รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน

จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จังหวัดเชียงรายถือเป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ทั้งดินสไลด์ น้ำท่วมขังใน 7 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่สาย ที่ได้รับผลกระทบหนักสุด อ.เชียงแสน อ.แม่จัน อ.ดอยหลวง อ.เวียงเชียงรุ้ง อ.เวียงชัย และเมืองเชียงราย ขณะที่ แม่น้ำสาย น้ำก็ยังล้นตลิ่งบางจุด โดยเฉพาะ ต.แม่สาย หลายแหล่งยังมีน้ำท่วมขังที่มีการคาดการณ์ว่าระดับน้ำจะลดระดับได้มากคงใช้เวลากว่า 10 วัน ซึ่งการรับน้ำผ่านโขงไปทางอีสาน นั้นหมายความว่า ภาคอีสานหลายจังหวัดต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำโขงเพิ่มไปจนถึงสิ้นเดือนนี้

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ที่เกิดปัญหาอุทกภัยอย่างหนัก ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามเส้นทางของลำน้ำโขงนั้น กระทรวง พม. เราได้เป็นส่วนหนึ่งในการเข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในแต่ละพื้นที่ ทั้งในภาคเหนือรวมถึงภาคอีสาน รวม  13 จังหวัด โดยเราได้เปิดพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวง พม. คือ ศูนย์-สถาน-บ้าน-นิคม ต่างๆ อาทิ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง บ้านเอื้ออาทร ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง บ้านพักเด็กและครอบครัว เป็นต้น รวมทั้งหมด 34 แห่ง เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาอุทกภัย สามารถเข้ามาพักพิงที่ศูนย์แห่งนี้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะมีทั้งอาหารและน้ำดื่มไว้คอยดูแลทุกคนที่เข้ามา และหลังจากนี้ กระทรวง พม. จะเริ่มเยียวยาผู้ประสบปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย เคหสถานต่างๆ โดยมีหน่วยงานของกระทรวง พม. เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.  และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ที่จะเข้าไปซ่อมแซมและเยียวยาประชาชนทางร่างกาย เคหสถาน รวมถึงทีมสหวิชาชีพ นักสังคมสงเคราะห์ และนักจิตวิทยาที่จะเข้าไปดูแลด้านจิตใจของพี่น้องประชาชน

“หน่วยงานของกระทรวง พม. ได้เปิดพื้นที่ตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว จำนวน 34 แห่ง ใน 13 จังหวัด ของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน หนองคาย เลย มุกดาหาร บึงกาฬ อุบลราชธานี นครพนม ซึ่งจะสามารถรองรับผู้ประสบภัยได้ 1,475 คน โดยทั้งหมดเป็นจังหวัดที่ พม. ได้ขอให้เตรียมความพร้อม เนื่องจากลำน้ำโขงในขณะนี้สถานการณ์น้ำมาถึงที่จังหวัดเลย หนองคาย และจะไปถึงจังหวัดมุกดาหาร บึงกาฬ และอุบลราชธานี โดยตนได้กำชับทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์น้ำจำนวนมากที่จะไปในพื้นที่ต่อๆ ไป ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และเลย ที่น้ำได้เริ่มลดลงแล้วนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้น กระทรวง พม. จะเข้าไปช่วยเยียวยาฟื้นฟูประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาชีพและที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ตนขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชนทุกท่านที่ประสบกับปัญหาอุทกภัยในขณะนี้ และขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ อาสากู้ภัย  ทหาร รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในขณะเดียวกัน ในส่วนของครอบครัวผู้ที่เสียชีวิตจากอุทกภัย ตนขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง และกระทรวง พม. จะเป็นกำลังใจให้พี่น้องประชาชน ได้ฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคครั้งนี้ต่อไปด้วยกัน”

สถานการณ์น้ำท่วม

พอช.อนุมัติงบช่วยเหลือขบวนองค์กรชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบระยะเร่งด่วน ชูนโยบายแก้ไขปัญหาภัยพิบัติภาคประชาชนจัดทำแผนงานแก้ไขปัญหาในระยะยาว

