กรมการค้าภายใน โชว์ผลงาน ‘ประกันรายได้ข้าวปีที่ 2’ ชาวนายิ้มรับรายได้เพิ่ม


เพิ่มเพื่อน    

          นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยความคืบหน้าของการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 พร้อมมาตรการคู่ขนานและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวว่า ขณะนี้โครงการประกันรายได้เกษตรกรมีการดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 90 ซึ่งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้ออกประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงแล้ว จำนวน 21 งวด และยังคงเหลือการออกประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงอีก 9 งวด โดย ธ.ก.ส. ได้โอนเงินชดเชยส่วนต่างให้เกษตรกรแล้ว จำนวน 4.67 ล้านครัวเรือน จากเป้าหมายทั้งหมด 4.68 ล้านครัวเรือน ยังเหลือเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ที่ยังไม่ได้รับเงินชดเชยส่วนต่าง เนื่องจากมีช่วงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตล่าช้ากว่าภูมิภาคอื่นๆ

          อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการคู่ขนานที่ดำเนินการควบคู่ไปกับโครงการประกันรายได้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและเป็นกลไกการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกไม่ให้ตกต่ำ และดูดซับปริมาณผลผลิตส่วนเกินในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก โดยเฉพาะข้าวเปลือก ประกอบด้วย 1. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โดยเกษตรกรเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางของตนเอง รัฐช่วยจ่ายดอกเบี้ยและให้ค่าเก็บรักษาข้าว ตันละ 1,500 บาท เมื่อข้าวราคาดีเกษตรกรสามารถนำออกมาขายได้ 2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโดยสถาบันเกษตรกร เพื่อเร่งการรับซื้อ โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยในร้อยละ 3 ต่อปี และ3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ให้ผู้ประกอบการเก็บข้าวไว้โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3

          ทั้งนี้ กรมการค้าภายใน ได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการประกันรายได้และมาตรการคู่ขนาน โดยสอบถามความพึงพอใจของเกษตรกร โดยส่วนใหญ่บอกว่าโครงการดังกล่าวสามารถช่วยให้มีรายได้จากการจำหน่ายข้าวเปลือกในราคาที่เหมาะสม ลดความเสี่ยงโดยรัฐช่วยให้ราคารับซื้อข้าวเปลือก รวมทั้งช่วยลดต้นทุนการผลิต สามารถบรรเทาความเดือดร้อนและยังมีรายได้เพิ่มขึ้น

 

         

          สำหรับเกษตรกรที่ได้รับเงินชดเชยส่วนต่างไปแล้ว สะท้อนความพึงพอใจนายศักดิ์ชัย ยอดเยี่ยม” อายุ 67 ปี บ้านตาเดียว ต.ตาเบา อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ข้าราชการบำนาญผู้ยึดหลักการเกษตรแบบผสมผสาน และยังใช้พื้นที่เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้กับผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้ บนที่นา 20 ไร่ ปลูกข้าวพันธุ์หอมมะลิ 105 ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวหอมนิลสุรินทร์ ด้วยวิถีนาธรรมชาติใช้ต้นทุนน้อย ไม่เกินไร่ละ 1,000 บาท โดยผลผลิตเคยขายได้สูงสุด 18 บาท/กิโลกรัม

         นายศักดิ์ชัย กล่าวว่า ตนเข้าร่วมโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 โดยลงทะเบียนปลูกข้าวหอมมะลิ 105 จำนวน 18 ไร่ แจ้งเก็บเกี่ยวช่วงปลายเดือนตุลาคม 2563 ได้เงินส่วนต่างชดเชยประมาณ 2,900 บาทต่อตัน ในส่วนของโครงการชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ตนนำข้าวหอมมะลิ 105 เข้าร่วมจำนวน 8 ตัน เก็บสต็อกไว้เผื่อการแปรรูปและสำหรับขาย โดยเงินที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการของภาครัฐ ตนนำมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการทำนารอบต่อไป และซื้อเมล็ดพันธุ์สำหรับปลูกพืชหลังนา เช่น ถั่วเขียว ถั่วพร้า แตงโม ฟักทอง แตงไทย ฯลฯ ตลอดจนทำปุ๋ยหมักเพื่อบำรุงพืชด้วย

