ออสเตรเลียจะซื้อเรือดำน้ำนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ในข้อตกลงความร่วมมือครั้งใหม่ที่มุ่งชนะอิทธิพลจีน

ออสเตรเลียประกาศว่าจะซื้อเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ มากถึง 5 ลำ จากนั้นจะสร้างโมเดลใหม่ด้วยเทคโนโลยีของสหรัฐฯ และอังกฤษภายใต้แผนการรวมพลังตะวันตกทั่วอินโด-แปซิฟิกในการเผชิญกับการผงาดขึ้นของจีน

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ (กลาง) กล่าวร่วมกับนายกรัฐมนตรีริชี ซูนัค ของอังกฤษ (ขวา) และนายกรัฐมนตรีแอนโธนี อัลบานีส ของออสเตรเลีย (ซ้าย) ในงานแถลงข่าวระหว่างการประชุมสุดยอดออคัส (AUKUS) เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ที่ฐานทัพเรือพอยต์โลมาในเมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา (Photo by Jim WATSON / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 14 มีนาคม 2566 กล่าวว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพต้อนรับนายกรัฐมนตรีแอนโธนี อัลบานีส ของออสเตรเลีย และนายกรัฐมนตรีริชี ซูนัค ของอังกฤษ ในการประชุมสุดยอดกลุ่มออคัส (AUKUS - กติกาสัญญาความมั่นคงไตรภาคีระหว่างประเทศออสเตรเลีย, สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา) ที่ฐานทัพเรือซานดิเอโก ในรัฐแคลิฟอร์เนีย

ไบเดนกล่าวว่าสหรัฐฯ ได้ปกป้องเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมานานหลายทศวรรษ และพันธมิตรเรือดำน้ำจะช่วยสนับสนุนโอกาสแห่งสันติภาพในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า

นายกรัฐมนตรีแอนโธนี อัลบานีส กล่าวว่า ออสเตรเลียจะซื้อเรือดำน้ำนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ 3-5 ลำ ภายใต้ข้อตกลงสัญญาความมั่นคงดังกล่าว ซึ่งแสดงถึงการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ด้านการป้องกันของประเทศ

ทั้งนี้ เรือดำน้ำที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์จะกลายเป็นอาวุธใหม่ที่ทำให้ออสเตรเลียอยู่ในประเทศระดับแนวหน้าที่นำโดยสหรัฐฯ ในการแข่งขันกับการขยายกำลังทหารของจีน

อัลบานีสเน้นย้ำว่า ขณะนี้ออสเตรเลียเป็นเพียงประเทศที่สองรองจากอังกฤษที่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงความลับทางนิวเคลียร์ของกองทัพเรือสหรัฐฯ อันจะนำมาซึ่งสันติภาพ, เสถียรภาพ และความปลอดภัย รวมทั้งรับประกันความเจริญรุ่งเรืองที่มากขึ้น

หลังการได้มาของเรือดำน้ำนิวเคลียร์ อังกฤษและออสเตรเลียจะเริ่มดำเนินการสร้างเรือดำน้ำโมเดลใหม่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์และติดอาวุธทั่วไป ขนานนามว่าเอสเอสเอ็น-ออคัส (SSN-AUKUS) ภายใต้การออกแบบของอังกฤษด้วยเทคโนโลยีของสหรัฐฯและการลงทุนที่สำคัญในฐานอุตสาหกรรมทั้งสามแห่ง ภายใต้ความพยายามที่จะปกป้องและรักษาความปลอดภัยในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

แม้จะไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ แต่การได้มาซึ่งเรือดำน้ำของออสเตรเลียถือเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญในการเผชิญหน้ากับจีนซึ่งได้สร้างกองกำลังเรือยุคใหม่และเปลี่ยนเกาะเทียมให้กลายเป็นฐานทัพนอกชายฝั่งในมหาสมุทรแปซิฟิก

ขณะที่อังกฤษเองก็กำลังเดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถทางทหารในการเผชิญกับความท้าทายของจีนและการสู้รบในรัสเซีย โดยจะอัดฉีดงบประมาณมากกว่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 2 ปีข้างหน้า เพื่อใช้เติมเต็มและสนับสนุนคลังอาวุธที่สำคัญ, ปรับปรุงองค์กรนิวเคลียร์ของสหราชอาณาจักรให้ทันสมัย ​​และให้ทุนแก่โครงการเรือดำน้ำของกลุ่มออคัสในระยะต่อไป

เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า กองทัพเรืออังกฤษจะสามารถผลิตเรือดำน้ำรุ่นเอสเอสเอ็น-ออคัสที่ล้ำสมัยได้ภายในปี 2573 ขณะที่ออสเตรเลียน่าจะเป็นช่วงต้นทศวรรษ 2583

ในระหว่างนี้ กะลาสีเรือ, วิศวกร และบุคลากรอื่นๆ ของออสเตรเลียจะเข้ารับการฝึกอบรมกับพันธมิตรของสหรัฐฯและอังกฤษเพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญ ขณะที่เรือดำน้ำของอังกฤษและสหรัฐฯ จะเดินทางเทียบท่าเรือของออสเตรเลียเป็นประจำ

ด้านจีนออกมาเตือนว่าการดำเนินการของกลุ่มออคัส เสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแข่งขันด้านอาวุธ และกล่าวหาทั้งสามประเทศว่าทำลายความพยายามจำกัดอาวุธนิวเคลียร์ของโลก

"เราขอเรียกร้องให้สหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ละทิ้งความคิดแบบสงครามเย็น, ให้เกียรติพันธกรณีระหว่างประเทศโดยสุจริตใจ และทำสิ่งอื่นๆ ที่เอื้อต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค" เหมา หนิง โฆษกหญิงกระทรวงต่างประเทศของจีนกล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรุงปักกิ่ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทีมบาสอเมริกา แบโผ 11 ผู้เล่นจัดเต็ม ลุยศึกยัดห่วงโอลิมปิก 2024 ที่ฝรั่งเศส

บาสเกตบอลทีมชาติสหรัฐอเมริกา ประกาศรายชื่อ 11 ผู้เล่น ชุดลุยการแข่งขันยัดห่วงในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2024 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นที่เรียบร้อย นำทัพมาโดย เลบรอน เจมส์, สตีเฟน เคอร์รี และเควิน ดูแรนต์