ส่งออกยังได้อานิสงส์


เพิ่มเพื่อน    

    

      นาทีนี้ถ้าไม่พูดถึงตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทย ก็คงจะเชยนิดๆ เพราะสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกมาประกาศจีดีพีไทยไตรมาสแรก ปี 61 อยู่ที่ 4.8% เร่งขึ้นจาก 4% ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายของรัฐบาล การลงทุนรวม และการขยายตัวในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าและบริการ

        จากการที่ตัวเลขจีดีพีออกมาสวยงาม ทำให้คาดว่าจีดีพีไทยปีนี้จะขยายตัว 4.2-4.7% จากปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกและระดับราคาสินค้าในตลาดโลก ซึ่งจะสนับสนุนให้การส่งออกและการผลิตสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวในเกณฑ์ดี และสนับสนุนเศรษฐกิจในภาพรวมได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐบาลและการลงทุนภาครัฐยังอยู่ในเกณฑ์สูง และมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี การฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน การปรับตัวดีขึ้นและการกระจายตัวมากขึ้นของฐานรายได้ประชาชนในระบบเศรษฐกิจ ขณะที่ มูลค่าการส่งออกสินค้าคาดขยายตัว 8.9%

        ถึงแม้ในครั้งนี้ การส่งออกดูเหมือนจะถูกลดบทบาทลง เปลี่ยนเป็นการขับเคลื่อนของรัฐบาลแทน แต่ยังคงเป็นฟันเฟืองที่สำคัญเหมือนเช่นที่ผ่านมา เพราะยังคงมีแนวโน้มที่เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีปัจจัยเข้ามากระทบหลายอย่างก็ตาม

        ทางศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบีได้ประเมินการส่งออกของไทยปีนี้จะโตถึง 8.6% โดยการส่งออกไทยใน 4 เดือนแรกของปีนี้ทะยานขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อนอีก 11.5% ด้วยมูลค่าการส่งออกเฉลี่ย 20,444 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน จากปัจจัยบวกทั้งด้านราคาสินค้าตามผลของราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และด้านปริมาณตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการผลิต ส่งผลให้เกือบทุกกลุ่มสินค้า และเกือบทุกตลาดสำคัญเติบโตได้ดี

        สำหรับมูลค่าการส่งออกไทยในช่วง 8 เดือนที่เหลือของปีนี้ คาดว่ามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่ชะลอตัวลงด้วยผลของฐานสูง ซึ่งการขยายตัวเป็นผลมาจากทั้งราคาและปริมาณที่เพิ่มขึ้น จากการศึกษาความสัมพันธ์ของราคาน้ำมันในตลาดโลกกับราคาสินค้าส่งออกในกลุ่มสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน มีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกัน คือ ผลของราคาน้ำมันดิบที่เปลี่ยนแปลงทุก 1% จะทำให้ราคาสินค้าส่งออกเปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกันประมาณ 0.11%

        ซึ่งทางศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกในช่วงที่เหลือจะเฉลี่ยอยู่ที่ 71 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้น 30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ประมาณ 55 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ดังนั้น ผลทางด้านราคาที่เพิ่มขึ้นจะทำให้มูลค่าส่งออกในกลุ่มสินค้าเกษตร ยางพารา เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป และเหล็ก ที่มีสัดส่วนถึง 1 ส่วน 4 ของมูลค่าส่งออกรวมจะปรับตัวสูงขึ้น

        อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไปยังคงมีประเด็นความเสี่ยงที่ผู้ส่งออกต้องติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่ ได้แก่ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ที่แม้ว่าผลกระทบต่อการค้าไทยในระยะสั้นยังค่อนข้างจำกัด แต่ในระยะปานกลางถึงยาวยังคงต้องเฝ้าระวังติดตาม และเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง โดยคาดว่าสิ้นปีนี้อัตราแลกเปลี่ยนจะอยู่ที่ระดับ 31.0 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปัจจุบัน 3.5% จากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจากรายได้การส่งออกสินค้า การท่องเที่ยว และด้วยแรงหนุนจากเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)

        นอกจากนี้ ยังแนะว่าผู้ส่งออกควรมองหาเครื่องมือที่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากทิศทางค่าเงินบาทแข็งค่า และบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้สถานการณ์ต้นทุนที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยรักษาอัตรากำไรและพยุงขีดความสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ต่อไป

        ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันตัวเลขเศรษฐกิจไทยดูสวยงามมาก มากจนน่าใจหาย ยิ่งตัวแปรที่เข้ามีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างการเดินหน้ามาตรการช่วยเหลือต่างๆ จากรัฐบาล ยิ่งจะทำให้เศรษฐกิจติดเครื่องยนต์เดินต่อไปอย่างแข็งแกร่ง แต่ถ้าจะให้ดีจริงๆ ควรจะดูแลความเป็นอยู่ให้ทั่วถึง เพราะจีดีพีที่โตตอนนี้ดูเหมือนจะขัดแย้งกับปากท้องนิดหน่อย และกระจุกตัวมากเกินไป หากกระจายไปหลายๆ กลุ่ม คงจะดีกว่านี้แน่นอน. 

ปฏิญญา สิงห์พิสาร


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"