เผด็จการ 3 รูปแบบ? สีจิ้นผิง ปูติน และระบบ 2 พรรคอเมริกา


เพิ่มเพื่อน    

เผด็จการแบบสีจิ้นผิง? :

      จีนถือว่าปัจจุบันประเทศปกครองแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย (socialist democracy) ตามลักษณะของจีน ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิตประจำวัน มีเสรีภาพในการเลือกเรียน เลือกงานทำ เลือกคู่ครอง เป็นเจ้าของทรัพย์สิน ประกอบธุรกิจส่วนตัว แต่อำนาจการปกครองอยู่ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์ รัฐบาลมีอำนาจทุกด้าน กำกับควบคุมชี้นำเศรษฐกิจสังคม ฯลฯ

        การที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเตรียมแก้รัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง (Xi Jinping) อยู่ในตำแหน่งไม่จำกัดวาระ ทำให้หลายคนกังวลว่าสภาพเช่นนี้จะเป็นเหตุให้ “บริหารผิดพลาด” เพราะอาจขาดการถ่วงดุลท้วงติง ประธานาธิบดีเปรียบเหมือนจักรพรรดิ อาจกลายเป็นทรราช   ในทางวิชาการ ทรราชหมายถึงคนเดียวมีอำนาจสูงสุดเหนือบุคคลทั้งหลายอย่างเด็ดขาด หากผู้ปกครองมีคุณธรรมเรียกว่า “ราชาธิปไตย” (Monarchy) แต่หากกดขี่ข่มเหงราษฎร จะเรียกว่า “ทุชนาธิปไตย” หรือ “ทรราช” (Tyranny)

        ความจริงแล้วไม่ว่าประธานาธิบดีจะดำรงตำแหน่งแบบจำกัดวาระหรือไม่ ล้วนมีโอกาสเป็นทรราช เพียงแต่เป็นทรราชแบบจำกัดวาระหรือไม่ ลึกกว่านั้นคือพรรคคอมมิวนิสต์คือพรรคทรราชหรือไม่ กล่าวได้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์เทียบได้กับราชวงศ์หรือชนชั้นปกครองที่สืบทอดอำนาจผ่านกระบวนการของพรรค

        ส่วนใครจะว่ารูปแบบนี้ดีหรือไม่ ย่อมวิพากษ์ได้ทั้งดีกับไม่ดี โดยรวมแล้วชาวจีนน่าจะมีความสุขมากกว่าสมัยเหมาเจ๋อตง (Mao Zedong) มีข้อมูลว่าปี 2016 ชาวจีน 135 ล้านคนเที่ยวต่างประเทศ (ราวร้อยละ 10 ของประชากร) ใช้จ่ายกว่า 261,000 ล้านดอลลาร์ ผ่านบริการโอนเงินของจีนโดยเฉพาะ Alipay กับ WeChat Pay ข้อมูลชิ้นเล็กๆ นี้สะท้อนภาพบางอย่างได้ดี

        อย่างไรก็ตาม จีนในอนาคตจะมีปัญหามากขึ้นหรือไม่ การทุจริตคอร์รัปชันจะส่งผลต่อสังคมอย่างไร จะผ่านพ้นอย่างไร คือคำถามที่น่าสนใจ

เผด็จการแบบปูติน? :

      นายวลาดิมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) เป็นผู้นำประเทศในภาวะวิกฤติ สืบเนื่องจากการปฏิรูปของมิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ในทศวรรษ 1990 แต่ความไม่พร้อม ปัญหาเก่าที่หมักหมม สร้างความทุกข์ยากแก่ประชาชนแสนสาหัส คนชนบทห่างไกลต้องหาทางเอาตัวรอดด้วยตัวเอง ปี 1999 นายปูตินดำรงตำแหน่งนายกฯ และเป็นประธานาธิบดีในปีถัดมา

        ฝ่ายที่วิพากษ์ปูตินมักพูดถึงประเด็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านถูกลดทอนบทบาทกลายเป็นพรรคไม้ประดับ ใครเคลื่อนไหวการเมืองรุนแรงมักถูกเล่นงานจนพ้นเส้นทาง คนที่ใกล้ชิดกับพรรค ฐานอำนาจของปูตินได้ประโยชน์มากกว่าคนทั่วไป

        แต่ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้นมาก คนว่างงานลดน้อยลงมาก ผู้คนอยู่ดีกินดีกว่าเดิม หลายคนที่เคยต่อต้านปูตินบัดนี้หันกลับมาสนับสนุน

