนหรือห้องต่างจากผู้ต้องขังรายอื่น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง หากได้รับเชื้ออาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อชีวิต

ทั้งนี้จะต้องเคารพสิทธิของผู้ต้องขังทั้งด้านสุขภาพ และด้านอื่นๆ เสมอ อย่างไรก็ตามการระบาดของไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะสะท้อนปัญหาเฉพาะด้านของผู้ต้องขังที่อาจจะจัดการได้ยาก จึงต้องให้การดูแลเป็นพิเศษเพื่อรับรองว่า การบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดตามคำแนะนำของหน่วยงานสาธารณสุข ต้องสอดคล้องกับสถานการณ์การระบาด นอกจากนี้จะต้องแจ้งเหตุผลของการบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวด ประมาณการระยะเวลาบังคับใช้ในเบื้องต้น

สำหรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ผู้ต้องขัง ในช่วงตอนกลางดึกนั้น ทางราชทัณฑ์แจงว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะที่ผ่านมาเคยตรวจในลักษณะนี้ในหลายเรือนจำแล้ว

อย่างไรก็ตาม นอกจากจะต้องคัดกรองผู้ต้องขังแล้ว ราชทัณฑ์ยังต้องคัดกรองเจ้าหน้าที่ทุกราย และบุคคลภายนอก โดยมีมาตรการตรวจโรคเช่นเดียวกันกับผู้ต้องขัง

แนวทางการป้องกันโควิด-19 ของราชทัณฑ์ปฏิบัติกับผู้ต้องขังเหมือนกันหมดทุกคน ไม่มีเลือกปฏิบัติ แม้จะเป็นผู้ต้องขังธรรมดา หรือร้ายแรงก็ตาม.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"