ชำแหละทำไม'ทอน'พาคณะก้าวหน้าพ่ายเลือกตั้งท้องถิ่นซ้ำ!


เพิ่มเพื่อน    

29 มี.ค. 64 - ภายหลังการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและสมาชิกเทศบาลที่ผ่านไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ทางคณะก้าวหน้า โดยการนำของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ที่ส่งผู้สมัครนายกเทศมนตรีทั้งประเทศ ประมาณ 100 กว่าแห่ง โดยผลการเลือกตั้งที่ออกมาอย่างไม่เป็นทางการ คณะก้าวหน้าได้เก้าอี้ระดับเทศบาลมาคือ นายกเทศมนตรีตำบล 12 แห่งแยกเป็น ลำพูน 1 แห่ง, ร้อยเอ็ด 3 แห่ง, หนองบัวลำภู 3 แห่ง, อุดรธานี 2 แห่ง, มุกดาหาร 2 แห่ง  และสมุทรปราการ 1 แห่ง นั้น

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเป็นนักวิชาการที่ติดตามเรื่องการเมืองการเลือกตั้งท้องถิ่นมาต่อเนื่อง มองผลการเลือกตั้งระดับเทศบาลทั่วประเทศที่ออกมาว่า คณะก้าวหน้าปูทางตัวเองในสนามท้องถิ่นมาจากความสำเร็จในระดับชาติ (พรรคอนาคตใหม่) เลยทำให้คณะก้าวหน้ามีความฮึกเหิม ลงมาเล่นสนามเลือกตั้งท้องถิ่นแบบเล่นใหญ่และคาดหวังสูง  โดยวางน้ำหนักไว้ที่องค์การบริหารจังหวัด (อบจ.) มากที่สุด เห็นได้จากการส่งคนลงชิงนายก อบจ.ร่วม 42 จังหวัด รวมถึงการส่งคนลงชิงสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดอีกจำนวนมาก 

ซึ่งเมื่อไปเน้นสนาม อบจ. ในตอนแรก เลยทำให้คณะก้าวหน้า มองข้ามความสำคัญของสนามเทศบาลไป ซึ่งจริงๆ โดยศักยภาพของคณะก้าวหน้า เหมาะที่จะไปเล่นสนามเทศบาลมากกว่า อบจ. ในแง่ที่เป็นกลุ่มการเมืองที่เน้นคนรุ่นใหม่ เน้นฐานเสียงที่เป็นอิสระในพื้นที่ ซึ่งไม่ได้ยึดโยงกับผู้นำท้องถิ่น นักการเมืองท้องถิ่น ไม่ต้องพึ่งพาการอุปภัมภ์ภายในจังหวัด ทำให้สนามเทศบาลจะเหมาะกับคณะก้าวหน้ามากกว่าสนาม อบจ. เพราะอย่างไอเดียการหาเสียงตอนคณะก้าวหน้าใช้หาเสียงตอนเลือกตั้ง อบจ. หลายเรื่องใช้ได้ดีกับเทศบาล ไม่ใช่ใช้กับอบจ. เพราะสิ่งที่คณะก้าวหน้าหาเสียงไว้ตอนเลือกตั้ง อบจ. ในความเป็นจริงแล้ว อบจ. ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่คณะก้าวหน้าหาเสียง แต่เป็นการเมืองในระดับเทศบาลที่จะทำ

อย่างเรื่องงบประมาณ  เทศบาลมีงบเยอะกว่า อบจ.และเป็นงบพัฒนาทั้งสิ้นเช่น เทศบาลนครนนทบุรี มีงบถึง 2,600 ล้านบาท ที่ท้องถิ่นสามารถนำงบไปพัฒนาในพื้นที่เช่นการทำโครงการหรืองานด้านบริการประชาชนได้มากมาย แต่เมื่อคณะก้าวหน้าไปเทน้ำหนักไว้ที่ อบจ. ทำให้พอมาถึงสนามเทศบาลเลยดูดาวน์ลง  ไอเดียต่างๆ ก็ปล่อยออกไปหมดแล้วตอน อบจ.แล้วก็ล้มเหลว  แทนที่คณะก้าวหน้าจะเก็บไอเดียเหล่านั้นมาใช้ตอนเลือกตั้งเทศบาล ที่จะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า