        เศรษฐกิจดีส่งเสริมความมั่นคงด้านอื่นๆ ทั้งการเมือง การทหาร การศึกษา วัฒนธรรม ไม่ว่าใครจะวิพากษ์อย่างไร รัสเซียในยุคปูตินฟื้นตัว กล่าวได้ว่าปูตินคือผู้ยุติความทุกข์อันเนื่องจากการปฏิรูป นำการฟื้นฟูสู่ประเทศ รัสเซียแสดงบทบาทเด่นในเวทีการเมืองระหว่างประเทศอีกครั้ง

        น่าคิดใช่ไหมหากรัสเซียไม่มีปูติน สังคมจะยังคงวุ่นวายจากการปฏิรูปอีกนานเพียงไร จะเลวร้ายกว่าเดิมหรือไม่ ลองเทียบกับอัฟกานิสถาน อิรัก ลิเบีย ยูเครน ฯลฯ ที่ยังกำลังปฏิรูปเป็นประชาธิปไตยตามคำชี้แนะของรัฐบาลตะวันตก ประเทศเหล่านี้กลายเป็นรัฐล้มเหลว ผู้คนทั่วหล้าทุกข์ยากไม่รู้จบ เมื่อสอบถามความรับผิดชอบ รัฐบาลตะวันตกเหล่านี้จะตอบว่าไม่ใช่ความรับผิดชอบของพวกเขา

      ดังที่เคยนำเสนอแล้วว่าปูตินกลายเป็นผู้นำที่ครองอำนาจยาวนาน เริ่มจากเป็นนายกฯ สมัยแรกในปี 1999 ขยับขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี 2000 จากนั้นครองอำนาจต่อเนื่องมาโดยตลอด ช่วงปี 2008-2012 กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งหลังครบวาระประธานาธิบดี 2 สมัยซ้อน จากนั้นกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยเมื่อปี 2012 จนถึงปัจจุบัน และคาดว่าการเลือกตั้งมีนาคม 2018 นี้ ปูตินจะชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนถล่มทลายได้เป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัย คราวนี้คือสมัยที่ 4

        นั่นหมายความว่าท่านจะได้เป็นประธานาธิบดีถึงปี 2024 ด้วยวัย 72 ปี หรือเท่ากับเป็นผู้ปกครองประเทศยาวนานถึง 1 ใน 4 ของศตวรรษ (ภายใต้สมมติฐานว่าท่านวางมือหลังวัย 72 ปี)

        ประวัติศาสตร์รัสเซียยุคใหม่จะบันทึกเรื่องราวของปูตินอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมกับข้อสรุปว่าปูตินกับพวกยึดฐานอำนาจประเทศอย่างแข็งแกร่ง จนไม่มีใครสามารถต่อกร ถ้าจะบอกว่าเป็นระบอบเผด็จการในคราบประชาธิปไตยย่อมมีผู้เห็นด้วยหลายคน ในขณะที่ชาวรัสเซียจำนวนมากสนับสนุนผู้นำอย่างปูติน

แบบ 2 พรรคของอเมริกา? :

      ในอดีตคนอเมริกันไม่ชอบพูดว่าพวกเขามีชนชั้นทางสังคม (social class) เพราะขัดกับแนวคิดที่ว่าชาวอเมริกันทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน

        แต่ในระยะหลังการพูดคำว่าชนชั้นเริ่มถี่ขึ้น

        ในช่วงหาเสียงโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวหาฮิลลารี คลินตันว่า “บริษัทยักษ์ใหญ่ สื่อของชนชั้นนำ (elite media) และผู้บริจาครายใหญ่พากันต่อแถวอยู่เบื้องหลังการรณรงค์หาเสียง (ของฮิลลารี) เพราะพวกเขารู้ว่าเธอสามารถรักษาระบบขี้ฉ้อนี้  พวกเขาโยนเงินให้เธอเพราะพวกเขาควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอทำ เธอเป็นหุ่นเชิดให้พวกเขาคอยชักใย

