สภาองค์กรชุมชนตำบลรับร่อ จ.ชุมพร จับมือสหกรณ์การเกษตรบ้านพันวาลหนุนเกษตรกรผลิตกาแฟคั่ว-พัฒนาคุณภาพทุเรียนส่งออกปีนี้ 15,000 ตัน


เพิ่มเพื่อน    

ผู้นำสภาองค์กรชุมชนตำบลรับร่อและผู้บริหารสหกรณ์การเกษตรบ้านพันวาลร่วมกันสนับสนุนเกษตรกรปลูกกาแฟผลิตกาแฟคั่วขายได้ราคาดีกว่าขายเมล็ดตากแห้ง

 

จ.ชุมพร / สภาองค์กรชุมชนตำบลรับร่อ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร  จับมือสหกรณ์การเกษตรบ้านพันวาลสนับสนุนเกษตรกรนำกาแฟที่ปลูกมาผลิตเป็นการแฟคั่ว-บดส่งขายเพิ่มรายได้จากเดิมที่ขายให้พ่อค้านำส่งโรงงาน  พร้อมทั้งเตรียมแผนขยายการผลิต  นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาคุณภาพทุเรียนเพื่อให้ได้มาตรฐาน GAP หรือการผลิตทางเกษตรที่ดีและเหมาะสม’  โดยมีเกษตรกรในตำบลที่ได้การรับรองมาตรการกว่า 1,000 ราย  ด้านบริษัทส่งออกทุเรียนทำ MOU รับซื้อทุเรียนจากสหกรณ์เพื่อส่งออกไปจีนในปีนี้ 15,000 ตัน  มูลค่าประมาณ 1,500 ล้านบาท

          

ตำบลรับร่อ  อ.ท่าแซะ  จ.ชุมพร  มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ  368  ตารางกิโลเมตร  สภาพพื้นที่เป็นที่ราบสลับภูเขา  ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร  โดยมีพืชเศรษฐกิจสำคัญคือ  ทุเรียน  กาแฟ  ปาล์มน้ำมัน  ยางพารา  ฯลฯ  มีทั้งหมด 23  หมู่บ้าน  รวม  4,545  ครัวเรือน  ประชากรประมาณ  13,000 คน  ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเนื่องจากชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกิน  เพราะที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุทยานเสด็จในกรมหลวงชุมพรด้านทิศเหนือ  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ด้านทิศใต้ (ประกาศเมื่อ 6 กันยายน 2537)  และป่าสงานแห่งชาติป่ารับร่อ-สลุย

 

สภาพพื้นที่ตำบลรับร่อ

 

สภาองค์กรชุมชนหนุนเกษตรกรผลิตกาแฟคั่วมือ

นายบรรเลง  ศรีสวัสดิ์   รองประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลรับร่อ   กล่าวว่า สภาองค์กรชุมชนตำบลรับร่อจัดตั้งเมื่อปี 2552  ปัจจุบันมีสมาชิกที่ร่วมจัดตั้งประมาณ 50 กลุ่ม  เช่น  กองทุนหมู่บ้าน  กลุ่มอาชีพต่างๆ  สหกรณ์การเกษตร  ฯลฯ  ที่ผ่านมาสภาองค์กรชุมชนตำบลรับร่อมีบทบาทในการรวบรวมสมาชิกกลุ่มต่างๆ มาร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาที่ดินในตำบล  เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินเพราะทางราชการประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ตั้งแต่ปี 2537 โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการแก้ไขปัญหา

 

“นอกจากนี้สภาฯ ยังมีบทบาทในการส่งเสริมอาชีพสหกรณ์  โดยร่วมกับสหกรณ์การเกษตรบ้านพันวาล  จำกัด ส่งเสริมให้ชาวบ้านที่ปลูกกาแฟผลิตกาแฟคั่วบรรจุถุงขาย  เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม  ไม่ต้องขายเมล็ดกาแฟแห้งให้กับพ่อค้าเหมือนแต่ก่อน  เพราะหากขายเมล็ดกาแฟแห้งจะได้ราคาประมาณกิโลกรัมละ 60 บาท  แต่เมื่อนำมาคั่วจะขายได้ประมาณ 400-500 บาท”  นายบรรเลงบอกถึงบทบาทของสภาองค์กรชุมชนตำบลรับร่อฯ

 