จากสถานการณ์ดังกล่าว รมว.พม. ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานทุกกรมให้การช่วยเหลือพี่น้องที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน ในช่วงที่ผ่านมาผู้บริหาร พอช. และผู้ปฏิบ้ติงานจากสำนักงาน และส่วนกลาง ได้ร่วมลงพื้นที่เพื่อเกาะติดสถานการณ์ ให้กำลังใจ และร่วมให้การช่วยเหลือกับพี่น้องขบวนองค์กรชุมชนในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน อาสาสมัคร มูลนิธิต่างๆ ในพื้นที่ ระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ที่เกิดสถานการณ์ภัยพิบัติ เครือข่ายองค์กรชุมชนได้มีการช่วยเหลือกันในพื้นที่ร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกันขบวนองค์กรชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมีการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อน โดยใช้กลไกของสภาองค์กรชุมชนตำบลและกองทุนสวัสดิการชุมชน ร่วมกับภาคีในพื้นที่ มีการช่วยเหลือกันในระยะเร่งด่วน โดยการเปิดศูนย์ช่วยเหลือ ทำครัวกลางและการจัดทำถุงยังชีพ การทำที่อยู่อาศัยชั่วคราว ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ระดมงบประมาณและสิ่งของเพื่อนำไปบริจาคตามบริบทและกลไกของพื้นที่

ถุงยังชีพ

พอช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการหนุนเสริมให้ขบวนองค์กรชุมชนได้ลุกขึ้นมาร่วมจัดการปัญหาและภัยพิบัติในรูปแบบเครือข่ายในการช่วยเหลือกัน ทั้งในการช่วยเหลือเยี่ยวยาไปแล้วเบื้องต้น (1) ระยะเร่งด่วนเฉพาะหน้าในการยังชีพ โดยได้มีการตั้งศูนย์ช่วยเหลือโดยขบวนองค์กรชุมชนในพื้นที่ ทำครัวกลาง การขนย้าย ปัจจัยยังชีพ ที่พักชั่วคราว ตลอดจนการสำรวจข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบในเบื้องต้น และ (2) การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติภาคประชาชนจัดทำแผนงานแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยมีทิศทางในการส่งเสริมให้ขบวนองค์กรชุมชนมีระบบการจัดการภัยพิบัติโดยองค์กรชุมชนอย่างเป็นระบบ ทั้งพื้นที่เสี่ยงเกิดภัยพิบัติ พื้นที่เกิดภัยพิบัติซ้ำซาก ตลอดจนพื้นที่รับน้ำ เป็นต้น ซึ่งจากการลงพื้นที่ดังกล่าวมีการร่วมหารือกับผู้แทนในพื้นที่ในการวางแผนในประเด็นดังกล่าว และจะนำมาสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายของ พอช. ในระยะต่อไป

นายกฤษดา  สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมาหชน) ระบุว่า เพื่อเป็นการช่วยเหลือเร่งด่วนและลดภาระของพี่น้ององค์กรชุมชนในพื้นที่ พอช. ได้มีการอนุมัติงบประมาณด้านภัยพิบัติ จำนวน 1 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือพี่น้องในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 4 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1) สนับสนุนศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคเหนือ รวม 51 ศูนย์ ประกอบด้วย สภาองค์กรชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน กลุ่มและองค์กรต่างๆ ในระดับตำบล ตลอดจนหน่วยงานท้องที่ ท้องถิ่น ภาคเอกชน มูลนิธิ ฯลฯ ร่วมเป็นกลไกในการดำเนินงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ เช่น ศูนย์ทำครัวกลาง สนับสนุนเครื่องอุปโภค บริโภค และ อุปกรณ์ทำความสะอาด ฯลฯ และการสำรวจข้อมูลความเดือดร้อนเร่งด่วน จำนวน 20 ศูนย์ และ ศูนย์จัดทำข้อมูล  31  ศูนย์  2) สนับสนุนกลไกเครือข่ายภัยพิบัติภาคเหนือ เพื่อให้เกิดการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ประสบภัยพิบัติ เพื่อวางแนวทางการแก้ไขปัญหา และแผนการเตรียมความพร้อม ตลอดจนแผนการป้องกัน ของขบวนองค์กรชุมชนด้านการจัดการภัยพิบัติ ในอนาคต เช่น การสำรวจข้อมูล ความเสียหายด้านที่อยู่อาศัย/ข้อมูลผลกระทบเรื่องสุขภาพ อาชีพ และการวางแผนฟื้นฟูให้การช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยในระยะกลาง ระยะยาว การช่วยเหลือด้านสุขภาพ ยารักษาโรค และเชื่อมโยงการพัฒนาและฟื้นฟูเรื่องอาชีพ หลังสถานการณ์น้ำลด ตลอดจนการประชุมความคืบหน้า เชื่อมโยง ติดตามศูนย์ช่วยเหลือ พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง

“พอช. มีนโยบายด้านการจัดการภัยพิบัติให้เป็นนโยบายและแผนปฏิบัติการร่วมกับขบวนองค์กรชุมชน ที่จะต้องมีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ในวันนี้เราได้ร่วมถอดบทเรียนและเห็นกระบวนการในการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชน และให้เกิดการผลักดันให้เชิงนโยบาย และเกิดเชื่อมบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ที่เป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนให้เกิดความยั่งยืน โดยใช้กลไกในพื้นที่ร่วมออกแบบและวางแผนในการช่วยเหลือในทุกระยะ ทั้งการวางแผนเฉพาะหน้า-เร่งด่วน แผนระยะสั้น และแผนระยะยาว ซึ่งนอกจากได้มีการสนับสนุนงบประมาณให้กับพื้นที่ที่รับผลกระทบ ในอนาคตได้มองถึงการพัฒนาศูนย์ช่วยเหลือเป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพขบวนองค์กรชุมชนและผู้ปฏิบัติงาน พอช. ในการจัดการภัยบัติ ตลอดจนนำไปสู่การขับเคลื่อนประเด็นงานต่างๆ ในพื้นที่ให้เกิดความเข้มแข็ง”

ปัจจุบัน พอช. มีการอนุมัติงบประมาณเพื่อฟื้นฟูและช่วยเหลือพี่น้องขบวนองค์กรชุมชนหลังน้ำลด รวม 12.93 กว่าล้านบาท  แบ่งเป็น 1. โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยพื้นที่ภาคเหนือ ดำเนินการใน 6 จังหวัด 9 อำเภอ 10 ตำบล ประกอบด้วย สุโขทัย 3 ตำบล(ต.หนองตูม อ.กงไกรลาศ ,ต.วังใหญ่ และ ต.วังทอง อ.สวรรคโลก) , เทศบาลตำบลบางระกำเมืองใหม่ จ.พิษณุโลก, ต.บ้านกล้วย อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์, ต.สองคอน อ.ฟากท่า จ.อุตรดิตถ์, น่าน 2 ตำบล (ต.เมืองจัง อ.ภูเพียง ,ต.สันทะ อ.นาน้อย) , แพร่ 2 ตำบล (ทต.วังชิ้น อ.วังชิ้น และ ต.ป่าแมต อ.เมือง) รวมงบประมาณ 636,142 บาท 2. การพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ใช้ในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย (1) ภาคเหนือ อนุมัติงบประมาณรวม รวม 10,944,000 บาท ดำเนินการช่วยเหลือผ่าน โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในพื้นที่ 49 ตำบล 7 จังหวัด ได้แก่ แพร่ น่าน สุโขทัย พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เชียงราย พะเยา รวม 9 โครงการ รวม 608 ครัวเรือน โดยมีการอนุมัติใน 2 ระยะ คือ เฟสแรก อนุมัติ 5 โครงการ 16 ตำบล 228 ครัวเรือน วงเงิน 4,104,000 บาท และ เฟส 2 อนุมัติ 4 โครงการ 33 ตำบล 380 ครัวเรือน 6,840,000 บาท (2) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อนุมัติงบประมาณ รวม  1,350,000 บาท  แบ่งเป็น  1)งบช่วยเหลือเร่งด่วนเฉพาะหน้าในการยังชีพ เพื่อทำครัวกลาง การขนย้าย ปัจจัยยังชีพ และที่พักชั่วคราว จำนวน 300,000 บาท  2) งบเร่งด่วนเฉพาะหน้าในการจัดทำข้อมูลผู้เดือดร้อนในที่อยู่อาศัย/การซ่อมแซมที่อยู่อาศัย  รวม 1,050,000 บาท เพื่อให้ขบวนองค์กรชุมชนได้มีกระบวนการในการสำรวจข้อมูลและเชื่อมโยง การซ่อมแซมที่อยู่อาศัยโดยขบวนช่างชุมชน การวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ เชื่อมโยงขบวน การติดตาม วางแผนการดำเนินงาน รวมถึงการรายงานผล เป็นต้น