          เกษตรกรชาวสุรินทร์รายนี้ กล่าวด้วยน้ำเสียงดีใจที่รัฐบาลมีเงินสนับสนุนเรื่องค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิต ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ ให้เพิ่มเติมด้วย โดยตนได้รับเงินครบแล้ว “รู้สึกดีใจที่รัฐบาลมีนโยบายดีๆ มาให้กับพี่น้องชาวนา ฝากถึงพี่น้องเกษตรกรด้วยว่าเกษตรกร เราทำนาฤดูเดียวหรือทำนาอย่างเดียว แก้ปัญหาความยากจนไม่ได้ ต้องทำแบบผสมผสาน ซึ่งการที่รัฐบาลมีเงินสนับสนุนตรงนี้ ก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้เกิดการต่อยอดให้เราลงทุนในอาชีพอื่นๆ ขอบคุณรัฐบาลเป็นอย่างมากที่มีนโยบายช่วยเหลือต่างๆ มาให้ ทำให้เกษตรกรดีใจมาก

         ด้าน นางสายสมร ชมชื่น อายุ 57 ปี เกษตรกรจังหวัดสุรินทร์ ทำนาทั้งหมด 14 ไร่ 2 งาน ปลูกข้าวพันธุ์หอมมะลิ 105 แบบอินทรีย์ มีการปลูกถั่วพร้าเป็นปุ๋ยพืชสดก่อนการทำนา ต้นทุนในการทำนาประมาณ 3,000 บาท/ไร่ ได้ผลผลิตประมาณ 450 กก./ไร่ มีสระน้ำเป็นของตัวเองทำให้น้ำถึงได้ผลผลิตมากและคุณภาพดี ขายข้าวเปลือกตากแห้งได้ 18 บาท/กิโลกรัม โดยตนเข้าร่วมโครงการประกันรายได้ 2 แปลง รวมได้รับเงินจากโครงการประกันรายได้ประมาณ 15,000 บาท และยังได้รับเงินจากโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิต ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่แล้ว

          “รู้สึกดีมากในการได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลสนับสนุนมา เพราะสามารถทำให้เราลดต้นทุนการทำนาและนำเงินที่ได้ไปใช้หนี้ค่าปุ๋ย เป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ค่าเกี่ยวข้าว ค่าไถกลบ ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินใคร ครอบครัวมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” นางสายสมร กล่าว

          อธิบดีกรมการค้าภายใน ฝากทิ้งท้ายถึงเกษตรกรผู้ปลูกข้าวว่า “ขอให้พัฒนาและปรับปรุงการเพาะปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตข้าวเปลือกที่มีคุณภาพดี รวมทั้งขอความร่วมมือในการช่วยติดตามกำกับดูแลการรับซื้อข้าวเปลือกของโรงสีในพื้นที่ ทั้งในเรื่องการชั่งน้ำหนัก และการหักลดความชื้นและสิ่งเจือปน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบ หากเกษตรกรพบว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการรับซื้อข้าวเปลือก หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงการประกันรายได้ มาตรการคู่ขนาน หรือมาตรการอื่น ๆ สามารถร้องเรียนหรือสอบถามได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่”

          ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมการค้าภายในเผยสถานการณ์การผลิตข้าวของประเทศผู้ผลิตข้าวจากทั่วโลก ในปี 2564 ที่เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ซึ่งคาดว่าจะมีผลผลิตเข้าสู่ตลาด 504.41 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6.70 ล้านตัน โดยสอดคล้องกับแนวโน้มการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 496.33 ล้านตัน เป็น 504.69 ล้านตัน ซึ่งผลผลิตข้าวไทยในปี 2564 มีแนวโน้มมากกว่าปี 2563 ซึ่งอาจจะส่งผลให้ราคาข้าวไทยปรับตัวลดลง และสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ ในปี 2564 จึงคาดว่าไทยจะส่งออกข้าวได้ปริมาณ 6 ล้านตัน และจะยังรักษาปริมาณการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยซึ่งเป็นข้าวประเภทเดียวที่ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเอาไว้ได้


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"