วาทกรรมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใครได้ใครเสียหรือ ปชช.ถูกต้ม?


เพิ่มเพื่อน    

      จากกรณีภาคประชาชนต้องฝันค้าง หลังรัฐสภาลงมติโหวตวาระ 3 คว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เมื่อกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

            แต่ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ผ่านพรรคร่วมรัฐบาลต่างๆ ที่แถลงต่อรัฐสภาเอาไว้  จึงจำเป็นให้แต่ละพรรคต้องรีบเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดกระแสสังคม ส่วนจะตอบโจทย์ข้อเรียกร้องจากประชาชนหรือไม่ และใครจะได้ประโยชน์ คงต้องติดตามกันต่อไป    

            ในระหว่างที่ม็อบต่างๆ อ่อนแอ ด้วยสถานการณ์โควิดมีอันต้องพักรบไป และม็อบ 3 นิ้วอ่อนแรงยากที่จะปลุกขึ้น  เพราะเดินเกมทะลุเพดาน แกนนำต่างๆ ถูกคุมขังดำเนินคดียาวเป็นหางว่าว เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐ  (พปชร.) พร้อมรายชื่อ ส.ส. 110 คน เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 ประเด็น 13 มาตรา ยื่นต่อนายชวน หลีกภัย  ประธานรัฐสภา เป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา

            ประเด็นที่ 1 แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพ  แก้ไขมาตรา 29, 41 และมาตรา 45

            ข้อ​ 1 เพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรม 8 อนุมาตรา แก้ไขมาตรา 29 ข้อ 2 ให้ชุมชนมีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายอย่างเหมาะสมจากรัฐในการฟ้องหน่วยงานรัฐ  แก้ไขมาตรา 41 ข้อ​ 3 แก้ปัญหากระบวนการไพรมารีโหวตของพรรคการเมือง แก้ไขมาตรา 45 โดยได้นำรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 47 มาใช้แทน 

                ประเด็นที่ 2 แก้ไขระบบการเลือกตั้ง มาตรา 83, 85,  86, 90, 91, 92 และมาตรา 94 ข้อ​​ 1 ให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นแบบบัตรสองใบ ส.ส.แบบแบ่งเขต 400  คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ตามรัฐธรรมนูญ 2540 และให้ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส ภายใน 30 วันนับจากวันเลือกตั้ง

            ข้อ​ 2 ให้พรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้วไม่น้อยกว่า 100 เขตเลือกตั้ง จึงมีสิทธิ์ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้ ข้อ 3 ให้พรรคการเมืองใดได้คะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละหนึ่งของจำนวนคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศ ให้ถือว่าไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้ง และไม่ให้นำคะแนนเสียงดังกล่าวมารวม คำนวณ เพื่อหาสัดส่วนจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ   ข้อ 4 เมื่อมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.แบบแบ่งเขต ภายใน 1 ปี  ไม่มีการคำนวณคะแนน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อใหม่

            ประเด็นที่ 3 แก้ไขมาตรา 144 การพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ ซึ่งเดิมมีปัญหากระทบต่อการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณ แก้ไขโดยให้ใช้ข้อความตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 168 วรรคห้า  วรรคหก วรรคเจ็ด วรรคแปด และวรรคเก้า มาใช้แทน

            ประเด็นที่ 4 แก้ไขมาตรา 185 เพื่อแก้ไขอุปสรรคการทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ให้สามารถติดต่อส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้ โดยได้นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 111 มาใช้แทน

            ประเด็นที่ 5 แก้ไขบทเฉพาะกาล มาตรา 270 เปลี่ยนแปลงอำนาจวุฒิสภา ให้เป็นอำนาจรัฐสภา โดย ส.ส. ส.ว.มีหน้าที่และอํานาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ และการจัดทําและดําเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ

            นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ โต้โผเรื่องนี้ กล่าวว่าสาระสำคัญคือการแก้ไขระบบเลือกตั้ง จากบัตรใบเดียวเป็นบัตร 2 ใบ ตรงความต้องการของพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาล แสดงถึงความจริงใจให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นรูปธรรม ส่วนที่ไม่เสนอเรื่องการตัดอำนาจ ส.ว. เราไม่แก้อะไรที่มีข้อขัดแย้ง ดูแล้วอาจไม่สำเร็จ ลักษณะเอาประชาชนเป็นตัวประกัน พรรคมุ่งแก้ปัญหาประชาชนก่อน แต่ไม่ห้ามหากใครไปยื่นแก้ไขประเด็นอื่น  

                 "ร่างดังกล่าวผ่านตา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรค พปชร. และเห็นชอบแล้ว"

            เมื่อถามว่าหากพรรคประชาธิปัตย์เสนอแก้มาตรา 256  เพื่อแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะสนับสนุนหรือไม่ นายไพบูลย์ตอบว่า ต้องไปถาม ส.ว.ก่อน เพราะกระทบ ส.ว. และต้องถามฝ่ายค้าน สุดท้ายต้องถามรัฐบาลด้วยเพราะเป็นผู้ใช้งบประมาณทำประชามติ

            ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา กลับเล่นอีกบทที่แตกต่างออกไป คือต้องการทำให้รัฐธรรมนูญหลุดจากข้อกล่าวหาสืบทอดอำนาจ และกลายเป็นประชาธิปไตย 

            โดยมีสาระสำคัญคือ แก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญง่ายขึ้น โดยใช้เสียงรัฐสภาแก้ไข 3 ใน 5 เสียง จากเดิมที่ต้องใช้เสียง ส.ว.จำนวน 84 เสียง รวมทั้งต้องการแก้ไขมาตรา 272 ตัดอำนาจให้ ส.ว.ไม่มีสิทธิ์โหวตนายกฯ  เป็นต้น 

            ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย เตรียมแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2 แบบ คือ แก้ทั้งฉบับโดยต้องทำประชามติ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และแก้แบบรายมาตราโดยแบ่งเป็น 4 ประเด็น คือ 1.ปรับเปลี่ยนหน้าที่และอำนาจของ ส.ว. 2.การปรับเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง 3.บทบาทหน้าที่ขององค์กรอิสระ และ 4.เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 

            ส่วนพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า ที่แนวทางคล้ายกัน และหวังใช้แรงกดดันจากประชาชนภายนอกกดดันการแก้ไข คือ 1.ยกเลิกวุฒิสภา 2.โละศาลรัฐธรรมนูญเรื่องขององค์กรอิสระ 3.ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ และ 4.ยกเลิกแผนปฏิรูปประเทศ ล้างมรดกคณะรัฐประหาร

            เมื่อวิเคราะห์จุดมุ่งหมายของแต่ละพรรคการเมือง ต้องยอมรับความจริงว่า พรรค พปชร.มีแนวโน้มที่จะแก้ไขสำเร็จ  เพราะมีพันธมิตรสำคัญคือ ส.ว.สรรหาจำนวน 250 เสียง เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 256 กำหนดเอาไว้ คือใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาแล้ว จะต้องได้รับเสียง ส.ว.เห็นด้วย 1 ใน 3 หรือจำนวน 84 คน เห็นชอบในวาระสาม ดังนั้นเมื่อ พปชร.ไม่แตะต้อง ส.ว. จึงมีแนวโน้มที่จะแก้ไขสำเร็จ เพื่อให้สภาสูงอยู่เลือก พล.อ.ประยุทธ์ต่อไป 

            นอกจากนี้ยังมีการมองว่า การแก้ไขระบบเลือกตั้งของ  พปชร.จากบัตรใบเดียวเป็นสองใบ โดยพรรค พปชร. คาดว่าจะได้ประโยชน์เต็มๆ ในการเลือกตั้งระบบเขต เพราะบัดนี้กลายเป็นพรรคใหญ่ มีอำนาจรัฐ นโยบายลดแลกแจกแถม ยกตัวอย่างเช่นการเลือกตั้งซ่อมในพื้นที่ต่างๆ ที่ผ่านมา อาทิ  จ.ขอนแก่น จ.ลำปาง และ จ.นครศรีธรรมราช สามารถล้มแชมป์เก่าหรือเสาไฟฟ้าลงได้ทั้งสิ้น รวมทั้งยังมองว่าเป็นการกำจัดพรรคก้าวไกล ที่ได้ประโยชน์จากบัตรใบเดียวอีกด้วย  

            จึงประเมินกันว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าอาจจะทำให้ พปชร.ได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง ยิ่งใหญ่เช่นเดียวกับพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชนในอดีต ที่พรรคการเมืองอื่นๆ ต้องมาตามง้อขอร่วมรัฐบาล 

            แตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ฟังหลักการแก้ไขเหมือนดูดี และหวังให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น โดยมุ่งเน้นตัดอำนาจของ ส.ว. จึงเป็นเรื่องยากแสนเข็ญที่จะแก้ไขได้สำเร็จ 

            ไม่นับประเด็นอย่าง โละศาลรัฐธรรมนูญ หรือแก้ไขหมวด15 จะต้องผ่านการทำประชามติ ที่กฎหมายขณะนี้ยังไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา หลังเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญมาสองรอบ   อีกทั้งยังต้องเสียงบประมาณครั้งละ 3  พันล้านบาทอย่างน้อย 2 ครั้ง ที่สำคัญยังต้องผ่านด่าน  รัฐบาล พรรคพลังประชารัฐ และวุฒิสภา โดยความเห็นชอบจากระบอบ 3 ป.อีกด้วย

            มองได้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญหลากหลายแนวทางที่นักการเมืองเสนอ สุดท้ายร่างแก้ไขของ พปชร.จะสำร็จ และระบอบ 3 ป. จะเป็นผู้ชนะ และอาจมีพรรคใหญ่ๆ อาทิ เพื่อไทยและประชาธิปัตย์เห็นด้วย เพราะชอบระบบเลือกตั้ง 2 ใบ ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยคงเป็นเพียงวาทกรรมที่ยากจะเกิดขึ้น  ตราบใดที่ภาคประชาชนยังไม่แข็งแรง.   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"