“ทั้งนี้มีนโยบายให้สำนักงานภาค ร่วมกับขบวนองค์กรชุมชน สำรวจข้อมูล จัดทำแผนปฏิบัติการในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ เช่น พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง พื้นที่ภาคกลาง รวมถึงพื้นที่ภาคอีสาน เพื่อให้เกิดการจัดการภัยพิบัติที่เป็นระบบ สามารถช่วยเหลือกันและกัน สามารถที่จะใช้ข้อมูลในการดำเนินการร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้องได้ได้อย่างรวดเร็ว” ผอ.พอช. กล่าวทิ้งท้าย

ขบวนองค์กรชุมชนเราไม่ทิ้งกัน ร่วมจัดการภัยพิบัติ

นายปาลิน ธำรงรัตนศิลป์ เลขานุการเครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค เล่าว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมหนักที่ภาคเหนือ และขยายมาสู่พื้นที่ภาคอีสาน ขบวนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศได้มีการระดมเงินและเครื่องอุปโภคบริโภคไปช่วยพี่น้องเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาร น้ำดื่ม ฯลฯ อย่างพี่น้องภาคเหนือล่างที่ยังไม่ได้รับผลกระทบก็มีไปสมทบช่วยเหลือพี่น้องทำครัวกลาง กองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดปราจีน มีส่งหมอนไปช่วยราว 200 ใบ กองทุนสวัสดิการภูเก็ตมีส่งข้าวสารไปช่วย ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอุดรธานีออกเดินทางนำถุงยังชีพ 100 ชุด. น้ำดื่ม 100 โหล เพื่อไปช่วยพี่น้อง จ.หนองคาย

“เครือข่ายสวัสดิการชุมชนมองถึงการพัฒนากองทุนในการช่วยเหลือ ป้องกัน ฟื้นฟูภัยพิบัติ โดยในปี 2568 ขบวนสวัสดิการชุมชนได้มองถึงแผนและแนวทางดังกล่าว และจะต้องหารือ ออกแบบ ร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับมือในอนาคต กองทุนดังกล่าวจะเป็นการสร้างฐานให้กับพี่น้องทั้งในพื้นที่และพื้นที่อื่นๆ ต่อไป ซึ่งอาจจะมีระบบการสมทบร่วมกันในระดับตำบล จังหวัด และภาคต่อไป”

นายกนกศักดิ์  ดวงแก้วเรือน ประธานคณะอนุกรรมการภาคเหนือ กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมที่ส่งผลกระทบและทวีความรุนแรงมากขึ้นในทุกปี บางพื้นที่ที่ไม่เคยได้รับผลกระทบก็ได้รับผลกระทบแบบไม่ทันได้รู้เนื้อรู้ตัว ซึ่งพวกเราในพื้นที่หลังเกิดเหตุมีการช่วยเหลือกัน ทั้งขบวนองค์กรชุมชนจังหวัด เครือข่ายที่อยู่อาศัย เครือข่ายสวัสดิการชุมชน  ผู้ได้รับผลกระทบ และหน่วยงานภาคี ท้องที่ ท้องถิ่น ร่วมกันสำรวจผู้เดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบและความเสียหาย เพื่อให้การช่วยผู้ประสบอุทกภัยภาคเหนือ เกิดการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ สามารถดูแลกลุ่มผู้เดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และเกิดการเชื่อมโยงการหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วม และบูรณาการสอดคล้องกับปัญหาความต้องการของชุมชน

ขบวนองค์กรชุมชนภาคเหนือ ได้ดำเนินการสนับสนุนส่งเสริมให้มีระบบการช่วยเหลือทางสังคมในการร่วมกันดูแลสมาชิกและกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในชุมชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ประสบภัย ที่ได้รับผลกระทบ ฟื้นฟูอาชีพ พัฒนาศักยภาพขบวนองค์กรชุมชนในการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิต พื้นที่รูปธรรม และกำหนดยุทธศาตร์การขับเคลื่อนงาน ร่วมกับหน่วยงานภาคีพัฒนาทุกภาคส่วน โดยด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมและบูรณาการสอดคล้องตามบริบทของชุมชน ทั้งในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย ขบวนองค์กรชุมชนเราได้มีบทเรียนจากวิกฤตดังกล่าว ซึ่งพวกเราจะต้องมีการสรุปบทเรียนแล้วนำมาสู่การจัดการภัยพิบัติโดยภาคประชาชนต่อไป”