"พอคณะก้าวหน้าวางแผนมาผิด ก็ต้องรับสภาพไป ทั้งที่สนามเทศบาล โอกาสดีกว่า อบจ. คณะก้าวหน้าควรจับสนามเทศบาลไว้แต่แรกมากกว่า ไม่ควรไปมองสนาม อบจ.ที่ไกลเกินเอื้อมสำหรับเขา เพราะขายังไม่แข็งพอเขาก็ต้องไปทบทวนอีกเยอะ การเมืองรอบนี้ตั้งแต่ระดับชาติไล่ลงมา ก็สอนอะไรกลุ่มเขาเยอะ" นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า ระบุ

ดร.สติธร กล่าวถึงภาพรวมการเลือกตั้งเทศบาลที่ผ่านพ้นไปว่า พบว่าเกิดการเขย่าของการเมืองในพื้นที่เลือกตั้งกันมาก หลายแห่งเกิดการเปลี่ยนแปลง คนที่เคยชนะเลือกตั้งรอบที่แล้วที่เป็นแชมป์เก่าพบว่ารอบนี้ผลเลือกตั้งออกมาก็โดนล้มทำให้แพ้เลือกตั้ง  แต่ไม่ได้ล้มโดยกลุ่มใหม่ๆ อย่างคณะก้าวหน้าไปล้มคนเก่า แต่ถูกล้มแชมป์โดยกลุ่มการเมืองเดิมๆ กันเองในพื้นที่ เช่น คนที่เคยอยู่ทีมเดียวกันแล้วเลือกตั้งรอบนี้แยกตัวออกมาแข่งกันเอง นอกจากนี้ก็พบการผสมผสานในทีมเลือกตั้งระดับเทศบาล ที่มีคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาในสนามเทศบาล ที่ไปล้มทีมเดิมๆ ในพื้นที่ได้เพราะคนเหล่านี้ไปสร้างการสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่ๆ ในพื้นที่ เช่นนักธุรกิจ ผู้ประกอบรุ่นใหม่ นักเคลื่อนไหวนักพัฒนารุ่นใหม่ในจังหวัด ซึ่งคนกลุ่มดังกล่าวเมื่อไปสนับสนุนกลุ่มการเมืองใหม่ๆ ที่ลงเลือกตั้งในท้องถิ่น จะทำให้กลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนมีพลังในพื้นที่ เพราะเป็นกลุ่มที่มีการสร้างเครือข่ายผู้คนในพื้นที่ได้จำนวนมากพอสมควร เลยทำให้มีพลังไปล้มยักษ์ในพื้นที่ได้ ส่วนนักการเมืองระดับเทศบาลที่ยังชนะเลือกตั้งรอบนี้ที่หลายคนอยู่มาหลายสมัยเป็นคนรุ่นเก่า ก็พบว่า ส่วนใหญ่ต่างก็มีการปรับตัว ปรับโฉมตัวเองให้ดูทันสมัยมากขึ้น เอาคนรุ่นใหม่เข้ามาอยู่ในทีมผู้บริหารเทศบาล  จึงทำให้ยังอยู่ได้จนได้รับเลือกตั้ง  พูดง่ายๆ  ใครปรับตัวได้ดีกว่า ก็มีโอกาสชนะในสนามเทศบาลที่ผ่านไป

สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นล็อตต่อไป ก็คือการเลือกตั้งระดับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่ก็จะมีความเข้มข้นระดับหนึ่งในพื้นที่ เพราะก่อนหน้านี้ ในยุคคสช. มีการแก้ไขพรบ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลฉบับแก้ไขใหม่  พ.ศ. 2562 ที่ลดจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหรือ ส.อบต. จากหมู่บ้านละสองคนให้เหลือหมู่บ้านละหนึ่งคน ทำให้การหาเสียงการแข่งขันจะเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพราะจากเดิมที่เคยเลือกได้สองคนแต่ต่อจากนี้ไปจะเลือกได้แค่หนึ่งคน ขณะที่นายกฯอบต. ก็ยังเหลือตำบลละหนึ่งคนเหมือนเดิม ก็จะมีประมาณ 6000-7000 ตำแหน่งโดยประมาณ และพอจบจากการเลือกตั้งอบต.  จะปิดท้ายด้วยการเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่จะเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นล็อตสุดท้าย. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"