ทั้งนี้ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา  เกษตรกรในตำบลรับร่อจะปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้าเป็นอาชีพหลัก  มีพื้นที่เพาะปลูกรวมกันประมาณ 60,000 ไร่  ในช่วงที่กาแฟมีราคาดี  ราคารับซื้อเมล็ดกาแฟตากแห้งที่สีเอาเปลือกออกแล้วหรือ ‘กาแฟสาร’ เคยสูงถึงกิโลฯ ละ 125 บาท  แต่เมื่อกาแฟราคาตกต่ำ  และทุเรียนมีราคาดีในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา  เกษตรกรจึงหันไปปลูกทุเรียนกันมาก  พื้นที่ปลูกกาแฟทั้งตำบลลดลงเหลือประมาณ 10,000 ไร่ 

 

การผลิตกาแฟด้วยเครื่องคั่วกาแฟขนาดเล็ก

 

 

“ในช่วงที่กาแฟราคาตก  ตอนแรกสภาองค์กรชุมชนตำบลรับร่อได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านเอากาแฟสารมาคั่วและบดเพื่อชงกินเองก่อน  ไม่ต้องไปซื้อกาแฟสำเร็จรูป  โดยใช้การคั่วด้วยมือ  ใช้เตาถ่านหรือเตาแก๊สที่บ้านนั่นแหละ  ใครไม่มีที่บด ก็ใช้ครกเอาตำแล้วเก็บใส่ขวดเอาไว้กิน   ต่อมาในปี 2558 สหกรณ์การเกษตรบ้านพันวาลจึงเข้ามารับซื้อกาแฟสารจากชาวบ้านแล้วนำมาผลิตเป็นเมล็ดกาแฟคั่วบรรจุถุงออกขาย  ตอนแรกใช้ชื่อยี่ห้อ ‘พันวาล’  ตอนนี้เปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า ‘กาแฟเปิดใจ’ ซึ่งมาจากชื่อ ‘ผาเปิดใจ’ แหล่งท่องเที่ยวของตำบล  เพื่อเชื่อมโยงและประชาสัมพันธ์ของดีของตำบล” รองประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลรับร่อบอกถึงที่มาของกาแฟเปิดใจ

 

‘กาแฟเปิดใจ’  ผลกำไรคืนสู่สมาชิก

นายธนัช  แก้วกุล  ประธานสหกรณ์การเกษตรบ้านพันวาล จำกัด  บอกว่า  สหกรณ์ฯ ตั้งมาตั้งแต่ปี 2545  (ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 740 ราย) ช่วงแรกสหกรณ์จะมีบทบาทในการรวบรวมเมล็ดกาแฟสารจากสมาชิกไปส่งบริษัทผลิตกาแฟและพ่อค้าเพื่อให้มีอำนาจต่อรองเรื่องราคา  ต่อมาได้ขยายไปรับซื้อผลปาล์มและทุเรียน  และจัดหาปุ๋ย  สารบำรุงพืช  ยากำจัดศัตรูพืช  และอุปกรณ์การเกษตรให้แก่สมาชิก ฯลฯ

 

“ส่วนการส่งเสริมการแปรรูปกาแฟนั้น  เราเริ่มมาตั้งแต่ปี 2558  ตอนแรกชาวบ้านก็จะคั่วด้วยมือ  แล้วเอาเมล็ดกาแฟคั่วมาส่งที่สหกรณ์ฯ เพื่อบรรจุถุงจำหน่าย  ต่อมาในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา  สหกรณ์ฯ ได้รับการสนับสนุนเครื่องคั่วกาแฟขนาดเล็กจากกรมส่งเสริมสหกรณ์จึงนำมาผลิตกาแฟคั่ว  โดยใช้พื้นที่ของสหกรณ์ผลิตกาแฟคั่วแบบเมล็ดและกาแฟคั่วบดออกจำหน่าย”  ประธานสหกรณ์ฯ บอก

ปัจจุบันกาแฟเปิดใจผลิตกาแฟตามคำสั่งซื้อจากลูกค้าทางออนไลน์  และวางจำหน่ายที่สหกรณ์ฯ  มีกาแฟคั่วชนิดบดและไม่บด  ถุงขนาด 200  กรัม  ราคา 100 บาท  ขนาด 500 กรัมราคา 200 บาท  กาแฟดริป  1 กล่อง 10 ซอง  ราคา 180 บาท  และชาดอกกาแฟ  20 ซอง  ราคา 180 บาท  ฯลฯ

 

 

 

