อุตฯงัด 6 โมเดลฟื้นฟูแหล่งผลิตกาแฟไทยในภาคเหนือ

ดีพร้อมเร่งฟื้นฟู แหล่งผลิตกาแฟไทย ปักหมุดภาคเหนือ ใช้ 6 โมเดลอัพเกรดธุรกิจรับเทรนด์โลก ชี้ตลาดรวมยังโตกว่า 15%

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) หรือ ดีพร้อม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ขับเคลื่อนนโยบายเปิดประเทศ ดีพร้อมอยู่ระหว่างเร่งฟื้นฟูภาคส่วนสำคัญทั้งด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว รวมทั้งวิสาหกิจชุมชนในหลายพื้นที่ ตามนโยบาย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ล่าสุดกำลังเร่งยกระดับกาแฟอาราบิก้าภายใต้อัตลักษณ์กาแฟภาคเหนือ พัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟคุณภาพ ทำให้ภาคเหนือตอนบนเป็นแหล่งผลิตเมล็ดกาแฟที่มีชื่อเสียง

นายณัฐพล กล่าวว่า ดีพร้อมจึงนำ 6 โมเดลสนับสนุน ประกอบด้วย 1.การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานเมล็ดกาแฟอาราบิก้า ซึ่งมีการเพาะปลูกในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนกว่า 7 หมื่นไร่ ให้มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นในด้านกลิ่น รสชาติ และลักษณะปรากฎเฉพาะของกาแฟ นำผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยแบ่งปันเทคนิคต่างๆ 2.ส่งเสริมกระบวนการคั่ว ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนมีโรงคั่วอยู่กว่า 70 แห่ง 3.ยกระดับธุรกิจผ่านแนวทางการเกษตรสร้างสรรค์ ผลักดันกาแฟในแต่ละดอยมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวของตัวเอง อาทิ กาแฟอมก๋อย กาแฟดอยวาวี กาแฟดอยอินทนนท์ กาแฟดอยผาหมี รวมถึงรูปแบบของผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ดึงดูดช่องทางค้าขายออนไลน์ ยกระดับพื้นที่เพาะปลูกให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว

4.การส่งเสริมธุรกิจกาแฟของภาคเหนือตอนบนผ่านศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 และศูนย์พัฒนาและทดสอบอัตลักษณ์กาแฟอาราบิก้าภาคเหนือ 5.เพิ่มโอกาสในการขยายตลาด ทั้งช่องทางการค้าออนไลน์ ห้างสรรพสินค้า เครือข่ายร้านกาแฟที่มีชื่อเสียง ส่งเสริมการออกแบบสินค้า การจดสิทธิบัตร – ขึ้นทะเบียนสินค้าเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ บ่มเพาะวิธีการสร้างเรื่องราวหรือการสร้างคอนเทนต์ และ6.การรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมกาแฟผ่านคลัสเตอร์

“ปัจจุบันมูลค่าตลาดกาแฟภาคเหนือตอนบนเติบโตถึง 5,000 ล้านบาท จากตลาดรวมทั้งประเทศปี 2563 อยู่ที่ 42,537 ล้านบาท แบ่งเป็น กาแฟสด 9.7% กาแฟสำเร็จรูป 90.3% สำหรับปีนี้แม้โควิดจะรุนแรงแต่ด้วยการปรับตัวของผู้ประกอบการที่มุ่งออนไลน์ทดแทนตลาดปกติ บวกกับการสนับสนุนจากภาครัฐ จึงคาดว่าตลาดรวมปีนี้จะยังคงเติบโตระดับระดับ 10-15% โดยโอกาสกาแฟไทยยังมีอีกมาก เพราะปัจจุบันการบริโภคสูงระดับ 7 หมื่นตันต่อปี ขณะที่ไทยผลิตได้เพียง 1 หมื่นตันต่อปี ที่เหลือเป็นการนำเข้าทั้งหมด”นายณัฐพล กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทอ. ส่งเครื่องบินบีที-67 ทิ้งน้ำ 3 พันลิตร แนวไฟไหม้วิกฤตภาคเหนือ

กองทัพอากาศ ได้เผยแพร่ข้อมูล สนับสนุนภารกิจการแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ (SEE & STRIKE ) โดยส่งอากาศยาน AU-23 PEACE MAKER (Sensor)