        ก่อนหน้านั้น มีผู้ชี้ว่าสหรัฐในปัจจุบันไม่เป็นประชาธิปไตยแท้ๆ อีกแล้ว ยกตัวอย่าง อดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ (Jimmy Carter - ดำรงตำแหน่งช่วงปี 1977-1981) กล่าวเมื่อกรกฎาคม 2015 ว่า สหรัฐอเมริกาในขณะนี้เป็นระบอบคณาธิปไตย (oligarchy) กลุ่มคนเหล่านี้ติดสินบนนักการเมืองทั้งพรรคเดโมแครทกับรีพับลิกัน โดยเฉพาะคนที่ต้องการชิงตำแหน่งประธานาธิบดี คนที่ต้องการเป็นผู้ว่าการรัฐ เป็นวุฒิสมาชิกและสมาชิกรัฐสภา ระบอบการเมืองปัจจุบันจึงเคลื่อนไปด้วยคนเหล่านี้ นโยบายประเทศเอื้อประโยชน์แก่คนกลุ่มเหล่านี้

        Christina Tobin ประธาน The Free and Equal Elections Foundation เห็นว่า ระบบการเลือกตั้งสหรัฐในปัจจุบันไม่สามารถคัดคนดีเข้าสภา คนของพรรคเดโมแครทกับรีพับลิกันต่างถูกคุมโดยนายทุนใหญ่เหมือนกัน พรรคการเมืองไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองอีกแล้ว

        ตามการจำแนกรูปแบบรัฐบาลของอริสโตเติล (Aristotle) คณาธิปไตยคือระบบรัฐบาล (system of government) ที่อำนาจอยู่ในมือไม่กี่คนหรือชนชั้นเดียว (single class) คณาธิปไตยถูกเรียกในชื่ออื่นๆ เช่น ระบอบอำนาจนิยม เผด็จการ

        ชนชั้นปกครองในที่นี้ไม่ได้หมายถึงพวกราชวงศ์ ขุนนางชั้นสูงเท่านั้น แต่หมายถึง ใครก็ตามที่สามารถกุมอำนาจปกครองและทำเพื่อตนเองกับพวกพ้องเป็นหลัก ในบางกรณีอาจหมายถึงข้าราชการ เจ้าของที่ดินรายใหญ่ นักธุรกิจ ผู้ถืออำนาจกองทัพที่ร่วมกันปกครอง

        หากไม่ได้กุมอำนาจคนเดียว แต่เป็นหลายคนหลายกลุ่มช่วยกันกุมอำนาจเบ็ดเสร็จเช่นนี้ ก็เป็นทรราชเหมือนกัน

วิเคราะห์องค์รวมสรุป :

        ถ้าพิจารณาให้ดี แท้จริงแล้วทั้งแบบจีน รัสเซียและสหรัฐ ล้วนอาศัย “ระบอบฐานอำนาจ” ประธานาธิบดีเป็นเพียงผู้กุมอำนาจสูงสุดหรือผู้ออกหน้า ทั้ง 3 กรณีมีความแตกต่างในบางจุด เพราะมาจากบริบทที่แตกต่าง การนำเสนอให้ดูแตกต่าง

        ความจริงแล้วเผด็จการมีหลากหลายรูปแบบ ที่นำเสนอเป็นการยก 3 กรณีตัวอย่างเพื่อวิพากษ์ให้เห็นภาพในอีกมุมหนึ่ง อาจเห็นว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นก็ได้

        ในกรณีของสีจิ้นผิง สุดท้ายคนจีนจะเป็นผู้พิพากษาว่าการยกเลิกจำกัดวาระดีหรือไม่ ส่งเสริมให้สังคมรุ่งเรืองหรือตกต่ำลง คำว่าสังคมรุ่งเรืองหรือตกต่ำควรมองกรอบที่กว้าง เช่น ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข เด็กๆ อยู่ในบ้านเปี่ยมรัก หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่มีอนาคต คนสูงวัยไม่ถูกทอดทิ้ง ทุกคนพัฒนาตัวเองตลอดชีวิต สังคมปลอดภัย เป็นพหุสังคม กำลังพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ควรตีกรอบแคบๆ ว่าคือมีตัวเลขรายได้สูง มีเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านมากขึ้นเท่านั้น

        ไม่ว่าจะเป็นสังคมนิยมแบบจีนหรือเป็นระบอบการปกครองแบบใด ควรวัดความสำเร็จด้วยแนวทางเช่นนี้ หากทำเพื่อความสุขของประชาชนจริง เมื่อนั้นเผด็จการจะกลายเป็นราชาธิปไตยหรือรูปแบบการปกครองโดยคณะบุคคลที่น่าส่งเสริม.

 

ภาพ : อดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์

ที่มา : https://www.cartercenter.org/resources/images/gallery/highres/president-carter-85th-birthday.jpg


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"