นางสาวอัญชลี อินต๊ะวงค์ ผู้ประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงรายและสภาองค์กรชุมชนตำบลแม่ไร่ เล่าว่า จังหวัดเชียงรายได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมหนักในปีนี้ ในพื้นที่ได้มีการเปิดศูนย์ประสานงาน รับของบริจาค ทำครัวกลาง และกระจายความช่วยเหลือ ใน 2 จุดหลักคือ จุดที่ 1 อ.เมือง ตั้งอยู่ที่ วัดป่าอ้อดอนชัย อ.เมือง จ.เชียงราย จุดที่ 2  ตั้งอยู่ที่ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านบ้านสันกอง หมู่ที่ 7 ต.แม่ไร่ อ.แม่จัน  จ.เชียงราย ในจุดที่ 2 นี้ ได้มีการทำอาหารกล่องประมาณ 600 กล่อง/วัน เพื่อนำไปมอบให้กับศูนย์พักพิงชั่วคราวที่ขบวนสภาองค์กรชุมชนได้เปิดช่วยเหลือพี่น้องที่ได้รับผลกระทบของ อ.แม่สาย 2 จุดคือ ศาลาประชาคม ต.เวียงพางคํา และวัดเหมืองแดง  ต.แม่สาย และนำข้าวของเครื่องใช้ อาหารกล่องส่งให้กับพี่น้องที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่บ้านผาจม ที่ถือว่าเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากดินโคลนถล่ม และหลังน้ำลดแล้วก็มีแผนในการฟื้นฟู ทั้งเรื่องของพัฒนาคุณภาพชีวิต สุขภาพ อาชีพ และซ่อมแซมที่อยู่อาศัยต่อไป

เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน

ทั้งนี้เครือข่ายองค์กรชุมชน 17 จังหวัดภาคเหนือ ขอเชิญร่วมสมทบทุนในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในเขตพื้นที่ภาคเหนือ บัญชี "ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติโดยขบวนองค์กรชุมชนภาคเหนือ" เลขที่ 501-0-80833-1 บัญชี ธนาคารกรุงไทย สาขาท่าแพ  หรือ ร่วมสมทบสำหรับการเตรียมการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคอีสานจังหวัดที่ติดแม่น้ำโขง บัญชี "โครงการฟื้นฟูภัยพิบัติภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" เลขที่ 788-0-42616-7 บัญชี ธนาคารกรุงไทย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศปช. พร้อมรับมือฝนถล่มภาคใต้ เร่งขุดลอกวัชพืช ระดมทีมช่างช่วยฟื้นฟูบ้านเรือน

นางสาวศศิกานต์  วัฒนะจันทร์  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า วันที่ 12 – 16 ธ.ค. 67 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนผ่านอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น

DITTO มอบเงินช่วยเหลือน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

นายฐกร รัตนกมลพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ นายชัยทัด กุลโชควณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

12 ธ.ค. เปิดเดินรถเส้นทางรถไฟสายใต้ กทม.-สุไหงโกลก หลังน้ำท่วมหนัก

นางสาวศศิกานต์  วัฒนะจันทร์  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.)

แม่ทัพทัพภาคที่ 4 มอบถุงยังชีพให้ชาวปัตตานีที่ได้รับความเดือนร้อนจากอุทกภัย

เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. พลโท ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 พร้อมด้วย พลเอก มณี จันทร์ทิพย์ ที่ปรึกษา

ยิปซัมตราช้าง ชวนฟื้นฟูบ้าน หลังน้ำท่วมอย่างมืออาชีพ

เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วม หลังน้ำท่วมที่ผ่านพ้นไป สิ่งที่เจ้าของบ้านต้องรับมือไม่เพียงแต่การทำความสะอาดเท่านั้น แต่ภารกิจสำคัญคือการฟื้นฟูบ้านให้กลับมาน่าอยู่และแข็งแรงกว่าเดิม

พยากรณ์อากาศ 15 วันล่วงหน้า หนาวต่อเนื่องถึงคริสต์มาส

กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม. : (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.) 15 วันล่วงหน้า ระหว่าง 9 - 23 ธ.ค. 67