ทั้งนี้สหกรณ์ฯ มีสมาชิกที่ปลูกกาแฟประมาณ  200 ราย  มีผลผลิตทั้งปีประมาณ 110 ตัน  สหกรณ์จะรับซื้อจากสมาชิกเพื่อขายต่อให้โรงงานราคาประมาณกิโลฯ ละ 66-68 บาท  และบางส่วนนำมาผลิตเป็นกาแฟคั่วบรรจุถุงจำหน่าย  ส่วนผลกำไรจะนำมาปันผลคืนให้แก่สมาชิกในช่วงปลายปี 

 

ส่วนสมาชิกจะสหกรณ์จะต้องออมเงินเข้าสหกรณ์ขั้นต่ำเดือนละ 100 บาท  สามารถกู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพได้สูงสุด 50,000 บาท  สมาชิกเมื่อเสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือ 50,000 บาท  ปัจจุบันสหกรณ์มีเงินหมุนเวียนประมาณ 15 ล้านบาท

 

นายบรรเลง  รองประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลรับร่อกล่าวเสริมว่า   กาแฟโรบัสต้าที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดชุมพรถือว่ามีคุณภาพสูง  โดยเฉพาะที่ตำบลรับร่อ  เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 400 เมตร  ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมทั้งทางฝั่งทะเลอันดามันและฝั่งอ่าวไทยทำให้ผืนดินมีความสมบูรณ์  กาแฟเติบโตได้ดี  มีคุณภาพสูง  รสชาติเข้มข้น  มีกลิ่นหอม  โดยเฉพาะกาแฟดริปในแต่ละซองจะใส่เมล็ดกาแฟสุกหรือกาแฟเชอร์รี่คั่วมือ 1 เมล็ด  นำมาเคี้ยวก่อนดื่มจะให้กลิ่นหอม  เมื่อดื่มกาแฟจะได้รสชาติของกาแฟโรบัสต้าอย่างแท้จริง

 

“นอกจากนี้เรายังมีชาดอกกาแฟจำหน่าย  หนึ่งปีจะเก็บดอกกาแฟได้เพียง 3 วัน  นำมาทำเป็นชา  มีกลิ่นหอม  และรสชาติหวานเล็กน้อยเพราะมีผึ้งช่วยผสมเกษร  มีสรรพคุณช่วยลดน้ำตาลในเลือด  และบำรุงหัวใจ”  นายบรรเลงบอกถึงสรรพคุณ  และบอกถึงแผนงานต่อไปว่า  สภาองค์กรชุมชนฯ และสหกรณ์ฯ วางแผนร่วมกันที่จะขยายการผลิตกาแฟคั่ว  เพราะมีลูกค้าสั่งซื้อมากขึ้น  แต่เครื่องคั่วกาแฟยังมีขนาดเล็ก  สามารถคั่วได้ครั้งละประมาณ 1 กิโลกรัม  ดังนั้นจึงมีแผนขยายกำลังผลิตเพิ่มขึ้นในเร็วๆ นี้

 

 

บรรเลง  ศรีสวัสดิ์  รองประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลรับร่อ (ที่ 2 จากขวา)

 

 

พัฒนาคุณภาพทุเรียนเพื่อส่งออก-บริษัทรับซื้อส่งจีนปีนี้ 15,000 ตัน

นายบรรเลง  รองประธาสภาองค์กรชุมชนตำบลรับร่อ   บอกถึงแผนงานการส่งเสริมการผลิตทุเรียนคุณภาพว่า  ตำบลรับร่อขณะนี้มีพื้นที่ปลูกทุเรียนประมาณ  30,000 ไร่  ส่วนใหญ่ปลูกทุเรียนหมอนทองเพราะตลาดมีความต้องการสูง  ผลผลิตประมาณปีละ  20,000 ตัน  สภาองค์กรชุมชนตำบลฯ จึงร่วมกับ อบต.  สหกรณ์การเกษตรบ้านพันวาล  เกษตรอำเภอท่าแซะ  ฯลฯ  ส่งเสริมให้เกษตรกรที่ปลูกทุเรียนพัฒนาคุณภาพการปลูกเพื่อให้ได้มาตรฐานรับรอง GAP หรือการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (Good Agriculture Practices)  จากกรมวิชาการเกษตร  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  โดยเริ่มจัดอบรมเกษตรกรเพื่อขึ้นทะเบียน GAP ตั้งแต่ปี 2561

 

ทุเรียนรุ่นแรกในตำบลรับร่อปลูกหลังจากเกิดพายุเกย์ในปี 2532  ปัจจุบันมีอายุประมาณ 30 ปี

 

โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรผลิตทุเรียนที่มีคุณภาพดีตรงตามมาตรฐานที่กำหนด  ได้ผลผลิตสูงคุ้มค่าการลงทุนและขบวนการผลิตจะต้องปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค  มีการใช้ทรัพยากรที่เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดความยั่งยืนทางการเกษตรและไม่ทำให้เกิดมลพิษ    เช่น  แหล่งน้ำและพื้นที่ปลูกจะต้องไม่มีสารปนเปื้อนวัตถุอันตราย  ห้ามใช้สารเคมีหรือวัตถุอันตรายที่ขึ้นทะเบียนห้ามใช้  ต้องบันทึกข้อมูลตามแบบบันทึกข้อมูล  เก็บเกี่ยวผลผลิตในระยะที่เหมาะสม  ไม่ตัดทุเรียนอ่อนมาขาย  ฯลฯ 

 

 “ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบันมีเกษตรกรในตำบลรับร่อที่ปลูกทุเรียนที่ได้การรับรอง GAP แล้วกว่า 1,000 ราย  โดยเกษตรกรที่ได้รับการรับรอง GAP  จะทำให้มีช่องทางในการขายทุเรียนไปทั่วโลก  เพราะมีมาตรฐาน GAP รองรับ  และทำให้ขายทุเรียนได้ราคาสูงขึ้นด้วย”  นายบรรเลงบอกถึงข้อดีของ GAP

 

ทุเรียนที่ตำบลรับร่อกำลังออกดอก  บางส่วนเริ่มติดผล  จะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือนมิถุนายนนี้

 

นายธนัช  แก้วกุล  ประธานสหกรณ์การเกษตรบ้านพันวาล จำกัด  บอกว่า  เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  สหกรณ์ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงหรือ MOU กับบริษัทศิริมงคล  คอร์เปอร์เรท  กรุ๊ป  จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทส่งออกทุเรียนและสินค้าต่างๆ ของคนไทย โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรเป็นประธาน  เพื่อให้สหกรณ์รวบรวมทุเรียนที่ได้รับมาตรฐาน GAP ส่งขายให้บริษัทในปีนี้จำนวน 15,000 ตัน  ในราคารับซื้อเฉลี่ยกิโลกรัมละ 100 บาท  หรือมีมูลค่าทั้งหมดประมาณ 1,500 ล้านบาท  โดยสหกรณ์จะได้รับเงินค่าส่วนต่างจำนวน 1 บาท/กิโลกรัม  หรือคิดเป็นเงินทั้งหมดประมาณ 15 ล้านบาท  ขณะนี้เริ่มส่งทุเรียนให้บริษัทแล้วประมาณ 20 ตัน

 

ขณะที่ นายอวยพร  มีเพียร  นายก อบต.รับร่อ  กล่าวว่า  ขณะนี้ในจังหวัดชุมพรมีพ่อค้าชาวจีนหรือ “ล้งจีน”  เกือบร้อยรายมาเปิดโกดังรับซื้อทุเรียนเพื่อส่งออกไปประเทศจีน   ข้อเสียของล้งจีนเหล่านี้คือ  เมื่อมีทุนมากก็จะกว้านซื้อทุเรียนจากชาวสวนได้ในปริมาณมาก  และสามารถควบคุมหรือกดราคารับซื้อทุเรียนจากชาวสวนได้ง่าย  บางครั้งก็ซื้อทุเรียนที่ไม่มีคุณภาพและทุเรียนอ่อนส่งไปขายด้วย  ทำให้เกิดผลเสียต่อเกษตรกร 

 

นายก อบต.รับร่อ

 

“ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมา  อบต.รับร่อและสภาองค์กรชุมชนตำบลจึงร่วมกันสร้างความเข้าใจกับชาวสวนทุเรียนในตำบลรับร่อว่า  ไม่ควรจะขายทุเรียนให้กับพ่อค้าจีน  เพราะต่อไปหากตลาดรับซื้ออยู่ในมือของพ่อค้าจีนทั้งหมด  พวกเขาก็จะรวมหัวกันกดราคารับซื้อจากชาวสวนได้  ดังนั้นชาวสวนทุเรียนควรจะขายทุเรียนให้พ่อค้าไทย  และต้องปลูกทุเรียนให้มีคุณภาพ  ให้ได้มาตรฐาน  ก็จะขายทุเรียนได้ราคา  และสามารถส่งออกไปขายได้ทั่วโลก”  นายก อบต.รับร่อกล่าวในตอนท้าย

                                                      

หมายเหตุ : เรื่องและภาพโดยสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"